2503 สงครามลับ สงครามลาว (35) ปีที่ดีของฝ่ายขวา/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (35)

ปีที่ดีของฝ่ายขวา

 

พ.ศ.2507 สถานการณ์ของลาวฝ่ายขวาล้วนมีแต่สัญญาณที่ดี

เริ่มจากพระมหากรุณาธิคุณแห่งเจ้ามหาชีวิตผู้เป็นที่สักการะสูงสุดของชาวลาวทั้งปวง ทั้งจากวอชิงตันที่ยังคงให้ความสำคัญกับสงครามลับของซีไอเอในลาวด้วยการสนับสนุนทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ เสบียงอาหาร และปัจจัยสำคัญในการทำสงคราม ฯลฯ ตามโครงการโมเมนตัม รวมทั้งการมาถึงของทหารปืนใหญ่ไทย “กองร้อยเอสอาร์” ในเดือนกรกฎาคม เพื่อสร้างฐานยิงปืนใหญ่ป้องกันเมืองสุยเสริมอำนาจกำลังรบในพื้นที่ทุ่งไหหินของนายพลวังเปา

นอกจากนั้น ซีไอเอและไทยยังมีความพยายามที่จะยกระดับความสามารถในการรบระยะยาวของทหารฝ่ายรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาวด้วยโครงการด้านการศึกษาอบรมหลักสูตรทางการทหารอย่างเป็นระบบอีกด้วย

 

โครงการฝึกศึกษาทหารลาว

เนื่องจากการสู้รบในลาวที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ ซีไอเอและรัฐบาลลาวจึงได้ร้องขอให้ไทยจัดการฝึกศึกษาด้านการทหารให้แก่ทหารในกองทัพแห่งชาติลาว เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการรบ

กองทัพบกไทยจึงจัดโครงการฝึกศึกษาหลักสูตรต่างๆ ขึ้นเป็นการลับ ให้แก่กองทัพลาว ได้แก่ “โครงการฝึกเอกราช” และ “หลักสูตรเทคนิคอำนวยการ”

“โครงการฝึกเอกราช” เป็นการอบรมความรู้ตามเหล่าและสายวิทยาการต่างๆ จากโรงเรียนทหารของกองทัพบกไทย ได้แก่ ศูนย์การทหารราบ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ศูนย์สงครามพิเศษ กรมการทหารช่าง กรมการทหารสื่อสาร โรงเรียนการบินทหารบก กรมแพทย์ทหารบก และกองพันพิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนา เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2504 ควบคู่ไปกับการขยายกำลังรบตามแผนปฏิบัติการโมเมนตัมในลาว

ครั้นเมื่อจัดติดต่อกันเป็นประจำทุกปี จึงเปลี่ยนเรียกชื่อโครงการตามปี พ.ศ. เช่น “โครงการ 007” เปิดการศึกษาใน พ.ศ.2507 ฯลฯ มีผู้ผ่านการฝึกศึกษาเฉพาะในส่วนของกองทัพบกจำนวน 26,219 นาย ไม่รวมจำนวนที่ส่งฝึกบินกับกองทัพอากาศและศูนย์ฝึกการบินพลเรือน

“หลักสูตรเทคนิคฝ่ายอำนวยการ” เป็นการอบรมความรู้ด้านวิชาเสนาธิการกิจซึ่งจำเป็นต่อการควบคุมอำนวยการรบ ระยะเวลาศึกษา 8-12 สัปดาห์

โดยชั้นแรกดำเนินการศึกษาอบรมที่กองพันพิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนา จังหวัดพิษณุโลก

แต่ต่อมาสถานการณ์ในลาวทวีความคับขันยิ่งขึ้น การส่งนายทหารมาศึกษาในไทยกระทำได้ไม่สะดวก จึงจัดส่งชุดครูฝึกเคลื่อนที่ไปสอนในพื้นที่ฐานปฏิบัติการล่องแจ้ง เพิ่มระยะเวลาศึกษาหลักสูตรเป็น 20-24 สัปดาห์

ครูฝึกจัดจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประกอบด้วย หัวหน้าชุดฝึกเคลื่อนที่ 1 นาย เป็นผู้อำนวยการฝึก กับครูฝึกอีก 4 นาย ทั้งหมดเป็นอาจารย์โรงเรียนเสนาธิการทหารบก โดยมีคำสั่งให้ปฏิบัติงานในหน่วยผสม 333 เปิดการสอนทั้งสิ้นรวม 8 รุ่น ตั้งแต่ พ.ศ.2509-2512 มีนายทหารลาวชั้นยศระดับร้อยเอก-พันโท เข้ารับการศึกษารุ่นละประมาณ 30-50 คน รวม 450 คน

ซึ่งเมื่อมีจำนวนมากพอที่จะปฏิบัติงานในหน่วยและสามารถเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนได้เองแล้ว จึงได้ปิดหลักสูตรนี้ลงใน พ.ศ.2512

 

ความวุ่นวายในรัฐบาลผสม

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี 2507 สถานการณ์ทางการเมืองลาวตกต่ำลงไปอีก เมื่อเกือบครึ่งหนึ่งของทหารลาวฝ่ายเป็นกลางได้แปรพักตร์ไปร่วมกับฝ่ายซ้าย

รัฐมนตรีกลาโหมซึ่งสังกัดฝ่ายขวา นายพลภูมี หน่อสวรรค์ พยายามร้องขอให้เวียดนามใต้ส่งทหารข้ามพรมแดนมากวาดล้างทหารเวียดนามเหนือในลาว แต่ไม่เป็นผล

