ปฏิบัติการสร้างแผนที่โครงข่าย สมองสามมิติ (1)/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

ปฏิบัติการสร้างแผนที่โครงข่าย

สมองสามมิติ (1)

 

เทคนิคสมองสีรุ้ง “เบรนโบว์ (Brainbow)” ล้อกันไปกับคำว่า “เรนโบว์ (Rainbow)” ที่แปลว่ารุ้งนั้น ถูกคิดขึ้นมาโดยนักวิจัยสองคนคือ ศาสตราจารย์เจฟฟ์ ลิชต์แมน (Jeff Lichtman) และด๊อกเตอร์โจชัวร์ เซนส์ (Joshua Sanes) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ด้วยความคาดหวังที่อยากจะสร้างแผนที่สมองให้สำเร็จ

เวลาที่เซลล์สมองแต่ละชนิดถูกแต่งแต้มเติมสีเป็นสีต่างๆ สมองจะกลายเป็นสีรุ้งสดใส และภาพถ่ายของเนื้อเยื่อสมองก็จะดูเหมือนภาพแอ็บสแทร็กที่บรรจงวาดขึ้นมาจากจิตรกรฝีมือเอก

และถ้าบอกผมว่า ภาพเนื้อเยื่อสมองหนูสีรุ้งตรงหน้านั้น เป็นภาพจากคอลเล็กชั่นใหม่ของศิลปินระดับแจ๊กสัน พอลลอกก์ (Jackson Pollock) ผมก็คงเชื่อสนิทใจ

การย้อมสีเซลล์สมองแต่ละชนิดให้เป็นคนละสี ช่วยให้นักวิจัยสามารถเห็นภาพการเชื่อมโยงของเซลล์ต่างๆ ในสมองและเริ่มเข้าใจกลไกการทำงานของสมองมากยิ่งขึ้น

ทว่าการที่จะทำแผนที่สมองมนุษย์ที่มีความละเอียดมากพอที่จะบ่งบอกถึงกลไกของการสื่อประสาทและการวางโครงข่ายเซลล์สมองได้อย่างถ่องแท้นั้น ไม่ใช่โปรเจ็กต์ระดับธรรมดาสามัญ

แต่เป็นโครงการระดับอภิมหาเมกะโปรเจ็กต์เทียบได้ไม่ต่างกับโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ที่ต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่จะสำเร็จ

 

อภิมหาเมกะโปรเจ็กต์แบบนี้ ส่วนใหญ่มักจะสลายตัวหายไป ถ้าสายป่านแห่งการสนับสนุนไม่ยาวมากพอ เพราะเมื่อนโยบายเปลี่ยน งบประมาณก็อาจจะถูกโยกไปทำอย่างอื่นแทน

แต่ถ้าสำเร็จขึ้นมา ต้องบอกว่าเป็นเรื่อง เพราะโครงการจำพวกนี้ High Risk High Return

ต่อให้ไม่นับองค์ความรู้ที่ได้มาอย่างเกินจินตนาการ และจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่จะเกิดขึ้นในการทำโครงการเหล่านี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมก็มักจะแรงไม่แพ้กัน และมักจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น ผลผลิตจากโครงการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์และจุลินทรีย์ ก่อให้เกิดการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ที่ในเวลานี้กำลังปฏิรูปแนวทางการแพทย์และสาธารณสุขไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ธุรกิจไบโอเทคและฟาร์มาระดับมูลค่าหลายล้านล้านเหรียญสหรัฐที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) การออกแบบทางชีวภาพ (Biodesign) และอีกสารพัดการประยุกต์ใช้อื่นๆ อีกมากมาย

แน่นอนว่าผลงานของเจฟ ดูน่าตื่นเต้น ฟังเหมือนแค่โยงสีคนละสีเข้าด้วยกัน แต่การทำความเข้าใจถึงการเชื่อมโยงและกลไกการสื่อประสาทของเซลล์ประสาทในสมองให้ถ่องแท้นั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา

