กระบวนทัศน์นอร์มังดี! สงครามและความคิด/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

กระบวนทัศน์นอร์มังดี!

สงครามและความคิด

 

“ทหารที่ดีจะต้องมองไปทั้งข้างหลังและข้างหน้า แต่เขาจะต้องคิดไปข้างหน้าเท่านั้น”

นายพลดักลาส แม็กอาเธอร์ (1933)

 

สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติไปตั้งแต่ปี 1945 ซึ่งเป็นระยะเวลานาน และนานมากจนเรื่องราวที่เกิดในยุคนั้น กลายเป็นประวัติศาสตร์สงครามให้คนรุ่นหลังได้ร่วมรำลึกถึงการสงครามชุดที่ใหญ่ที่สุดของโลกในศตวรรษที่ 20 เพราะจวบจนปัจจุบัน โลกยังไม่เคยมีสงครามที่มีขนาดใหญ่เท่ากับสงครามโลกครั้งที่ 2 และในสงครามนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 (พ.ศ.2487) ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญที่ก่อให้เกิดความพลิกผันโดยตรงต่อชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร

วันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 77 ปีของ “การรบที่นอร์มังดี” (The Battle of Normandy) แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 7 ทศวรรษแล้ว แต่การรบดังกล่าวยังเป็นมรดกของประวัติศาสตร์สงครามที่นักการทหารยังต้องเรียนรู้เสมอ

อีกทั้งยังปรากฏในรูปของภาพยนตร์ให้คนรุ่นหลังได้ชมกัน (ไม่ว่าจะเป็น “วันเผด็จศึก” หรือ The Longest Day และภาพยนตร์ในยุคต่อมาคือ Saving Private Ryan) อย่างน้อยก็ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับคำว่า “ดีเดย์” (D Day) หรือที่แปลว่า “วันเผด็จศึก” (ว่าที่จริงแล้ว D Day คือ “Deployment Day”)

จุดเปลี่ยนนี้เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรตัดสินใจเปิดประตูยุโรปด้วยการยกพลขึ้นบกที่ชายหาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส วัตถุประสงค์หนึ่งคือการปลดปล่อยยุโรปโดยรวม

อีกวัตถุประสงค์คือการเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การรุกเข้าประชิดตัวดินแดนของเยอรมนี ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทหารสัมพันธมิตรจะ “เหยียบ” บนดินแดนที่อยู่ในความยึดครองของกองทัพนาซีมาตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม

โดยเฉพาะในส่วนของฝรั่งเศส

 

สำนักคิดสงครามใหญ่!

ภาพของการรบที่นอร์มังดีสะท้อนให้เห็นถึงชุดความคิดที่เป็น “สงครามตามแบบ” หรือเรียกในบริบทของขนาดคือเป็น “สงครามใหญ่” อย่างชัดเจน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงมิติทางทหารสำคัญสามประเด็น คือ

1) “ยุทธการขนาดใหญ่” เป็นเครื่องมือหลักของสงครามตามแบบ ที่รัฐหนึ่งจะใช้ในการทำลายรัฐและกองทัพข้าศึก และยุทธการเช่นนี้ใช้กำลังรบและกำลังพลเป็นจำนวนมาก ซึ่งสภาวะของการใช้กำลังขนาดใหญ่เช่นนี้สะท้อนให้เห็นอีกด้านหนึ่งของสงครามที่มีความเป็น “เบ็ดเสร็จ” (หรือแนวคิดเรื่อง “สงครามเบ็ดเสร็จ” – Total War) โดยรัฐเน้นการใช้สรรพกำลังทุกส่วนเพื่อการทหาร

2) ยุทธการนี้เปิดด้วยการ “ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่” บนดินแดนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของข้าศึกอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และเป็นปฏิบัติการร่วมขนาดใหญ่ของกำลังรบในแบบต่างๆ ทั้งกำลังทางบก ทางเรือ และทางอากาศ

3) การเปิดหัวหาดเพื่อวางกำลังขนาดใหญ่และรุกเข้าไปในดินแดนของฝ่ายข้าศึกมีความจำเป็นในทางทหาร และความสำเร็จของยุทธศาสตร์ทหารชุดนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จทางการเมืองในการโค่นล้มระบอบการปกครองของฝ่ายตรงข้าม

