บิ๊กป้อมกระชับอำนาจ ธรรมนัสยึดเก้าอี้เลขาฯ ‘พปชร.’ ปรับโฉมใหม่ เตรียมตัวรับมือศึกใหญ่/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

บิ๊กป้อมกระชับอำนาจ

ธรรมนัสยึดเก้าอี้เลขาฯ

‘พปชร.’ ปรับโฉมใหม่

เตรียมตัวรับมือศึกใหญ่

 

ต้องจับตาสถานการณ์การเมืองผ่านพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพลังประชารัฐ

ภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เส้นเลือดใหญ่รัฐบาลได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ วันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา เข้ามารับหน้าที่เลขาธิการพรรคคนใหม่

นอกจากการเมืองภาพรวม การปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคแบบยกชุด รวมถึงการก้าวขึ้นมาของ ร.อ.ธรรมนัส ยังสะท้อนการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจกลุ่มก๊วนต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐ

กล่าวได้ว่าภายในพลังประชารัฐ “กลุ่มบิ๊กป้อม” สามารถยึดอำนาจในพรรคไว้ได้เบ็ดเสร็จ

จากก่อนหน้านี้เดินเกมเขี่ย “กลุ่ม 4 กุมาร” นำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง และอดีตหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พาณิชย์ และอดีตเลขาธิการพรรค นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ ออกจากตำแหน่ง

ตามด้วยนักการเมืองกลุ่ม กปปส. ที่มีอันต้องสูญพันธุ์จากพรรค ทั้งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และล่าสุดนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม.

ก่อนถึงคิวกลุ่มสามมิตร ด้วยการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคจาก “เสี่ยแฮงค์” นายอนุชา นาคาศัย มาเป็น “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่เสมือนเป็นการโชว์ความแข็งแกร่งของกลุ่มบิ๊กป้อม

ภายใต้แรงสนับสนุนจาก “กลุ่ม 4 ช.” หรือกลุ่ม 4 รัฐมนตรีช่วยว่าการ

ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม ที่ผงาดขึ้นมามีอิทธิพลสูงสุดในพลังประชารัฐ

ภายใต้การกุมบังเหียนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับขุนพลคู่ใจ ร.อ.ธรรมนัส ต้องดูกันต่อไปว่าจะทำให้พรรคเป็นเอกภาพมากขึ้น

หรือเป็นการฝังระเบิดเวลาลูกใหม่กันแน่

 

กระแสเคลื่อนไหวเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่เพิ่งมี แต่มีมาพักใหญ่ๆ

อย่างน้อยก็หลังศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 จ.นครศรีธรรมราช ต้นเดือนมีนาคม ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รองหัวหน้าพรรคขณะนั้น เป็นแม่ทัพหาเสียง

กระทั่งสามารถโค่นผู้สมัครคู่แข่งจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ได้สำเร็จ เพิ่มจำนวน ส.ส.นครศรีธรรมราชให้กับพรรคพลังประชารัฐเป็น 4 คน

ทั้งนี้ มีความพยายามผลักดันให้มีการจัดประชุมใหญ่พรรคช่วงกลางเดือนเมษายน แต่เนื่องจากติดปัญหาโควิดระบาดระลอกสาม ทำให้ต้องเลื่อนออกไป

ท่ามกลางกระแสข่าวเริ่มมีการปล่อยออกมาช่วงนั้นว่า ร.อ.ธรรมนัสได้รับการผลักดันจากผู้ใหญ่ในพรรค รวมถึงมีเสียงสนับสนุนจากลูกพรรค ต้องการให้ขยับขึ้นมาทำหน้าที่แม่บ้านพรรคแทนนายอนุชา นาคาศัย

ช่วงระหว่างนั้น พล.อ.ประวิตรยังไว้เนื้อเชื่อใจ มอบหมายงานสำคัญให้ ร.อ.ธรรมนัสทำหน้าที่ดูแล 10 หัวหน้าภาคของพรรค และเป็นหัวเรือใหญ่ คุมศูนย์ประสานงานโควิดของพรรค