เพราะการเชื่อมต่อกันของสมองมนุษย์นั้นซับซ้อนกว่าที่หลายคนคาดคิดไว้มากนัก

การสร้างโครงสร้างสมองสามมิติจะทำโดยการฝังเนื้อเยื่อสมองไว้ในเรซิ่น แล้วสไลด์บางๆ ก่อนที่จะถ่ายทุกสไลด์ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแล้วนำมาประกอบกลับเป็นโครงสร้างสามมิติ

ที่จริงความพยายามที่จะสร้างแผนที่โครงข่ายของสมองนั้นมีมานานแล้ว ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ศาสตราจารย์ซิดนีย์ เบรนเนอร์ (Sydney Brenner) (นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล) ได้ทดลองเอาหนอนจิ๋ว (Caenorhabditis elegans) มาฝังลงในเรซิ่น ย้อมสีโลหะหนักแล้วเฉือนให้เป็นแผ่นบางราวกับสไลด์เบคอน แล้วเอาไปส่องภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ด้วยความหวังที่จะทำแผนที่ระบบประสาทที่สมบูรณ์ของหนอนน้อยดุ๊กดิ๊ก

“หนอนจิ๋ว” ถือเป็นหนึ่งในสัตว์ทดลองที่คนให้ความสนใจศึกษาการเชื่อมต่อกันของเซลล์ในระบบประสาทที่เรียกว่า คอนเน็กโตม (Connectome) เพราะว่ามันตัวเล็ก อายุสั้น ตัวใสทำให้เห็นอวัยวะภายในได้

และที่สำคัญ ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเซลล์ประสาทอยู่แค่ 302 เซลล์ ซึ่งถ้าสามารถทำความเข้าใจการเชื่อมต่อของโครงข่ายเซลล์ประสาทของพวกมันและเชื่อมโยงกับพฤติกรรมต่างๆ ที่มันแสดงออกมาได้ เราก็อาจจะเข้าใจการทำงานของกระบวนการคิด กลไกการสื่อกระแสประสาท และการแสดงออกของพฤติกรรมได้

ซิดนีย์ไม่ได้ต้องการจะควบคุมความคิดและพฤติกรรมของหนอน แต่เขาอยากใช้หนอนเพื่อเป็นต้นแบบในการศึกษาอณูชีววิทยาของระบบประสาท

ซิดนีย์ได้ตีพิมพ์ดราฟแผนที่ของเขาในปี 1986 แผนที่ระบบประสาทหนอนจิ๋วของเขาได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้นักประสาทวิทยา (Neuroscience) และนักชีววิทยาพัฒนาการ (Developmental Biology) หลายๆ คนให้ความสนใจและเริ่มศึกษาหนอนจิ๋วอย่างจริงจัง จนทำให้หนอนจิ๋วกลายเป็นโมเดลสัตว์ทดลองที่โดนศึกษาจนทะลุปรุโปร่ง

และทำให้ซิดนีย์ได้รับรางวัลโนเบลไปในปี 2002

 

แผนที่สมองของเจ้าหนอนจิ๋วถูกอัพเดทมาเรื่อยๆ และถูกศึกษาตีความมาอย่างละเอียด ในปี 2014 โปรเจ็กต์ OpenWorm ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างแผนที่คอนเน็กโตมที่สมบูรณ์ของหนอนจิ๋วให้ได้ และต้องรู้ให้ได้ว่าเซลล์ประสาททั้ง 302 เซลล์ในหนอนนั้น เซลล์ไหนทำอะไร

ในโปรเจ็กต์นี้ นักวิจัยสร้างสมองจำลองของหนอนจิ๋วโดยการเขียนโปรแกรมให้ทำงานแทนเซลล์ประสาทแต่ละเซลล์ และจำลองแบบการส่งกระแสประสาทของมัน เพื่อควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์เลโก้ที่มีโซนาร์ทำหน้าที่แทนจมูก