ดังนั้น ความสำเร็จของการยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดีจึงเป็น “จุดเปลี่ยนใหญ่” ครั้งที่ 2 ในเวทีการสงครามของยุโรป

ซึ่งจุดเปลี่ยนใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อกองทัพเยอรมนีพ่ายแพ้ต่อกองทัพรัสเซียที่สตาลินกราดในเดือนมกราคม 1943 (พ.ศ.2486)

ความพ่ายแพ้ที่สตาลินกราดสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับกองทัพเยอรมนี

กองทัพที่ 6 ของเยอรมนีถูกละลายในสนามรบ พร้อมกับทหาร 1 ล้าน 5 แสนนาย พร้อมรถถัง 3,500 คัน ปืนใหญ่และปืนครก 12,000 กระบอก รถต่างๆ 75,000 คัน และเครื่องบินอีก 3,000 ลำ

ซึ่งความเสียหายเช่นนี้เป็นภาพสะท้อนของความเป็นสงครามใหญ่ในตัวเอง และรัฐเล็กไม่สามารถที่จะแบกรับสงครามในขนาดเช่นนี้ได้เลย เนื่องจากเกินขีดความสามารถทางทหารและทางเศรษฐกิจ และสงครามใหญ่อาจนำไปสู่การล้มละลายของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในทฤษฎีของวิชายุทธศาสตร์ทหาร การยกพลขึ้นบกที่ชายหาดนอร์มังดีเป็นตัวแทนของสำนักคิดเรื่อง “สงครามตามแบบ” และสร้างจินตนาการให้นักการทหารหลายคนฝันถึง

โดยรัฐจะใช้กำลังทางทหารขนาดใหญ่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ที่ต้องการ แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงเพียงใดก็ตาม

เพราะพื้นฐานทางความคิดของสำนักนี้คือ รัฐต้องการสร้างกองทัพขนาดใหญ่เพื่อเป็นหลักประกันของความมั่นคงทางทหาร และเมื่อกองทัพมีขนาดใหญ่ ก็ต้องมียุทโธปกรณ์มากตามกันไป

หนทางปฏิบัติที่สำคัญส่วนหนึ่งจึงได้แก่ การมุ่งจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ และเชื่ออย่างมากว่าอาวุธจะเป็นเครื่องมือหลักที่ทำให้รัฐชนะสงคราม

ชุดความคิดของสงครามตามแบบในบริบทนี้คือ “ยิ่งอาวุธดี ยิ่งชนะเร็ว” ทั้งเชื่อในขนาดของกำลังรบด้วยคติเก่าว่า “พระเจ้าอยู่ข้างฝ่ายที่มีกองทัพใหญ่”

ฉะนั้น สำนักคิดสงครามตามแบบจึงยืนอยู่บนหลัก 3 ประการคือ “สงครามใหญ่-กองทัพใหญ่-อาวุธใหญ่”

สงครามเช่นนี้ในทางรัฐศาสตร์จึงหมายถึง การใช้กำลังทหารในการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐ ซึ่งมีนัยเพิ่มเติมว่า สงครามเป็น “ความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธ” ระหว่างรัฐ (คือเป็น “armed conflict”) ซึ่งคำนิยามดังกล่าวมีส่วนอย่างสำคัญในการสร้าง “กระบวนทัศน์สงคราม” ที่มองเห็น “สงครามระหว่างรัฐ” เป็นเครื่องมือหลักของการแก้ไขปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศ

ดังนั้น กระบวนทัศน์เช่นนี้จึงทำให้นักการทหารในรัฐเล็กบางส่วนยึดแนวคิด “สงครามใหญ่” เพราะเป็นโอกาสโดยตรงของการสร้างพลังอำนาจทางทหารของรัฐ และยังเป็นช่องทางให้เกิดการอ้างเหตุผลในการซื้ออาวุธอีกด้วย

 

กระบวนทัศน์นอร์มังดี

สําหรับสนามรบที่นอร์มังดีนั้น กำลังที่ใช้ในการยกพลขึ้นบกมีขนาดถึง 4 กองทัพน้อย คือ กองทัพน้อยที่ 5 และ 7 ของสหรัฐอเมริกา และกองทัพน้อยที่ 1 และ 30 ของอังกฤษ

