ลักษณะจัดตั้ง สะท้อนถึง ‘กัมมันตะ’ ในทางการเมือง/กรองกระแส

กรองกระแส

 

ลักษณะจัดตั้ง

สะท้อนถึง ‘กัมมันตะ’

ในทางการเมือง

 

การเคลื่อนไหวในวันที่ 24 มิถุนายน กำลังกลายเป็นอีกจังหวะก้าวหนึ่งซึ่งฉายสะท้อนสภาพความเป็นจริงที่ดำรงอยู่ภายในของแต่ละกลุ่มออกมา

ไม่ว่าจะเป็น “ไทยไม่ทน” ไม่ว่าจะเป็น “ประชาชนไทย”

เด่นชัดยิ่งว่า “ไทยไม่ทน” ฉายภาพความจัดเจนจากการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2535 เข้ากับการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2553

เห็นได้จากนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ เห็นได้จากนายจตุพร พรหมพันธุ์

เด่นชัดยิ่งว่า “ประชาชนไทย” ฉายภาพความจัดเจนจากการเคลื่อนไหวก่อนรัฐปรหารเดือนกันยายน 2549 ก่อนการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

เห็นได้จากนายปรีดา เตียสุวรรณ์ เห็นได้จากนายนิติธร ล้ำเหลือ

แต่ถามว่ามวลชนจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 จากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 จากเมื่อเดือนกันยายน 2549 จากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เข้าร่วมด้วยหรือไม่

นี่ย่อมเป็นคำถามอันแหลมคมยิ่ง

 

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว “ไทยไม่ทน” บนเวทีปราศรัย ณ สวนสันติพร เมื่อเดือนเมษายน อาจมีภาพจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

โดยเฉพาะบรรดาป้าๆ ซึ่งยืนหยัดในการสวม “เสื้อสีแดง”

ยิ่งเมื่อมองผ่านการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะของนายปรีดา เตียสุวรรณ์ ไม่ว่าจะของนายนิติธร ล้ำเหลือ กลับปรากฏอย่างเด่นชัดในลักษณะเอกเทศ

ไม่มีหน้าตาแบบก่อนรัฐประหาร 2549 ไม่มีหน้าตาแบบก่อนรัฐประหาร 2557

ตรงกันข้าม ผู้ที่เข้าไปยึดครองพื้นที่หน้าเวทีปราศรัย ณ สวนสันติพร กลับเป็นป้าๆ “คนเสื้อแดง” ประสานกับคนรุ่นใหม่จากหลากหลายแห่ง

คนเหล่านี้ล้วนเคยร่วมเคลื่อนไหวกับ “คณะราษฎร” มาอย่างต่อเนื่อง

จึงไม่แปลกที่เมื่อเพลงชาติดังขึ้นในเวลา 18.00 น. พวกเขาจะยืนขึ้นและชู “3 นิ้ว” ขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันเบื้องหน้านายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์

กลายเป็นว่ากำลังพื้นฐานมาจากกำลังของ “คณะราษฎร 2563”

 

พลันที่มีคำประกาศนัดหมายการเคลื่อนไหวเนื่องในวาระ 89 ปีแห่งการรำลึกถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475

ทุกสายตามองไปยังภาพของ “มวลชน” ของแต่ละกลุ่ม

ไม่มีการสาธยายรายละเอียดจาก “ประชาชนไทย” ขณะที่ “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ระบุว่าจะดำเนินไปในลักษณะ “แม่น้ำร้อยสาย”

แต่หลายคนก็ไม่แน่ใจว่าจะระดมมาได้มากน้อยเพียงใด

นั่นเพราะว่า แกนนำ “ไทยไม่ทน” จะยังมีมนต์ขลังจากเดือนพฤษภาคม 2535 หรือไม่ จะยังมีมนต์ขลังจากเดือนพฤษภาคม 2553 มากน้อยเพียงใด

ตรงกันข้าม ความคึกคักกลับสัมผัสได้จาก “คณะราษฎร”

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ขอนแก่น ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่อุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ตรัง

เป้าหมายอยู่ที่ 24 มิถุนายน วันชาติของ “คณะราษฎร”

 

ไม่ว่าในที่สุดแล้ว กลุ่มใด คณะใด จะเพรียกหา “มวลชน” ให้ออกจากบ้านมาเข้าร่วมได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของ “การจัดตั้ง”

การจัดตั้งสะท้อนถึงเครือข่ายและสายสัมพันธ์

ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งอย่างหลวมๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งอย่างเข้มยึดโยงกันด้วย “วินัยเหล็ก” ย่อมสร้างบทบาทและความหมายได้

กระบวนการของ “การจัดตั้ง” จึงสำคัญต่อทุก “การเคลื่อนไหว”