ปาเลสไตน์-ฮามาส และอิสราเอล ความขัดแย้งครั้งที่ 4 (จบ) การประกาศยอมรับการหยุดยิง และการสิ้นสุดความขัดแย้ง 11 วันมุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ปาเลสไตน์-ฮามาส และอิสราเอล

ความขัดแย้งครั้งที่ 4 (จบ)

การประกาศยอมรับการหยุดยิง

และการสิ้นสุดความขัดแย้ง 11 วัน

 

การประกาศหยุดยิงโดยอิสราเอลและขบวนการฮามาสในวันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม ทำให้ความขัดแย้งปาเลสไตน์-อิสราเอล ซึ่งคุกคามภูมิภาคยุติลง

เช่น อียิปต์เคยเป็นตัวกลางในการทำให้การหยุดยิงของสองฝ่ายยุติลงอย่างที่อียิปต์เคยทำสำเร็จมาแล้วหลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา

การเลือกตั้งที่ยังไม่ลงตัวในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาทำให้นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลต้องต่อสู้อีกครั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาล

แต่ความขัดแย้งกับปาเลสไตน์ที่เพิ่งจบลงทำให้ความเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองของเขาได้รับการชดเชย

การหยุดยิงนั้นดูเหมือนจะสร้างความสั่นไหวในการเมืองอิสราเอล ซึ่งกลุ่มก้อนของพวกไซออนิสต์หรือชาวยิวจากยุโรมที่มาตั้งหลักแหล่งในดินแดนปาเลสไตน์ได้ตีความไปเรียบร้อยแล้วว่าเป็นการยอมแพ้

นับตั้งแต่มีข้อตกลงออสโล (Oslo Accords) เกิดขึ้นในปี 1993 โลกส่วนใหญ่ต่างก็ให้การยอมรับการมีสองรัฐ (two-state solution) ว่าเป็นทางออกของความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็คืออิสราเอลยังคงมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะสร้างบ้านเรือนในดินแดนที่ตนเองเข้าไปยึดครองและไม่ต้องการยกเลิกข้ออ้างในการเป็นเจ้าของนครเยรูซาเลมตะวันออกที่ไม่ได้รับการยอมรับ โดยคณะมนตรีความมั่นคงและในอีกหลายประเทศ

บริบทรอบด้านที่ชาวปาเลสไตน์ได้รับจากอิสราเอลจะยังคงส่งผลต่อความรู้สึกทางจิตใจและจะยังคงเป็นแรงจูงใจไปสู่ความขัดแย้งครั้งแล้วครั้งเล่าต่อไปในอนาคตได้อีก

ทั้งนี้ก็เพราะสภาพของประชาชนที่ได้รับการดูแลโดยขบวนการฮามาสยังอยู่ในสภาพยากลำบากอยู่เหมือนเดิมเนื่องจากพวกเขาถูกปิดล้อมจากอิสราเอลในเกือบทุกๆ ด้าน เส้นทางผ่านที่นำเอาอาหารเข้ามาฉนวนกาซาส่วนใหญ่ถูกปิด จำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้น

นโยบายปิดล้อมของอิสราเอลนำไปสู่ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้น ระบบการศึกษาได้รับผลกระทบ นักศึกษาหลายพันคนไม่สามารถเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยทั้งในดินแดนเวสต์แบงก์หรือในต่างประเทศ การห้ามนำเข้าวัตถุดิบที่สำคัญต่อโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองกาซา รวมทั้งการห้ามส่งออกสินค้าจนนำไปสู่การปิดตัวลงของโรงงาน

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ ก็คือเกษตรกรไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบและอุปกรณ์ทางการเกษตรที่จำเป็นต่อการเพาะปลูกและรักษาพืชผลไม่ให้เกิดความเสียหายได้

จากข้อมูลของธนาคารโลกพบว่าร้อยละ 67 ของชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเมืองกาซา มีฐานะต่ำกว่าเส้นความยากจน

สภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่อาศัยจึงผสมผสานกันระหว่างความสูญเสีย ความยากจน ความโกรธแค้น ความไร้อำนาจ และความหวาดกลัว

ความรู้สึกนี้ในท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

 

คณะมนตรีความมั่นคงกับการหยุดยิง

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนต่อพลเรือนชาวปาเลสไตน์อย่างเร่งด่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองกาซา

แถลงการณ์ของคณะมนตรีความมั่นคงได้รับการสนับสนุนจากตัวแทนของสหรัฐ ซึ่งเคยหยุดยั้งแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ของคณะมนตรีความมั่นคงมาก่อน

ทั้งนี้ แถลงการณ์ก่อนหน้านี้ของคณะมนตรีความมั่นคงได้ประณามปฏิบัติการอันรุนแรงที่มีต่อพลเรือน รวมทั้งปฏิบัติการก่อการร้าย การยั่วยุ ปลุกปั่น และการทำลายล้าง

