ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2560

ขอแสดงความนับถือ/[email protected]

ในระดับ “ไมโคร”

“ซูชิ” หมาที่บ้านของ ณัช ศรีบุรีรักษ์

อาจกระทบใจหลายคนเมื่ออ่าน

โดยเฉพาะความรู้สึก

–มีลูกนั้นผูกพันนัก

 

ใหญ่ขึ้นมาอีกระดับ

การเฝ้าดูพ่อนกอีแจวปกป้องลูก ผ่าน “ดวงตา และหัวใจ” ของ ปริญญากร วรวรรณ

ก็น่าจะกระทบใจอีกหลายๆ คนเช่นกัน

ดังตอนหนึ่ง ในคอลัมน์หลังเลนส์ในดงลึก ฉบับนี้

“—ผู้ที่ดูแลไข่อยู่นั้นคือพ่อนก ที่จะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง

ไข่นกเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของสัตว์ผู้ล่า อย่างงู และเหยี่ยว

หน้าที่ของผู้ล่า คือ ควบคุมปริมาณสัตว์ต่างๆ ในความดูแลให้มีจำนวนเหมาะสม

พ่อนกจึงต้องปกป้องดูแลไข่อย่างเข้มแข็ง ทำทุกวิถีทางเพื่อหลอกล่อให้ผู้ล่าละความสนใจจากลูกหันมาติดตามตัวเองแทน

เช่น กระโดดโลดเต้น ร้องเสียงดังๆ ลงไปดิ้นพราดๆ บางครั้งเลือกวิธีก้าวร้าว เข้าจิกตี

พูดได้ว่า เอาชีวิตตัวเองเข้าแลกก็ไม่ผิดนัก

เช้านี้ ผมเห็นอาการดังกล่าวของพ่อนกหลายครั้ง มีเงาเหยี่ยวแดงบินวนเวียนไม่ไกล

จากช่องมองภาพ ผมเห็นความเคลื่อนไหว

ไข่ใบหนึ่ง เริ่มมีรอยแตก รอยขยายใหญ่ขึ้น เป็นอาการที่ลูกนกพยายามดันเปลือกไข่ให้แตก

พ่อนกกลับมายืนดูอย่างให้กำลังใจ

ลูกนกที่ออกจากไข่ตั้งแต่เมื่อวาน มายืนดูเพื่อเอาใจช่วยน้องด้วย

เปลือกทำท่าจะปริ แต่ก็กลับคืนสภาพ

ลูกนกพยายามหลายครั้ง ในที่สุดเปลือกไข่ก็แตก

อีกหนึ่งชีวิตออกมาพบกับโลก

ทันทีที่ลูกนกพ้นจากเปลือกไข่ พ่อนกรีบคาบเปลือกไข่โผบินไปทิ้งไกลๆ มันไม่ต้องการให้งูได้กลิ่น

จัดการกับเปลือกไข่แล้ว พ่อนกกลับมายืนข้างๆ ลูกที่กำลังหัดเดิน สายตามองอย่างห่วงใย

ลูกนกต้องรีบเดินให้ได้โดยเร็ว การนอนนิ่งอยู่เฉยๆ บนพื้น อันตรายเกินไป

บนโลกนี้ ไม่มีที่ว่างสำหรับชีวิตที่อ่อนแอ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ลูกนกรู้ความจริงเช่นนี้ดี

ใช้เวลาอีกพักใหญ่ ลูกนกเดินได้แข็งแรงขึ้น พ่อนกพาลูกสองตัวเดินห่างไปจากรัง

บทเรียนสำหรับลูกนกเริ่มต้น”

 

เป็นความโชคดีของลูกนกอีแจวตัวนั้น

ที่รอด และมีโอกาสต่อสู้ชีวิตต่อไป

กระนั้น ในระดับโลก

อนุช อาภาภิรม รายงานไว้ในคอลัมน์ “วิกฤติศตวรรษที่ 21”

ว่าด้วยสถานการณ์สงคราม-สันติภาพโลกปี 2017 ที่น่าเป็นห่วง

สงครามหรือความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธร้ายแรง ยังแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง

ก่อผลกระทบต่อชีวิตผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย อพยพลี้ภัย จำนวนมาก

รวมทั้งความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมหาศาล

อนุช อาภาภิรม บอกว่า ยังคงมีความร้อนแรง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากกลไกในการแก้ไขหรือชะลอความขัดแย้ง เช่น องค์การสหประชาชาติ กฎหมายภายในและระหว่างประเทศทำงานไม่ได้ผล

หันไปสู่การใช้ “กำปั้น” ในการตัดสิน

สะท้อนถึงความอ่อนแรงของสันติภาพเชิงบวก

 

จากการสำรวจความขัดแย้งที่ใช้อาวุธทั่วโลกปี 2017

จัดทำโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาทางยุทธศาสตร์ สำนักคิดของอังกฤษทางด้านความมั่นคงโลก ความเสี่ยงทางการเมือง และความขัดแย้งทางทหาร

แม้จำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามในปี 2016 ลดลงเหลือ 157,000 คนจาก 167,000 ในปี 2015 และ 180,000 ในปี 2014 ก็ตาม

แต่ตัวเลข 157,000 คนนั้น น้อยหรือ?

พ่อ แม่ ลูก ไม่อาจปกป้องชีวิตกันและกันไว้ได้

และไม่ได้โชคดีเหมือนแม่ซูชิ พ่อนกอีแจว

นี่คือข้อเท็จจริงของโลก อันพึงพิจารณา

พิจารณาในวันเพ็ญเดือนแปดนี้