ซึ่งกำลังพลที่ยกพลขึ้นบกในวันแรกมีจำนวนมากถึง 1 แสน 5 หมื่น 6 พันนาย

และก่อนที่การยกพลขึ้นบกจะเริ่มขึ้น กำลังทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดการโจมตี 1 เดือนล่วงหน้าต่อเป้าหมายต่างๆ ในหลายพื้นที่ พร้อมทั้งมีการใช้กำลังพลร่มทั้งของสหรัฐและอังกฤษอีกเป็นจำนวนมากถึง 2 หมื่น 3 พันนาย เข้ายึดพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเมืองตามแนวชายหาดของฝรั่งเศส

ในวันดีเดย์ มีเรือที่เข้าร่วมในปฏิบัติการราว 5 พันลำ อีกทั้งประมาณว่าฝ่ายสัมพันธมิตรใช้อากาศยานรบในวันดังกล่าว 1 หมื่นลำ และเครื่องบินขนส่งอีกมากกว่า 2 พันลำ

แต่ขีดความสามารถของกองทัพเยอรมนีในการใช้กำลังตอบโต้การยกพลขึ้นบกในวันนั้นมีความจำกัดอย่างมาก และกำลังทดแทนที่จะเสริมทัพเพื่อตีโต้การรุกของฝ่ายสัมพันธมิตรก็ไม่เป็นจริง…

สงครามเริ่มบ่งบอกถึงการเปลี่ยนทิศอีกครั้งหลังสตาลินกราด

การรบที่นอร์มังดีมีขนาดใหญ่ทั้งในบริบทของกำลังพลและกำลังอาวุธอย่างมาก และมีความซับซ้อนในการวางแผนทางทหารอย่างมากด้วย

จนแนวคิดในเรื่อง “ยุทธการยกพลขึ้นบก” (หรืออาจเรียกว่า “การยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก”) เช่นที่ชายหาดนอร์มังดีเป็นสิ่งที่ท้าทายถึงความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในโลกปัจจุบัน

หากเรามองการรบที่นอร์มังดีด้วยแว่นตาของนักการทหารที่สมาทานสำนักคิด “สงครามตามแบบ” หรือ “สงครามใหญ่” เป็นแบบแผนหลัก จะเห็นได้ว่าการยกพลขึ้นบกครั้งนี้ได้สร้าง “กระบวนทัศน์ทหาร” อย่างสำคัญ อันทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสงครามตามแบบเป็นแนวคิดหลักที่รัฐจะใช้ในการเอาชนะรัฐฝ่ายตรงข้าม

จนอาจทำให้นักการทหารบางส่วนมองอย่างสุดโต่งว่า สงครามมีเพียงแบบแผนเดียวเท่านั้น คือ “สงครามตามแบบระหว่างรัฐ” หรือเป็นสงครามที่ “รัฐรบกับรัฐ” จนอาจทำให้ละเลยแบบแผนการสงครามอื่นๆ

เช่น ตัวแบบของสงครามกองโจร ซึ่งเราอาจเรียกด้วยชุดความคิดทางทหารร่วมสมัยว่า “สงครามอสมมาตร” อันเป็นสงครามในแบบ “รัฐรบกับคู่พิพาทที่ไม่ใช่รัฐ”

การยึดมั่นอยู่กับสำนักคิดของสงครามใหญ่ หรืออาจเรียกตัวแบบเช่นนี้ว่า “กระบวนทัศน์นอร์มังดี” จึงส่งผลให้เกิดความเชื่ออีกว่า “อำนาจทางทหารที่เหนือกว่า” จะเป็นปัจจัยของชัยชนะในการสงคราม

ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ความเชื่อเช่นนี้ถูกโต้แย้งจากชัยชนะของสงครามปฏิวัติในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในจีน คิวบา เวียดนาม และสงครามต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถาน เป็นต้น