แถลงการณ์ดังกล่าวยังแสดงความห่วงใยถึงความตึงเครียดของความรุนแรงในนครเยรูซาเลมตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณภายในและภายนอกที่ตั้งของนครศักดิ์สิทธิ์ และเรียกร้องให้เคารพสถานะทางประวัติศาสตร์ในที่ตั้งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

อาจกล่าวได้ว่าตัวแทนของสหรัฐเป็นผู้สนับสนุนที่แข็งแกร่งที่สุดต่ออิสราเอลในสหประชาชาติ โดยก่อนหน้านี้ตัวแทนของสหรัฐใน UN ได้ปฏิเสธการเรียกร้องของฝรั่งเศสที่ให้หยุดยั้งการเป็นปรปักษ์ต่อกันของสองฝ่าย และเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือทางด้านสิทธิมนุษยชนในเมืองกาซา

ส่วนแถลงการณ์ที่นำเสนอโดยจีน นอร์เวย์ และตูนิเซีย ก็เพียงแต่จะบอกว่าสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคง แสดงความไว้อาลัยต่อการเสียชีวิตของพลเรือนอันมีผลมาจากความรุนแรง โดยสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลขาธิการสหประชาชาติ Antonio Guterress ร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนการสร้างบ้านเรือนที่ถูกทำลายล้างจากความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ให้การยอมรับ “ความสำคัญสำหรับบทบาทของอียิปต์ (และ) ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีบทบาทในเรื่องนี้ รวมทั้งกลุ่มก้อนของประเทศและองค์กรที่รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางอย่างเช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป

การทำลายล้างในความขัดแย้ง 11 วันในท้ายที่สุดก็จบลงโดยขบวนการฮามาสสูญเสียพลเรือนของตนไปพร้อมกับเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง 248 คน บาดเจ็บราว 1,000 คน และไร้ที่อยู่อาศัย 6,000 คน ในขณะที่อิสราเอลเสียชีวิต 12 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 2 คน ซึ่งเป็นความสูญเสียที่น่าสลดใจเนื่องจากผู้เสียชีวิตเป็นกำลังหลักของครอบครัว และเด็กอินเดียอีกหนึ่งคน

จากความขัดแย้งที่ระเบิดออกมาเป็นการใช้อาวุธตอบโต้กันระหว่างฝ่ายปาเลสไตน์ภายใต้การนำของขบวนการฮามาสและรัฐบาลอิสราเอลนำโดย Natunyahu ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ได้ซ้ำร้อยตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าเพราะความขัดแย้งที่มีรูปแบบเดียวกันนี้ได้เกิดมาก่อนหน้านี้แล้วถึงสามครั้งโดยครั้งสุดท้ายเกิดในปี 2014

ทั้งนี้ ความไม่ลงรอยกันครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 4 เกิดขึ้นในปี 2021

 

หนึ่งในสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่ยังอยู่ในความทรงจำของชาวปาเลสไตน์คือสงครามในปี 2008 โดยอิสราเอลปิดท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ในปี 2008 ด้วยการบุกถล่มขบวนการฮามาสอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ อิสราเอลได้ใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศที่เรียกว่า “แคสต์ลีด” เข้าถล่มฉนวนกาซา และข่านยูนุส ฯลฯ อันเป็นที่อยู่ของขบวนการฮามาสโดยฝูงบินรบของอิสราเอลระดมยิงขีปนาวุธกว่า 30 ลูก ถล่มที่มั่นของขบวนการฮามาสนำไปสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนจำนวนมาก

และการรบก็ดำเนินต่อไปยาวนานถึง 3 สัปดาห์ นำไปสู่ความตายของเด็ก 400 ราย และผู้บาดเจ็บที่พุ่งขึ้นถึง 5,500 ราย

ทั้งนี้ หากฉนวนกาซายังคงถูกปิดกั้นจากอิสราเอลทั้งทางบก ทางอากาศและภาคพื้นดินและหากของนานาประเทศยังหาทางออกร่วมกันว่าด้วยการยึดครองพื้นที่ของชาวปาเลสไตน์ไม่ได้ ความขัดแย้งก็จะยังคงกลับสู่วัฏจักรของมันเองอยู่ตลอดเวลา

แม้ว่ารายละเอียดในความขัดแย้งแต่ละครั้งจะแตกต่างอยู่บ้าง

อย่างเช่น ความแข็งแกร่งที่มีมากขึ้นของขบวนการฮามาส เป็นต้น

แต่โดยภาพรวมแล้วสภาพแวดล้อมของความขัดแย้งยังไม่มีทางออกที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใดในปัจจุบัน