ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
เผยแพร่ |
รัฐไทยชอบแทรกเข้ามากำกับชีวิตของพลเมือง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ และตั้งแต่เด็กจนแก่ ตั้งแต่พึงแต่งกายอย่างไรในโอกาสต่างๆ ควรใช้คำอะไรในการเขียนหนังสือ หรือพูดจาในที่สาธารณะ ไปจนถึงควรกินอาหารครบกี่หมู่ รัฐดูแลจัดการทรัพยากรทุกอย่างในชีวิตของพลเมือง ฯลฯ
จึงไม่แปลกที่คนไทยย่อมมองรัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ใหญ่ในชีวิตของตน ทั้งรัฐและพลเมืองมักเผลอคิดว่า การแจกข้าวกล่องและน้ำคือภารกิจหลักของรัฐ แทนที่จะคิดว่า รัฐพึงจัดการทรัพยากรกลางอย่างไร จึงไม่ต้องแจกข้าวกล่องและน้ำอีกต่อไปต่างหาก
ในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ย่อมไม่มีฝ่ายใดคิดถึงสวัสดิการสังคมเป็นธรรมดา
สูตรสำเร็จของนักการเมืองไทย ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร คิดเหมือนกันตลอดมาก็คือ ไทยไม่มีทุนเพียงพอจะจัดการรัฐสวัสดิการได้มากนัก โครงการ 30 บาทของพรรค ทรท.ถูกต่อต้านในระยะแรกจากนักการเมืองฝ่ายค้านและระบบราชการก็เพราะคิดว่า เราไม่มีงบประมาณเพียงพอจะทำได้
กลุ่มผู้วางโครงการนี้เคยนำไปเสนอพรรคฝ่ายค้านมาก่อนด้วยซ้ำ แต่พรรคนั้นไม่รับ เพราะเห็นว่าเกินกำลังงบประมาณของไทย
อันที่จริง เมื่อนำงบประมาณไปใช้ด้านสวัสดิการสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ย่อมทำให้ลดงบประมาณด้านอื่น โดยเฉพาะด้านความสงบเรียบร้อยลงไปได้ส่วนหนึ่ง เช่น โครงการ 30 บาท ก็ทำให้เราสิ้นเปลืองน้อยลงในการปราบปรามหมอเถื่อนและยาเถื่อน (ที่ยังเหลืออยู่มากในเวลานี้ คือหมอเถื่อนและยาเถื่อนในเรื่องที่ 30 บาทไม่รับรักษา เช่น หน้าตึง หน้าเกลี้ยง อ้วนไป ดำไป ฯลฯ เป็นส่วนใหญ่)
เหมือนกับคนในสังคมสมัยใหม่ทั่วไป คนไทยใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดไปกับการสร้างความมั่นคงในชีวิตปัจจัยทางเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ความมั่นคงพื้นฐานคือปัจจัยสี่ ไปจนถึงการสร้างอนาคตแก่ลูกหลาน และความรับผิดชอบต่อพ่อแก่แม่เฒ่าของตนเอง ถ้ารัฐเข้ามารับผิดชอบด้านความมั่นคงเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนไทยจะเหลือเวลาในชีวิตสำหรับอะไรที่ “สร้างสรรค์” ได้อีกมาก
“สร้างสรรค์” ไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว ต้องรวมถึงสิ่งที่เรียกว่า “คุณภาพชีวิต” ด้วย
นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งเห็นว่า ที่เราเรียกว่า “ความมั่นคง” ในชีวิตนั้น ประกอบด้วยสองอย่าง คือความมั่นคงแบบมองคนอื่นเป็นศัตรู หรือความมั่นคงเชิงอริ (antagonistic security) และความมั่นคงที่ได้จากความร่วมแรงร่วมใจกันหรือความมั่นคงเชิงร่วมมือ (collaborative security)
ความมั่นคงเชิงอริเห็นได้ชัดในบ้านคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป คือกำแพงหรือรั้วบ้านที่สูง พร้อมทั้งเศษแก้วที่เสียบบนกำแพงเพื่อป้องกันมิให้ใครปีนข้ามมาได้ง่ายๆ ความมั่นคงเชิงร่วมมือมีให้เห็นในสลัม เพราะความคับแคบของบ้าน ทำให้ต้องทิ้งสมบัติบางอย่างไว้ข้างนอก แต่เพราะต่างรู้จักหน้าค่าตากัน และคงร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนและอาจร่วมกิจกรรมกันมานาน จึงเท่ากับฝากกันและกันให้ดูแลด้วย
ไม่เฉพาะแต่เรื่องรั้วกำแพงนะครับ เมื่อฝูงชนนัดหมายชุมนุมเพื่อประท้วงรัฐบาล ความมั่นคงเชิงอริ ทำให้ต้องนำกำลังตำรวจเป็นหลายสิบกองร้อยมาคอยคุม พร้อมทั้งรถฉีดน้ำหลายคัน เพราะจุดมุ่งหมายคือทำให้ “ศัตรู” เกิดความกลัว แต่ความมั่นคงเชิงร่วมมือคือเจรจากับแกนนำให้ดูแลรับผิดชอบต่อสมบัติสาธารณะ และความปลอดภัยของคนที่ไม่เกี่ยวข้อง อันเป็นสิ่งที่ผู้ประท้วงต้องทำอยู่แล้ว เพราะละเมิดเมื่อไร ย่อม “เสียการเมือง” เมื่อนั้น
คนรวยไม่ต้องเสียเงินสร้างคุกขังตัวเองฉันใด รัฐก็ไม่ต้องมีตำรวจไว้มากเกินความจำเป็น เอาเงินที่เหลือเหล่านี้ไปสร้างสวัสดิการแก่คนร่วมบ้านหรือร่วมรัฐได้อีกมาก
ข้ออ้างเรื่องเรามีเงินไม่พอสำหรับสวัสดิการสังคมนั้น ไม่มีทางแก้ นอกจากมีเงินให้พอซึ่งอาจรอเก้อ เพราะถึงมีมากขึ้นก็อาจนำไปใช้กับความมั่นคงเชิงอริเสียหมด แล้วก็ไม่พออยู่อย่างนั้นตลอดไป
สหรัฐนั้นมั่งคั่งขนาดไหนก็รู้ๆ กันอยู่ แต่เสียเงินไปกับความมั่นคงเชิงอริมากเสียจนไม่สามารถสร้างสวัสดิการสังคมให้พลเมืองของตนเองได้เทียบเท่ากับยุโรปหลายประเทศ และก็คงไม่มีวันมีเงินพอสร้างสวัสดิการสังคมได้มากขึ้นกว่านี้ ตราบเท่าที่ยังต้องเสียเงินไปกับความมั่นคงเชิงอริอย่างที่ทำในทุกวันนี้
ดังนั้น หากจะมีเงินให้พอสำหรับการสร้างสวัสดิการทางสังคมที่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องเริ่มจากการพิจารณาตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และจำนวนมากของค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นนั้นเกิดจากทัศนคติความมั่นคงเชิงอริ เช่น การผนึกรวมตัวของอาเซียนน่าจะทำให้ทุกประเทศลดค่าใช้จ่ายด้านการทหารลงได้มโหฬาร แต่ตรงกันข้าม ทุกประเทศต่างลงทุนกับกองทัพที่เพิ่มกำลังพลขึ้นไม่หยุด พร้อมทั้งการสั่งซื้ออาวุธยุทธภัณฑ์นำสมัย
ต่างสร้างกำแพงเศษแก้วให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ทั้งๆ ที่หลักประกันด้านความมั่นคงของแต่ละรัฐล้วนเพิ่มสูงขึ้นด้วยปัจจัยที่ไม่ใช่การทหารทั้งนั้น เช่น ปัจจัยของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้การรุกรานสมาชิกอาเซียนด้วยกำลังทหารกระเทือนไปทั้งโลก จนได้ไม่คุ้มเสียทั้งนั้น
ดังนั้น ก่อนจะพูดว่าเรามีเงินไม่พอสำหรับจัดสวัสดิการสังคมที่พร้อมมูล น่าจะสำรวจดูก่อนว่าเราจะเอาเงินส่วนไหนมาใช้เพื่อการนี้ได้บ้าง แล้วเราอาจพบว่า ที่จริงเรามีเงินมากพอเกินพอเสียอีกเพื่อจัดสวัสดิการสังคมให้คนไทยทุกคนมีความมั่นคงในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร, ที่อยู่อาศัย, สุขภาพ, การศึกษา และความก้าวหน้าในชีวิตด้านอื่นๆ
ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงว่า ความมั่นคงเชิงร่วมมือทำให้ประหยัดเงินด้านความมั่นคงเชิงอริลงได้มาก
นอกจากทัศนะของนักการเมืองและข้าราชการว่าเรามีเงินไม่พอจะทำสวัสดิการสังคมแล้ว แนวคิดด้านสวัสดิการสังคมยังถูกตั้งข้อระแวงสงสัยจากคนชั้นกลางไทยจำนวนมากอีกด้วย เช่น ถ้าการศึกษาฟรี (จริงๆ) จนถึงจบมัธยมหรืออุดมศึกษา, 30 บาทรักษาทุกโรคได้, มีโครงการที่อยู่อาศัยให้เช่าหรือเช่าซื้อได้ในเงื่อนไขที่ทุกคนอาจเข้าถึงได้, การคลอดบุตรและบริบาลทารกจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐในรูปต่างๆ ฯลฯ หรือดังที่เอ็นจีโอบางกลุ่มเรียกร้องอยู่ในเวลานี้ คือรัฐจะประกันรายได้ขั้นต่ำแก่ทุกคน
