คุยกับ ‘ปิยบุตร’ มอง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ แห่งยุคสมัย พวกเขา ‘หยุดเข็มนาฬิกา’ ไม่ได้ ‘มรดกคณะราษฎร’ ตกทอดรุ่นสู่รุ่น

ครบรอบ 89 ปี เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสำคัญของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรากฐานการปกครองของไทยในปัจจุบัน

ระยะเวลากว่า 89 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยต้องเผชิญกับ “ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย” หลายครั้ง

แม้จะมีเส้นทางที่ไม่ราบเรียบ แต่การติดหล่มแต่ละครั้ง ก็ทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยเฉพาะปรากฏการณ์เคลื่อนไหวในช่วง 1 ปีที่ผ่านในนามของ “กลุ่มคนรุ่นใหม่” กับข้อเรียกร้องต่างๆ ทว่าการบันทึกประวัติศาสตร์ 24 มิถุนายน 2475 ของแต่ละกลุ่มทางการเมือง แต่ละอุดมการณ์ทางการเมือง ต่างมองประวัติศาสตร์ชุดนี้และให้คำนิยามต่างกัน

หนึ่งในนั้นคือคำว่า “การอภิวัฒน์สยาม 2475” ซึ่ง รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า หนึ่งในผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 มองคำว่า “อภิวัฒน์สยาม 2475” เป็นการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น

ส่วนระยะเวลา 89 ปีมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น รศ.ดร.ปิยบุตรมองว่า ต้องย้อนกลับไปจุดตั้งต้นว่าคณะราษฎรต้องการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

หากดูเพียงเรื่องระบบการปกครอง ขอนิยามผ่าน 3 เสาหลัก ได้แก่ คณะราษฎรยืนยันว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ตามมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับแรก

ประเทศไทยยังคงมีรูปแบบของรัฐเป็นราชอาณาจักร อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภายใต้รัฐธรรมนูญ

มีระบบรัฐสภาในการใช้อำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งสามอย่างนี้เป็นสิ่งที่คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงมา หากนำเรื่องเหล่านี้มาพิจารณาจนถึงปัจจุบัน มองว่ายังไปไม่ถึงที่สุด เพราะเรายังคงเห็นการทำรัฐประหาร ช่วงชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนกลับไปเป็นของคณะบุคคลที่ทำการยึดอำนาจหลายครั้ง มีการฉีกรัฐธรรมนูญหลายครั้ง ซึ่งมองว่ากลายเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญ ที่เราไม่เคลียร์ให้จบ ที่เราไม่สามารถจัดการปัญหานี้ให้จบตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ในท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ใฝ่ฝันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย วันนี้เป็นจริงหรือไม่ อย่างไร

อีก 11 ปีจะครบรอบ 100 ปี เหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ต้องมาพูดเรื่องเดิมๆ อีกหรือไม่?

รศ.ดร.ปิยบุตรมองว่า ไม่อยากพูดให้ประชาชนสิ้นหวัง แต่มองว่าสิ่งใดที่ขึ้นชื่อว่าประชาธิปไตย ย่อมมีการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เพราะประชาธิปไตยเป็นเหมือน Unfinished Project หรือโครงการที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ณ วันนี้ที่คุณบอกว่าประชาธิปไตยลงหลักปักฐานได้แล้ว แต่ก็มีความท้าทายใหม่ๆ ให้ประชาธิปไตยต้องปรับตัว

เช่น ในอดีตเราบอกว่าประชาธิปไตยคือการมีผู้แทนที่ดีที่สุด แต่สุดท้ายก็มีปัญหาว่าผู้แทนนั้นคอร์รัปชั่นอำนาจของประชาชน เราจึงเสริมประชาธิปไตยทางตรงเข้ามา ประชาธิปไตยในยุคหนึ่งก็ไม่ได้สนใจในเรื่องความเสมอภาคหรือความเหลื่อมล้ำ แต่มุ่งเน้นเพียงการออกแบบระบบการปกครองว่าใครมีอำนาจในการปกครองเท่านั้น

แต่พอมายุคปัจจุบัน มีการพูดถึงเรื่องสวัสดิการ ความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ภาพใหญ่ก็คือประชาธิปไตยเป็นโครงการที่ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะระบอบประชาธิปไตยเป็นระบบเปิด ดังนั้น จะต้องพัฒนาตัวเองต่อไป

เรื่องนี้เราอย่าไปกังวลว่าตั้งแต่ปี 2475 มาถึงตอนนี้ยังอยู่ที่เดิม เพราะต่อให้พัฒนาไปแล้วตามที่คณะราษฎรได้วางแผนไว้ แต่ตนเองมองว่าก็ต้องก้าวหน้าและรุดหน้าขึ้นไปอีก แม้จะครบ 100 ปี 150 ปี หรือ 200 ปี 24 มิถุนายน 2475 ถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็จะต้องพัฒนาและเดินหน้าต่อไป

แม้ที่ผ่านมาจะเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ในทางรัฐศาสตร์ก็จะมีคำว่า “วงจรอุบาทว์” ที่วนไปวนมา ได้แก่ มีการเลือกตั้ง การมีรัฐประหาร ที่ฉีกรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็จะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แล้วจัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ เราจึงมีความรู้สึกว่าวงจรดังกล่าวทำให้เรากลับไปที่เดิมตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริงแล้ว วงจรนี้เวลากลับหมุนไปที่เดิม เช่น หมุนครบ 1 รอบก็ขยับขึ้นหน้าไป 1 ครั้ง เปรียบเป็นลูกกลมๆ ที่หมุนอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีแรงผลักไปข้างหน้าอยู่ด้วย

แม้จะมีการบอกว่าประเทศไทยในปัจจุบัน มีการทำรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจ ไม่ต่างจากช่วงปี 2490 ปี 2521 ปี 2534 ปี 2549 แต่ให้ลองนึกถึงคุณภาพและปริมาณของประชากรในพัฒนาการทางประชาธิปไตยนั้นมีเพิ่มขึ้น

แม้ระบบการเมืองจะถูกดึงให้ล้าหลัง แม้จะมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามจะหยุดประเทศไทย จะหยุดเข็มนาฬิกาไม่ให้เดิน แต่คุณภาพของประชากรและประชาธิปไตยก็เดินขึ้นหน้าไปเรื่อยๆ เพียงแต่ผู้มีอำนาจล็อกเอาไว้ ตนขอยืมคำ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ว่า ต่อให้คุณดึงเข็มนาฬิกากลับไปเท่าไหร่ สุดท้ายก็ต้องเดินหน้าอยู่ดี

ดังนั้น ทุกๆ การถอยหลังของการเมืองไทย ในด้านหนึ่งก็ทำให้ประชาชนตาสว่างมากขึ้น โดยรู้ว่าผู้มีอำนาจคิดอย่างไร และกลุ่มคนผู้มีอำนาจต้องการเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ความรื่นเริงของราษฎรภายหลังการปฏิวัติ 2475

หากจะมีการเปลี่ยนใหญ่เกิดขึ้นอีกหรือไม่ จะเหมือนกับปี 2475 หรือไม่?

รศ.ดร.ปิยบุตรมองว่า หากเราเปรียบเทียบกับปี 2475 โดยยึดตามคำที่ ท่านผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ระบุคือ คณะราษฎรใช้แนวทางรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจแบบฉับพลัน แต่การทำรัฐประหารครั้งนั้น มีผลทำให้เป็นการปฏิวัติ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานเรื่องระบบการปกครอง

ซึ่งสยามในขณะนั้น สามารถผ่านมาได้ด้วยการประนีประนอมของแต่ละฝ่าย มีการแชร์อำนาจในการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน เป็นแง่มุมของชนชั้นนำในยุคนั้น ที่รู้ถึงการเปลี่ยนแปลง

มาถึงปัจจุบัน ขบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ รุดหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และได้เกิดขึ้นแล้ว โดยข้อเสนอของกลุ่มเยาวชน นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2563-2564 ตนเองเชื่อว่าจะไม่มีวันลดลง ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย หลังเยาวชนคนหนุ่ม-สาวและจะมีคนรุ่นหลังพวกเขาตามมาอีก หากชนชั้นนำเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ หากตัดสินใจมาเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ก็จะทำให้ทุกอย่างราบรื่น แบ่งอำนาจกันอย่างสมดุล ความเปลี่ยนแปลงก็จะไม่ปะทะหรือขัดแย้งกันรุนแรง

