ปรับยุทธศาสตร์ แก้รัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ประชาชน ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส. รัฐประหาร 2549 และ 2557 เหลือ…ประชาธิปไตยแบบคนละครึ่ง/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

ปรับยุทธศาสตร์

แก้รัฐธรรมนูญ

เป็นหน้าที่ประชาชน

ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.

รัฐประหาร 2549 และ 2557

เหลือ…ประชาธิปไตยแบบคนละครึ่ง

 

ในเชิงอำนาจแล้ว โครงสร้างในระบอบประชาธิปไตย แบ่งครึ่งไม่ได้ เพราะระบบจะพัง เมื่อพังแล้วจะส่งผลถึงประชาชน ทำให้เหลือชีวิตตนเองครึ่งหนึ่ง ฝากไว้กับบัตรคนจนและเศษเงินเยียวยาครึ่งหนึ่ง แม้วัคซีนก็จะได้ครึ่งหนึ่ง

รัฐธรรมนูญไทยมี 20 ฉบับ เริ่มจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองช่วง พ.ศ.2475 รวม 2 ฉบับ เกิดจากการปรับปรุงแก้ไขของระบบรัฐสภา 1 ฉบับ และมีเพียง 2 ฉบับที่เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของประชาชนคือ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และหลังพฤษภาทมิฬ 2535 แต่อีก 15 ฉบับเกิดจากการที่คณะรัฐประหารร่างขึ้นเพื่อใช้แปลงกายสืบทอดอำนาจ

การจะให้มีรัฐธรรมนูญแบบไหน เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มผู้ปกครองซึ่งกุมอำนาจรัฐ

เนื้อหาของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ในแต่ละยุคสมัยขึ้นอยู่กับว่าในขณะใครมีอำนาจ ถ้าเป็นประชาชน ตัวรัฐธรรมนูญจะออกมาเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนมากหน่อย แต่ถ้าเป็นบุคคลหรือกลุ่มคน ตัวรัฐธรรมนูญก็จะถูกร่างออกมาเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มนั้น

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งร่างหลังการรัฐประหารของ คสช. 2557 จึงถูกดีไซน์เพื่อพวกเขาให้เป็น…ประชาธิปไตยแบบคนละครึ่ง

สำหรับในประเทศไทย การร่างรัฐธรรมนูญนั้นอาจจะใช้สิ่งที่เรียกว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่มิได้หมายความว่าจะมีรูปแบบหรือเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย เพราะส่วนใหญ่แล้วกรรมการร่างฯ หรือสภาร่างฯ มักจะถูกแต่งตั้งมาจากผู้มีอำนาจหลังการรัฐประหาร

ผลสำเร็จของรัฐธรรมนูญที่จะบอกว่าเพื่อประชาชนมีความเป็นประชาธิปไตยแค่ไหนจึงดูได้จากที่มาของกลุ่มคนที่ร่างรัฐธรรมนูญและเนื้อหาเมื่อร่างจนเสร็จแล้ว

 

การทำรัฐธรรมนูญ หลังรัฐประหาร

1.โดยทั่วไปคณะรัฐประหารจะจัดให้มีธรรมนูญการปกครองชั่วคราวหรือรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมาก่อน, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราวของ คปค. หลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549, รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หลังรัฐประหารของ คสช.

หลังจากนั้นผู้ยึดอำนาจทุกกลุ่มก็ต้องสัญญากับประชาชนว่าขอเวลาไม่นาน จะนำประชาธิปไตยกลับมาโดยเร็ว แต่ต้องให้บ้านเมืองสงบเสียก่อน จึงจะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (ถ้าร่างทันและไม่ถูกรัฐประหารซ้อน หรือถูกต่อต้าน)

2. การร่าง รธน.แล้วแต่ผู้มีอำนาจ ว่าต้องการช้าหรือเร็ว

สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ร่างจนตัวตายยังไม่เสร็จ โดยแต่งตั้งสภาร่าง รธน.ขึ้น 240 คน และให้ทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติด้วยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2502 จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ร่างต่อจน รธน.เสร็จ 20 มิถุนายน 2511 ใช้เวลา 9 ปี 4 เดือน มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 จอมพลถนอมได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจต่อไป แต่ใช้แค่ 2 ปีก็ฉีกทิ้งเสียเอง

