กติกาบัตรสองใบ ใครได้ใครเสีย/บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

กติกาบัตรสองใบ

ใครได้ใครเสีย

 

วันที่ 23-24 มิถุนายน พ.ศ.2564 รัฐสภามีวาระการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคการเมืองต่างๆ ในหลายประเด็น

แต่ประเด็นหลักที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยในอนาคต คือ การแก้ไขเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง จากระบบบัตรใบเดียว กลับไปใช้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบแบบที่เคยใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

และมีแนวโน้มว่า การแก้ไขน่าจะเป็นไปในทิศทางดังกล่าวเนื่องจากเป็นข้อเสนอเดียวที่มีความเห็นตรงกันทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน

กติกาที่เปลี่ยนแปลง นำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมืองใดบ้าง เป็นประเด็นที่สมควรนำมาวิเคราะห์ โดยอาศัยแนวทางข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐที่คาดว่าจะเป็นร่างหลักที่ต้องใช้ในการพิจารณาแปรญัตติในวาระที่สองและการลงมติในวาระที่สาม

 

1) เพิ่ม ส.ส.เขต ลด ส.ส.บัญชีรายชื่อ

สัดส่วนจำนวน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นประเด็นที่เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมา โดยเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2540 นั้นเป็น สัดส่วน 400 : 100 แต่พอใช้ไประยะหนึ่ง ก็เปลี่ยนเป็น 375 : 125 โดยให้เหตุผลว่า ต้องการให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถแต่อาจไม่ถนัดงานพื้นที่มากขึ้น

พอรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เปลี่ยนสัดส่วน เป็น 350 : 150 ซึ่งก็ทำให้เกิดความวุ่นวายพอควรที่ต้องขีดเส้นแบ่งเขตกันใหม่ คนที่เคยครองพื้นที่เดิมเกิดปัญหาการทับซ้อนพื้นที่กลายเป็นความขัดแย้งในพรรค รวมถึงปัญหาความไม่เป็นธรรมในการแบ่งเขตในพื้นที่ใหม่ซึ่งเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

ข้อเสนอในการเปลี่ยนกลับไปใช้สัดส่วน 400 : 100 จึงเป็นข้อเสนอที่ให้ความสำคัญต่อการมี ส.ส.ในพื้นที่ ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อให้เขตเลือกตั้งเล็กลงและให้ ส.ส.สามารถดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

ซึ่งแท้จริงแล้ว หน้าที่ของ ส.ส. เป็นหน้าที่หลักทางนิติบัญญัติ คือการออกกฎหมาย และหน้าที่ในการกำกับตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร หน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขประชาชนเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร

ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ ส.ส.ต้องลงไปดูแลประชาชนในพื้นที่

สิ่งที่น่าจะเป็นจริงของเบื้องหลังข้อเสนอนี้มาจากการประเมินว่า พรรคของตนมีโอกาสประสบความสำเร็จในระดับเขต ซึ่งจำเป็นต้องมีทุนทรัพย์ มีอิทธิพลทางการเมืองทั้งจากส่วนกลางและในระดับท้องถิ่นหนุนหลัง

ส่วนความสำเร็จในการได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น มาจากนโยบายและความนิยมที่มีต่อตัวผู้นำพรรค ซึ่งในปัจจุบันกระแสความนิยมต่างๆ ลดลงมาก จึงหันเหทิศทางให้มีสัดส่วน ส.ส.เขตที่มากขึ้น

การเปลี่ยนสัดส่วนจำนวน ส.ส.นี้ แม้จะทำสำเร็จในขั้นแก้รัฐธรรมนูญ แต่จะมีกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลา คือการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจำนวนประชากรจากกระทรวงมหาดไทยและทำการแบ่งเขตใหม่ออกเป็นเขตละ 3 รูปแบบ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อนนำมาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งลงมติประกาศเขตเลือกตั้งใหม่

ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 เดือน

 

2) แยกบัตรสองใบ

บัตรเลือกตั้งใบเดียว ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งกับประชาชนผู้ใช้สิทธิที่ต้องรวมการตัดสินใจ เลือกเขต เลือกบัญชีรายชื่อ เลือกนายกฯ อยู่ในการลงคะแนนในบัตรใบเดียว เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้สมัครเขตและผู้สมัครบัญชีรายชื่อ เพราะทุกหนึ่งเสียงที่ชนะในเขต เป็นการลดทอนโอกาสได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในขณะที่ยิ่งแพ้ในระดับเขตมาก โอกาสนำคะแนนที่แพ้ไปรวมเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อยิ่งมีมากขึ้น

