นงนุช สิงหเดชะ/อันเนื่องมาจาก “หาทรัพย์(ยิ่งลักษณ์)ไม่เจอ”

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

อันเนื่องมาจาก “หาทรัพย์(ยิ่งลักษณ์)ไม่เจอ”

วันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันเกิดครบ 50 ปีของ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย แต่วันเกิดปีนี้ของเธอแตกต่างออกไป เพราะเป็นวันเกิดที่ “มีน้ำตา” จนกลายเป็นข่าวโด่งดัง

ในวันนั้นคุณยิ่งลักษณ์หลั่งน้ำตาขณะทำบุญ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้หลั่งน้ำตาก็เนื่องมาจากคดีรับจำนำข้าวซึ่งคาดว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษาภายในเดือนกันยายนนี้ อันหมายถึงว่าวันเวลาแห่งการชี้ชะตาใกล้เข้ามาแล้ว หลังจากคดีนี้ดำเนินมาร่วม 2 ปี นับแต่ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด

คดีรับจำนำข้าวนั้น คุณยิ่งลักษณ์ถูกดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่ง โดยในส่วนของคดีแพ่ง คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง มีความเห็นให้คุณยิ่งลักษณ์รับผิดชอบ 20% ของมูลค่าความเสียหาย หรือประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับน้ำตาของคุณยิ่งลักษณ์ในวันนั้น ก็ย่อมมีคนไม่น้อยที่เห็นแล้วรู้สึกใจอ่อนสงสาร

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้รู้สึกผูกพันเป็นพิเศษก็จะมองน้ำตาของเธอในเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่เอาความรู้สึกเข้าไปเกี่ยวข้องมากนัก

หากแต่รอให้เป็นเรื่องการตัดสินของศาลเพียงอย่างเดียว

ในวันถัดมาประเด็นที่เป็นข่าวฮือฮาไม่แพ้กัน ก็คือกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ถามถึงความคืบหน้ากระบวนการยึดทรัพย์คุณยิ่งลักษณ์เพื่อชดใช้ความเสียหาย ซึ่งนายวิษณุตอบว่า “ยังไม่มีอะไรให้ยึด เพราะหาทรัพย์ไม่เจอ”

เท่านั้นก็เป็นเรื่อง เหมือนระเบิดลง เพราะถูกตีความว่าจะไม่มีการยึดทรัพย์คุณยิ่งลักษณ์หรือไม่มีการชดใช้ทางแพ่ง และที่แปลกใจมากขึ้นไปอีกคือทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงไม่รู้ว่าคุณยิ่งลักษณ์มีทรัพย์สินอะไรบ้าง เพราะคนที่เคยเป็นถึงนายกรัฐมนตรีย่อมต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินทั้งตอนเข้ารับและออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นข้อมูลเปิดเผยโดยทั่วไปที่ทราบกันว่าคุณยิ่งลักษณ์มีทรัพย์สินประมาณ 600 ล้านบาท

นอกจากนั้น ถูกสังคมตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า ถ้าบอกว่าหาทรัพย์คุณยิ่งลักษณ์ไม่เจอ ก็หมายความว่าคุณยิ่งลักษณ์ถ่ายโอนทรัพย์สินออกไปนอกประเทศหรือโอนไปไว้ในชื่อคนอื่นหมดแล้วหรือเปล่าจึงหาไม่เจอ

ปัญหาเกิดเพราะนายวิษณุพูดไม่จบกระแสความและไม่เคลียร์ ซึ่งต่างจากสภาพปกติของนายวิษณุที่มักจะชี้แจงเรื่องต่างๆ ได้กระจ่าง ก็เลยเกิดเสียงวิจารณ์กันยกใหญ่ว่าการยึดทรัพย์คงเป็นมวยล้ม เกี้ยเซียะกันไปกระมัง

ตามขั้นตอนแล้วหลังจากคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มี นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน สรุปเรื่องแล้ว กระทรวงการคลังจะมีหน้าที่ติดตามสืบหาทรัพย์สินของคุณยิ่งลักษณ์เพื่อให้กรมบังคับคดีทำการยึดทรัพย์

แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าทำไมกระทรวงการคลังเพิ่งมาตั้งคณะทำงานติดตามทรัพย์ ทั้งที่คณะกรรมการชุดนายมนัสได้สรุปความรับผิดของคุณยิ่งลักษณ์ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว

ว่าไปแล้วก็ไม่ต้องสงสัยเพราะการยึดทรัพย์เพื่อชดใช้ทางแพ่งนี้ ทุกหน่วยงานขยาดมาตั้งแต่แรก ไม่มีใครอยากทำ

จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องใช้มาตรา 44 ให้อำนาจกระทรวงการคลังดำเนินมาตรการเรียกความเสียหายทางแพ่งจากคุณยิ่งลักษณ์ จึงทำให้หน่วยงานราชการกล้าเดินหน้า

แต่กระนั้นก็ยังดูเหมือนล่าช้าหรือหยุดอยู่ไม่เดินไปให้สุด

การพูดไม่กระจ่างของนายวิษณุ ทำให้สื่อเกิดการเน้นจับประเด็นที่ว่า “ไม่มีอะไรให้ยึดเพราะหา (ทรัพย์) ไม่เจอ” ประกอบกับให้บังเอิญว่าการพูดอย่างนั้นของนายวิษณุ เกิดขึ้นหลังจากคุณยิ่งลักษณ์ร้องไห้เนื่องในวันเกิด ก็ทำให้หลายคนอดตีความไปไม่ได้ว่ารัฐบาล “ใจอ่อนเพราะน้ำตานาง” หรือเปล่า

จนกระทั่ง นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาอธิบายว่า “การไม่ยึดทรัพย์นั้นไม่ได้เกิดจากการหาทรัพย์ไม่พบ แต่เป็นเพราะขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการสืบทรัพย์ของกระทรวงการคลัง โดยหลังจากทราบจำนวนทรัพย์แล้วคณะกรรมการจะตั้งเรื่องมาให้กรมบังคับคดีติดตามยึดทรัพย์ต่อไป”

นั่นแหละจึงค่อยคลายเสียงโจษจันลงได้บ้าง

คดีของคุณยิ่งลักษณ์ถือเป็นคดีที่ต้องติดตามกันตาไม่กะพริบ เพราะอาจเขย่าการเมืองได้ทุกเมื่อ

และต้องลุ้นว่าจะมีการปลุกระดมมวลชนขึ้นมาต่อต้านขัดขวางอีกหรือไม่หากศาลตัดสินออกมาว่ามีความผิด

เพราะจะเห็นว่าฝ่ายสนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์ได้พยายามพูดบิดเบือนมาโดยตลอดในเรื่องคดีรับจำนำข้าว โดยพยายามพูดตัดต่อหรือตัดตอนในลักษณะที่ว่าถูกลงโทษเพราะ “ออกนโยบายช่วยคนจน”

การพูดเช่นนั้นจงใจทำให้สังคมเข้าใจว่าคุณยิ่งลักษณ์ถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่ในคำฟ้องหรือการชี้มูลความผิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่เคยมีสักครั้งที่จะระบุว่ามีความผิดเพราะออกนโยบายรับจำนำข้าว

แต่มีความผิดฐานละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนก่อให้เกิดความเสียหายทั้งที่หน่วยงานที่มีอำนาจได้ทำหนังสือแจ้งเตือนหลายครั้งว่าจะเกิดความเสียหาย แต่คุณยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้สั่งระงับยับยั้ง จึงเชื่อว่าคุณยิ่งลักษณ์จงใจให้เกิดความเสียหาย

คดีของคุณยิ่งลักษณ์เป็นบททดสอบการเมือง-การยุติธรรมของไทยครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในห้วงที่ผู้นำหลายประเทศทั่วโลก ถูกจำคุกไปหลายคน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือปล่อยให้มีการทุจริต และบางคนก็อยู่ระหว่างรอการพิพากษา เช่น ปาร์ก กึน เฮ อดีตประธานาธิบดีหญิงของเกาหลีใต้ ซึ่งการดำเนินคดีรวดเร็วมาก โดยศาลยุติธรรมอนุมัติหมายจับควบคุมตัวเธอไว้ เกือบจะทันทีหลังถูกถอดถอนจากตำแหน่งตามคำขอของอัยการ เป็นการควบคุมตัวไว้ทั้งที่ศาลยังไม่พิจารณาคดีด้วยซ้ำ

ปาร์ก กึน เฮ ถูกอัยการตั้งข้อหาว่ารู้เห็นเป็นใจให้คนสนิทของเธอคอร์รัปชั่นหรือทำผิดกฎหมาย พูดให้ชัดก็คือรู้แล้วว่าคนสนิททำอะไร แต่มิได้ระงับยับยั้ง (คล้ายกับคดีรับจำนำข้าว)

ล่าสุดนี้ มิเชล เตเมร์ ประธานาธิบดีบราซิล ถูกอัยการสูงสุดฟ้องในข้อหาเรียกรับสินบนจากบริษัทเอกชน หลังจากขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน นางดิลมา รุสเซฟฟ์ อดีตประธานาธิบดีหญิงที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วยข้อหาทุจริตไปเพียง 1 ปี

นั่นคือตัวอย่างในต่างประเทศที่รบกับผู้นำทุจริตอย่างไม่ประนีประนอม หากต้องการให้ชาติมีอนาคตที่ดี