วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (31)/วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (31)

 

เรื่องของไฟป่า

ในปี 2020 ไฟป่าได้เป็นข่าวใหญ่ ก่อความตื่นเต้นจากลูกไฟใหญ่ราวกับเพลิงนรก ปฏิบัติการอย่างไม่รู้เหนื่อยของพนักงานและความน่าสยดสยองจากความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งชีวิตสัตว์ป่าจำนวนมาก

ควรทำความเข้าใจเบื้องต้นบางประการเกี่ยวกับไฟป่าคือ

 

1) ไฟป่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่ใดเป็นป่าซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในตัวเอง ย่อมเกิดไฟไหม้ตามธรรมชาติ เช่น จากฟ้าผ่า อากาศร้อนแล้งจัด หรือถ่านเถ้าจากภูเขาไฟ ไฟป่าแบบนี้มีด้านที่ทำลายล้าง แต่ก็มีด้านสร้างความแข็งแรงแก่ระบบนิเวศในที่นั้น เช่น

ก) พืชและสัตว์จำนวนหนึ่งได้ปรับตัวให้เข้ากับไฟป่าและใช้โอกาสนี้ในการขยายพันธุ์ของตน

ข) ทำความสะอาดซากพืช ใบไม้ที่ทับถมอยู่ที่พื้นป่า

ค) ขจัดพืชต่างถิ่นออกไป เปิดโอกาสให้พืชท้องถิ่นเติบโต รวมทั้งการขจัดไม้ใหญ่ที่ขึ้นปกคลุม เปิดพื้นที่ เปิดให้แสงแดดส่องถึงพื้นป่า เป็นการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ

ง) สร้างสารอาหารคืนสู่ผืนป่า

 

2) มนุษย์ได้เผาป่ามานานแล้วเพื่อความสะดวกในการดำรงชีพแบบนักเก็บของป่า-ล่าสัตว์ มีคณะวิจัยใหญ่จากหลายชาติเกือบ 30 คนจากสถาบันศึกษาทั้งในสหรัฐ แอฟริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย มีผู้นำการศึกษาในหลายด้านได้แก่

ก) การศึกษาร่วมกับกรมพิพิธภัณฑ์และอนุสรณ์สถานของมาลาวี

ข) การกำหนดอายุพื้นที่ขุดค้นทางโบราณคดี

และ ค) การวิเคราะห์เชิงสิ่งแวดล้อมในยุคหินเก่า พื้นที่ศึกษาได้แก่บริเวณทะเลสาบมาลาวี อันเป็นทะเลสาบใหญ่ของแอฟริกาตะวันออก ปัจจุบันมีพื้นที่ราว 29,600 ตร.ก.ม. เป็นพรมแดนของ 3 ประเทศได้แก่ มาลาวี เอธิโอเปีย และโมซัมบิก ลงมาถึงดินดอนสามเหลี่ยม ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังพบหลักฐานทางโบราณคดี เช่น ขวานหินอายุเก่าถึง 92,000 ปี สภาพสิ่งแวดล้อมโบราณ (Paleoenvironment) เช่น เกสรพืช และถ่าน (พบที่ก้นทะเลสาบ) รวมกับการวิเคราะห์เชิงสิ่งแวดล้อมโบราณทำให้สรุปได้ว่า มนุษย์ตั้งแต่เมื่อเกือบแสนปีมาแล้ว ได้เข้าจัดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศโดยใช้ไฟ ไม่ต่างกับคนสมัยปัจจุบัน

ผู้เขียนนำของรายงานชิ้นนี้ได้แก่ เจสสิกา ทอมป์สัน กล่าวว่า เป็นไปได้ที่มนุษย์เหล่านี้เริ่มต้นด้วยการทดลองเผาป่าแบบมีการควบคุมเพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย (Mosaic Habitat) เช่น บางแห่งเป็นแหล่งน้ำ บางพื้นที่เป็นป่า และอีกแห่งเป็นทุ่งหญ้า เหมาะแก่การเก็บของป่า-ล่าสัตว์ และก็อาจเป็นไปได้ว่าการเผานั้นเกินการควบคุม หรือมีการเผาป่าอย่างกว้างขวางเพื่อให้ความอบอุ่น การหุงต้มและกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน

