จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (7) ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (7)

ไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดน (ต่อ)

 

ดังนั้น พอถึง ค.ศ.947 คีตันก็ไม่รอรับบรรณาการจากจิ้นสมัยหลังอีกต่อไป คีตันกรีธาทัพเข้าโจมตีจิ้นสมัยหลังจนล่มสลาย แล้วจับกุมคุมขังจักรพรรดิและวงศานุวงศ์เอาไว้ทั้งหมด

ในกรณีนี้ทำให้เห็นว่า คีตันได้ตั้งตนเป็นใหญ่อย่างช้าๆ นับแต่อยู่ภายใต้การนำของอาเป่าจี ซึ่งในขณะนั้นจีนยังมิได้เข้าสู่ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐ ครั้นถึงยุคที่ว่าคีตันก็ยังคงทำศึกกับชนชาติต่างๆ

และในขณะที่คีตันกำลังเดินไปในวิถีดังกล่าว ราชวงศ์ซ่งก็ถือกำเนิดขึ้น

จากนั้นทั้งซ่งและคีตันก็ทำศึกกับกลุ่มอำนาจที่ตั้งตนเป็นราชวงศ์และรัฐอิสระในยุคที่ว่า

เหตุดังนั้น เมื่อสิ้นยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐแล้ว คีตันกับซ่งจึงหันมาเผชิญหน้ากัน

การศึกระหว่างคีตันกับซ่งอันเป็นที่กล่าวขานกันมากก็คือ คราวที่คีตันมีจักรพรรดิองค์ที่หกคือ เหลียวเซิ่งจง (ครองราชย์ ค.ศ.982-1030) ที่เริ่มครองราชย์ในวัย 11 ชันษา ทำให้ต้องมีราชชนนีเฉิงเทียน (ค.ศ.942-1009) เป็นผู้สำเร็จราชการ

เฉิงเทียนเป็นสตรีคีตันอีกคนหนึ่งที่มีความสามารถในการศึก

พระนางเคยบัญชาการศึกที่มีกับซ่งมาก่อน จนกล่าวกันว่า “ชัยอันสูงสุดแห่งเซิ่งจงที่มีเหนือจักรพรรดิเหลียวทั้งปวง ล้วนบังเกิดด้วยบัญชาแห่งราชชนนี”

เหลียวในยุคนี้ได้เข้าปกครองแมนจูเรีย มีชนชาติหนี่ว์เจิน (J?rchen) และทังกุตมาขึ้นต่อ ทั้งยังยึดครองพื้นที่ของจีนอันเป็นที่ตั้งของเป่ยจิง (ปักกิ่ง) และต้าถงในปัจจุบันอีกด้วย และด้วยความเกรียงไกรของทัพคีตันในยุคนี้ยังได้ทำให้ซ่งไม่ประสงค์ที่จะทำศึกด้วย โดยซ่งเลือกที่จะเจรจาสันติภาพ

แต่ทว่าผลของการเจรจากลับกลายเป็นว่า ซ่งต้องส่งบรรณาการให้กับคีตันด้วยมูลค่าที่สูงยิ่งผ่านสนธิสัญญาฉันยวน ซึ่งงานศึกษานี้จะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

นอกจากนี้ คีตันยังมีสายสัมพันธ์กับญี่ปุ่นและอาหรับในยุคราชวงศ์แอบบาสิดส์ (Abbasids) กรณีหลังนี้มีความสัมพันธ์ผ่านการอภิเษกสมรสในหมู่ญาติวงศ์ของทั้งสองอีกด้วย

 

ยุคของจักรพรรดิเหลียวเซิ่งจงถือได้ว่าเป็นยุคที่เหลียวเฟื่องฟูอย่างยิ่ง เหลียวในยุคนี้มั่งคั่งไปด้วยโภคทรัพย์ บรรณาการที่ได้จากซ่งถูกนำไปตลาดการค้าเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าหรือสิ่งที่คีตันต้องการ คีตันได้กำไรจากการนี้ในตลาดที่ตั้งอยู่ในเอเชียกลางและเอเชียตะวันตก

เหลียวในยุคนี้ยังได้ตัดถนนหนทางและสร้างสะพานขึ้นใหม่ ที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าถูกบุกเบิกเพื่อใช้ในการเกษตร

นอกจากนี้ คีตันยังจัดให้มีการสอบบัณฑิตเพื่อเป็นขุนนางในเมืองหลวงโดยใช้ระบบเดียวกับจีนถึง 54 ครั้ง และยังได้จัดทำปฏิทินที่มีระบบเดียวกับจีนเช่นกัน