ระบบการคำนวณปัดเศษก็เป็นปัญหาให้ถกเถียงว่า กกต.ได้คำนวณด้วยวิธีที่ถูกต้องหรือไม่

ตลอดจนการปัดเศษที่ทำให้พรรคที่ได้คะแนนทั้งประเทศเพียง 30,000-40,000 คะแนน ก็มี ส.ส.ในสภาได้ขัดกับหลักที่ควรจะเป็น

เป็นผลให้มีรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองถึง 19 พรรค การเมืองขาดเสถียรภาพและถอยกลับไปสู่ยุคการเสนอประโยชน์เพื่อให้ร่วมรัฐบาล

การย้อนกลับไปสู่บัตรเลือกตั้งสองใบ จึงเป็นทางออกที่เหมาะสม โดยประชาชนมีความคุ้นเคยกับวิธีการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบมากว่า 20 ปี และสามารถเลือกตัดสินใจทั้ง “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ได้อย่างเป็นอิสระ

พรรคการเมืองสามารถแข่งขันกันด้วยนโยบายและไม่เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้สมัครเขตและผู้สมัครบัญชีรายชื่อ

 

3)ส่งบัญชีรายชื่อได้ ต้องส่ง ส.ส.เขตอย่างน้อย 100 เขต

การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อพรรคการเมืองที่ให้ต้องทำงานการเมืองอย่างจริงจังในระดับหนึ่ง คือ ต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.เขตไม่น้อยกว่า 100 เขต จึงจะสามารถส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้

การให้ต้องมีกำหนดจำนวนส่ง ส.ส.เขตขั้นต่ำนี้ อาจสืบเนื่องจากในอดีต ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ.2554 ที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ตั้งพรรครักประเทศไทย ประกาศนโยบายจะเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล และมีวิธีการหาเสียงที่พิสดารที่แม้ไม่ส่ง ส.ส.เขตเลยแม้แต่เขตเดียว แต่ก็ได้คะแนนเสียงในบัตรบัญชีรายชื่อกว่า 1 ล้านคะแนน ทำให้สามารถมี ส.ส.เข้าสภาได้ถึง 4 คน

ข้อเสนอในการต้องมีจำนวนผู้สมัครเขตขั้นต่ำ จึงเป็นทางแก้ในเรื่องดังกล่าว

 

4) มี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ต้องมีคะแนนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า ร้อยละ 1

หากยึดเอาจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศราว 52 ล้านคน โดยสมมุติมีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 70 เท่ากับคะแนนเสียงทั้งประเทศ คือ 36.4 ล้านเสียง

ร้อยละ 1 ของจำนวนดังกล่าวคือ 364,000 คะแนน ซึ่งหากใช้ผลการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 โดยนำวิธีการตัดพรรคที่มีคะแนนรวมน้อยกว่าร้อยละ 1 ออกไป จะเหลือพรรคการเมืองเพียง 11 พรรคที่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เรียงตามลำดับดังนี้ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ (ก้าวไกล) พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยพรรคพลังประชารัฐมีคะแนนเสียงสูงสุด ร้อยละ 23.74 และพรรครวมพลังประชาชาติไทย มีคะแนนเสียงน้อยสุดร้อยละ 1.17 ส่วนพรรคเล็กที่เหลือที่เคยได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อในสภา เช่น ชาติพัฒนา พลังท้องถิ่นไท รักษ์ผืนป่าประเทศไทย และพรรคจิ๋วอื่นๆ ที่เคยมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ทั้งหมดจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว (ดูตาราง)

การออกแบบดังกล่าว เป็นการกลับทิศทางการเมืองไทยไปสู่ระบบความได้เปรียบของพรรคใหญ่

ทำให้ในสภาประกอบด้วยพรรคการเมืองไม่มาก การจับขั้วการเมืองเป็น 3 ขั้ว ดูง่ายและชัดเจนขึ้น

คือ ฝ่ายแกนหลักรัฐบาลที่มาจากการสนับสนุนของคณะรัฐประหาร ได้แก่ พลังประชารัฐและรวมพลังประชาชาติไทย

ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลปัจจุบัน คือ เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ เพื่อชาติ

และฝ่ายที่พร้อมเข้าร่วมกับทุกฝ่าย คือ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา เศรษฐกิจใหม่

ขอให้แก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ การเมืองไทยหลังจากนั้นแทบห้ามกะพริบตา