ที่สะท้อนจาก ‘คำสั่ง’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ที่สะท้อนจาก ‘คำสั่ง’

 

นายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ประกาศ “120 วันเปิดประเทศ” หมายถึงให้มาตรการเข้มงวดอะไรต่างๆ จะต้องลดลง เปิดทางให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศไทยเราอย่างปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

แน่นอน! หากติดตามความเป็นไปในการบริหารจัดการประเทศมาต่อเนื่องพอ ไม่ต้องบอกคงจะพอรู้ว่าเบื้องหลังคือ “วิกฤตเศรษฐกิจ” เข้าสู่ภาวะหนักหน่วงจนหาทางออกอื่นได้ยากแล้ว ต้องกลับไปอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต่ำที่สุด เพราะต้นทุนหลักคือทรัพยากรธรรมชาติ และกำลังแรงงานของภาคเอกชน

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้แต่ “นายกรัฐมนตรี” ที่ปกติจะแสดงท่าว่ามีความสามารถเก่งกาจ ยังยอมรับว่า “เสี่ยง”

เสี่ยงที่จะรับมือการระบาดไม่อยู่

ซึ่งเกิดคำถามตามมาว่า “จะไม่เสี่ยงได้อย่างไร เพราะ 120 วันเปิดประเทศ เป็นคำสั่งที่ไม่มีมาตรการอะไรรองรับเลย”

 

ถ้าถามว่า “อะไรคือมาตรการรองรับ” คำสั่ง “ฉีดวัคซีนให้ถึงระดับที่จะเกิดภูมิตคุ้มกันหมู่ให้ประชาชนไม่ใช่มาตรการรองรับหรือ”

คำตอบคือ ไม่ต้องใช้ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์อะไร แค่เหลือบไปดูมาตรการของประเทศที่เปิดชีวิตปกติให้ประชาชนก่อนหน้านั้นก็จะเห็น

ง่ายๆ คือ

หนึ่ง ฉีดวัคซีนให้ถึงระดับสร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างที่ว่า ต้องให้สำเร็จทั้งปริมาณผู้ได้รับการฉีด และคุณภาพของวัคซีนที่ป้องกัน “โควิด” ได้จริง

คำถามแรกคือ 120 ฉีด 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทย ทันจริงหรือ และวัคซีนที่ใช้อยู่มีคุณภาพแค่ไหน

มีแผนและมาตรการให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างไร

สอง สร้างกลไกในการตรวจเชื้อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายๆ การรักษาพยาบาลทำได้อย่างทั่วถึง และพร้อมที่จะรับมือความเสี่ยง

มาตรการที่จะรองรับแผนนี้ยังไม่เห็น

สาม มาตรการเยียวยาธุรกิจเมื่อได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงที่รัฐบาลสั่งการ

ไม่มีเหมือนกัน

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ “120 วันเปิดประเทศ” จึงเป็นเพียงการสั่งไปเรื่อยเปื่อย สั่งให้ดูเท่ ให้เกิดความหวังว่าจะกลับมาหากินกันได้ แต่จะเป็นไปตามที่หวังหรือไม่ “ไม่มีคำตอบที่มีน้ำหนักที่เชื่อได้” ให้

เรื่องที่คงเหมือนกับคำสั่งให้ “เรียนออนไลน์” โดยไม่มีอะไรมารองรับ “วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป” ของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู หรือผู้ปกครอง

ซึ่งที่สุดเป็นเหมือนอย่างผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” เรื่องนี้ที่ร้อยละ 63.30 ตอบว่าไม่พร้อม ร้อยละ 21.31 บอกว่าพร้อม และร้อยละ 15.39 ตอบว่าไม่แน่ใจ

ยิ่งลงไปในรายละเอียดความกังวลของทุกฝ่าย ยิ่งสะท้อนความไม่พร้อมเข้าไปใหญ่ ครูร้อยละ 77.18 เห็นว่าอุปกรณ์ไม่พร้อม อินเตอร์เน็ตช้า, ผู้ปกครอง ร้อยละ 66.16 เห็นว่าเด็กไม่มีสมาธิ ขาดความกระตือรือร้นในการเรียน, นักเรียนร้อยละ 74.25 บอกว่าไม่เข้าใจ เรียนไม่ทัน

เป็นภาพสะท้อนคำสี่งให้ปฏิบัติการโดยไม่ได้นึกถึงมาตรการสนับสนุนความพร้อมได้ชัดเจน

“120 วันเปิดประเทศ”คงไม่ต่างไปจากนี้

ไม่ใช่หาข้อมูลไม่ได้ว่าก่อนสั่งควรจะเตรียมความพร้อมอย่างไร แต่เพราะน่าจะเป็นเพราะไม่ใส่ใจ ทำให้สั่งไปเรื่อยเปือยโดยไม่ได้ประเมินถึงผลกระทบและเตรียมหาทางเยียวยา

คำประกาศที่ว่า “คิดถึงงานตั้งแต่ตื่น จนหลับฝัน” นั้น

คงจะต้องมีคำอธิบายว่า คิดถึงแบบไหน คิดถึงไปเรื่อยเปื่อยแบบแค่อยากให้เป็นโน่นเป็นนี่ โดยไม่มีความคิดอะไรที่จะทำให้สมอยาก

หรือคิดถึงด้วยสติปัญญา ที่มีความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเป้าหมายที่จะต้องแก้ไข