จังหวะนั้น กลุ่มสามมิตรเริ่มระแคะระคายชะตากรรมอาจซ้ำรอยกลุ่ม 4 กุมาร

ทำให้เกิดปฏิบัติการร่วมระหว่างแกนนำกลุ่มขยับสร้างผลงาน หวังรั้งเก้าอี้สำคัญในพรรคไว้กับกลุ่มตัวเอง จากท่าทีการเคลื่อนไหวของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายอนุชา

ผ่านความพยายามร่วมมือกับภาคเอกชนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 มูลค่ากว่า 300 ล้านบาท โดยอ้างถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องการมอบความสุขให้ประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด

นายอนุชาพยายามยื้อยุดตำแหน่งสำคัญในพรรคไว้จนนาทีสุดท้าย ยืนยันไม่ลาออกจากเลขาธิการพรรค ตามที่มีกระแสข่าวก่อนหน้าการประชุมใหญ่พรรค ที่กำหนดให้มีขึ้นวันที่ 18 มิถุนายน ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.ขอนแก่น

การประชุมรอบนี้ พล.อ.ประวิตรตัดสินใจล้างไพ่อำนาจในพรรค ด้วยการยื่นลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดสิ้นสภาพไปด้วย จากนั้นเปิดช่องให้สมาชิกลงคะแนนเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ 26 คน

เมื่อหัวหน้าพรรคเดินเกมเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่นายอนุชาจะฝืนต่อไปได้

ผลเลือกหัวพรรคคนใหม่เป็นไปตามคาด พล.อ.ประวิตรได้รับเลือกกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค คะแนนท่วมท้น 582 คะแนน

ส่วนเเลขาธิการพรรคก็ไม่พลิกโผ ร.อ.ธรรมนัสได้รับเลือกด้วยคะแนน 556 คะแนน

แม้ ส.ส.กลุ่มสามมิตรพยายามเสนอชื่อนายอนุชากลับมารับหน้าที่ แต่นายอนุชายอมรับสภาพและขอถอนตัว

อย่างไรก็ตาม แกนนำกลุ่มสามมิตรทั้ง 3 คนยังคงมีชื่อเป็นกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ทั้ง 3 คน

ยังปลอบใจนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ด้วยตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค ซึ่งเผินๆ เหมือนดูดี เป็นตำแหน่งเดิมของ พล.อ.ประวิตรก่อนมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็เป็นตำแหน่งไร้ซึ่งอำนาจตัดสินใจชี้เป็นชี้ตายในพรรค

ขณะที่ตำแหน่งสำคัญในการกำหนดทิศทางพรรคในการสู้ศึกเลือกตั้งอย่างคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง 11 คน กลับไร้เงาตัวแทนกลุ่มสามมิตรเข้าร่วมแม้แต่คนเดียว

สะท้อนชะตากรรมที่ต้องอยู่ในพรรคพลังประชารัฐต่อไปในสภาพกลืนเลือด

 

การก้าวขึ้นนั่งตำแหน่งสำคัญอย่างเลขาธิการพรรคของ “ผู้กองธรรมนัส”

ทำให้เกิดคำถามต่อเนื่องว่าจะต้องมีปรับ ครม.อีกครั้งในเร็วๆ นี้อีกหรือไม่ ด้วยเหตุที่ว่าเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ อาจเล็กไปสำหรับเลขาธิการพรรคแกนนำรัฐบาล

การปรับก็เพื่อให้ ร.อ.ธรรมนัสขยับจาก รมช.ขึ้นเป็น รมว.กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเพื่อให้สมฐานะ แม้จะเสี่ยงต่อการเกิดแรงกระเพื่อมในรัฐบาล แต่เมื่อเทียบกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ เลขาธิการพรรคต่างก็นั่งคุมกระทรวงใหญ่ทั้ง รมว.คมนาคม รมว.เกษตรฯ

กับอีกประเด็นที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพลังประชารัฐ คือการปูทางเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ใกล้ไม่ไกลจากนี้หรือไม่

