สุรชาติ บำรุงสุข : ความสัมพันธ์พิเศษ ไทย-จีน ภูมิทัศน์ใหม่การต่างประเทศไทย

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นสิ่งสำคัญในเอเชีย แต่คุณไม่สามารถทำให้การทูตเป็นเรื่องส่วนตัวได้”

Ananda Krishnan

มหาเศรษฐีลำดับ 3 ของมาเลเซีย

รัฐประหาร 2557 ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองภายในของไทยอย่างมากเท่านั้น

หากแต่ยังเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการต่างประเทศและความมั่นคงไทยอย่างมหาศาลเช่นกันด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองถึงบริบทของประเทศไทยในกิจการระหว่างประเทศแล้ว ก็เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นผลพวงจากรัฐประหาร 2557 ทำให้ประเทศไทยได้เปลี่ยนค่ายทางการเมืองซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า

แต่เดิมไทยอยู่ในค่ายของตะวันตกมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสงครามเย็น

แต่วันนี้เห็นได้อย่างแจ่มชัดว่าไทยหันไปสนิทแนบแน่นอยู่ในค่ายตะวันออก

ในสภาพของความสัมพันธ์เช่นนี้ หากจะขอกล่าวเป็นสำนวนเล่นๆ ก็คงเป็นว่า วันนี้นางสาวสยามเปลี่ยน “คู่ควง” และย้ายบ้านจาก “ลุงแซม” ที่วอชิงตันไปอยู่กับ “อาเฮีย” ที่ปักกิ่งเรียบร้อยแล้ว

แต่ในทางทฤษฎีคงจะต้องกล่าวว่าไทยได้กลายเป็น “พันธมิตรที่ใกล้ชิด” กับจีนในทางยุทธศาสตร์ และในความใกล้ชิดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผู้นำไทยได้แสดงออกในด้านต่างๆ ในลักษณะของการ “เอาใจ” จีน

จนราวกับวันนี้ไทยมีสถานะเป็นเพียง “รัฐในอารักขา” ของจีนเท่านั้นเอง!

ปรับสมดุล

ในการดำเนินนโยบายที่ใกล้ชิดกับจีนหลังจากการรัฐประหาร 2557 เรามักจะมีคำอธิบายว่า เพื่อก่อให้เกิดการ “ปรับสมดุล” ในนโยบายต่างประเทศของไทย

มีบางคนถึงกับกล่าวทึกทักว่าการปรับเช่นนี้เป็น “ฝีมือ” ของผู้นำทหาร ที่ทำให้นโยบายต่างประเทศของไทยเปลี่ยนทิศทางไปสู่ความเป็นสมดุลในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับตะวันตกและตะวันออก

จนราวกับว่าการปรับเปลี่ยนนี้เป็น “วิสัยทัศน์” ด้านการต่างประเทศของผู้นำในยุครัฐประหาร

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรากลับพบว่าการปรับเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์เช่นนี้เป็นผลจากสถานการณ์การเมืองภายในของไทยอันเป็นผลจากการรัฐประหาร มากกว่าจะเป็นผลของวิสัยทัศน์

ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากการรัฐประหาร 2557 ที่กรุงเทพฯ แล้ว รัฐบาลทหารถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากโลกตะวันตก

และทั้งยังเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลตะวันตกไม่มีท่าทีตอบรับกับรัฐประหารดังกล่าว

แม้รัฐบาลไทยจะโชคดีที่ไม่ต้องถูก “แซงก์ชั่น” เช่นในกรณีของรัฐบาลทหารของเมียนมาที่ถูกจัดตั้งขึ้นในการรัฐประหารสิงหาคม 2531

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศ

ฉะนั้น แม้รัฐบาลตะวันตกจะแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารนี้ แต่แรงกดดันที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามเงื่อนไขทางกฎหมายของประเทศตะวันตก และมาพร้อมกับถ้อยแถลงที่ต้องการเห็นประเทศไทยกลับสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการจัดการเลือกตั้ง

แม้รัฐบาลตะวันตกจะไม่กดดันในแบบแซงก์ชั่นดังเช่นกรณีของเมียนมา

แต่แรงกดดันเช่นนี้ก็ทำให้ในที่สุดแล้ว ผู้นำทหารไทยต้องออกมาแถลงในเวทีสาธารณะถึงการจัดทำ “โรดแม็ป” ที่จะพาประเทศกลับสู่การเลือกตั้ง

ซึ่งในคำแถลงที่โตเกียวนั้น ผู้นำไทยกล่าวว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2559

