Tour de France กับขนหน้าแข้ง/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

Tour de France

กับขนหน้าแข้ง

 

การแข่งขันจักรยานรายการยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลก Tour de France ปีนี้ เริ่มวันที่ 26 มิถุนายน และจะสิ้นสุดในวันที่ 18 กรกฎาคม รวม 23 วัน เป็นวันแข่ง 21 วัน หยุดพัก 2 วัน

การแข่งขันทั้งหมด 21 สเตจ รวมระยะทาง 3,383 กิโลเมตร แต่ละสเตจมีความยากง่ายต่างกันไป ตั้งแต่ปั่นที่ราบ ปั่นขึ้นภูเขาระดับกลาง และปั่นขึ้นภูเขาสูง

ปีนี้เป็นการแข่งขันครั้งที่ 108 เริ่มแข่งสเตจแรกที่เมืองเบรสต์ (Brest) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส จบสเตจ 21 ที่ถนนฌ็องเซลิเซ่ (Champs-?lys?es) กรุงปารีส

เฉลี่ยแล้วนักปั่นใน Tour de France ต้องปั่นจักรยานสเตจละ 161 กิโลเมตร ระยะทางประมาณกรุงเทพฯ-พัทยา

ขาไร้ขนของนักปั่น Tour de France

หากสังเกตดูขาของนักปั่นจักรยานระดับโลก จะนวลเนียนไม่มีขนหน้าแข้ง

การโกนขนหน้าแข้งเป็นสิ่งที่นักปั่นจักรยานอาชีพทำสืบต่อกันมาเป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว เพราะมองว่าการโกนขนหน้าแข้งอาจช่วยลดแรงต้านได้เสี้ยววินาที แต่ในการแข่งกีฬาความเร็ว เวลาแค่เสี้ยววินาทีก็มีผลต่อการเข้าเส้นชัยป็นที่ 1 หรือที่ 2

หากมองในแง่จิตวิทยา การโกนขนก็ช่วยเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักปั่นจักรยาน เพราะการโกนขนจะรู้สึกว่าขาสะอาดเกลี้ยงเกลา ตัวเบาขึ้น

นอกจากนี้ นักปั่นจักรยานอาชีพประสบอุบัติเหตุจักรยานล้มเป็นประจำ การไม่มีขนหน้าแข้งทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาดแผลและแผลจะหายเร็วกว่า เพราะเวลาปิดพลาสเตอร์ จะได้ไม่มีขนไปโดนแผล และเวลาดึงพลาสเตอร์ออกก็ไม่เจ็บ

หลังแข่งเสร็จแต่ละวัน นักปั่นจักรยานอาชีพจะต้องนวดขาผ่อนคลาย หากมีขนยุ่บยั่บ จะทำให้เจ็บและไม่สบายขาเวลานวด

เบตตี้ กราเบิ้ล

มีการทดสอบเรื่องการขี่จักรยานของนักปั่นจักรยานอาชีพว่า การมีขนหน้าแข้งกับไม่มีขนหน้าแข้ง ความเร็วจะต่างกันมากขนาดไหน โดยจักรยานยี่ห้อ Specialized

พบว่า การปั่นจักรยานระยะทาง 40 กิโลเมตร ของนักปั่นจักรยาน 6 คนที่ไม่มีขนหน้าแข้งนั้น ทำเวลาเร็วกว่านักปั่นคนเดิมตอนมีขนหน้าแข้ง 82-50 วินาที

สำหรับนักปั่นจักรยานอาชีพ การโกนขนหน้าแข้งถือเป็นมารยาทที่ทุกคนต้องทำ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าจริงจังกับการขี่จักรยาน และเคารพธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี

ย้อนไปสมัยอดีต นักปั่นจักรยานมีขาเรียบเนียน ไม่มีขน เพราะเชื่อกันมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้วทำให้ปั่นจักรยานได้เร็วขึ้น

ดังนั้น หากนักปั่นจักรยานอาชีพสมัยปัจจุบันเวลาลงแข่งไม่โกนขนหน้าแข้ง ถือว่าเป็นการไม่เคารพธรรมเนียมปฏิบัติการโกนขนหน้าแข้งเป็นอย่างมาก

 

ปีเตอร์ ซากาน (Peter Sagan) นักปั่นจักรยานแถวหน้าของโลก ชาวสโลวัก เคยลงแข่งขันรายการทัวร์ ออฟ ซาน ลูอิส (Tour of San Luis) ที่ประเทศอาร์เจนตินา โดยไม่โกนขนหน้าแข้ง กลายเป็นประเด็นดังที่นักปั่นด้วยกันวิจารณ์ และสื่อมวลชนเขียนข่าว

นักปั่นหลายคนวิจารณ์ว่า ปีเตอร์ไม่เคารพธรรมเนียบปฏิบัติ แต่หลายคนก็เห็นว่าขาของปีเตอร์จะโกนขนหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องของใคร

ตามประวัติศาสตร์ที่เล่าขานกัน Alexander the Great หรืออเล็กซานเดอร์มหาราช นักรบผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาเซโดเนีย (Macedonia) สั่งให้นักรบโกนหนวดและตัดผมสั้นเตียนเพื่อข้าศึกจะได้ไม่มีผมหรือหนวดให้ดึงหรือจิกเวลาต่อสู้ระยะประชิด

ในอดีตเมื่อร้อยกว่าปีก่อน นักปั่นจักรยานมีการโกนขนหน้าแข้งตอนลงแข่งขันกันแล้ว โกนก่อนที่ผู้หญิงจะนิยมโกนขนหน้าแข้งซะอีก

ผู้หญิงเริ่มนิยมโกนขนหน้าแข้งราวปี 1940 โกนตามดาราฮอลลีวู้ด เบตตี้ กราเบิ้ล (Betty Grable) ที่โปสเตอร์ใส่ชุดว่ายน้ำโชว์เรียวขาอันนวลเนียนของเธอ เป็นที่นิยมมากในหมู่ทหารอเมริกันที่ออกรบในสงครามโลกครั้งที่ 2

โปสเตอร์ของเบตตี้ กราเบิ้ล ขายได้กว่า 5 ล้านแผ่น ทำให้ผู้หญิงหันมาโกนขนหน้าแข้งแบบเบตตี้ เกรเบิ้ล

 

ผู้หญิงอเมริกันพอเริ่มเป็นสาวก็จะเริ่มโกนขนหน้าแข้งกันแล้ว จากสถิติพบว่าในช่วงชีวิตของผู้หญิงอเมริกันจะใช้เวลาโกนขนหน้าแข้งรวมแล้วคิดเป็นเวลา 58 วัน

และหมดเงินไปกับการซื้อมีดโกน 10,000 ดอลลาร์ หรือ 300,000 บาท