เมื่อใดก็ตามที่เสียงเรียกร้องแห่งยุคสมัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปตามกาลเวลาและจำนวนคนของพวกเขาเติมเข้ามาตามรุ่นต่างๆ จากผู้ใหญ่สู่รุ่นเด็กต่อไปๆ แต่คนที่ครองอำนาจกลับไปปิดเอาไว้ในวันหนึ่งก็จะเกิดการปะทะกันขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นั้นจะคาดการณ์ไม่ได้เลย

 

หากวันนี้ ศ.ปรีดี พนมยงค์ ยังมีชีวิตอยู่ จะมองเหตุการณ์ครบรอบ 89 ปี 24 มิถุนายน 2475 อย่างไร?

รศ.ดร.ปิยบุตรกล่าวว่า คงไม่อาจไปสวมตัวเองเป็นท่านผู้ประศาสน์การปรีดี

แต่ถ้าให้ตอบคำถาม ด้วยความเป็นนักปฏิวัติของท่านผู้ประศาสน์การปรีดี ในช่วงปี 2475 หากได้เห็นข้อเรียกร้องของยุคสมัยในปี 2563-2564 เชื่อว่าท่านจะดีใจและภูมิใจ ที่มรดกตกทอดจากการอภิวัฒน์สยาม มีคนรับไม้ต่อ

ตามเจตนารมณ์หลัก 6 ประการที่คณะราษฎรได้วางไว้

 

จากสมัยเป็นนักศึกษา มาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และเข้าสู่ถนนการเมืองมา 2-3 ปี มองเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เปลี่ยนไปหรือไม่?

รศ.ดร.ปิยบุตรเปิดเผยว่า ตอนเป็นนักศึกษาเริ่มสนใจเหตุการณ์ปี 2475 ครั้งแรกที่เข้ามาเรียน มธ. ได้เรียนวิชาพื้นฐานกับ ศ.พิเศษ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ซึ่งขอยกให้ อ.ชาญวิทย์เป็นผู้มีคุณูปการชุบชีวิตเหตุการณ์ปี 2475 พอศึกษามาเรื่อยๆ จนไปเรียนปริญญาเอก แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ ก็ได้ทบทวนสิ่งที่คณะราษฎรคิด ในวันนี้มาเป็นนักการเมือง ก็มองเห็นจุดเด่นและจุดอ่อนต่างๆ

วีรกรรมของคณะราษฎรในการอภิวัฒน์สยามเป็นคุณูปการและความกล้าหาญของกลุ่มคนที่อายุยังไม่มากในเวลานั้น ที่จะมีอนาคตในระบบราชการอีกยาวไกล ถ้าเขาอยู่กับระบบให้เป็น ก็จะทำให้เขาสามารถอยู่ได้ยาว ซึ่งการตัดสินใจของพวกเขาเหล่านั้น หากทำผิดพลาดไปก็จะกลายเป็นกบฏด้วย

ทั้งนี้ รศ.ดร.ปิยบุตรมองว่า สถาบันทางการเมืองที่สำคัญในระบบการปกครอง คือรัฐสภา ไม่ใช่บอกว่าสภาทำหรือเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่ตนมองว่าในปัจจุบันบทบาทของสมาชิกสภาไทยนั้นลดทอนอำนาจตัวเองลงไปเรื่อยๆ ในการอภิปรายประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ เพราะมองว่าสภานั้นเป็นกำลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลงและการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ทั้งหมดนี้เป็นภาพฉาย 24 มิถุนายน 2475 ที่มองเห็นอดีตและปัจจุบัน แต่สิ่งที่ยังมองไม่เห็นคือ “อนาคต” ว่าสุดท้ายแล้ว สังคมไทยจะบันทึก “24 มิถุนายน 2475” อย่างไร? เพราะ “ผู้ชนะ” คือ “ผู้เขียนประวัติศาสตร์” นั่นเอง!!