เลิกอ้าง “ประชามติ” รัฐธรรมนูญได้แล้ว | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 25/06/2021

 

เมื่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับมาสู่เวทีรัฐสภาอีกครั้ง พร้อมกับเสียงเรียกร้องจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้กระหึ่มอีกรอบ เราได้เห็นการเคลื่อนไหวโต้ตอบจากฝ่ายวุฒิสภา เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจของ 250 ส.ว.ในการโหวตแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่อยู่เหนือเสียงของประชาชนหลายล้านที่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง

โดยเหล่า ส.ว.และผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ มักอ้างถึงประชามติ 16 ล้านเสียงที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ถ้าย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในช่วงประชามติ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ว่าได้เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ก่อนถึงวันลงมติ มีการใช้อำนาจรัฐบาลทหาร คสช. จับกุมดำเนินคดีผู้ที่ออกมารณรงค์ข้อมูลเพื่อชี้ข้อเสียของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกือบ 200 คน

ปิดปากคนพูด ปิดหูประชาชนไม่ให้ได้ข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจไปลงประชามติ

จึงเรียกกันว่าเป็นประชามติมัดมือชก ไม่มีความชอบธรรม

ถัดมา ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงหลังวันลงประชามติไม่นาน คือการลอบวางระเบิดถึง 16 จุด ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ภูเก็ต ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

โดยเป็นการระเบิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ค่ำวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ไปจนถึงเช้าวันที่ 12 สิงหาคม 2559

เป็นเหตุร้ายแรงที่เกิดหลังประชามติรัฐธรรมนูญเพียงไม่กี่วัน รวมทั้งพื้นที่ที่เกิดเหตุ ล้วนแต่เป็นจังหวัดที่คะแนนส่วนใหญ่เห็นชอบรัฐธรรมนูญด้วย

กลุ่มการเมืองสนับสนุนรัฐบาล และหน่วยงานรัฐ ชี้ประเด็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เพื่อต่อต้านรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความปั่นป่วนทางการเมือง

แต่ต่อมาด้วยพยานหลักฐานที่ตรวจพิสูจน์ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ จากจุดเกิดเหตุทั้ง 16 จุด บ่งชี้ว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ด้วยลักษณะการประกอบระเบิด วัสดุต่างๆ รวมทั้งการใช้โทรศัพท์ซัมซุงรุ่นฮีโร่ที่แบตเตอรี่ทนทาน เป็นตัวจุดชนวนระเบิด ซึ่งเหมือนกันกับที่พบในคดีไฟใต้!

สอดรับกับประเด็นความไม่พอใจต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในหมวดศาสนา

อีกทั้งเห็นได้ว่า การลงประชามติในพื้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ สูงกว่าเสียงเห็นชอบ

สุดท้ายการสืบสวนสอบสวนของตำรวจยอมรับว่า การระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เป็นฝีมือจาก 3 จังหวัดใต้ที่ไม่พอใจเรื่องรัฐธรรมนูญ

โดยประชาชนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดแสดงออกอย่างสันติ ด้วยการไปลงคะแนนประชามติ ไม่รับรัฐธรรมนูญ

ขณะที่กลุ่มหัวรุนแรงแสดงผ่านการลอบวางระเบิดครั้งใหญ่

 (Photo by BORJA SANCHEZ-TRILLO / AFP)

จาก 7 สิงหาคม 2559 วันลงประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 จากนั้นอีก 4-5 วัน ก็เกิดระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน พื้นที่ที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ โดยพยานหลักฐานบอกว่า เป็นฝีมือกลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ถัดจากเหตุระเบิดเพียง 10 วัน ได้มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 49/2559 เรื่อง มาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. มีคำสั่งให้ออกมาตรการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย

เป็นคำสั่งลงวันที่ 22 สิงหาคม 2559 ซึ่งก็คือการแก้ไขเนื้อหาหมวดศาสนาในรัฐธรรมนูญ ที่เชื่อว่าเป็นปมเหตุความไม่พอใจของประชาชนใน 3 จังหวัดใต้ จนทำให้กลุ่มหัวรุนแรงลงมือปฏิบัติการวางระเบิดดังกล่าว

ความจริง ในหลายจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสานมีเสียงไม่เห็นชอบประชามติสูงกว่าเสียงเห็นชอบ โดยเป็นพื้นที่ของมวลชนฝ่ายต่อต้านทหาร ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช.