และต่อมาในการประชุมที่นิวยอร์ก ก็แถลงอีกว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2560

ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงเมื่อใดก็ตาม คำสัญญาในเวทีระหว่างประเทศที่กลายเป็น “โรดแม็ป” นั้นสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศของโลกตะวันตก

และคำสัญญาที่เกิดขึ้นเช่นนี้ก็เพื่อลดแรงกดดันโดยตรง

เพราะผู้นำทหารไทยตระหนักดีว่า ภายใต้แรงกดดันดังกล่าวเป็นเสมือนกับการ “ตรึงประเทศ” ไม่ให้ไทยขยับตัวได้ทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ

เพราะภายใต้เงื่อนไขทางกฎหมายของประเทศตะวันตกที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยแล้ว จะไม่อนุญาตให้รัฐบาลของตนมีความสัมพันธ์ในระดับปกติกับประเทศที่มีรัฐบาลมาจากการรัฐประหาร

พร้อมกันนี้การลงทุนจากภายนอกภายใต้เงื่อนไขที่มีรัฐประหารก็มีความจำกัดอย่างมาก รัฐประหารจึงไม่ใช่ปัจจัยบวกที่จะดึงดูดให้เงินลงทุนจากภายนอกไหลเข้าประเทศได้แต่อย่างใด

อีกทั้งภายใต้สถานะของการมีรัฐบาลทหาร ทำให้มีการวิพากษ์ถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีลักษณะของการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากภายในประเทศ

สถานะของไทยในเวทีระหว่างประเทศในบริบทของ “บรรทัดฐานสากล” จึงเป็นปัญหาอย่างมาก

จนทำให้ “หน้าตา” ของไทยในเวทีโลกดูไม่ “งดงาม” ในทางการเมืองแต่อย่างใด

มาตรฐานจีน

เรื่องราวทั้งหมดเหล่านี้ ประเทศในค่ายตะวันออกไม่ถือเอาเป็นประเด็นในมาตรฐานของการมีความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ แต่อย่างใด

ดังจะเห็นได้ชัดเจนถึงท่าทีต่อรัฐประหาร 2557 ที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างประเทศตะวันตกและประเทศตะวันออก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราไม่ได้ยินถึงการวิจารณ์รัฐประหารที่กรุงเทพฯ ของรัฐบาลจีนเลยแม้แต่คำเดียว

ปรากฏการณ์ “เสียงเงียบ” จากปักกิ่งบ่งบอกอย่างชัดเจนถึงการยอมรับทางการเมืองต่อการยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ อย่างไม่เคยรังเกียจเดียดฉันท์

ซึ่งท่าทีเช่นนี้ถือเป็นแนวทางสำคัญในทางการทูต ที่นำความพึงพอใจมาสู่รัฐบาลไทยในสภาวะที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากโลกตะวันตก และเท่ากับเป็นสัญญาณทางการเมืองที่ชัดเจน

การไม่แสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหารของจีน อาจจะเป็นเพราะรัฐบาลจีนเองก็มีปัญหากับระบอบประชาธิปไตยในบ้านอยู่พอสมควร

แต่จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เสียงเงียบของจีนกลายเป็นทางออกทางการเมืองของรัฐบาลทหารไทยไปโดยปริยาย

สภาวะเช่นนี้ดูไม่แตกต่างจากรัฐบาลทหารของเมียนมาในปี 2531 ที่เมื่อถูกแซงก์ชั่นจากตะวันตกแล้ว ทางออกเดียวที่เหลืออยู่ก็คือนโยบาย “มุ่งตะวันออก” ด้วยการเดินเข้าหาปักกิ่ง

และนับจากรัฐประหาร 2531 เป็นต้นมาก็บ่งบอกถึงทิศทางของความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดระหว่างเมียนมากับจีน

และเห็นได้ชัดถึงการขยายบทบาทของจีนในเมียนมาในด้านต่างๆ อย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ทางทหาร

ในขณะนั้นหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เมียนมาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนอย่างเห็นได้ชัด

จนดูราวกับว่ารัฐบาลทหารเมียนมายังอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน

โดยเฉพาะการต้องพึ่งพาจีนเพื่อเป็นปัจจัยในการลดแรงกดดันจากตะวันตก

และจีนยังเป็นเครื่องมือหลักที่จะใช้ลดผลกระทบของการแซงก์ชั่นทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นด้วย

อีกทั้งจีนยังเป็นทางเลือกที่เมียนมาจะได้รับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ

ดังนั้น ในสภาวะของการต้องเผชิญกับแรงกดดันของตะวันตกที่ไม่ยอมรับการเมืองแบบรัฐประหาร รัฐบาลจีนจึงไม่เพียงแต่จะเป็น “ทางเลือก” เท่านั้น

หากยังเป็น “ทางรอด” ของการดำรงสถานะของประเทศในประชาคมระหว่างประเทศอีกด้วย

แต่สำหรับรัฐบาลทหารเมียนมาที่อยู่กับการขยายอิทธิพลจีนในประเทศอย่างไม่หยุดยั้งนั้น

สุดท้ายแล้วพวกเขาตัดสินใจที่จะพาประเทศถอยออกจากการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน

และยอมที่จะลงจากอำนาจด้วยการเปิดการเลือกตั้ง

โดยอาศัยการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการเปิดความสัมพันธ์ครั้งใหม่กับโลกตะวันตก

น่าสนใจต่อจากบทเรียนว่าเกิดอะไรขึ้นกับการขยายอิทธิพลจีนในเมียนมา และทำให้รัฐบาลทหารดังกล่าวตัดสินใจถอยออกจากการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน

ถ้าจีนเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเมียนมา ทำไมพวกเขาจึงยอมเปิดประเทศเพื่อเป็นช่องทางในการเดินเข้าหาโลกตะวันตก

บทเรียนจากเมียนมาเป็นประเด็นที่ผู้คนในสังคมไทยที่กำลังรู้สึกชื่นชมจีน (ไม่ว่าจะเป็นเพราะจีนเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีนไม่วิจารณ์รัฐประหารไทย) ควรนำมาพิจารณาด้วยความใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากกรณีของเมียนมาแล้ว การขยายบทบาทของจีนในลาวก็เป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ และไม่แตกต่างกับประเด็นของเมียนมาที่ “กองเชียร์จีน” ในไทยจะปฏิเสธที่จะรับรู้

จนดูราวกับว่าบทบาทของจีนในการขยายอิทธิพลในทั้งสองกรณีเป็นดัง “นักบุญ” ที่มาพร้อมกับความช่วยเหลือโดยไม่มีพันธะผูกมัด และเป็นการให้โดยไม่หวังประโยชน์ตอบแทน

ทั้งที่ในความเป็นจริงของการเมืองระหว่างประเทศแล้ว

จีนมีสถานะเป็นรัฐมหาอำนาจหนึ่งในเวทีโลก ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรเป็นพิเศษที่จะต้อง “เห็นอกเห็นใจ” ประเทศอย่างไทย

อย่างน้อยผลพวงของการขยายตัวของจีนในลาวเป็นอีกหนึ่งของข้อพึงสังวรที่ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และกลุ่มอนุรักษนิยมไทยที่หันมา “นิยมจีน” ควรต้องใส่ใจมากขึ้น

ของขวัญจากจีน

การกล่าวเช่นนี้มิใช่การปฏิเสธที่ไทยควรจะมีความสัมพันธ์กับจีน

ความสัมพันธ์ไทย-จีนเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในกิจการระหว่างประเทศของไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้เลย

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ใช่ปรากฏการณ์ปกติ

เพราะหากการปรับนโยบายทางยุทธศาสตร์ของประเทศเกิดในสภาวะปกติทางการเมืองแล้วก็อาจเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

อย่างน้อยกระบวนการดังกล่าวก็เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการทางรัฐสภาที่เปิดโอกาสให้ข้อถกเถียงและข้อโต้แย้งอย่างรอบด้านเพื่อที่จะทำให้นโยบายใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นผลประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ

แต่ในสภาวะของการเมืองที่การปรับเปลี่ยนนโยบายทางยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นเพียงผลผลิตที่เกิดจากข้อจำกัดของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแล้ว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นผลตอบแทนแก่ประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

วันนี้ผู้นำทหารอาจจะรู้สึกว่าผลตอบแทนในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนมีความเป็นรูปธรรม

ไทยหันไปเปลี่ยนแหล่งนำเข้าระบบอาวุธ อาวุธจากฝ่ายตะวันตกกำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ การเข้ามาของระบบอาวุธหลักไม่ว่าจะเป็นเรือดำน้ำและรถถัง

ตลอดจนถึงการเตรียมจัดตั้งโรงงานซ่อม (สร้าง?) อาวุธจีนในไทยบ่งบอกถึงทิศทางใหม่ที่ชัดเจน การนำเข้าอาวุธจีนจึงไม่เพียงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึง “ของขวัญ” จากรัฐบาลปักกิ่งเท่านั้น หากแต่ยังเป็นดังการ “ซื้อใจ” ผู้นำทหารไทยที่ยังเชื่อในแนวคิดการพัฒนากองทัพด้วยการซื้ออาวุธ

เพราะเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้นำทหารระดับสูงว่ารัฐบาลในระบอบรัฐประหารไม่สามารถนำเข้าอาวุธจากตะวันตกได้

ข้อจำกัดเช่นนี้จึงกลายเป็นโอกาสอย่างดีที่ทำให้รัฐบาลจีนใช้อาวุธเป็นเครื่องมือ “เจาะทะลวง” ความต้องการทางจิตวิทยาของผู้นำไทย

อีกทั้งเป็นการแสดงออกถึงการ “โอบอุ้ม” รัฐบาลทหาร

ในกรณีเช่นนี้ อาวุธจึงเป็นดัง “กุญแจ” ที่จะเปิดประตูเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลทหารของไทย จนเกิดข้อสังเกตในทางยุทธศาสตร์ว่า กองทัพไทยได้เปลี่ยน “แบบแผนของระบบอาวุธ” จากแบบของตะวันตกไปสู่ระบบอาวุธจีนแล้ว

นอกจากนี้ จีนเองก็สามารถขายอาวุธได้ในราคาต่ำอีกด้วย เพราะเราแทบไม่มีโอกาสทราบราคาที่แท้จริงของระบบอาวุธจีนแต่อย่างใด

อย่างน้อยการจัดหาเรือดำน้ำแบบ “ซื้อ 2 แถม 1” เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีในตลาดอาวุธระหว่างประเทศ

ที่มา :เฟซบุ๊กกองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

ปรากฏการณ์แบบ “ซื้อแล้วแถม” จึงดูราวกับเป็นรายการขายของในห้างสรรพสินค้า

ซึ่งในตลาดอาวุธระหว่างประเทศแล้ว ระบบอาวุธหนักเช่นนี้มีราคาสูงเกินกว่าที่จะทำแบบ “แถมฟรี” ได้

การแถมเช่นนี้จึงทำให้เกิดข้อกังขาแก่สังคมอย่างมาก

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเหล่านี้กำลังบ่งบอกถึงทิศทางที่กองทัพไทยในอนาคตจะเป็นไปในตัวแบบของกองทัพจีนมากขึ้น รอแค่เพียงการเปลี่ยนหลักนิยมแบบตะวันตกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้เป็นหลักนิยมแบบจีนเพื่อให้สอดคล้องกับระบบอาวุธจีนที่ถูกนำเข้ามาใช้เรื่อยๆ ในกองทัพไทย

เพราะหากระบบอาวุธจีนกลายเป็นยุทโธปกรณ์หลักในกองทัพไทยแล้ว ในที่สุดก็จะต้องปรับหลักนิยมเพื่อให้รองรับต่อการใช้อาวุธดังกล่าว

เพราะหลักนิยมเป็นปัจจัยที่ผูกโยงอยู่กับคุณลักษณะของระบบอาวุธ ตลอดรวมถึงในอนาคต นักเรียนทหารไทยจะจบการศึกษาจากโรงเรียนทหารจีนมากขึ้นด้วย

คู่ขนานกับการนำเข้าอาวุธจากจีนก็คือการใช้อำนาจพิเศษของมาตรา 44 ในการจัดสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้จึงไม่ได้ถูกมองว่าเป็นเพียงการให้ “สิทธิพิเศษ” แก่จีนเท่านั้น

แต่กำลังถูกมองว่าเป็นปัญหา “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ยุคใหม่

โดยเฉพาะการให้จีนมีสิทธิสองข้างทางรถไฟ

ซึ่งประเด็นเช่นนี้ก็เป็นปัญหามาแล้วในปัญหารถไฟลาว-จีน และเป็นบทเรียนสำคัญ

ดังนั้น ถ้าอาวุธคือ “ของขวัญจากปักกิ่ง” สิทธิพิเศษกรณีรถไฟความเร็วสูงก็คือ “ของขวัญจากกรุงเทพฯ” เพื่อตอบแทนความสัมพันธ์ที่ “อาเฮีย” จากปักกิ่งช่วย “นางสาวสยาม” ในยามต้องเผชิญกับปัญหาจาก “ลุงแซม” และพวกผมแดงตะวันตกหลังพฤษภาคม 2557

หรือว่าวันนี้นางสาวสยามเป็นเพียง “นกน้อย” ในกรงทองของ “พญามังกร” เท่านั้นเอง!