‘ภูเก็ตแซนด์บอกซ์’ กับนัยสำคัญต่อทั่วทั้งเอเชีย/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

‘ภูเก็ตแซนด์บอกซ์’

กับนัยสำคัญต่อทั่วทั้งเอเชีย

 

โครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับความสนใจสูงมากและถูกจับตามองมาจากทั่วทุกมุมโลก

เหตุผลก็คือ รัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลกกำลังมองหาหนทางที่จะ “เปิดประเทศ-เปิดการท่องเที่ยว” ของตนเองอยู่ แต่จนแล้วจนรอด ทุกวิธีการก่อนหน้านี้ รวมแม้แต่กระทั่ง “แทรเวล บับเบิล” ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าตั้งแต่ก่อนจะเริ่มต้นด้วยซ้ำไป

“แซนด์บอกซ์” ของไทย จึงกลายเป็นหนทางเดียวที่เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ฟื้นฟูการท่องเที่ยวของตนเองอย่างไรในสถานการณ์การแพร่ระบาดเช่นนี้

 

โฮ กวอน ปิง เจ้าพ่อแห่ง “บันยันทรี” เครือข่ายโรงแรมและรีสอร์ตเพื่อการท่องเที่ยวทั่วโลก ให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กเอาไว้เมื่อ 18 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า “แซนด์บอกซ์” คือปรากฏการณ์ครั้งแรกในเอเชีย ที่ประเทศหนึ่งซึ่งมีขนาดประชากรระดับนี้ มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่ำขนาดนี้ ยังสามารถ “เปิดประเทศ” ต้อนรับผู้คนจากส่วนอื่นๆ ที่เหลือของโลกได้

ถามว่า “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” คืออะไร?

รอยเตอร์สให้นิยามเอาไว้เมื่อ 16 กรกฎาคม ว่า เป็นแผนการเปิดการท่องเที่ยวใหม่ “ที่ขึ้นอยู่กับปริมาณการฉีดวัคซีน” ให้กับประชากรของเกาะภูเก็ตให้ได้ถึงระดับ “อย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์” เพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวที่ผ่านการฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในภูเก็ตได้ โดยไม่จำเป็นต้องกักตัว และยังเปิดให้ท่องเที่ยวได้ทั่วประเทศหลังอยู่ภายในภูเก็ตได้ครบ 14 วันแล้ว

ลีนา บาตาแรกส์ แห่งดิ อินไซเดอร์ เพิ่มเติมเอาไว้เมื่อ 17 มิถุนายน ว่า จะทำอย่างนั้นได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติเหล่านั้นต้องตกลงยินยอมที่จะทำอาร์ที-พีซีอาร์ เทสต์ (หรือตรวจสว็อบ) ในวันแรกและในวันที่ 5 ของการเดินทางมาพำนักอยู่ในภูเก็ต ทั้งยังต้องยอมรับ “แอพพลิเคชั่น” เพื่อการเตือนและติดตามตัว กับต้องสวมหน้ากากอีกด้วย

สำหรับแอนโธนี ลาร์ค ประธานสมาคมโรงแรมภูเก็ต บอกกับรอยเตอร์สว่า ระดับการฉีดวัคซีนไม่มีปัญหา ถึงตอนนี้ภูเก็ตก็ฉีดไปแล้วถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับอัตราการฉีดทั้งประเทศที่อยู่ที่ราว 5 เปอร์เซ็นต์แล้วถือว่าสูงกว่ามาก ที่เป็นปัญหาก็คือ ความไม่แน่นอน เปลี่ยนกลับไปกลับมาของกฎเกณฑ์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ ซึ่งส่งผลให้กระบวนการฟื้นการท่องเที่ยว “กลายเป็นกระบวนการช้าๆ” ไปในที่สุด

แต่สำหรับแจ ยอน โช โอรีแกน นักวิชาการด้านบริหารจัดการการท่องเที่ยวระดับด๊อกเตอร์ เชื่อว่า ชุมชนของภูเก็ตเองนั่นแหละที่จะเกิดปัญหาขึ้น

เธอบอกกับดิ อินไซเดอร์ เอาไว้ว่า “ความตึงเครียด” จะเกิดขึ้นภายในชุมชนของภูเก็ตเอง ระหว่างผู้คนในชุมชนที่เกี่ยวข้องหรือทำงานเชื่อมโยงอยู่กับการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม กับคนในชุมชนที่ไม่ได้ทำอะไร หรือได้ประโยชน์อะไรจากการท่องเที่ยวเลย

ได้แต่ “กลัว” ว่านักท่องเที่ยวจะนำ “เชื้อมาฝาก” อีกครั้ง

 

รอยเตอร์สบอกว่า แซนด์บอกซ์ได้รับความสนใจและสนับสนุนจากหลายหน่วยงานหลายประเทศที่อยากให้ประสบผลสำเร็จ อย่างเช่น สายการบิน ที่หนุนเต็มตัวและประกาศเพิ่มเที่ยวบินตรงมาลงภูเก็ตกันเป็นทิวแถว ตั้งแต่เอมิเรตส์, เอลอัล, แอร์ฟรานซ์, กาตาร์แอร์เวย์ส, บริติช แอร์เวย์ส เป็นต้น

สิงคโปร์แอร์ไลน์ถึงกับประกาศเพิ่มเที่ยวบินตรงสู่ภูเก็ต จากเดิม 2 เที่ยวต่อสัปดาห์ เป็น 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์นับตั้งแต่กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

ลาร์คเองยอมรับว่า มีความสนใจในต่างประเทศแรงกล้ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากย่านตะวันออกกลาง, สหราชอาณาจักร, ยุโรป และสแกนดิเนเวีย ในอันที่จะกลับมาท่องเที่ยวภูเก็ตอีกครั้ง แต่ “อย่างค่อยเป็นค่อยไป”

ที่น่าสนใจมากก็คือ ทั้งรอยเตอร์ส, บลูมเบิร์ก และอินไซเดอร์ เห็นตรงกันว่า หาก “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ประสบผลสำเร็จ

“ก็จะกลายเป็นโมเดลสำหรับชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเศรษฐกิจกำลังตกอยู่ในสภาพดิ้นรนอย่างหนักเพื่ออุดช่องโหว่ทางรายได้เมื่อจำเป็นต้องปิดพรมแดนห้ามนักเดินทางต่างชาติเข้าประเทศมากว่าปีแล้ว”

 

ภูเก็ตแซนด์บอกซ์มีโอกาสล้มเหลวหรือไม่? โช โอรีแกน ยอมรับว่ามี เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับความพยายามหลายครั้งของหลายประเทศในอดีตที่ผ่านมา

แต่ในเวลาเดียวกัน เธอยืนยันไว้อย่างนี้ครับว่า

“แต่ถือเป็นเรื่องสร้างสรรค์อย่างแท้จริง ที่มีใครสักคนพยายามทดลองเพื่อเปิดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง

“เพราะหน้าร้อนกำลังมา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเสียตลาดนี้ไปแล้ว”