สภาผู้แทนราษฎร : สถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุด ภายหลังการปฏิวัติ 2475/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

สภาผู้แทนราษฎร

: สถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุด

ภายหลังการปฏิวัติ 2475

 

“บัดนี้ ธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบอำนาจการปกครองแผ่นดินที่ได้ยึดไว้ให้แก่สภาต่อไปแต่บัดนี้”

(พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวต่อสภา 28 มิถุนายน 2475)

 

เมื่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 สำเร็จทำให้คณะราษฎรกลายเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนา (pouvoir constituant) ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามขึ้น (ชั่วคราว) 27 มิถุนายน ขึ้น จากนั้นเกิดอะไรขึ้นต่อไปบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ของไทย

เหตุการณ์หนึ่งที่ควรแก่การบันทึกไว้ คือวันที่ 28 มิถุนายน สภาผู้แทนราษฎรถูกก่อตั้งขึ้น (pouvoir constitue) ตามธรรมนูญการปกครองให้เป็นสถาบันการเมืองผู้ทรงอำนาจสูงสุดภายหลังการปฏิวัติ นับเป็นครั้งแรกที่การปกครองไทยมีการปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสูงสุดเหนืออำนาจของพระมหากษัตริย์ตามการปกครองแบบเดิม

อีกทั้งธรรมนูญกำหนดให้สภาอันเป็นที่ชุมนุมของคณะบุคคลมีอำนาจการปกครองสูงสุดของไทยด้วย

ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

1.การก่อตั้งสภาผู้แทนราษฎร และคณะราษฎรตั้งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ชุดแรก

หากหันมาพิจารณาเหตุการณ์การเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ ครั้งแรก ข้อความแรกสุดของหน้าแรกในรายงานการประชุมสภาผู้แทนฯ บันทึกไว้ว่า “ก่อนเสนาบดีกระทรวงมุรธาธรเชิญกระแสพระบรมราชโองการมาอ่านเปิดการประชุม กรรมการคณะราษฎรอ่านรายนามบุคคลซึ่งคณะผู้รักษาพระนครได้ตั้งให้ผู้แทนราษฎร หลวงประดิษฐมนูธรรมได้อ่านรายนาม…” จำนวน 70 คน (รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475)

จากนั้น หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) นำสมาชิกสภาชุดแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สาบานตนว่า ทุกคนจะซื่อสัตย์ต่อการปฏิวัติของคณะราษฎรและหลัก 6 ประการที่ประกาศในวันปฏิวัติ ความว่า “ข้าพเจ้า (ออกนามผู้ปฏิญาณ) จะซื่อสัตย์ต่อคณะราษฎร และช่วยรักษาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรไว้ให้มั่นคง…”

เหตุการณ์ข้างต้น หมายความว่า สภาผู้แทนฯ ถูกก่อตั้งขึ้นแล้วตามรัฐธรรมนูญ จากนั้น หลวงประดิษฐฯ ตัวแทนคณะราษฎรอ่านรายชื่อบุคคลต่างๆ ที่ถูกคณะราษฎรแต่งตั้งให้เข้าสวมบทบาทผู้แทนฯ ให้ทำหน้าที่ร่วมกันประกอบขึ้นเป็นสภาผู้แทนฯ เป็นองค์กรการเมืองผู้มีอำนาจสูงสุดขึ้น

พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

2.คณะราษฎรมอบอำนาจการปกครองให้สภาผู้แทนฯ

จากนั้น พระยาพหลฯ ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ เป็นผู้มีอำนาจการปกครองได้ประกาศมอบอำนาจให้สภาผู้แทนฯ ว่า “บัดนี้ ธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ตั้งขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบอำนาจการปกครองแผ่นดินที่ได้ยึดไว้ให้แก่สภาต่อไปแต่บัดนี้” (รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475)

จากนั้น หลวงประดิษฐฯ ในฐานะเลขาธิการสภาผู้แทนฯ คนแรก กล่าวรับมอบอำนาจจากหัวหน้าคณะปฏิวัติว่า “…สภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้นแล้ว ผู้แทนฯ ก็ได้เข้าประจำตำแหน่งแล้ว เป็นอันว่า สภานี้เป็นสภาที่ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศ…” (รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/2475)

กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ อำนาจการปกครองที่คณะราษฎรถือไว้ภายหลังการปฏิวัติสำเร็จ ถูกมอบต่อไปยังสภาผู้แทนฯ อันเป็นสถาบันการเมืองแบบใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นตามธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม องค์กรนี้เป็นเสมือนหนึ่งสภาภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส (national assembly) เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดเหนือรัฐบาล

และมีอำนาจในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับกษัตริย์ได้อีกด้วย

3.พระปกเกล้าฯ ในฐานะพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ทรงมีพระราชดำรัสเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ

การประชุมสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยเกิดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มิถุนายน เวลาราวบ่าย 2 โมงเศษ สภาผู้แทนราษฎรที่คณะราษฎรตั้งขึ้นจำนวน 70 คน ได้เริ่มประชุม ณ ห้องโถงชั้นล่างของพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยจัดโต๊ะเก้าอี้เป็นรูปครึ่งวงกลมตั้งอยู่ในระดับเดียวกันเป็นการชั่วคราว (ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, 2517)

