E-DUANG : ปุจฉา บทบาท พริษฐ์ เพนกวิ้น วิสัชนา จาก กรณี 24 มิถุนายน

ถามว่าเป้าหมายในการประเคนคดีนับสิบ ถามว่าเป้าหมายในการคุมขัง รุ้ง ปภัสยา พริษฐ์ เพนกวิ้น และทนายอานนท์ ในระหว่างดำ เนินคดีคืออะไร

คือการจำกัดกรอบ จำกัดพื้นที่ในการเคลื่อนไหว เพื่อไม่ให้คนอื่นเห็นเป็นเยี่ยงอย่าง

เป้าหมายขั้นสูงสุดก็คือ ก่อให้เกิดความหวาดกลัว

ความหวาดกลัวในที่นี้มิได้หมายเฉพาะคนซึ่งตกเป็นเป้าในการฟาดตี หากแต่ยังสามารถก่อผลสะเทือนในลักษณะข้างเคียงไปยังคนอื่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

นี่เป็นมาตรการที่ชนชั้นปกครองนำมาใช้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ กระทั่งเมื่อเกิดรัฐและผลิตสร้างกลไกแห่งอำนาจ รัฐอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ไทยก็มีให้เห็นอย่างไม่ขาดสาย

ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ”เทียนวรรณ” ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ กุ หลาบ สายประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ จิตร ภูมิศักดิ์

แล้วผลจากมาตรการ”เข้ม”เหล่านี้เป็นอย่างไร

ผลต่อแต่ละบุคคลย่อมมีแรงเสียดทานที่แน่นอนหนึ่ง ถามว่าทำให้ละทิ้งและหันเหไปอีกแนวทางหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามหรือไม่

อาจมีบ้าง แต่เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะถูกกลบลบเลือนหายไป

ตรงกันข้าม คนอย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่บังเกิดความรู้แจ้งอย่างต่อเนื่องกลับสรุปและพัฒนาการในทางความคิดและในทางการเมืองไปอย่างไม่ขาดสาย

กระทั่งในที่สุดเมื่อผ่านคุกตะรางจาก”กบฏสันติภาพ”มาและคึกคักไปกับการเกิดใหม่ของประเทศ “สังคมนิยม” ที่เคยเป็นประชา ธิปไตยในแบบชนชั้นกลางก็หันเข้าสู่ประชาธิปไตย”ใหม่”

ถามว่าในกรณีของ รุ้ง ปภัสยา กรณีของ พริษฐ์ เพนกวิ้น กรณีของทนายอานนท์ ผลเป็นอย่างไร

คำตอบของคำถามนี้เบื้องต้นอาจสัมผัสได้เมื่อเขาพ้นจากการถูกจำขังและเข้าสู่กลิ่นอายแห่งเสรีภาพ และตามมาด้วยบทบาทของเขาในการเคลื่อนไหว

สถานการณ์ในวันที่ 24 มิถุนายน จะเป็นอีกคำตอบหนึ่งว่าการ เปลี่ยนแปลงจะเป็นไปในด้านที่พัฒนาไปข้างหน้าหรือว่าถอยกลับหลัง

คนที่ให้คำตอบได้อย่างตรงเป้าที่สุดย่อมเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา