ผ่าแผน ‘ภูเก็ตแซนด์บอกซ์’ ดีเดย์ 1 กรกฎาคม 2564 ลุ้น 3 เดือนดึงแสนคนเที่ยวไทย/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ผ่าแผน ‘ภูเก็ตแซนด์บอกซ์’

ดีเดย์ 1 กรกฎาคม 2564

ลุ้น 3 เดือนดึงแสนคนเที่ยวไทย

 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 22 มิถุนายน 2564 มีมติเห็นชอบหลักการเปิดพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) ตามข้อเสนอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสอดรับกับแถลงการณ์ของนายกฯ บิ๊กตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ที่ประกาศให้ทุกภาคส่วนดำเนินการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใน 120 วัน

รวมทั้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบศ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เมื่อ 26 มีนาคม 2564 ที่เห็นชอบให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต โดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นี้เป็นต้นไป ภายใต้โมเดล Phuket Sandbox (ภูเก็ตแซนด์บอกซ์)

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทยอยเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นฟูเศรษฐกิจและอุตสาหกรรรมการท่องเที่ยว หารายได้เข้าประเทศ และเปิดให้ประชาชนทำมาหากินได้ไปควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด

 

“ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เป็นโมเดลการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพื้นที่โดยไม่ต้องกักตัว โดยมีเงื่อนไขว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสตามที่กำหนด ขณะที่คนในภูเก็ตก็ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพียงพอสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (hard immunity) เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทั้งคนในพื้นที่ คนในประเทศ และทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยกันทั้ง 2 ฝ่าย

โดยใช้ “ภูเก็ต” เป็นพื้นที่นำร่อง ด้วยเหตุผลที่ว่าภูเก็ตเป็นเมืองเหมาะสมในทางภูมิศาสตร์ มีพื้นที่เป็นเกาะ บริหารจัดการได้ง่ายกว่าจังหวัดท่องเที่ยวอื่น เป็นเมืองที่ทั่วโลกรู้จักในฐานะ “ไข่มุกแห่งอันดามัน” มีสายการบินทั้งไทยและต่างประเทศบินตรงเข้า-ออกจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละปีรวมกว่า 10 ล้านคน มีรายได้จากภาคธุรกิจท่องเที่ยวในสัดส่วนที่มากกว่า 90% สร้างรายได้ถึงเกือบ 5 แสนล้านบาทในปี 2562 ที่ผ่านมา (ก่อนวิกฤตโควิด-19)

ที่สำคัญ หากสามารถบริหารจัดการเปิดภูเก็ตได้สำเร็จ โมเดล “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” จะเป็นต้นแบบให้กับเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ที่อยู่ในแผนเปิดรับนักท่องเที่ยว เช่น พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี (สมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) เชียงใหม่ ชลบุรี (พัทยา) กรุงเทพฯ ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) เพชรบุรี (ชะอำ) บุรีรัมย์ ต่อไปด้วย

เรียกว่า หากภูเก็ตรอด เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ และประเทศไทยก็จะรอดไปด้วย

 

นโยบายดังกล่าวทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องระดมพละกำลังทุ่มให้กับ “ภูเก็ต” อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งกระจายวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมจำนวนประชากรในพื้นที่ได้ไม่ต่ำกว่า 70% และ 100% สำหรับสถานประกอบการที่เปิดให้บริการ การเตรียมพร้อมยกระดับมาตรฐานการให้บริการของโรงแรม ร้านอาหาร รถขนส่ง เรือ ฯลฯ ภายใต้ตราสัญลักษณ์ SHA+

รวมถึงการกำหนดเงื่อนไข ข้อปฏิบัติของนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ก่อนเดินทางระหว่างเข้ามาท่องเที่ยว กระทั่งถึงกลับประเทศ ให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุข เพื่อให้แผนการเปิดรับต่างชาติเป็นไปตามเป้าหมาย และไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่เกิดขึ้น

เช่น กำหนดประเทศของนักท่องเที่ยวเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำและปานกลาง (สาธารณสุขกำหนด) คนต่างชาติไม่ว่าจะถือพาสปอร์ตประเทศไหนต้องอาศัยอยู่ในประเทศความเสี่ยงต่ำและปานกลางอย่างน้อย 21 วันก่อนเดินทางเข้าภูเก็ต วัคซีนที่ฉีดต้องได้รับการรับรองโดย อย. หรือ WHO ครบกำหนดตามประเภทวัคซีนอย่างน้อย 14 วัน และมีเอกสารรับรอง

นอกจากนี้ ต้องมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโควิด วงเงินคุ้มครองไม่ต่ำกว่า 100,000 USD ต้องตรวจ RT-PCR หาเชื้อที่สนามบิน และระหว่างพักต้องตรวจในวันที่ 6/7 และ 12/13 (จำนวนครั้งของการตรวจขึ้นอยู่กับจำนวนวันเข้าพัก) เข้าพักในโรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ และมีโรงพยาบาลเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ต้องพักในภูเก็ต 14 วันก่อนเดินทางออกไปพื้นที่อื่น

หากอยู่ไม่ครบ 14 วันต้องเดินทางกลับโดยเที่ยวบินตรงออกราชอาณาจักรเท่านั้น

 

“ณรงค์ วุ่นซิ้ว” ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้ข้อมูลว่า จังหวัดภูเก็ตได้ทำแผนฝึกซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 กรกฎาคมนี้แล้ว ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย

สอดรับกับ “ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม” นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ระบุว่า ภาคการท่องเที่ยวภูเก็ตตื่นตัวและเตรียมความพร้อมมาตลอดในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้เปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 กรกฎาคมนี้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล โดยขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมีสัดส่วนเกิน 70% ตามข้อกำหนด

โดยซัพพลายด้านการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร รถ เรือ ฯลฯ ได้ยกระดับสู่มาตรฐาน Amazing Thailand Safety and Health Administration Plus (SHA+) คือ ผู้ให้บริการในสถานประกอบการทุกแห่งที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต้องได้รับการฉีดวัคซีน 100% ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีโรงแรมที่ได้รับตรามาตรฐาน SHA+ แล้วกว่า 300 แห่ง และมีสายการบินที่คอนเฟิร์มเที่ยวบินตรงเข้าสู่ภูเก็ตในเดือนกรกฎาคมจำนวนหนึ่งแล้ว อาทิ กาตาร์แอร์เวย์ส, สิงคโปร์แอร์ไลน์, เอมิเรตส์, เอทิฮัด, เอลอัล อิสราเอล แอร์ไลน์ รวมถึงการบินไทย

นอกจากนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ยังรายงานด้วยว่า ณ วันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา มีสายการบินที่ขอทำการบินเข้า “ภูเก็ต” ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2564 รวม 31 สายการบิน

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นนี้ยังไม่อยากโฟกัสเรื่องเศรษฐกิจมากนัก เพราะเป็นช่วงของการทดลอง และเตรียมความพร้อม หัวใจสำคัญอยู่ที่เปิดแล้วต้องไม่มีการแพร่ระบาดรอบใหม่ นั่นหมายความว่าจะต้องมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี มาตรการต่างๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดออกมาทุกภาคส่วนก็ต้องลองปฏิบัติก่อน จากนั้นค่อยๆ ปรับแก้กันต่อไป ซึ่งหากทุกอย่างลงตัว เดินหน้าต่อได้ เชื่อว่าเดือนสิงหาคม-กันยายน จะเริ่มดีขึ้น และชัดเจนยิ่งขึ้นนับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป

เช่นเดียวกับ “ธนูศักดิ์ พึ่งเดช” ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ภูเก็ตภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้รับเลือกให้เป็นต้นแบบของการเปิดประเทศฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายใต้การระมัดระวังและทำงานอย่างหนักทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชน หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในวันข้างหน้าอย่าได้ตำหนิกัน เพราะในทางกลับกันภูเก็ตก็เป็นผู้เสียสละในการเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ให้กับทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ดังนั้น หากต้องเจอกับปัญหาขอให้เชื่อมั่นว่าภูเก็ตมีศักยภาพทั้งทางการแพทย์ การดูแลความเรียบร้อย ฯลฯ ที่ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามกระบวนการ มาตรฐานตามกรอบเงื่อนไขและข้อปฏิบัติของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ขณะที่ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เพื่อเป็นการดำเนินการให้สอดรับกับนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ทางกระทรวงจึงกระชับแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวให้เร็วขึ้น โดยยังคงปักธง “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” 1 กรกฎาคมนี้ จากนั้นทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดไหนที่มีความพร้อมสามารถเปิดดำเนินการได้ทันที ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับจังหวัดภูเก็ต

“ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กางไทม์ไลน์ใหม่ว่า หลังจากดีเดย์ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” แล้วตามแผนจะเปิดเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ในรูปแบบ Sealed Routes (0+3+4+7)

จากนั้นจะเปิดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล), พังงา (เขาหลัก เกาะยาว) ในเดือนสิงหาคม 2564 และเปิดเชียงใหม่ (อ.เมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า), ชลบุรี (พัทยา บางละมุง สัตหีบ), บุรีรัมย์ (อ.เมือง สนามช้างอารีนา) ในเดือนกันยายน และในเดือนตุลาคม มีแผนเปิดกรุงเทพฯ, ชะอำ, หัวหิน และจังหวัดอื่นๆ ที่มีความพร้อมตามเงื่อนไข

ทั้งนี้ มีเป้าหมายสำหรับช่วง 3 เดือนแรก (กรกฎาคม-กันยายน 2564) มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.29 แสนคน และสร้างรายได้ที่ราว 11,492.2 ล้านบาท โดยมีตลาดเป้าหมายหลักคือกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำและปานกลางทั้งตลาดระยะใกล้ อาทิ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น และตลาดระยะไกล เช่น อังกฤษ เยอรมนี รัสเซีย อิสราเอล กลุ่มประเทศอาหรับ 6 ประเทศ ฝรั่งเศส นอร์ดิก และอเมริกา

“ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” คือเดิมพันสำคัญในการ Reopen Thailand 1 กรกฎาคมนี้ ส่วนจะเดินตามแผนได้สวยงามตามเป้าหมายแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต้องร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนต่อไป อีก 1 เดือนมาประเมินผลกันอีกครั้ง