ถ้าบรรดาผู้นำกองทัพสามารถปรับ “กระบวนทัศน์ทหาร” และไม่ยึดมั่นอยู่กับการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์จนไม่คิดถึงบริบทแวดล้อมแล้ว การปรับกระบวนทัศน์จะเป็นโอกาสของการ “ปรับตัวทางทหาร” และเป็นความหวังให้พวกเขายกเลิก “จินตนาการทหาร” ในแบบที่ไม่เป็นจริง

เช่น ยุทธการยกพลขึ้นบกสำหรับโลกในวันนี้ คงต้องถือว่าเป็นชุดความคิดทางทหารที่ล้าสมัยชุดหนึ่ง การยึดพื้นที่ในสงครามสมัยใหม่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้การยกพลแบบนอร์มังดี หรือแม้กระทั่งการส่งกำลังทางอากาศในแบบของการทิ้งกำลังพลร่มลงสู่ในพื้นที่เป้าหมายเช่นปฏิบัติการที่เริ่มก่อนการยกพลขึ้นบก ก็เป็นอีกตัวอย่างของความล้าสมัย เพราะกำลังพลสามารถเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายได้ด้วยอุปกรณ์ขนส่งทางทหารสมัยใหม่ ที่ไม่ใช่ “เรือเปิดหัว” แบบเดิม

และยิ่งสำหรับรัฐเล็กแล้ว ปฏิบัติการยกพลขึ้นบกเป็นสิ่งที่เกินจริงในทางยุทธการ เท่าๆ กับที่เกินจริงในทางเศรษฐกิจ หรือแม้สำหรับรัฐใหญ่ การยกพลขึ้นบกในสงครามสมัยใหม่อาจสร้างความสูญเสียได้อย่างมากจากระบบป้องกันชายฝั่ง

สงครามขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจอย่างมาก จนรัฐเล็กไม่สามารถแบกรับได้เลย ผู้นำทหารของรัฐเล็กที่ยึดมั่นอยู่กับ “กระบวนทัศน์สงครามใหญ่” ต้องพิจารณาถึงบริบทที่เป็นจริงของรัฐตน

นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงของชุดความคิดในการสงคราม รวมถึงปัจจัยเทคโนโลยีสมรรถนะสูงทำให้นักการทหารต้องคิดมากขึ้น จะคิดด้วย “จินตนาการเก่า” ไม่ได้ และอาจต้องตระหนักว่า การสร้างกองทัพใหญ่ และซื้ออาวุธมากในมิติของ “กระบวนทัศน์นอร์มังดี” นั้น อาจไม่ตอบโจทย์ทางทหารในโลกร่วมสมัยเลย

 

สงครามใหม่

วันนี้การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาพร้อมกับวาระครบรอบ 77 ปีของการรบที่นอร์มังดี จึงเป็นดังคำตอบในโลกที่เป็นจริงว่า สงครามปัจจุบันเป็น “สงครามโรคระบาด” และวันนี้ข้าศึกกำลังยกพลขึ้นบกในหลายสังคม รวมทั้งบุกขึ้นยึดหัวหาดในหลายพื้นที่ของไทย

การรุกเข้าตีของ “ข้าศึกที่ไม่มีตัวตน” ชุดนี้ เป็นไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว…

วันนั้นข้าศึกเป็นกำลังรบในเครื่องแบบ แต่วันนี้เป็นเชื้อโรคไม่มีตัวตน มองไม่เห็น และมีพลังในการทำลายล้างแบบไม่จำกัด อาวุธในสงครามชุดนี้จึงไม่ใช่ยุทโธปกรณ์ แต่เป็นวัคซีน และกำลังพลที่สำคัญคือ หมอและพยาบาล

โจทย์สงครามของโลกและของไทยเปลี่ยนไปหมดแล้วในยุคหลังโควิด-19 ถ้าเช่นนั้น ผู้นำทหารไทยจะยังเตรียมยึด “หัวหาดที่นอร์มังดี” ด้วยการซื้ออาวุธต่อไปอีกนานเท่าใด

แต่ปัญหายุทธการวันนี้คือ รัฐไทยจะทำสงครามตีโต้การรุกของ “กองทัพโควิด” ด้วยกำลังรบแบบใด

ในสงครามครั้งนี้มีปืนแต่ไม่มีวัคซีน ก็รบไม่ได้!