ส่วน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็ไม่รับรัฐธรรมนูญเช่นกัน โดยมีประเด็นเนื้อหาด้านศาสนาเป็นจุดต่อต้าน จนกระทั่งสุดท้ายต้องมีคำสั่งหัวหน้า คสช. อาศัย ม.44 ออกมาแก้ไข

การวางระเบิดคือปฏิกิริยาที่ตามมาหลังวันทำประชามติรัฐธรรมนูญ ขณะที่ก่อนวันลงประชามตินั้น มีเหตุการณ์ที่รัฐบาล คสช.ใช้อำนาจมากมาย จับกุมคุมขังฝ่ายที่ออกมารณรงค์ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ

การใช้อำนาจปิดปากคนที่ออกมาต่อต้านนี่เอง ทำให้ประชามติรับรัฐธรรมนูญ กลายเป็นขาดความชอบธรรม

แม้แต่การตั้งคำถามในประเด็นบทเฉพาะกาล เรื่องให้อำนาจ ส.ว.โหวตแต่งตั้งนายกฯ ก็ไม่เขียนอย่างตรงไปตรงมา

กลับเขียนกำกวมซ่อนเร้นว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

อีกทั้งการเขียนว่า 5 ปีแรก ก็สะท้อนความไม่ตรงไปตรงมา

เพราะอายุรัฐบาลชุดแรกคือ 4 ปี พอเลือกตั้งใหม่ ตั้งรัฐบาลชุดต่อมา ก็คือปีที่ 5 ของอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ รัฐบาลนี้ก็จะมีวาระอยู่ต่ออีก 4 ปี

เท่ากับอำนาจ ส.ว.ที่เหนือเสียงประชาชนที่ไปเลือกตั้งมีผลในการตั้งนายกฯ ยาวนานถึง 8 ปี!!

มีเพียงพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่ประกาศชัดเจนตั้งแต่ตอนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ว่าจะต้องเดินหน้ารื้อรัฐธรรมนูญที่เขียนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเดียวผูกขาดอำนาจ และลงมือยื่นแก้ไขหลายครั้ง

หากแต่ยังมีม็อบของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวหนักในปี 2563 ที่พุ่งเป้าไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับผูกขาดอำนาจ คสช.

ประเด็นที่เห็นชัดแจ้งที่สุด ว่าทำให้รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ที่ไปเลือกตั้งถูกกดทับ

ก็คืออำนาจ 250 ส.ว.ชี้ขาดตัวนายกฯ และการตั้งรัฐบาล

ก่อนการเลือกตั้ง มีการนำเอาประเด็นอำนาจ 250 ส.ว.ไปเคลื่อนไหวเพื่อกดดันกลไกต่างๆ ทำนองว่าเห็นอยู่แล้วใครจะเป็นนายกฯ ดังนั้น ต้องเลือกช่วยเหลือผู้สมัครพรรคไหน ครั้นเลือกตั้งเสร็จ ก็นำอำนาจ 250 ส.ว. รวมทั้งแรงสนับสนุนจากคนมีปืน จากอำนาจนอกระบบต่างๆ มาเชิญชวนและกดดันพรรคการเมืองให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพราะขั้วนี้มี 250 ส.ว.หนุนอยู่แล้ว

นี่คือปัญหาของบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจ 250 ส.ว.สร้างความได้เปรียบตั้งแต่เริ่มต้น และใช้กดดันให้ทุกฝ่ายต้องมาสนับสนุนขั้วนี้

กล่าวได้ว่า การดิ้นรนปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่ยอมให้แก้ไข ไม่ยอมให้แตะต้อง ไม่เพียงอ้างว่าอำนาจ 250 ส.ว.ไม่ใช่เสียงชี้ขาด และอยู่แค่ 5 ปีเท่านั้น ล้วนเป็นคำพูดจาที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง

ความจริงคือ เสียง 250 ส.ว.เป็นความได้เปรียบและเป็นเครื่องมือกดดันทุกฝ่ายตั้งแต่เริ่มต้น ไม่เช่นนั้นพรรคพลังประชารัฐที่ได้ ส.ส.น้อยกว่าพรรคเพื่อไทย จะกลายเป็นรัฐบาลได้อย่างไร

อีกทั้งอำนาจตามบทเฉพาะกาลของ ส.ว. เอาเข้าจริงอยู่ 5 ปี แต่มีผลเท่ากับตั้งนายกฯ ได้ยาว 8 ปี

ที่สำคัญควรเลิกอ้างประชามติรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องไม่ให้แก้ไขได้แล้ว!

เป็นประชามติที่ผ่านกระบวนการมัดมือชก จนกระทั่งเกิดปฏิกิริยาตามมาหลายประเด็น รวมกระทั่งเหตุระเบิดทั่ว 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน

ถ้ายังขืนปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ยอมให้แก้ไขในประเด็นหัวใจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างโจ่งแจ้ง

ลงเอยจะกลายเป็นแรงต่อต้านที่จะลุกลามมากกว่าวิถีทางรัฐสภาอย่างน่าเป็นห่วง!