“มันได้แสดงว่า มนุษย์รุ่นแรกๆ ได้เข้าควบคุมสิ่งแวดล้อมของตนมาเป็นเวลายาวนาน ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกควบคุมโดยสิ่งแวดล้อม พวกเขาได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทั้งหมด และไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี ความสัมพันธ์กับธรรมชาติแบบนั้นยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”

(ดูบทรายงานข่าวของ Mike Cummings ชื่อ Study offers earliest evidence of human changing ecosystems with fire ใน news.yale.edu 05/05/2021)

ขยับเวลาใกล้เข้ามาอีก ในทวีปยุโรป มีคณะวิจัยนานาชาติจากมหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้พบหลักฐานได้แก่ชั้นของเถ้า ซากตะกอนในทะเลสาบและที่ลุ่มน้ำขัง บ่งชี้ว่า ในยุคน้ำแข็งสุดท้ายเมื่อราว 20,000 ปี มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ยุคเก็บของป่า-ล่าสัตว์ทั่วทวีปยุโรปตั้งแต่สเปนไปจนถึงรัสเซีย ได้จงใจเผาป่าเพื่อสร้างทุ่งหญ้าและป่าอุทยาน เป็นการดึงดูดสัตว์ป่าเข้ามาทำให้ง่ายแก่การล่า การเผาป่ายังทำให้สะดวกต่อการเก็บพืชป่าและวัตถุดิบอื่น ทั้งยังช่วยในการเคลื่อนที่

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่ามนุษย์ครั้งนั้นอาจกระทำไปโดยการเผอเรอ ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด การกระทำดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของยุโรปไปตลอดกาล ทำให้ยุโรปไม่มีป่าไม้หนาแน่นอย่างที่ควรจะเป็น

(ดูบทรายงานวิจัยจาก Leiden University ชื่อ Fires set by Ice Age hunters destroyed forests through-out Europe ใน sciencedaily.com 01/12/2016)

 

3) ไฟป่าที่ปรากฏเป็นข่าวในปัจจุบันนี้ เห็นกันว่าเป็นภัยธรรมชาติร้ายแรงที่จะต้องจัดการแก้ไขอย่างจริงจัง ไฟป่าดังกล่าวมีลักษณะสำคัญดังนี้คือ

ก) ปราศจากการควบคุม

ข) เกิดในป่า ทุ่งหญ้าต่างๆ

ค) อยู่ในชนบท ผู้คนอยู่อาศัยไม่หนาแน่น

ง) ที่ผู้คนอยู่น้อยมาก เช่น ป่าเขตหนาว ส่วนใหญ่เกิดจากเหตุธรรมชาติได้แก่ ฟ้าผ่า เป็นต้น ที่ผู้คนอยู่หนาแน่นกว่า เป็นป่าเขตอบอุ่น ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ มีการตั้งแคมป์ การทิ้งก้นบุหรี่ ไปจนถึงการจงใจเผา

จ) ไฟป่าจำนวนมากโดยเฉพาะในป่าเขตอบอุ่นมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน ทำให้พื้นที่เหล่านั้นมีอุณหภูมิสูงและแล้ง

ฉ) กรณีไฟป่าฝนเขตร้อนที่เกิดไฟป่าได้ยากกว่า สาเหตุหลักเกิดจากการเผาป่าเพื่อการใช้เป็นพื้นที่การเกษตร การป่าไม้ และเหมืองแร่ เช่น ในป่าแอมะซอน และป่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ช) ไฟป่าไม่ว่าจะเป็นแบบใด เป็นการทำลายป่าซึ่งเป็นระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ป่าเปลี่ยนจากแหล่งเก็บเป็นแหล่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มอันตรายของภาวะโลกร้อนขึ้นอีก

 

