เสียงที่ดังก้องโลก/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เสียงที่ดังก้องโลก

 

เมื่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติเสียงข้างมาก 119 เสียง ลงมติ เห็นชอบ ให้นานาชาติห้ามขายอาวุธให้เมียนมา หลังจากกองทัพเมียนมาก่อการรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยมีเพียงประเทศเบลารุสประเทศเดียวที่ลงมติ ไม่เห็นชอบ

ยังมีประเทศสมาชิกอีก 37 ประเทศที่ ไม่ลงคะแนน และมีอีก 36 ประเทศที่ งดออกเสียง ในจำนวนนี้มีชาติมหาอำนาจคือ จีนและรัสเซีย รวมทั้งชาติอาเซียน 4 ประเทศคือ สปป.ลาว กัมพูชา บรูไนและไทย

ส่วนชาติอาเซียนที่ออกเสียงเห็นชอบ ที่เหมือนกับชาติมหาอำนาจตะวันตกและพันธมิตรได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เป็นต้น ชาติอาเซียนกลุ่มนี้ 6 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา (ผู้แทนรัฐบาลเมียนมาเดิมในสหประชาชาติ) ด้วย

ความน่าสนใจของการออกเสียงของสมาชิกแห่งสหประชาชาติครั้งนี้มีหลายประเด็น

ประการแรก การออกเสียงของประเทศสมาชิกในประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่ การห้ามขายอาวุธ การลงโทษประเทศที่ทำรัฐประหาร การทำสงคราม การละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย แล้วการเสนอมติห้ามนานาชาติขายอาวุธให้รัฐบาลรัฐประหารเมียนมานี้ก็ใช้เวลาร่วม 3 เดือน

ประการที่สอง น่าสนใจมากคือ ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่เสียงข้างมาก เสียงข้างมากในการเมืองระหว่างประเทศในทุกๆ เวที โดยเฉพาะในเวทีสหประชาชาติล้วนแสดงถึงความเป็นจริงทางการเมืองระหว่างประเทศคือ อำนาจและผลประโยชน์แห่งชาติ แต่ไม่ใช่เสียงที่แสดงถึงความชอบธรรมและความถูกต้องใดๆ ทั้งสิ้น

ในที่นี้ความน่าสนใจกลับอยู่ที่ งดออกเสียง

การงดออกเสียงกลับเป็นเสียงที่ดังก้องไปทั่วโลกว่า ประเทศที่งดออกเสียงมีจุดยืนทางการเมืองต่อประเด็นการรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งนำมาซึ่งผู้คนล้มตายไปกว่า 800 คน คนถูกจับกุมคุมขังนับเป็นจำนวนมาก บ้านเรือน ร้านค้าถูกเผา เศรษฐกิจพังพินาศ แล้วการใช้อาวุธสังหารผู้คนยังเกิดขึ้นต่อเนื่องและไม่มีทีท่าจะยุติเลย

ในเวลาเดียวกัน การงดออกเสียงยังเป็นเสียงที่ก้องไปทั่วโลกดังๆ ว่าถึงผลประโยชน์ของประเทศตนนั้นคืออะไร

 

งดออกเสียงบอกเราว่า

เสียงอาเซียนมีหลายโทน

เสียงเบาๆ ที่น่ารำคาญ

เส้นทางของเสียงต่อรัฐประหารในเมียนมา ช่วยย้ำเตือนอีกครั้งหนึ่งของความไม่เป็นเอกภาพของอาเซียน

ฉันทามติ แห่งอาเซียนเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ประดิดประดอยกันมา แต่ไม่เคยมีอยู่จริง

