ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
ผู้เขียน | นพมาส แววหงส์ |
เผยแพร่ |
ห้าสิบสี่ปีมาแล้ว (โอ้โอ เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ดูปี ค.ศ. ของหนังแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่านานขนาดนั้นจริงๆ!) ที่ได้ดู Lawrence of Arabia มหากาพย์แห่งท้องทะเลทรายของ เดวิด ลีน ที่มี ปีเตอร์ โอทูล เล่นเป็นฝรั่งชาวอังกฤษนามกร ที.อี. ลอว์เรนซ์ ผู้ต้องมนตร์แห่งทะเลทราย จนได้ฉายาตามชื่อเรื่อง
เป็นหนังที่ได้ดูตั้งแต่ยังวัยรุ่น เนื้อหาการด้านการเมืองระดับโลกและในตะวันออกกลางยังไม่ค่อยเข้าใจดีนัก แต่ผู้เขียนกลับไปถูกติดตรึงด้วยความเวิ้งว้างอันงดงามของฟ้าจรดทรายจนถึงบัดนี้ก็ยังหลับตามองเห็นภาพ หนังอีกเรื่องที่มีภาพคลื่นเนินทรายสุดลูกหูลูกตาด้วยแสงเงาจับตาชวนตรึงใจคือ The English Patient (เรฟ ไฟนส์ กับ จูเลียต บินอช) ที่สร้างจากนวนิยายงดงามของ ไมเคิล อองดาจี
และอีกอย่างในหนังที่จำได้ไม่ลืมคือฉากที่ลอว์เรนซ์โดนจับไปทรมานและถูกล่วงละเมิดทางเพศ แถมยังดูท่าจะมีความสุขดีจากเรื่องนั้น
นั่นคือสิ่งที่ทำให้ออกจะแน่ใจว่าลอว์เรนซ์เป็นโฮโมเซ็กชวลและกามวิตถารที่ชอบความเจ็บปวด
พอมาเห็น โรเบิร์ต แพตทินสัน (พระเอกแวมไพร์จากชุด Twilight ที่สาวๆ กรี๊ดกันนักหนา) มาสวมบทบาทลอว์เรนซ์แห่งอารเบียในชุดอาหรับ (ดูจากภาพถ่ายเก่าของลอว์เรนซ์ตัวจริงแล้ว ปีเตอร์ โอทูล มีความคล้ายคลึงกว่าและสง่างามกว่าเยอะเลย) เรื่องนั้นเลยติดอยู่ในใจ และบทบาทของลอว์เรนซ์ใน Queen of the Desert นี้ก็ดูจะมีอยู่เพียงนั้น ในยามที่เจอะเจอ นิโคล คิดแมน กลางทะเลทราย (ฉากหลังของการพบกันคือ เพตรา เมืองโบราณกลางทะเลทราย สร้างด้วยหินสีชมพูแสนสวยเกาะอยู่ข้างภูเขา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในจอร์แดน) นั่นคือเพื่อจะบอกว่าเขาดีใจที่เจอเธอ เพราะกำลังถูกสาวๆ ชาวอาหรับรุมตอม และโดนต้อนจับให้แต่งงาน เมื่อเธอมา เขาจึงมีข้ออ้างได้ว่านี่เป็นแหม่มสาวที่เดินทางมาแต่งงานกับเขา
แต่ในความสนิทสนมฉันมิตรที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน แพตทินสัน เจ้าของฉายา “ลอว์เรนซ์แห่งอารเบีย” ก็บอกคิดแมน เจ้าของฉายา “ราชินีทะเลทราย” ว่า “สัญญากับผมนะว่าจะไม่แต่งงานกับผม”
นิโคล คิดแมน เล่นเป็น เกอร์ทรูด เบลล์ สาวผู้ดีชาวอังกฤษที่เป็นชนชั้นสูงและร่ำรวย บิดาเป็นขุนนางที่มีคฤหาสน์ใหญ่โต เกอร์ทรูดได้รับการศึกษาอย่างที่หาได้ยากในหมู่สตรี แม้เป็นหญิงผู้ดีสมัยนั้น คือเรียนจบประวัติศาสตร์ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ซึ่งทำให้หาผู้ชายอยากแต่งงานด้วยยาก
แต่เกอร์ทรูดก็ไม่ใช่ผู้หญิงทั่วไปในยุคนั้น (และถึงในยุคนี้ เธอก็ยังนับว่ากล้าหาญล้ำหน้าสตรีทั่วไป) เธอรู้สึกอึดอัดกับขนบธรรมเนียมประเพณีที่เปรียบดังอยู่ในกรงขัง เธออยากเดินทางดูโลกกว้าง และรบเร้าจนพ่อต้องยอมส่งเธอมาอยู่ในความดูแลของสถานทูตอังกฤษในเตหะราน
ที่นั่นเธอได้เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ของโลกตะวันออก เรียนภาษาเปอร์เชียเพื่อจะอ่าน “รุไบยาต” ของ โอมาร์ คายัม จากต้นฉบับให้ซึมซับความงามได้จากต้นตอ แล้วยังเรียนภาษาอาหรับเพื่อพูดคุยกับคนในท้องถิ่นโดยไม่ต้องผ่านล่าม
หนุ่มน้อยตำแหน่งข้าราชการสถานทูต (เจมส์ ฟรังโก) ได้รับมอบหมายให้ดูแลเกอร์ทรูด และไม่นานความสัมพันธ์ก็งอกงามเป็นความรัก ซึ่งกลายเป็นความรักต้องห้ามระหว่างสตรีในตระกูลขุนนางกับหนุ่มที่สิ้นไร้ไม้ตอก