การร่าง รธน.ปี 2550 เป็นแบบร่างเร็ว โดยการตั้งสมัชชาแห่งชาติ 2549 ซึ่งมีสมาชิก 1,982 คน ทำการคัดเลือกกันเองเหลือ 200 คน และให้ คมช.เลือก 100 คนไปเป็นสภาร่าง รธน. โดย คมช.เลือกผู้ทรงคุณวุฒิ 10 คนมาร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่าง รธน.ฉบับนี้ ใช้เวลาร่างแค่ 6 เดือน

จะเห็นว่าการตั้ง สนช., กรธ. หรือแม้แต่สภาร่างฯ ที่ประชาชนมิได้เป็นผู้เลือกตัวแทนเข้ามาทำการร่าง รธน. ความหมายของประชาธิปไตยที่ว่า…เป็นของประชาชน โดยประชาชนก็ไม่เป็นความจริง ดังนั้น จะให้ รธน.นี้มีผลออกมา…เพื่อประชาชน…จึงยิ่งเป็นไปไม่ได้

3. ร่าง รธน.แบบสืบทอดอำนาจมีหลักการทั่วไป คือ…

ให้อำนาจคณะรัฐประหารตั้ง ส.ว. และให้มีอำนาจเท่ากับ ส.ส.ในการจัดตั้งรัฐบาล

นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้

และสำหรับยุคนี้ต้องให้ ส.ว.มีอำนาจในการตั้งองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ เพราะอำนาจในการตัดสิน ถูก-ผิด ชี้เป็นชี้ตาย ก็จะตกอยู่ในมือพวกเดียวกัน

ในทุกตำแหน่งของอำนาจจึงผลัดกันเขียน เวียนกันตั้ง

รธน.ฉบับ 2560 ยังมีพิเศษตรงที่ว่าเมื่อได้รัฐธรรมนูญที่ดีไซน์เพื่อตัวเองแล้ว ยังวางกฎเกณพ์สารพัดให้แก้ไขยาก ตามระบบสภา จนกลายเป็นเงื่อนไขที่จะแก้ได้ต้องฉีกทิ้งก่อน (ซึ่งดูแล้วนี่จะเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายในอนาคต)

ผลของการใช้ รธน. 2560 หลังการเลือกตั้ง 2562 สรุปได้ว่า คสช.สามารถสืบทอดอำนาจสำเร็จ หลังเลือกตั้ง แม้ไม่มี ม.44 คนที่เป็นใหญ่ใน คสช.ก็ยังมีอำนาจพิเศษเหนือทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ทำอะไรก็ได้ไม่ผิด

ขณะนี้อำนาจและเงินบงการได้ทุกวงการ ตอนนี้อำนาจอธิปไตยจึงเป็นของคนกลุ่มหนึ่งหรือสองกลุ่ม…ถ้าวัดจากการบริหาร และการปกครอง…ถือว่าเป็นระบบอำมาตยาธิปไตยที่ครบสมบูรณ์

 

ยุทธศาสตร์สำคัญ

เพื่อกลับมาเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ต้องแก้ไขโครงสร้างให้เป็นประชาธิปไตย

1.อำนาจนิติบัญญัติ ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ต้องไม่มี ส.ว.จากการแต่งตั้ง ถ้ามาจากการเลือกของประชาชนยังยอมรับได้

2. อำนาจบริหาร นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือคณะผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง

3. อำนาจตุลาการ ต้องมีสภายุติธรรม ที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อดูแลกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายตุลาการ และกรรมการองค์กรอิสระ

4. อำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นของประชาชน จึงจะทำให้โครงสร้างแต่ละข้อเป็นจริงได้ ดังนั้น จะต้องมี ส.ส.ร.ที่ได้รับเลือกจากประชาชนโดยตรง มาทำการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ให้ความเป็นอิสระกับ ส.ส.ร.ในการร่าง

ถ้าจะสรุปยุทธศาสตร์สำคัญในช่วงเวลานี้ก็คือ ต้องต่อสู้เพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และมีเป้าหมายในการลดอำนาจวุฒิสภาหรือกำหนดให้มีสภาเดียวหรือให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งแล้วแต่ ส.ส.ร. (ที่เรียกว่าแก้ทั้งฉบับ) การเคลื่อนไหวนอกสภาในเรื่องนี้ เป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชน

ส่วนรายละเอียดในกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมืองก็จะต้องมีรายละเอียดที่ย่อยออกไปเพื่อป้องกันการขายตัวของ ส.ส. ความยุติธรรมในการแบ่งเขตเลือกตั้งและวิธีการเลือกตั้ง ควรถกเถียงกันใน ส.ส.ร.ซึ่งจะต้องรับฟังเหตุผลรอบด้าน