ร.อ.ธรรมนัสเปิดแถลงทันทีหลังได้รับเลือกเป็นเลขาธิพรรค ว่างานแรกคือเตรียมการนัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ กำหนดทิศทางเตรียมการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะเป็น 1-2 ปีนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

จากการเลือกตั้งซ่อมหลายพื้นที่พรรคพลังประชารัฐไม่เคยแพ้ ทำให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งในอนาคต หัวหน้าพรรคและสมาชิกจะเดินไปข้างหน้า เป็นพรรคใหญ่ที่มั่นคง ได้ ส.ส.มากกว่านี้

“พรรคเราจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเป็นพรรคอันดับหนึ่งให้ได้” ร.อ.ธรรมนัสประกาศพร้อมยืนยันหากพรรคพลังประชารัฐชนะเลือกตั้งครั้งหน้า ผู้นำประเทศต้องเข้มแข็งและช่วงเวลานี้ไม่มีใครเหมาะสมมากไปกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่ผ่านมาพรรคถูกมองว่าแตกแยก แต่หลังจากนี้จะไม่มี เราจะทำงานเพื่อประชาชน ชาติบ้านเมือง รักษาไว้ซึ่งสถาบัน

กระนั้นก็ตาม ท่าทีและความมั่นใจของ ร.อ.ธรรมนัสที่เสมือนส่งสัญญาณพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง ประกอบกับสถานการณ์ภายในพลังประชารัฐที่กลุ่ม พล.อ.ประวิตรยึดกุมอำนาจบริหารจัดการทุกอย่างในพรรคไว้ทั้งหมด

รวมถึงกระแสข่าวที่กระฉอกออกมาเป็นระยะว่า พี่น้อง “กลุ่ม 3 ป.” ความสัมพันธ์เริ่มไม่เหมือนเดิม ไม่ถึงกับแตกคอ แต่ก็ไม่แน่นแฟ้นกลมเกลียวดั่งแต่ก่อนในช่วงร่วมมือกันทำรัฐประหารยึดอำนาจใหม่ๆ

ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ไปในทิศทางที่ว่า หลังเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ว่าเมื่อไรก็ตาม เสียงเชียร์และแรงหนุนเสริมภายในพรรคพลังประชารัฐอาจมุ่งตรงไปยัง พล.อ.ประวิตร มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นไปได้

ความเคลื่อนไหวที่สอดรับกันอย่างหนึ่งคือการจดตั้งพรรคสำรอง หรือที่เรียกว่ายุทธวิธีแตกแบงก์ โดยส่วนที่แยกออกมาก็เพื่อเป็นฐานที่มั่นให้กับ พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

เป็นที่มาที่ไปของการจัดตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย โดยนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดมหาดไทย ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน มือขวาคนสนิท พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พี่รองกลุ่ม 3 ป.

รับหน้าที่ดูแลเรื่องนี้

 

สถานการณ์การเมืองหลังจากนี้ หลายฝ่ายประเมินถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นการปรับ ครม.

หรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่หลังจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้าน มีผลบังคับใช้ในการเบิกจ่าย รวมถึง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน หรือการรอให้สถานการณ์โควิดเบาลง

รวมถึงประเด็นสำคัญอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผู้มีอำนาจส่งสัญญาณไปยังสมาชิกวุฒิสภา ให้สนับสนุนร่างแก้ไขฉบับของพรรคพลังประชารัฐ เพราะไม่มีการปิดสวิตช์ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ทั้งหมดเสมือนการเตรียมพร้อมลุยศึกเลือกตั้ง

เมื่อดูจากขุมกำลังและกติกาเลือกตั้งใหม่ที่กำลังเข้าสู่ขั้นตอนการปรับปรุงแก้ไข

ทำให้พรรคพลังประชารัฐภายใต้เงาบารมีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กับขุนพลคู่ใจ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะประสบความสำเร็จ ทะยานขึ้นเป็นพรรคการเมืองอันดับ 1 ตามจุดมุ่งหมายได้จริงหรือไม่

เป็นเรื่องน่าติดตามอย่างยิ่ง