หลังจากสภาเป็นองค์กรทางการเมือง ผู้มีอำนาจสูงสุดตามระบอบประชาธิปไตยได้ถูกตั้งขึ้นครบถ้วนแล้ว จึงเข้าสู่ขั้นตอนพิธีการในลำดับถัดไป คือ ในการประชุมสภาครั้งแรก เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรเชิญพระกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทรงมีพระกระแสรับสั่งเปิดประชุมสภาผู้แทนฯ ความว่า

“วันนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพรแก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่านซึ่งมีจุดมุ่งหมายอันเดียวกันทุกประการเทอญ”

เมื่อสภาผู้แทนฯ เปิดแล้ว ภารกิจแรกของสภาในช่วงแรก มีดังนี้

ส.ส.อีสานชุดแรกจากการเลือกตั้ง และพระยาพหลฯ ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

1. ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ เลือกมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนฯ และนายพลตรีพระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยประธานสภาขออนุมัติที่ประชุมให้หลวงประดิษฐมนูธรรม ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

2. ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ เลือกประธานกรรมการราษฎร กรรมการราษฎร และการตั้งกรรมการแก้ไขธรรมนูญการปกครองใหม่ ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เติมคำว่าชั่วคราวลงในธรรมนูญการปกครองฉบับแรก

3. ที่ประชุมสภา ยกเลิก พ.ร.บ.สภาการป้องกันพระราชอาณาจักร องคมนตรี สภาการคลัง และอภิรัฐมนตรี อันเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของการตัดสินใจทางการทหาร การคลังและการปรึกษาและการบริหารราชการลง ให้สอดคล้องกับการปกครองตามระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นที่เทิดพระมหากษัตริย์ให้เพียงทรงราชย์ แต่ไม่ทรงรัฐ ตามหลัก The King can do no wrong

4. ที่ประชุมสภา บัญญัติและแก้ไขกฎหมายที่สำคัญ เพื่อการสร้างความเสมอภาคให้บุคคลทุกคนรวมทั้งพระราชวงศ์และสามัญชน เช่น แก้ไข พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความแพ่งและอาญา เพื่อไม่ต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อนดำเนินคดีกับพระราชวงศ์และข้าราชการสัญญาบัตร แก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสมรส เพื่อเปิดโอกาสให้พระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปสมรสกับบุคคลอื่นนอกพระราชวงศ์ได้ และ พ.ร.บ.ยกเลิกการปรับไหมตามศักดินา เป็นต้น

รายการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก ภายหลังการปฏิวัติ

5. ที่ประชุมสภา บัญญัติ พ.ร.บ.เกี่ยวกับเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น การยกเลิกอากรค่านาเกลือ ยกเลิกภาษีสมพัตรสร การเก็บภาษีธนาคารและการประกันภัย ลดและเลิกการเก็บภาษีโรงเรือนบางชนิด การจัดตั้งสำนักงานจัดหางาน การจัดตั้งสำนักงานจัดหางานประจำท้องถิ่น ลดภาษีไร่ยาสูบ ลดภาษีต้นตาล ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ลดอากรสวนใหญ่ ลดภาษีนา ลดภาษีไร่อ้อย เป็นต้น

6. ที่ประชุมสภา บัญญัติ พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เช่น พ.ร.บ.ลดล้างมลทิน ร.ศ.130 ยกเลิก พ.ร.บ.รัฐมนตรี ร.ศ.113 รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 พ.ร.บ.เลือกตั้ง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.ฎ.ปิดสภาผู้แทนฯ สมัยพระยามโนปกรณ์ฯ พ.ร.บ.ป้องกันรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ พ.ร.บ.คณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ร.บ.คณะตรวจเงินแผ่นดิน พ.ร.บ.จัดระเบียบเทศบาล พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน เป็นต้น (รายนามกฎหมายและพระราชบัญญัติซึ่งสภาผู้แทนฯ บัญญัติขึ้นและแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2475-2476, 2479)

เมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว สภาผู้แทนราษฎรไทยถูกสถาปนาขึ้นครั้งแรกภายหลังการปฏิวัติ 2475 อันเป็นสถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุด อีกทั้งยังเป็นที่สถิตอำนาจการปกครองที่หัวหน้าคณะปฏิวัติมอบให้

ภารกิจสำคัญที่สภาดำเนินในช่วงแรกคือ การตั้งฝ่ายบริหาร การยกเลิกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

สร้างสังคมใหม่ที่เสมอภาคและปลดเปลื้องกฎหมายภาษีจากระบอบเก่าที่กดขี่ประชาชน

ตลอดจนสภามีอำนาจในการพิจารณาคดีของประมุขแห่งรัฐได้ พร้อมมีจัดระเบียบการปกครองใหม่ที่ตั้งขึ้นใหม่ให้มั่นคง

จึงถือเป็นสภาปฏิวัติแรกและสภาเดียวที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมืองในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

จนนำไปสู่ความพยายามลดการถืออำนาจสูงสุดเช่นนั้นลงในรัฐธรรมนูญฉบับถัดมา (10 ธันวาคม 2485)