แล้วอาจจะหมายถึง ความไร้น้ำยาของอาเซียนเลยทีเดียว เพราะมีข้อมูลว่า มติให้นานาชาติห้ามขายอาวุธให้เมียนมานี้ มาจากการทำงานร่วมกันระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน จะเป็นอาเซียนริเริ่มขึ้นมาก็นับว่าสอดคล้องกับหลายประเทศในยุโรปอยู่แล้ว นับเป็นการแสดงความกล้าหาญทางการเมืองระหว่างประเทศของอาเซียนทีเดียว ด้วยกระบวนการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยธรรมนับเป็นหลักการสากลที่อาเซียนยืนยันในหลักการเสมอมา

แต่ก็เปิดช่องด้วยอีกวาทกรรมหนึ่งคือ การไม่แทรกแซงกิจการภายใน ซึ่งบางครั้งดัดแปลงมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ว่า วิถีเอเชีย

ที่ว่าเป็นความกล้าหาญของอาเซียนและข้อเสนอห้ามขายอาวุธให้รัฐบาลรัฐประหารเมียนมาเป็นข้อริเริ่มและผลักดันจากอาเซียนน่าจะจริง เพราะตลอด 3 เดือนที่มีการรัฐประหารในเมียนมา จะเห็นการเคลื่อนไหวทางการทูตให้ทหารเมียนมายอมรับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา คืนอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือน เสนอให้ปล่อยผู้นำ เช่น นางออง ซาน ซูจี ประธานาธิบดีเมียนมาจากการจับกุมทันที รวมทั้งปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด

เสนอให้ทหารเมียนมาไม่ใช้อาวุธเข่นฆ่า ทำร้ายพลเรือน ชาวบ้านและชนกลุ่มน้อย มติห้ามนานาชาติขายอาวุธให้ทหารเมียนมา เป็นมาตรการตรงไปตรงมา การเดินทางเพื่อพูดคุยระหว่างกันทั่วภูมิภาค การจัดประชุมวาระพิเศษ ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ท้ายสุดคือ มติแห่งสหประชาชาตินั้นเอง

 

เสียงก้องโลก

แล้ว สปป.ลาว กัมพูชา บรูไนและไทย งดออกเสียง หมายความว่าอะไร

แม้การผลักดันมติห้ามนานาชาติขายอาวุธให้ทหารเมียนมา เป็นการขับเคลื่อนสำคัญและเชิดหน้าชูตาของชาติยุโรป แต่ได้สร้างความผิดหวังของชาติยุโรปต่อชาติอาเซียนที่งดออกเสียงก็จริง

แต่มันสะท้อนชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่า จุดยืนทางการเมืองที่แท้จริงของ สปป.ลาว กัมพูชา บรูไน และไทยต่อการรัฐประหารในเมียนมาสอดคล้องจุดยืนทางการเมืองฝ่ายจีน

เราอ้างไม่ได้เรื่องการพึ่งพาจีนทางเศรษฐกิจของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ จีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด คนจีนคือจำนวนนักท่องเที่ยวมากที่สุด ของอาเซียน ขอย้ำว่า เป็นของอาเซียนโดยรวม

จีนยังเป็นแหล่งที่มาของรายได้ทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามอีกด้วย เหล่าชาติอาเซียนที่เห็นชอบมติแห่งสหประชาติพอๆ กับ สปป.ลาว กัมพูชา ไทย และบรูไน

ดังนั้น จีนน่าจะเป็นอะไรที่มากไปกว่าแหล่งที่มาของรายได้ทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว กัมพูชา ไทย และบรูไน งดออกเสียง จึงส่งเสียงดังกึกก้องเป็น มิติการเมืองภูมิภาค ดังฟังชัด รถไฟความเร็วสูง เขื่อนพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า ตลาดและตึกสูงในเมือง ความช่วยเหลือทางทหารได้วางกรอบนโยบายจีนของ สปป.ลาวด้วย สิ่งนี้เป็นอะไรที่มากกว่าความเกรงใจและพรมแดนติดต่อกันของจีน-สปป.ลาว ให้ดูการเดินทางเยือน สปป.ลาวของผู้นำจีนที่ผ่านมา รวมทั้งท่าทีสนับสนุน สปป.ลาวของจีนในภูมิภาค

โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน สะพาน ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมในสีหนุ วิลล์ กัมพูชา ท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ ดารา สาคอน และสนามบินนานาชาติจังหวัดเกาะกง กัมพูชาตรงข้ามจังหวัดตราดของไทย อาวุธและการฝึกร่วมทางทหารจีน-กัมพูชา เป็นอะไรที่มากไปกว่าความเกรงใจ ให้ดูการเดินทางเยือนของทั้งท่านฮุน เซน และผู้นำจีน โดยเฉพาะการสนับสนุนกัมพูชาในอาเซียนของจีน

ทั้งหมดนี้ คล้ายคลึงความสัมพันธ์จีน-บรูไน นั่นคือ พรมแดนติดกันกับจีน เป็นมายาคติ หลอกลวงนานาชาติ

 

เสียงก้องโลกจนแสบหู

งดออกเสียง มติแห่งสหประชาชาติของไทยทำให้นานาชาติ ตาสว่าง เมื่อได้ยินเสียงของไทยดังก้องกังวาน ส่งเสียงบอกนานาชาติดังชัดว่า ความสัมพันธ์ไทยกับรัฐประหารเมียนมาไม่เกี่ยวอะไรเลยกับพรมแดนที่ติดกันของทั้งสองประเทศ

แม้กระบอกเสียงหนึ่งส่งเสียง ตกร่อง ซ้ำซากว่า นโยบายของไทยต่อเมียนมาตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมองปัญหารอบด้านอย่างรอบคอบ เนื่องจากเรามีชายแดนติดกับเมียนมา 2,400 กิโลเมตร มีการค้าชายแดนในยามปกติกว่า 1.31 ล้านล้านบาท จึงได้รับผลกระทบและยังมีปัญหาผู้ลี้ภัยความไม่สงบและการสู้รบ ปัญหายาเสพติด ประเด็นแรงงาน การเข้าเมืองผิดกฎหมาย ล้วนมีผลกระทบต่อไทย ดังนั้น เหตุการณ์ในเมียนมาจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและหลากหลายมิติ

นี่คือโจทย์ที่ต้องตีต้องตีให้แตก เขาบอกอย่างนี้

คำถามพื้นฐานคือ แล้วทำไมไทยไม่ทำให้เมียนมาสงบลง

โจทย์ที่ไม่เคยตีแตกเลยกลับเป็น ทำตามจีน งดออกเสียง โดยไม่ต้องล็อบบี้ ไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหารในเมียนมาอย่างที่อ้างจริง แต่ไทยดำเนินการดังนี้ มีการกล่าวว่า สมาชิกของอาเซียนต่างก็ยอมรับว่า เป็นนโยบายที่ยึดเป็นหลักการได้ จนมีการยอมรับว่า ไทยควรมีบทบาทในการตั้งผู้แทนพิเศษของอาเซียนเพื่อหาทางแก้ปัญหาในเมียนมาด้วยสันติวิธี

มีการอ้างการผลักดันในที่ประชุมที่จาการ์ตา จนเป็นข้อตกลงฉันทามติ 5 ข้ออาเซียน

ผมว่า การตั้งทูตพิเศษของอาเซียน พิเศษอย่างไร คนเมียนมาเองตะโกนดังกึกก้องว่า ไม่มีน้ำยา ทันทีที่ข่าวนี้แพร่สะพัด

หากข้ออ้างนี้เป็นความจริง ทำไมสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และแม้แต่ผู้แทนเมียนมาในสหประชาชาติออกเสียง เห็นด้วย กับมติแห่งสหประชาชาติเรื่อง ห้ามนานาชาติขายอาวุธให้ทหารเมียนมา

โจทย์ที่ไทยไม่เคยตีแตก หรือโจทย์ที่ไทยไม่กล้าบอกใคร