คุยเรื่องเส้นแบ่งที่พร่าเลือนของ “ความเซ็กซี่” กับ 3 นางแบบดัง “เชอรี่ สามโคก” “มุกกี้” และ “อาร์กี้”

เมื่อความเซ็กซี่ถูกตั้งคำถามในกรณีของนักร้องลูกทุ่งสาว “ลำไย ไหทองคำ” ซึ่งเอาเข้าจริงคนก็รู้จักภาพและเสียงของเธอจากโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม ในโลกออนไลน์แบบไทยๆ ยังมีเรื่องราวของความเซ็กซี่อีกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเพจเฟซบุ๊กรวมแฟชั่นภาพเซ็กซี่, คลิปวิดีโอ หรือแม้กระทั่งการไลฟ์สด

รายการ “เป็นเรื่อง!” ที่แพร่ภาพทางเพจเฟซบุ๊กข่าวสดออนไลน์ ทุกวันพุธ เวลา 21.00 น. พาไปคุยกับหลายหลากบุคลากรของแวดวงเซ็กซี่ในโลกออนไลน์ไทย ถึงมุมมอง, นิยาม และลิมิตของ “ความเซ็กซี่”

เนื้อหาจะน่าสนใจเพียงใด? คอลัมน์ “เปลี่ยนผ่าน” สัปดาห์นี้ขออนุญาตนำเสนอเรื่องราวในเวอร์ชั่นตัวหนังสือมาให้อ่านกัน

สําหรับ “R”Ky – ฐิติวรดา จังจริง” นางแบบเซ็กซี่ชื่อดังในโลกออนไลน์ ผู้มียอดคนติดตามเพจเฟซบุ๊กราว 2.8 แสนคน นิยาม “ความเซ็กซี่” ในมุมมองของเธอ ว่าหมายถึง “การทำให้คนรู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้เซ็กซี่โดยไม่ต้องตั้งใจก็ได้”

“คำว่าเซ็กซี่ไม่จำเป็นต้องไปถกเสื้อ ถกกางเกงให้มันสั้น หรือโชว์ร่องอก จริงๆ แล้ว แค่ส่งสายตา-ความรู้สึกออกไป ให้เขารู้สึกว่าผู้หญิงคนนี้เซ็กซี่ โดยที่ไม่เห็นหน้าอกก็เซ็กซี่ได้”

เมื่อถามว่าคิดเห็นอย่างไร? กับนางแบบแนวเซ็กซี่ที่พยายามนำเสนอตัวเองอย่างหวือหวามากๆ เพื่อให้เป็นกระแส อาร์กี้บอกว่าตนเองกับนางแบบเหล่านี้อาจมีความคิดคนละชุดกัน

“เขาอาจรู้สึกว่าเขามากสุดได้เท่านี้ เขาก็ทำได้เท่านั้น แต่บางคนเขาก็จะรู้สึกว่าไม่ต้องโชว์เยอะแยะ เราก็เซ็กซี่ได้ในมุมของเรา บางคนเขาอาจจะคิดไม่เหมือนกัน”

กับภาพลักษณ์เซ็กซี่ที่นำเสนอออกไป ย่อมส่งผลให้มีทั้งคนที่ชื่นชมในเชิงบวกและวิจารณ์อาร์กี้ในด้านลบ น่าสนใจว่าเจ้าตัวมีวิธีรับมือปฏิกิริยาแบบหลังอย่างไรบ้าง?

“(เมื่อมีคนวิจารณ์ว่า) อุ๊ย! อายุเท่านี้เอง ถ่ายขนาดนี้แล้วเหรอ? กี้ก็จะรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องไปสนใจน่ะค่ะ เพราะว่านี่คืออะไรที่เรารักเราชอบ แล้วเราก็รู้ว่ามันไม่ได้ผิดกฎ กี้ก็รู้สึก งั้นก็ปล่อยไป จะแคร์ทำไม”

จากนั้น รายการไปพูดคุยต่อกับ “มุกกี้ – ชณิตา ภูวพิพัฒน์” เน็ตไอดอลชื่อดัง ที่ผู้คนมักรู้จักเธอผ่านแง่มุมความเซ็กซี่

“ในอินเตอร์เน็ตนี่ พอเสิร์ชชื่อมุกกี้ จะเจอแต่ชุดว่ายน้ำทั้งนั้นเลย มันก็เลยดูเป็นเซ็กซี่ (แต่) เดี๋ยวนี้ เขาก็ถ่ายกันเยอะนะ ดาราก็ถ่ายกันเยอะ … ก็โดนคนคอมเมนต์ด่ากันหมด เราก็ไม่รู้ว่าเราต้องลงรูปอะไร คือถ้าไม่ลงแบบนี้ คนก็ไม่ดูอยู่ดี ก็ไม่รู้จะยังไงเหมือนกัน”

