‘ท้องถิ่น’ ทำได้ : ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

‘ท้องถิ่น’ ทำได้

 

บันทึกไว้เป็นหลักฐานในที่นี้ว่า เมืองไทยของเราช่วงนี้กำลังเป็นโรควัคซีนขึ้นสมอง เวลาพบหน้ากันแทนที่จะถามว่า “ไปไหนมา” หรือ “กินข้าวแล้วหรือยัง” คำถามยอดนิยมกลับเปลี่ยนเป็นคำถามว่า “ฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง”

ตามด้วยคำถามยอดนิยมอีกคำถามหนึ่งว่า เชื่อเรื่องนับถอยหลัง 120 วันหรือไม่

ฮา! ก็ว่ากันไปตามอัธยาศัยครับ

 

ประเด็นย่อยเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน คือความพยายามขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายที่จะจัดหาวัคซีนไปให้ประชาชนในพื้นที่ของตนได้มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น ด้วยความมุ่งหวังว่าชีวิตกิจการงานทั้งหลายจะพอกลับคืนสู่ภาวะปกติสุขได้บ้าง

เพราะลำพังอาศัยแต่ราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคคือกระทรวงทบวงกรมร่วมกันกับจังหวัดทั้งหลาย ก็ยังมองไม่เห็นความชัดเจนว่าวัคซีนจะกระจายไปทั่วถึงผู้คนต่างท้องถิ่นต่างๆ ได้อย่างไร และเมื่อใด

ผมมีรุ่นน้องที่คุ้นเคยกัน เพิ่งสมัครรับเลือกตั้งในเวทีการเมืองระดับท้องถิ่นเป็นครั้งแรกและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเทศบาล เขามาขอพบเพื่อปรึกษาผมว่า มีความเป็นไปได้เพียงใดที่เทศบาลของเขาจะจัดซื้อวัคซีนไปให้บริการกับประชาชน

หนังม้วนนี้ยังอีกยาวครับ เพราะต้องผ่านกฎกติกาอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องฟังความเห็นของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้คุ้มกฎคนสำคัญ

แต่ดูเหมือนว่าวัคซีนทางเลือกของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่เป็นข่าวสำคัญมาระยะหนึ่งแล้ว อาจเป็นทางออกของเรื่องนี้ได้ เราต้องรอดูกันต่อไป

 

เรื่องการจัดหาวัคซีนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ทำให้ผมได้ฉุกคิดว่า การให้บริการประชาชนแบบมีคุณภาพถึงใจพระเดชพระคุณต่อไปในวันข้างหน้า เห็นจะหวังพึ่งพาราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคเท่านั้นไม่ได้แล้ว

นับวันราชการส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล จะต้องทำตัวให้เข้มแข็งขึ้น และให้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของประชาชนได้อย่างแท้จริง

รัฐบาลท่านเป็นคุณพ่อลูกดกครับ หลายเรื่องก็สุดปัญญาเหมือนกันที่จะดูแลให้ลูกแต่ละคนมีกินมีใช้ได้เพียงพอเสมอกัน

บ้านที่คุณพ่อคุณแม่มีลูกหลายคน บ่อยครั้งที่เราได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของลูกคนโตที่สามารถแย่งจานข้าวไปจากหน้าตักน้องคนเล็กได้อย่างสบายมือกันมามากแล้ว

ผมจำได้ว่าราวสิบปีก่อน เมื่อครั้งที่ผมยังอยู่ในราชการที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ผมได้เดินทางไปจังหวัดนครศรีธรรมราชและได้ไปเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ขององค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช

ยอมรับว่าตื่นตาตื่นใจมากครับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในศูนย์การเรียนรู้ซึ่งเป็นฝีมือของผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนั้น

ในเวลาเย็นหลังโรงเรียนเลิกแล้วหรือในวันเสาร์-อาทิตย์ซึ่งเด็กๆ ไม่ต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน ลูก-หลานทั้งหลายสามารถมาใช้เวลาอยู่ในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ได้ โดยมีครูหรือพี่เลี้ยงช่วยแนะนำประคับประคองให้เด็กๆ ได้สนุกกับกิจกรรมต่างๆ มีการสอนดนตรีด้วยเครื่องดนตรีที่ราคาไม่แพง ครูก็มาสอนด้วยหัวใจอยากจะสอน เพราะมีอาชีพหลักของตัวเองอยู่แล้ว

เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องการเกษตรแบบลงมือปฏิบัติจริง มือไม้จะเปรอะเปื้อนไปบ้างก็ไม่เห็นเป็นอะไร ก่อนกลับบ้านล้างมือเสียหน่อยก็สะอาดเหมือนเดิมแล้ว

ถ้าผมจำไม่ผิดพลาด ในพื้นที่ไม่ห่างไกลกันมีสถานีวิทยุชุมชนซึ่ง อบต.ปากพูนเป็นเจ้าของกิจการ

ช่วงเวลาใดที่เด็กไม่ต้องไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน เด็กที่สนใจก็สามารถมาทำหน้าที่เป็นดีเจหรือโฆษกวิทยุได้ตามใจปรารถนา