4) ศาสตร์ว่าด้วยไฟป่า การจัดการและการดับไฟ ซึ่งมีการสอนถึงระดับมหาวิทยาลัย ได้สะสมความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอันมาก จนกระทั่งชาวบ้านก็ไม่เข้าใจดี มีประเด็นด้านความรู้และข้อสังเกตบางประการดังนี้คือ

ก) ในด้านความรู้และการจัดการ มีความรู้หลักข้อแรกได้แก่ “สามเหลี่ยมไฟ” แสดงองค์ประกอบของไฟป่าว่ามี 3 ส่วน ได้แก่ เชื้อเพลิง คือไม้เป็นต้น อากาศ ได้แก่ ออกซิเจน และความร้อน โดยเฉพาะเมื่อถึงจุดวาบไฟ (Flash point) เช่น จุดวาบไฟของไม้อยู่ที่ราว 250-300 องศาเซลเซียส เมื่อไม้มีความร้อนถึงจุดนี้แล้ว ก็จะปล่อยก๊าซไฮโดรคาร์บอนออกมา ซึ่งจะผสมกับออกซิเจนในอากาศเกิดการสันดาปจุดระเบิดเป็นไฟขึ้น เมื่อมีเชื้อเพลิงเพียงพอก็ลุกลามเป็นไฟป่า

หากองค์ประกอบทั้งสามขาดหายไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ไฟก็จะดับ เช่น ไฟไหม้จนไม่มีต้นไม้เหลือ หรือเกิดฝนตกหนักอุณหภูมิลดลง

หลังจากไฟติดแล้ว มีเงื่อนไขสำคัญสามประการว่า ไฟจะลุกไหม้ขยายตัวอย่างไรคือปริมาณหรือชนิดเชื้อเพลิงที่อยู่ในพื้นที่นั้น ลมฟ้าอากาศ คืออุณหภูมิ ลม ความชื้น และภูมิลักษณ์ (Topography) เช่น ที่ลาดชันหรือที่ราบทั้งหมด ทำให้ไฟป่าแต่ละลูกมีลักษณะเฉพาะตัว ไฟป่าลูกที่รุนแรงมากสามารถสร้างลมฟ้าอากาศของตนเองขึ้นมาได้ เช่น สร้างพายุฟ้าคะนอง เกิดฟ้าผ่า เกิดไฟป่าในพื้นที่อื่นได้อีก

การจัดการดับไฟ ต้องใช้ทั้งการปฏิบัติภาคสนามที่มีอุปกรณ์เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ชุดพนักงาน สารเคมี ไปจนถึงการดับไฟทางอากาศ เครื่องบินผจญไฟป่าขนาดใหญ่ของสหรัฐสามารถบินด้วยความเร็ว 575 ไมล์ต่อชั่วโมงและปล่อยน้ำลงในกองเพลิงได้ครั้งละถึง 19,200 แกลลอน (หนึ่งแกลลอนในสหรัฐเท่ากันราว 3.78 ลิตร) นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนทางข้อมูลจากดาวเทียม เช่น ทำให้แจ้งเตือนไฟป่าในที่ห่างไกลได้ก่อน รวมทั้งการติดตามภาพใหญ่ของไฟป่า

ข) ในด้านข้อสังเกตมีอยู่ 2 ประการคือ

ประการแรก ยิ่งมีการพัฒนาศาสตร์และเทคนิกการดับไฟป่าให้สูงขึ้นไปในสถาบันการศึกษา-วิชาการ ความรู้ของชุมชนชาวบ้านเกี่ยวกับไฟป่ายิ่งหดหาย กลายเป็นเพียงผู้เฝ้าดู และคอยปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการ

ประการที่สอง สหรัฐที่มีความก้าวหน้าอย่างสูงในด้านไฟป่า กลับถูกไฟป่าเล่นงานหนัก เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจยิ่งกว่าประเทศอื่นในโลก แสดงว่าเทคโนโลยีมีความจำกัดในตัวมัน เมื่อภาวะโลกร้อนถึงขั้นวิกฤติ

ตอนหน้าจะกล่าวถึงไฟป่าในพื้นที่ต่างๆ ไล่เรียงจากที่หนาวจัดจนถึงเขตร้อน