คลัสเตอร์โควิด สถาบันสอนศาสนา ‘มัรกัซยะลา’ บทเรียนที่ควรหาทางออกร่วมกัน/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

คลัสเตอร์โควิด

สถาบันสอนศาสนา ‘มัรกัซยะลา’

บทเรียนที่ควรหาทางออกร่วมกัน

แม้คลัสเตอร์สถาบันการสอนศาสนา “มัรกัซยะลา” จะเป็นต้นเหตุกระจายโควิดทั่วหลายจังหวัดภาคใต้ แต่จำนวนก็ยังน้อยกว่าคลัสเตอร์ “โรงงาน” ก็ตาม

แต่ส่งผลคำวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเรื่องดราม่าในโลกโซเชียลอย่างมากในพื้นที่ และสื่อมวลชนส่วนกลาง

เพราะโควิดนี้เป็นเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาอาจขยายไปพื้นที่อื่นๆ แม้แต่กรุงเทพมหานครและภาคเหนือ เพราะในรายงานของสื่ออ้างว่ามีนักเรียนจากเชียงรายมาเรียนที่ “มัรกัซยะลา” ด้วย

เป็นบทเรียนสำคัญที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะมุสลิมร่วมหาทางออกร่วมกัน อันเนื่องมาจากสถานการณ์ โควิดปัจจุบันในพื้นที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หลายพื้นที่เตียงโรงพยาบาลล้นต้องเปิดโรงพยาบาลสนามในชุมชน

สำหรับสถาบันสอนศาสนานี้ หรือสื่อเรียกว่าโรงเรียน อยู่ภายใต้การบริหารของ “ศูนย์มัรกัสยะลา” หรือศูนย์ดะวะห์แห่งประเทศไทย มัสยิดอิล-นูร เป็นสถานที่เรียนรู้และเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ภาคประชาชนแห่งหนึ่ง

(ตามสื่อมวลชนรายงานว่า) ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนในศูนย์ดะวะห์ได้ปล่อยนักเรียนกลับบ้านในภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด ทาง ศบค.จังหวัดยะลา จึงสั่งการให้แจ้งไปยังทาง ศปก.อำเภอของทุกจังหวัดภาคใต้ เร่งหานักเรียนจากศูนย์มัรกัสยะลานำมาตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19

เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่

 

สภาพสถานการณ์สถาบันสอนศาสนา

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

อันเนื่องมาจากการเรียนศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวิถีชีวิต มีการจัดการการสอนศาสนาในพื้นที่ หลากหลายรูปแบบ แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงสถาบันการสอนศาสนาสองส่วนเท่านั้น “สถาบันปอเนาะและสถาบันฮาฟิซ”

สถาบันปอเนาะ จะเน้นสอนศาสนาหลากหลายวิชา ในขณะที่สถาบันฮาฟิซ จะเน้นท่องจำอัลกุรอาน

ทั้งสองสถาบันมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 300 แห่ง มีจำนวนนักเรียนจากทั่วภาคใต้รวมทั้งจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (บางสถาบันมีนักเรียนจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย กัมพูชา และเมียนมา) มากน้อยแล้วแต่ความมีชื่อเสียงของสถาบัน ตั้งแต่ 50-2,000 คน

เช่น สถาบันสอนศาสนา “มัรกัซยะลา” มีชื่อเสียงมากๆ ด้านท่องจำกุรอาน มีนักเรียนไม่ต่ำกว่า 500 คน

นักเรียนต้องอยู่ประจำเท่านั้น การเปิด-ปิดเรียนสถาบัน เน้นปฏิทิน ศาสนา คือจะปิดปีละสองครั้งใหญ่ “ช่วงเดือนเมาลิดนบีรำลึก” เดือนรอมฎอน และจะเปิดหลังจากนั้น

ซึ่งปีนี้เปิดประมาณ 24 พฤษภาคม 2564 หลังวันตรุษอีดิลฟิตร์ 10 วัน

ดังนั้น ในความเป็นจริง ณ ตอนนี้ ส่วนใหญ่มีนักจำนวนมากเรียนประจำอยู่ แม้สถาบันเหล่านี้จดทะเบียนกับทางการ ภายใต้การดูแลสำนักงานการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งประกาศเปิดเรียน “สามัญ” วันที่ 14 มิถุนายน 2564

 

บทเรียน “มัรกัซยะลา”

จะแก้ปัญหาอย่างไร?