เป็นทั้งความสนุกสนานและเสริมสร้างประสบการณ์ไปด้วยในตัว

ผู้คนในพื้นที่ตำบลนั้นใครมีฝีไม้ลายมือเรื่องอะไรก็มาลงขันลงแรงช่วยกันนำความรู้เหล่านั้นมาบอกเล่าและฝึกหัดให้ลูกหลานได้เรียนรู้ต่อตามไปด้วย ผู้ที่มาทำงานส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ทางองค์การบริหารส่วนตำบลดูแลเรื่องวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ก็เพียงพอแล้ว

อาคารที่ทำการของศูนย์การเรียนรู้นี้ไม่ต้องสร้างให้ใหญ่โตมโหฬาร หน้าตาเป็นเรือนสร้างด้วยวัสดุราคาไม่แพงขนาดกำลังพอดีกับประโยชน์ใช้สอย มีชายคาคุ้มแดดคุ้มฝนได้หลายมุมสำหรับทำกิจกรรมหลากหลายแบบอเนกประสงค์

 

เมื่อถึงวันนี้เวลาผ่านไปนานปีแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าศูนย์การเรียนรู้ที่ว่ายังดำเนินกิจการอยู่หรือไม่หรือพัฒนาต่อยอดไปอย่างไรบ้าง

แต่ไม่เป็นไรครับ ผมเพียงแค่อยากจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นตัวอย่างของการพูดคุยกันในวันนี้ว่า ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถทำงานให้เป็นประโยชน์กับชุมชนและญาติพี่น้องของตัวเองได้

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการเรียนรู้ การศึกษา การดูแลในเรื่องการทำมาหากิน ชีวิตความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพอนามัย นันทนาการ ฯลฯ

ผมรับสารภาพหน้าชื่นตาบานว่าตัวเองไม่ได้มีความสันทัดในเรื่องที่ขานชื่อมาแล้วทุกเรื่อง แต่เท่าที่ได้เคยมีประสบการณ์พบเห็นมาบ้างทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ถ้าทำงานกันอย่างเต็มที่แล้ว องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนี้แหละจะเป็นขวัญใจยอดนิยมของชาวบ้านร้านตลาดยิ่งเสียกว่ารัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเป็นไหนๆ

ทำความดีแบบไม่ต้องติดป้ายประกาศคนเขาก็รู้ครับว่าเป็นผลงานของใคร

 

ยกตัวอย่างเช่น ท้องถิ่นเมืองญี่ปุ่นเขาเป็นเจ้าของกิจการอะไรต่อมิอะไรได้มาก ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สวนสาธารณะระดับมาตรฐาน ศูนย์ดูแลคนชรา หรือศูนย์ดูแลเด็กเล็ก

ผมเคยไปเยี่ยมชมศูนย์ดูแลคนชราแห่งหนึ่งที่ประเทศญี่ปุ่น เห็นแล้วอยากชราขึ้นมาทันทีเลยครับ

ตอนเช้าเขาจะมีรถแวะเวียนไปรับคนชราที่ไม่สามารถเดินทางมาที่ศูนย์ได้ด้วยตัวเอง รถที่ว่านอกจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วยังมีอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับภารกิจ เช่น ลิฟต์สำหรับยกเก้าอี้รถเข็นขึ้นลงรถตู้ ตกเย็นก็พากลับไปส่งบ้าน

เวลาช่วงกลางวันที่อยู่ที่ศูนย์ดูแลคนชรา นอกจากอาหารการกินถูกต้องตามหลักโภชนาการทั้งมื้อกลางวันและอาหารว่างแล้ว เค้ายังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่เหมาะกับวัยและความสนใจของคนชราผู้เป็นสมาชิก ช่วงเวลาที่ผมแวะไปเยี่ยมเยียน บรรดาคุณลุงคุณป้าคุณย่าคุณยายกำลังทำกิจกรรมเข้าจังหวะเป็นที่ครื้นเครงกันไปทั่วหน้า

ห้องทำกายภาพบำบัดของเขาก็เพียบพร้อมด้วยเครื่องมือเครื่องไม้ที่จำเป็น และมีเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญงานเป็นผู้ดูแล

จำได้ติดตาอ่างอาบน้ำที่เป็นวารีบำบัดของเขาเห็นแล้วน่าลงไปนอนเล่นให้น้ำวนไปรอบตัวตรงโน้นตรงนี้เป็นอย่างยิ่ง

 

ว่าโดยรวมแล้ว ภารกิจขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นจึงต้องใส่ใจที่จะตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น วันนี้สังคมไทยของเรากำลังเดินหน้าเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัวไม่แตกต่างกันกับเมืองญี่ปุ่น เทศบาลหรือ อบต.ที่ไหนได้คิดอ่านเรื่องนี้ไว้บ้างแล้วหรือไม่ ถ้าผมตกข่าวไปก็ขอประทานโทษ และถ้ามีโอกาสจะขออนุญาตไปเยี่ยมชมนะครับ

รัฐบาลกลางท่านอยู่ไกล มองไม่เห็นรายละเอียดลึกซึ้งอะไรหรอกครับ

เรื่องที่ท้องถิ่นทำได้ และสามารถทำได้ดีมีประสิทธิภาพ รอท้าทายฝีมือของท่านผู้บริหารท้องถิ่นอยู่อีกเป็นอันมาก

ถ้ามีเวลาว่างจากการทำเสาไฟฟ้ารูปกินรีราคาแพงโหดสุดๆ ปักถี่ๆ ไว้กลางดงหญ้าป่าทึบเมื่อไหร่

ฝากคิดเรื่องเหล่านี้ด้วยนะครับ