เช่นกรณีที่ถกเถียงกันเรื่องการเลือกตั้งบัตร 2 ใบควรใช้แบบไหน มีผู้เสนอความเห็นมาว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องด่วน เพราะถ้ายังมี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนเลือกนายกฯ ได้ ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ และบริหาร ก็เท่ากับถูกยึดไปจากประชาชนตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้ง

 

รัฐธรรมนูญที่ดี

ได้มาจากการต่อสู้ของประชาชน

การจะได้รัฐธรรมนูญดีๆ จำเป็นต้องผ่านการต่อสู้ ทุกครั้งรัฐธรรมนูญไม่ใช่น้ำฝนที่จะหล่นจากฟ้ามาใส่หลังคาบ้าน แต่มันยากเหมือนการขุดลึกลงไปในแผ่นดินเพื่อหาน้ำบาดาล ขณะเดียวกันฝ่ายเผด็จการก็ต้องดีไซน์รัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ

พ.ศ.2475-2476 มีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจนไปถึงการปราบกบฏบวรเดช คณะราษฎรต้องเสี่ยงชีวิตปฏิวัติและต่อสู้หลายรูปแบบ นานนับปี จึงค่อยๆ สถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยและวางรากฐานของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดได้

พ.ศ.2516 หลังจากถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมานาน 16 ปี นักศึกษา-ประชาชนก็ลุกขึ้นสู้ ต้องหลั่งเลือดเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้ง จึงมีโอกาสร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ได้สำเร็จ

พ.ศ.2535 หลังจากการต่อสู้กับคณะรัฐประหาร รสช. จนต้องหลั่งเลือดแลกชีวิตในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ได้สำเร็จ

แต่หลังการรัฐประหาร 2549 และ 2557 ทำให้ระบอบประชาธิปไตยในวันนี้เป็นแบบคนละครึ่ง โครงสร้างของระบบพังตั้งแต่การคัดสรร จนถึงการตรวจสอบ

เราจึงมองเห็นความล้มเหลวในสภา เช่น การซื้อ ส.ส. การเปลี่ยนอุดมการณ์หลังได้รับเลือกตั้ง ย้ายพรรค ยุบพรรคตนเองเพื่อผลประโยชน์ สกัดฝ่ายตรงข้ามไม่ให้เข้าสภา

เห็นความล้มเหลวในการบริหาร เพราะผู้มีอำนาจใช้เงินภาษีตามที่อยากใช้ มีการโกงทุกระดับ สิ่งที่ผิดกลายเป็นถูก ใครเรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุง ถูกจับ ทำได้แม้หาประโยชน์จากโรคติดต่อ

ความล้มเหลวในกระบวนการยุติธรรมที่ปรากฏเป็นข่าว สารพัดคดี ทำยังไงก็ไม่ผิด ผิดก็ฟ้องไม่ทัน เป็นพวกเดียวกันให้ตำแหน่ง เป็นคู่แข่งตัดสิทธิ์ พวกหนึ่งได้อภิสิทธิ์ พวกหนึ่งยุบพรรค

เมื่อบริหารไม่ได้ คนรุมประณาม ต่อต้าน ก็ออกท่าว่าจะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ มาช่วยกันแก้ไขว่าจะเลือกแบบไหนดี (แต่ไม่ว่าแบบไหน พวกข้าก็จะฟาดงบฯ จนจบสมัย หลอกให้เอ็งทะเลาะกันต่อไป)

ประวัติศาสตร์การเมืองบอกได้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญในสภาทำได้เพียงเล็กน้อย เรื่องแก้โครงสร้าง ต้องเป็นกระแสประชาชน ที่ทุกคนมีหน้าที่แก้ไขกฎที่ไม่ยุติธรรม ไม่ใช่เฉพาะ ส.ส.ในสภา สถานการณ์วันนี้ไม่เปิดแนวร่วมใหญ่ไม่ชนะ

ถ้าแก้ไขแค่วิธีการเลือกตั้ง อย่าเสียเวลามาถกเถียงกัน อย่าไปร่วมทำ เพราะจะกลายเป็นเครื่องมือและตัวประกอบฉาก จะเป็นแค่ไก่ชนตัวเก่งในกรงที่รอวันถูกเชือด แต่พวกเขาจะสืบทอดอำนาจ กอบโกยประโยชน์ต่อนาน 20 ปี ในขณะที่ชาวบ้านเหลือทุกอย่างในชีวิตเพียงครึ่งเดียว