พ่อที่รักและตามใจลูกสาว กลับไม่ยอมตามใจในเรื่องนี้
และหนังกระโดดข้ามมาอีกหลายปี เมื่อเกอร์ทรูดไปท่องทะเลทราย ในฐานะนักเขียน นักเดินทาง นักโบราณคดี นักสำรวจ และนักทำแผนที่ในดินแดนอารเบีย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งโลกทั้งโลกตกอยู่ในภาวะสงคราม
แต่ความเวิ้งว้างของทะเลทรายปกป้องดินแดนแถบนี้ไว้ไม่ให้เกอร์ทรูดรับรู้ถึงการสู้รบที่ดำเนินอยู่ในโลก เกอร์ทรูดต่อสู้สงครามของตัวเองโดยลำพังกับการรอนแรมอย่างยากลำบากไปในถิ่นกันดาร เพื่อได้รู้จักกับชนพื้นเมืองที่เร่ร่อนเผ่าต่างๆ ในดินแดนทะเลทราย
โดยถูกขัดขวางแทบว่าจะทุกหนทางจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายอังกฤษในท้องถิ่น หรือไม่ก็ถูกทาบทามให้ทำหน้าที่จารชนในหมู่ชนพื้นเมืองอาหรับ
เกอร์ทรูดปฏิญาณกับตัวเองว่าจะไม่แต่งงาน โดยถือว่าใจตนเองยังเป็นม่ายจากความผิดหวังในความรักครั้งแรก แต่เธอก็มีสัมพันธ์รักครั้งใหม่กับกงสุลใหญ่ของอังกฤษประจำจักรวรรดิออตโตมัน คือ พันตรีชาลส์ เดาที-ไวลี (เดเมียน ลูวิส ที่โด่งดังจากหนังชุด Homeland)
แต่ความรักของเธอครั้งนี้ก็ไม่สมหวังอีก เนื่องจาก เดาที-ไวลี เป็นผู้ชายที่มีพันธะแล้ว
Queen of the Desert ให้แคแร็กเตอร์สตรีที่น่าอัศจรรย์ใจของโลกคนหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ไปเน้นสัดส่วนของเรื่องราวความรักและความผิดหวังของเธอมากจนเกินไป มองข้ามหรือลดค่าความน่าทึ่งของเธอในฐานะสตรีจากโลกตะวันตกที่ชนะใจชาวอาหรับอย่างกว้างขวางได้อย่างที่ไม่มีฝรั่งตะวันตกคนไหน ไม่ว่าชายหรือหญิง เคยทำได้มาก่อน
ต่อคำถามที่ว่า “อะไรทำให้คุณหลงรักชาวอาหรับในท้องทะเลทรายนัก” เกอร์ทรูดตอบว่า “เสรีภาพของพวกเขา ศักดิ์ศรีของพวกเขา ความงดงามเชิงกวีนิพนธ์ของพวกเขา”
และอีกตอน เธอเล่าถึงฟาตูห์ (เจย์ อับโด) ชาวอาหรับที่เป็นคนรับใช้และมัคคุเทศก์ของเธอ เป็นทำนองว่าเขาเป็นคนที่จะฝากผีฝากไข้ และวางชีวิตไว้ในมือเขาได้
ฟาตูห์คนนี้เองที่บอกเกอร์ทรูดว่า “ผมจะติดตามคุณไปจนสุดหล้าฟ้าเขียว” (I”ll follow you to the end of the earth.)
นี่คือความภักดีที่หาได้ยากยิ่งและผูกพันจิตวิญญาณเข้าไว้ด้วยกัน
หนังนำเสนอแคแร็กเตอร์ของ วินสตัน เชอร์ชิลล์ ผู้นำอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่สอง ในลักษณะที่ไม่น่าประทับใจ และเป็นนักการเมืองที่ไม่รู้อะไรจริง ได้แต่สร้างภาพลักษณ์สาธารณะ เราเห็นเบื้องหลังอันน่าขันของเชอร์ชิลล์ที่ถ่ายภาพบนหลังอูฐกับชาวอาหรับ และเอาแต่บ่นเรื่องซิการ์ประจำตัวของเขา
แต่หนังให้ความสำคัญแก่ เกอร์ทรูด เบลล์ ในฐานะผู้สถาปนากษัตริย์หลายองค์ในตะวันออกกลางจากความรู้จักมักคุ้นในฐานะผู้นำชนเผ่าเบดูอินเร่ร่อนในทะเลทรายอารเบียอันกว้างใหญ่ไพศาลที่เคยเป็นดินแดนอันไร้พรมแดน
หรือว่าการเมืองของตะวันออกกลางในโลกปัจจุบันมีที่มาจากการแบ่งพรมแดนในทะเลทรายที่ไร้ชายแดนธรรมชาติ ณ ที่ซึ่งชนเผ่าเร่ร่อนย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้
ไม่ว่าอย่างไร จากประวัติศาสตร์ที่อาจจะไม่มีคนรู้กว้างขวางนัก เกอร์ทรูด เบลล์ มีบทบาทสำคัญต่อคาบสมุทรอารเบียภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
QUEEN OF THE DESERT
กำกับการแสดง
Werner Herzogนำแสดง
Nicole Kidman
James Franco
Robert Pattinson
Damian Lewis