ทั้งหมดเหล่านี้ถูกระแวงสงสัยว่า ชีวิตที่มีความมั่นคงขนาดนั้น ย่อมทำให้คนส่วนใหญ่เกียจคร้านและไม่รับผิดชอบต่อชีวิตตนเอง จนถึงปฏิเสธที่จะทำงานทำการใดๆ ทั้งสิ้น เพราะถึงอย่างไรก็สามารถมีชีวิตอยู่รอดอย่างสบายอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐย่อมเก็บภาษีได้น้อยลง และไม่อาจทำสวัสดิการสังคมต่อไปได้
แต่นี่เป็นการมองมนุษย์จากด้านมืดเพียงด้านเดียว
การทำงานคือส่วนของชีวิตที่ทำให้แต่ละคนเชื่อมต่อสัมพันธ์กับโลกนอกตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว, ญาติมิตร ตลอดจนชุมชนหรือสังคมในวงกว้าง มนุษย์นิยามตนเองจากการงานที่ผูกพันเขาเข้ากับคนอื่นๆ หนึ่งในความทุกข์อย่างลึกที่สุดของคนตกงานก็คือการสูญเสีย “ตัวตน” ของเขา
แน่นอน งานทำให้เกิดรายได้ ทำให้ชีวิตก้าวหน้าต่อไปได้ แต่ผลตอบแทนทางวัตถุของอาชีพการงานเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น เพราะคนไม่ได้มีแต่ด้านมืด ยังมีด้านสว่างอยู่เป็นอีกส่วนหนึ่งเสมอทุกคน
ยุคสมัยใหม่ที่เกิดในยุโรป คือการปฏิวัติความคิดที่มีต่อมนุษย์ ในฐานะสัตว์ที่มีแต่เนื้อหนังมังสา (หรือนครแห่งมนุษย์) ไปสู่สัตว์ที่มีเหตุผล, ความคิด, ความเอื้ออาทร และความยุติธรรมอยู่ในจิตใจด้วย (หรือนครแห่งพระเจ้า)
ตรงกันข้ามกับที่เกิดในยุโรป ความเป็นสมัยใหม่ในเมืองไทย โดยเฉพาะการปฏิรูปศาสนา กลับทำให้มนุษย์ในความคิดความเข้าใจของไทยเหลือแต่ด้านมืดดำ มีแต่กิเลสและอุปกิเลสนานาชนิดที่เกาะติดตังอย่างถอนไม่ขึ้น
แน่นอนว่าส่วนนี้ก็มีความจริงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่มนุษย์ในคำสอนของพระพุทธเจ้ามีด้านสว่างอยู่คู่กันด้วย เพราะมนุษย์เป็นสัตว์อย่างเดียวที่บรรลุธรรมได้ เพราะมนุษย์มีเหตุผลที่อาจเข้าใจปัญญา หรือความจริงตามที่เป็นจริงของสรรพสิ่ง
การมองความมืดดำเพียงด้านเดียวของความเป็นมนุษย์ ทำให้เราจัดการปกครอง, การศึกษา, ศิลปะ, ศีลธรรมส่วนบุคคลและทางสังคม, วรรณคดี, การแพทย์, การก่อสร้าง ฯลฯ หรือการจัดสังคมของเรา ไปในทางกำกับ ควบคุม ลงโทษ ห้ามปราม เดินตามผู้ใหญ่ เรียบร้อย ฯลฯ
ในทางตรงกันข้าม การให้ความสำคัญหรือเน้นด้านสว่างของความเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้เราจัดการปกครอง, การศึกษา ฯลฯ หรือการจัดสังคมของเรา ไปในทางเสรีภาพ ทดลองหรือลองดู ให้รางวัล ส่งเสริม คิดใหม่ กล้าหาญ เปิดกว้าง ฯลฯ
ถ้าเราคิดว่ามนุษย์เป็นอย่างหลัง ความมั่นคงเชิงร่วมมือ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย และนำไปสู่ความมั่นคงได้จริง เพราะตรงกับธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว
ถ้าเราคิดอย่างแรก ความมั่นคงจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเป็นความมั่นคงเชิงอริ ระวังมิให้ความชั่วของคนอื่นมาทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเอง อันเป็นความมั่นคงที่เกิดขึ้นท่ามกลางความกลัว และไม่มีวันได้ประสบพบเห็นความมั่นคงที่แท้จริงได้
สวัสดิการสังคมก่อให้เกิดความมั่นคงที่แท้จริงแก่ทุกคน ทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่สวัสดิการสังคมต้องตั้งอยู่บนทัศนะต่อมนุษย์ที่มองเห็นด้านสว่าง เพราะอาศัยด้านสว่างนั้นเองในการสถาปนาสวัสดิการดังกล่าวขึ้นได้