นายกรัฐมนตรีรัฐบาลผสม-เจ้าสุวรรณภูมา พยายามระงับความวุ่นวายโดยบินไปทุ่งไหหินเพื่อเปิดการเจรจา 3 ฝ่าย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้กับผู้นำฝ่ายซ้ายขบวนการประเทศลาวคือเจ้าสุภานุวงศ์

วันที่ 18 เมษายน เจ้าสุวรณภูมาจึงบินกลับเวียงจันทน์แล้วประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยน้ำตานองหน้า

เช้าวันรุ่งขึ้นเกิดความพยายามก่อการรัฐประหาร แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงฝ่ายก่อการก็ทะเลาะกันเอง การรัฐประหารจึงล้มเหลว

เมื่อเหตุการณ์สงบลง เจ้าสุวรรณภูมาก็กลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

ความพยายามก่อการรัฐประหารครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือรัฐบาลผสมสามฝ่ายที่ได้เข้ามาบริหารประเทศนับตั้งแต่ข้อตกลงเจนีวาได้สลายลงเหลือแต่เพียงในนามเท่านั้น

ฝ่ายซ้ายขบวนการประเทศลาวยังคงเจ้าหน้าที่ของตนไว้ในเวียงจันทน์พอเป็นพิธี แต่ไม่มีผู้แทนอยู่ในคณะรัฐบาลแต่อย่างใด

ส่วนทหารฝ่ายเป็นกลางของกองแลก็ผละจากฝ่ายซ้ายเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายขวา

เมื่อไม่มีส่วนร่วมในคณะรัฐบาลอีกต่อไป ทหารฝ่ายซ้ายขบวนการประเทศลาวและเวียดนามเหนือก็ยกระดับปฏิบัติการทางทหารกดดันฝ่ายกองแลจนถอยร่นไปสุดขอบทุ่งไหหินเข้าไปอยู่ในอารักขาของทหารฝ่ายวังเปา

โดยมีพวกคอมมิวนิสต์ตามรุกไล่มาอย่างกระชั้นชิด

 

อาวุธใหม่

ในตอนนี้เองที่ได้เริ่มมีการนำ “อาวุธใหม่ๆ” เข้ามาใช้ในสงคราม นั่นคือ “การโจมตีทางอากาศ” เริ่มจากนายพลวังเปาขอให้กองทัพอากาศลาวส่งเครื่องบินรบแบบที-28 จำนวน 3 เครื่องมาช่วยสนับสนุนกองกำลังของตนและกองแล เครื่องบิน ที-28 บินเข้าไปในพื้นที่การรบทุ่งไหหิน ทิ้งระเบิด บินลงต่ำเรี่ยพื้นแล้วปล่อยกระสุนเข้าใส่ข้าศึกผู้ซึ่งไม่เคยเผชิญหน้ากับเครื่องบินรบมาก่อนในชีวิต ทำให้แตกกระเจิงวิ่งหนีเอาชีวิตรอด

ไม่กี่อาทิตย์ก่อนหน้านั้น เครื่องบินที-28 จำนวนหนึ่งจากฐานบินอุดรฯ ถูกส่งมาเสริมกำลังในลาวแบบลับๆ ตราธงชาติลาวถูกนำมาติดไว้ที่ตัวเครื่องบินบางลำ และบางลำก็ไม่มีตราบ่งบอกสังกัดใดๆ เลย

และเนื่องจากจำนวนนักบินของลาวขณะนั้นยังมีไม่เพียงพอจึงได้นำนักบินชาวไทยและอเมริกามาทำหน้าที่นักบินเพิ่มเติม

อีกไม่กี่อาทิตย์ต่อมาลาวฝ่ายขวาก็ดีใจอีกครั้งเมื่อเครื่องบินไอพ่นหลากชนิดของสหรัฐออกทำการบินลาดตระเวนเหนือน่านฟ้าประเทศลาวโดยบินมาจากเรือบรรทุกเครื่องบินและฐานบินในภูมิภาค รวมทั้งในไทยที่ใช้เป็นฐานสำหรับส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเวียดนามเหนืออยู่ในเวลานั้น โดยถือเอาเป้าหมายในลาวเป็นของแถม

การใช้เครื่องบินรบเข้าทำลายกองกำลังข้าศึกครั้งนี้เป็นเหมือนกับปล่อยยักษ์ออกจากตะเกียงซึ่งเป็นการยากที่จะจับมันคืนที่เดิมได้

เริ่มแรกนั้นอเมริกาไม่มีแผนจะนำกำลังทางอากาศมาใช้ในลาว แต่เนื่องจากลาวอยู่ติดกับเวียดนามจึงมีการร้องขอกำลังทางอากาศมาสนับสนุนในลาวอยู่เสมอๆ โดยที่ระยะหลังๆ วอชิงตันก็มองว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอันใดนัก แต่เป็นการดีด้วยซ้ำไป

นอกจากนั้น ข่าวการใช้กำลังทางอากาศในลาวก็ยังไม่ได้รั่วไหลสู่ภายนอก เนื่องจากในเวลานั้นมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศเพียง 2-3 คนประจำอยู่ในลาว และต่างก็ถูกกีดกันไม่ให้เดินทางไปทำข่าวในเขตชนบทห่างไกล

ต้นปี 2507 บิลล์ แลร์ พยายามขยายความสำเร็จของปฏิบัติการโมเมนตัม จากทุ่งไหหินไปยังแขวงซำเหนือ รวมทั้งที่พงสาลีซึ่งอยู่ไกลจากเวียงจันทน์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับดินแดนเวียดนามเหนือซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวอชิงตัน รวมทั้งวังเปาก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

(ขอบคุณ “ผลาญชาติ” โรเจอร์ วอร์นเนอร์ แปลโดยไผท สิทธิสุนทร)