หลังจากเหลียวเซิ่งจงสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.1031 ไปแล้ว การเมืองของคีตันยังคงมีเรื่องที่ราชชนนีพยายามเข้ามามีอิทธิพลเช่นเคย แต่คราวนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ซ้ำยังทำให้ราชชนนีต้องโทษเนรเทศอีกด้วย

จักรพรรดิองค์ใหม่คือ เหลียวซิ่งจง (ค.ศ.1031-1055) มีนโยบายขยายการเลียนแบบจีนในการปกครองมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะในด้านกฎหมาย วัฒนธรรม รวมทั้งการให้ความสำคัญกับกิจการทหาร การทำเช่นนี้ได้นำไปสู่ความตึงเครียดภายในโดยกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้เริ่มไม่พอใจ

หลังจากนั้นได้เกิดกบฏขึ้นใน ค.ศ.1044 และนำไปสู่การศึกระหว่างคีตันกับทังกุตจนถึง ค.ศ.1053 ครั้นเหลียวซิ่งจงสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.1055 ความรุ่งเรืองของคีตันก็เริ่มเสื่อมถอยลงไปสู่จุดอวสาน โดยจักรพรรดิคีตันในชั้นหลังต่อมาเริ่มอ่อนแอลงท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ

พอถึง ค.ศ.1123 จักรพรรดิองค์สุดท้ายก็ไปเข้าด้วยกับหนี่ว์เจิน ตอนนี้เองที่ถือเป็นหลักหมายแห่งการอวสานของคีตัน ตลอดห้วงอายุของเหลียวที่ยาวนาน 118 ปีจึงมีจักรพรรดิทั้งสิ้นเก้าองค์

 

เรื่องราวของคีตันจากที่กล่าวมานี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นับแต่ที่เริ่มตั้งตนเป็นใหญ่ใน ค.ศ.907 เรื่อยมาจนสามารถสร้างจักรวรรดิขึ้นมาได้นั้น ประเด็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของคีตันก็คือ การนำความเป็นจีนในด้านต่างๆ มาใช้ในจักรวรรดิของตน

ปัญหานี้ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ความเป็นจีนมีส่วนทำให้คีตันกลายเป็นจักรวรรดิมากน้อยเพียงใด หรือหากไม่นำมาใช้แล้วคีตันจะสร้างจักรวรรดิขึ้นได้หรือไม่

คำถามนี้มีประเด็นที่ชวนให้คิดว่า การนำความเป็นจีนมาใช้นั้นมีแรงต้านภายในเกิดขึ้นตั้งแต่แรกแล้ว ครั้นผู้นำในชั้นหลังนำมาใช้มากขึ้นก็กลับนำไปสู่การก่อกบฏจนทำให้คีตันอ่อนแอและล่มสลายลง แต่ไม่ว่าคำถามนี้จะสรุปลงเช่นใด สิ่งที่เราได้เห็นแล้วในเรื่องหนึ่งก็คือ ประวัติศาสตร์จีนกระแสหลักในจีนยังคงมองคีตันในแง่ลบ

การมองเช่นนี้ชวนให้สงสัยว่า การที่คีตันนำความเป็นจีนมาสร้างจักรวรรดินั้น เป็นสิ่งที่จีนพึงดูแคลนหรือพึงภูมิใจกันแน่

เซี่ยตะวันตกแห่งทังกุต

 

ข้อมูลโดยส่วนใหญ่ที่ว่าด้วยชนชาติทังกุตและจักรวรรดิเซี่ยตะวันตกในเอกสารจีนนั้น ก็ไม่ต่างกับข้อมูลของชนชาติอื่นที่ยังคงเต็มไปด้วยอคติ จากเหตุนี้ ประวัติศาสตร์จีนจึงปฏิเสธการเป็นราชวงศ์ของเซี่ยตะวันตก

อคตินี้ทำให้เกิดข้อจำกัดในการศึกษาเรื่องราวของทังกุตอยู่ไม่น้อย และเท่าที่มีหลักฐานก็ทำให้รู้เพียงว่า ในระยะแรกจีนเรียกทังกุตว่า ตั่งเซี่ยงเชียง พยางค์ที่สามสะท้อนว่า ทังกุตหรือตั่งเซี่ยงเป็นอนุชนชาติหนึ่งของชนชาติเชียง