เมื่อสถานการณ์ความเป็นจริงเป็นของสถาบันสอนศาสนาในพื้นที่ดังที่กล่าวทางออกที่ดีที่สุด ที่จะไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยมีข้อเสนอแนะดังนี้

เบื้องต้นติดตามนักเรียน “มัรกัซยะลา” อย่างเร่งด่วนพร้อมดูแลติดตามที่อื่น

องค์กรศาสนาอิสลามอย่าง “สำนักจุฬาราชมนตรี” ได้ออกหนังสือด่วน ลงนามโดยนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี แจ้งไปยังประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร ขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทุกมัสยิดในสังกัด ได้ดำเนินการสำรวจสัปปุรุษว่า มีนักเรียนที่เดินทางมาจากมัรกัซยะลาหรือไม่

หากมีให้รีบไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชนในเขตพื้นที่ เพื่อรีบไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลหรือจุดบริการในพื้นที่ต่างๆ โดยเร็ว

พร้อมให้บุคคลดังกล่าวปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข กักตัวเองที่บ้านหรือสถานที่ที่รัฐจัดให้

และขอให้บุคคลดังกล่าวและครอบครัวงดละหมาดที่มัสยิด ทั้งละหมาดญะมาอะห์ (รวมประจำวัน) และละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะห์) จนกว่าผลตรวจจะชี้ชัดว่า ไม่มีการติดเชื้อ

สำหรับสถาบันอื่นๆ ที่เปิดอยู่แล้วมอบหมายให้สำนักงานการศึกษาเอกชน ฝ่ายปกครอง ผู้นำศาสนาในพื้นที่สำรวจจำนวนโรงเรียน บุคลากร นักเรียน (ไม่ว่าจดทะเบียนหรือไม่) เชิญเจ้าของสถาบัน (โต๊ะครู) ขอความร่วมมือ ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนปฏิบัติตามสามมาตรการอย่างเคร่งครัด

ดังประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดยะลา และเมาลานา คอดาฟี นักเผยแผ่ศาสนาอิสลามชื่อดังของจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ด้วยภาษามลายู) ให้ทัศนะไว้ว่า โควิดสำหรับมุสลิม : ควรปฏิบัติตามสามมาตรการ หนึ่ง รัฐ เพราะเขาบริหารประเทศ บริหารบ้านเมือง สอง สำนักจุฬาราชมนตรี บริหารองค์กรศาสนา มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนามากมาย สาม สาธารณสุข รู้เรื่องดีเรื่องโรคระบาดและพิษภัยไข้เจ็บ

(#ฟังฉบับเต็มใน https://fb.watch/6duub9h1Mn/)

ระยะถัดไป

 

ดร.อับดุลฮาฟิซ ฮิเล ประธานเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เสนอว่า 2 ข้อใหญ่ๆ ที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไข

1. ปอเนาะ (สถาบันสอนศาสนา) ที่ปิด ยังไม่เปิดเรียนให้ชะลอการเปิด เบื้องต้นน่าจะเปิดหลังรายอฮัจญ์ ประมาณ 20 กรกฎาคม 2564 (ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น)

2. ปอเนาะที่เปิดอยู่ ศบค.อำเภอ/สสจ./สช.อำเภอ และประธานปอเนาะอำเภอ ร่วมประชุมหารือกับโต๊ะครู ก่อนเด็กจะกลับบรายอ ต้องไม่มีเด็กติดโควิคจากปอเนาะ

3. เมื่อเด็กกลับรายอฮัจญ์ ให้โต๊ะครูปอเนาะเปิดปอเนาะตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ ศบค.ประกาศ เหมือนที่ประกาศเลื่อนเปิดเรียนในโรงเรียนเอกชน

4. ให้มีผู้รับผิดชอบเพื่อประสานงานแต่ละจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา

5. เสนอให้ สช.จังหวัด สสจ. และชมรมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัด เป็นเจ้าภาพร่วมกัน โดยมีผู้ประสานงานจังหวัดร่วมประสานและแก้ปัญหา

จัดหาวัคซีนเพื่อภูมิคุ้มกันหมู่

 

จริงอยู่ทุกภาคส่วนในพื้นที่รณรงค์ฉีดวัคซีน แต่ความเป็นจริง วัคซีนมีไม่พอ หากครู บุคลากรทางศึกษายังไม่ฉีด หากเปิดเรียน โรงเรียนก็จะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ดังที่เป็นข่าวหลายโรงเรียนที่เปิดแค่อาทิตย์แรก

ดร.มังโสด หมะเต๊ะ แกนนำสมาคมสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้กล่าวว่า “วันพุธที่ 23 มิถุนายนนี้ เราจะทำหนังสือถึง รมว.ศึกษาธิการ (รวมทั้งแถลงข่าวผ่านสื่อกดดัน) ให้จัดหาวัคซีนฉีดบุคลากรทางศึกษาทุกโรงเรียนก่อนเปิดเรียน มิใช่แต่ละจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศปิดเรียนแต่ไม่มีมาตรการใดช่วยเหลือ โดยเฉพาะจัดหาวัคซีน”

ท่านยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ได้ประสานเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จัดส่งรถตรวจโควิดพระราชทาน 3 คันปูพรมตรวจบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ก่อนด้วย