แม้จะมีดีมานด์สูง แต่มุกกี้ก็วางลิมิตการรับงานถ่ายแบบแนวเซ็กซี่เอาไว้เช่นกัน

“ก็อยู่ที่ว่าสินค้าหรือสิ่งที่เราไปทำมันคืออะไร? มันเกี่ยวกับอะไร? ก็ต้องมีลิมิตของมัน เกินไปกว่านั้นมันก็เรียกว่าโป๊ แต่ถ้าคนที่จ้างมาเขาเป็นสื่อแนวเซ็กซี่ เราก็ต้องเข้าใจเขาด้วยว่าเขาต้องขายเราในแนวนั้น ถ้าตัดสินใจ (กำหนดลิมิต) อย่างนั้น ก็ควรที่จะไม่รับดีกว่า มันควบคู่กันไปมาน่ะค่ะ “ศิลปะ” มันก็ต้องอยู่บน “ศีลธรรม” ด้วย”

ทว่า บางครั้ง “ลิมิต” ที่มุกกี้วางเอาไว้เป็นบรรทัดฐานของตนเอง ก็ยังถูกประเมินจากคนอื่นว่าเซ็กซี่ “มากเกินไป” นำมาสู่เสียงสะท้อนเชิงลบต่างๆ นานา ซึ่งเธอยืนกรานว่าหากความเซ็กซี่อยู่ใน “สถานที่” และ “เวลา” อันเหมาะสม ก็ยังไม่ถือว่า “ล้ำเส้น”

“ในมุมมองของมุก ระหว่าง “โป๊” กับ “เซ็กซี่” เซ็กซี่คือโชว์แบบออกกำลังกาย โชว์หน้าท้อง ซิกซ์แพ็ก และแบบว่าบางทีก็ไปเที่ยวทะเล ว่ายน้ำ ใส่บิกีนี มุกมองว่ามันเซ็กซี่ แต่ไม่รู้ว่าหลายคนจะมองว่ามันโป๊หรือเปล่า? แล้วแต่มุมมองคน”

มาถึง “เชอรี่ สามโคก” หรือ “ลฎาภา รัชตะอมรโชติ” นักแสดง-นางแบบเซ็กซี่ ผู้มีชีวิตอีกด้านเป็นบัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดัง ซึ่งดูจะถูกผูกโยงกับนิยามความเซ็กซี่ในโทนที่แตกต่างออกไป

เพราะเธอเคยมีภาพลักษณ์เซ็กซี่แบบสุดขั้ว ก่อนจะลดดีกรีความร้อนแรงลงมาเรื่อยๆ เพื่อกำหนดลิมิต “ความเซ็กซี่” ของตัวเองเสียใหม่

“อย่างตัวเชอรี่เอง เชอรี่เป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งด้วยภาพที่แรงมาก เป็นนางเอกอีโรติก เซ็กซี่ที่แบบว่าถ่ายเปลือย แล้วตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นี่ก็สิบกว่าปีแล้ว ถ้าใครสังเกตดีๆ เชอรี่จะเบาวอลุ่ม หรือลดลิมิตลงมาเรื่อยๆ จากแรงแล้วก็เบาๆๆ มาจนทุกวันนี้ ที่มากสุดก็บิกีนี มีนานๆ ที่จะเปิด แต่ก็ (เปิด) ไม่หมดอยู่ดี มีการรีทัชเอา

“หรือว่าไปแสดงพวกล้างรถ ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็จะโห! ดูแซบมาก ดูเหมือนโป๊มาก แต่ทุกวันนี้ก็จะเสื้อกล้าม-กางเกงขาสั้นอยู่แล้ว”

แต่ไม่ว่าจะลดลิมิตลงมาขนาดไหน เชอรี่ยอมรับว่าทุกครั้งที่โพสต์ภาพแนวเซ็กซี่ลงในโซเชียลมีเดีย เธอก็ยังโดนด่าอยู่ดี เพราะว่าผู้คนต่างจดจำ “ภาพแรงๆ” ของเธอไปเรียบร้อยแล้ว

“เพราะฉะนั้น ถ้าถามคำว่าลิมิต ก็เอาเป็นว่ามันคือลิมิตที่เราพิจารณาเอาเองแล้วกันว่า ประมาณนี้ เราคิดว่าโอเค”

เมื่อขอให้เชอรี่ช่วยระบุนิยามของคำว่า “เซ็กซี่” เธอออกตัวว่าการกำหนดเกณฑ์ให้เห็นพ้องต้องกันนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

“เรื่องของความเซ็กซี่นี่ detail (รายละเอียด) มันเยอะ ว่าอะไรจะ “อนาจาร” หรืออะไรจะ “เซ็กซี่” แบบสังคมรับได้ ชุดเดียวกัน สมมุติใส่บิกีนีเหมือนกัน ใส่บิกีนียืนเฉยๆ กับใส่บิกีนีเต้น เต้นแบบมีสเต็ปกับเต้นแบบเหมือนดูโจ๊ะ ดูยั่วยวนทางเพศจนเกินไป มันก็หาจุดว่าอะไรคือข้อบ่งชัดสำหรับความเซ็กซี่ได้ยาก อันนี้ก็แล้วแต่วิจารณญาณของคนทำ และความรับได้ของสังคม”