โดยมีเชื้อสายจากเชียงที่มีถิ่นฐานอยู่ที่ทุ่งหญ้าอันไพศาลของมณฑลชิงไห่ในปัจจุบัน และแผ่คลุมพื้นที่ที่เป็นภูเขาในภูมิภาคอันเป็นต้นธารของแม่น้ำเหลือง แม่น้ำต้าทง และแม่น้ำฮว๋าง (ฮว๋างคำนี้เป็นคนละคำกับคำที่แปลว่าเหลืองที่หมายถึงแม่น้ำเหลือง)

ซึ่งก็คือภูมิภาคอัมโด (Amdo) ที่เป็นหนึ่งในถิ่นฐานดั้งเดิมของทิเบต

 

จากเหตุนี้ ทังกุตจึงเป็นชนชาติที่มีสายเลือดผสมผสานกับชนชาติทิเบต ส่วนคำเรียกที่ว่าทังกุตนั้น ปรากฏครั้งแรกในบันทึกที่เป็นภาษาโอร์คอนเติร์ก (Orkhon Turkic) เมื่อ ค.ศ.735 ในขณะที่เสียงจีนจะเรียกว่า ถังอู้ หรือ ถังกู่เท่อ

แต่ทังกุตจะเรียกตนเองด้วยภาษาของตนว่า มี (Mi) หรือ มียัก (Mi-?ag) ซึ่งจีนจะออกเสียงว่า หมี่เย่า หรือ เหมี่ยนเย่า คำเรียกนี้เป็นภาษาทิเบต

การที่ทังกุตเรียกตนเองอย่างหนึ่ง แต่ชนชาติอื่นเรียกอีกอย่างนี้ ออกจะเป็นเรื่องที่ดูย้อนแย้งอยู่ในตัว เกี่ยวกับเรื่องนี้มีหลักฐานว่า แม้คำว่า ทังกุต จะปรากฏขึ้นครั้งแรกในบันทึกเมื่อ ค.ศ.735 ก็จริง แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้กัน และมารู้หรือเรียกขานกันก็จากการเผยแพร่ของคีตันหลังจากนั้นต่อมา

ซึ่งตอนนั้นคีตันก็ยังมิได้เรืองอำนาจแต่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม บันทึกระยะแรกของศตวรรษที่ 7 ในสมัยถังระบุว่า ทังกุตเคยขึ้นต่อถู่ฟันหรือตูฟานมาก่อน (ซึ่งเป็นคำเรียกชนชาติทิเบตเดิม) ต่อมาบันทึกของทิเบตก็ระบุว่า ชนชาติมียักได้ตั้งดินแดนขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกของโคโคนอร์ (Kokonor) และกลายมาเป็นรัฐที่เรียกว่า เซี่ย

ตราบจนห้วงศตวรรษที่ 11 ชนชาติทิเบตและโขตาน (Khotanese) ได้ใช้คำว่า เซี่ย เรียกแทนทังกุตเวลาที่ติดต่อกับราชสำนักสุย จากนั้นในศตวรรษที่ 13 และ 14 คำว่ามียักได้ถูกใช้ให้หมายถึงดินแดนเหอซี

จนทำให้คำว่าเซี่ยและเหอซีเป็นที่เข้าใจกันว่าคือดินแดนดั้งเดิมของทังกุตซึ่งก็คือ รัฐเซี่ย ในเวลาต่อมา

 

เรื่องราวของทังกุตในส่วนที่สัมพันธ์กับจีนนั้น ปรากฏขึ้นในช่วงที่ถังกำลังเรืองอำนาจในศตวรรษที่ 7 ในช่วงดังกล่าวมีสองสถานการณ์เกิดเคียงคู่กันไปคือ

หนึ่ง ความขัดแย้งและการทำศึกระหว่างกันในหมู่ชนชาติต่างๆ ทางภาคเหนือของจีน

สอง การกรีธาทัพของถังเพื่อปราบชนชาติต่างๆ และเพื่อขยายดินแดนของจักรวรรดิ

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ได้ทำให้เห็นว่าทังกุตมิใช่ชนชาติที่มีความเข้มแข็งมากนัก และเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตน ทังกุตเลือกที่จะยอมจำนนต่อถัง

จากเหตุนี้ ราชสำนักถังจึงอนุญาตให้ผู้นำของทังกุตใช้สกุลหลี่ของตนเพื่อให้รู้สึกดังเครือญาติ และยังได้ตั้งดินแดนของตนขึ้นในบริเวณที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำเหลือง ดินแดนนี้อยู่ทางตะวันออกของโคโคนอร์

เวลานั้นทังกุตมีประชากรราว 340,000 คนที่ขึ้นต่อถัง