เชอรี่ถึงกับเสนอให้สังคมยึดหลักเกณฑ์ของกฎหมาย หากเราต้องการแบ่งเส้นให้ชัดว่าอะไร “เซ็กซี่” หรือ “อนาจาร”

“เราก็ไม่ได้อยากจะเป็นตัวทำลายวัฒนธรรม เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเยาวชนหรอก แต่เมื่อแต่ละคนมีคำจำกัดความของคำว่า “การดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม” ต่างกัน เราก็เลยเอากฎหมายเป็นที่ตั้งแล้วกัน สมมุติทำอะไรที่ไหน มันจะมีกฎหมายไว้ชัดเจน ว่าอะไรคืออนาจาร อะไรคือไม่อนาจาร

“เพราะฉะนั้น เราก็เอากฎหมายเป็นที่ตั้ง เพราะมันเป็นหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานที่สุด เป็นกฎ เป็นระเบียบที่ชัดแจ้งที่สุดแล้ว ก็เอาตรงนั้นเป็นที่ตั้ง แล้วดูจากความเหมาะสมของสถานที่ ความเหมาะสมขององค์ประกอบอะไรหลายๆ อย่าง เพราะเรายังทำงานเซ็กซี่อยู่ เราจะยังขอเซ็กซี่อยู่ แบบปรับทุกอย่างให้มันเหมาะสม”

เชอรี่ สามโคก ยังตั้งคำถามกลับไปถึงคนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเธอเป็น “ตัวสร้างปัญหา” ให้สังคมอย่างน่าสนใจ

“ถ้าเชอรี่กับการทำงานสไตล์เซ็กซี่มีส่วนทำลายสังคม แล้วการ bully (ระรานรังแก) ทางอินเตอร์เน็ต การใช้คำรุนแรงด่าทอในอินเตอร์เน็ตล่ะ? คุณเป็นคนดีกัน คุณไม่ได้แก้ผ้าแบบเรา แต่คุณใช้คำหยาบคายในการด่าคนคนหนึ่ง แล้วด่าไปนอกเรื่อง

“สมมุติว่าถ้าเกิด (เชอรี่) แก้ผ้า แล้ว (ถูกวิจารณ์ว่า) เฮ้ย! แต่งตัวแบบนี้ในที่สาธารณะมันไม่ถูกต้องเลยนะ คุณเป็นผู้หญิงนะ คุณควรจะรักนวลสงวนตัว อันนี้โอเค

“(แต่สำหรับเสียงวิจารณ์ว่า) อย่างนี้เกิดมาพ่อแม่ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แน่ๆ เลย เธอจะต้องเกิดมาในครอบครัวแบบนี้แน่เลย เธอจะต้องแรด ร่าน ต้องมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายมานับไม่ถ้วนแน่เลย (อันนี้) นอกเรื่อง

“แบบนี้มันเป็นอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต … อยากย้อนถามกลับไปว่า แล้วลูกหลานที่จะเติบโตขึ้นมา ที่เห็นเรื่องด่าทอกันในอินเตอร์เน็ตเป็นเรื่องปกติทั่วไป ใครทำอะไรไม่ถูกใจหน่อย โพสต์ด่าๆๆ คำแบบนี้มันไม่ทำร้ายเยาวชนเหรอ?”

ท้ายสุด เชอรี่ฝากบอกไปยังคนคิดต่างให้มองโลกอย่างเข้าใจในสิ่งที่มันเป็นมากขึ้น

“เชอรี่เป็นคนมองโลกตามความเป็นจริง โลกหรือสังคมอุดมคติใครก็นิมิตขึ้นมาได้ ใครก็เขียนขึ้นมาได้ว่าอยากจะให้เป็นแบบไหน แต่เราอยู่กับอุดมคติหรือความฝันตลอดเวลาไม่ได้ แน่นอน ทุกคนอยากให้โลกสงบสุข ทุกคนอยากให้ทุกคนรักกัน ไม่มีสงคราม ไม่มีเรื่องเสื่อมเสีย ไม่มีความเซ็กซี่ ไม่มีนางแบบแก้ผ้า ทุกคนอยากให้มีความสงบสุขและความสวยงามของวัฒนธรรม

“แต่เรามามองถึงความเป็นจริงว่า เอ๊ะ! ทุกวันนี้มันอยู่ในจุดไหนนะ ผู้คนในสังคมเป็นแบบไหนกันบ้าง มันมีอาชีพอะไรยังไงบ้าง อาชีพของความเซ็กซี่มันก็มีอยู่ แล้วก็ยังทำได้ เพราะว่ามันก็มีบางคนที่เขารับได้ หลายๆ คนที่เขาชอบ ไม่งั้นเขาคงไม่มาไลก์ ไม่งั้นเชอรี่คงไม่มีงานทำมาถึงทุกวันนี้น่ะนะคะ

“เพราะฉะนั้น พอความเป็นจริงมันเป็นแบบนี้ แล้วเราจะอยู่กับความเป็นจริงยังไง? ให้หนึ่ง ไม่ได้ทำลายอะไรเยอะแยะขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้โลกสวย อุดมคติ เพราะเชอรี่มองว่ามันเป็นไปไม่ได้ สังคมอุดมคติ”