ซึ่งแม้ว่านักวิจัยจะไม่ได้ใช้คำสั่งพิเศษเพิ่มเติมลงไป กลับพบว่า เมื่อลองปล่อยให้เจ้าหุ่นยนต์เคลื่อนที่ไปมาอย่างอิสระตามที่สมองจำลองจะสั่งการ ปรากฏว่า แม้มันจะมีหน้าตาที่เหมือนกล่อง แต่หุ่นยนต์เลโก้กลับสามารถเคลื่อนที่ไปมาได้ราวกับหนอนจิ๋วที่มีชีวิต

ยิ่งไปกว่านั้น ความเข้าใจถึงกลไกการควบคุมพฤติกรรมผ่านสมองของหนอนจิ๋วอย่างถ่องแท้ช่วยให้นักวิจัยจากสถาบันซอล์ก (Salk Institute) สามารถควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของหนอน (Sonogenetics) โดยการควบคุมการส่งสัญญาณประสาทด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ได้อีกด้วย

ในขณะเดียวกัน นักวิจัยอีกหลายกลุ่มเริ่มสนใจพัฒนาแนวทางการหาคอนเน็กโตมของสัตว์อื่นที่มีพัฒนาการมากกว่าหนอน เช่น สมองหนู สมองแมลงหวี่ เป็นต้น

ชิ้นส่วนเล็กๆ จากสมองของแมลงหวี่ขนาด 613 เซลล์ ถ่ายจากการประกอบภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเป็นสามมิติ แสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนของเซลล์ประสาทแต่ละชนิดในสมองของสัตว์ ภาพโดย The FlyEM Team, Janelia Research Campus, HHMI (CC BY 4.0)

ในปี 2011 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัวในไต้หวัน (National Tsing Hua University, Taiwan) ได้ประกอบร่างโครงสร้างสามมิติของสมองแมลงหวี่ได้สำเร็จ และสามารถบอกได้ว่าเซลล์แต่ละชนิดในสมองนั้นเชื่อมต่อกันแบบใด พวกเขาสร้างโมเดลการนำส่งข้อมูลในสมองขึ้นมา พบว่า เซลล์ประสาทในสมองแมลงหวี่จะมารวมเป็นหน่วยประมวลผลในจุดต่างๆ (Local Processing Unit) 41 จุด มีฮับในการส่งสัญญาณ (Hub) 6 ที่ และมีเส้นทางการเชื่อมโยงหลัก (Tract) อยู่ถึง 58 เส้นทาง

การมองระบบประสาทได้ในระดับเซลล์นี้ แม้จะให้ข้อมูลอะไรได้มากโข แต่การจะทำความเข้าใจสมองให้ได้อย่างถ่องแท้ จำเป็นต้องศึกษาให้ลึกลงไปถึงระดับโมเลกุล

ในปี 2018 ด๊อกเตอร์เดวิ บ๊อก (Davi Bock) และทีมวิจัยจากหน่วยวิจัยจานีเลียฟาร์ม สถาบันวิจัยการแพทย์ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ (Janelia Farm Research Campus, Howard Hughes Medical Institute) ในเวอร์จิเนียได้ตีพิมพ์ผลงานภาพสามมิติความละเอียดสูงของสมองแมลงหวี่ในวารสารเซลล์ (Cell Journal)

แผนที่ของเดวิมีความละเอียดสูงถึงขนาดที่บ่งบอกรูปร่างและขอบเขตเซลล์ได้อย่างชัดเจนไม่มีข้อกังขา และยังสามารถบอกตำแหน่งเส้นใยประสาทที่เชื่อมเซลล์แต่ละเซลล์เข้าด้วยกันเป็นเน็ตเวิร์กได้อย่างแม่นยำ แต่เนื่องจากข้อมูลมีขนาดใหญ่และซับซ้อนมาก ทำให้การแปลผลข้อมูลจากแผนที่นั้นยากเย็นและหนักหนาเกินกว่าที่มนุษย์จะทำได้

งานนี้ดูจะหนักเกินกำลังที่นักวิจัยของจานีเลียจะทำเองได้ ทีมวิจัยของจานีเลียจึงตัดสินใจจับมือร่วมงานกับทีมโปรแกรมเมอร์ของกูเกิลเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์และเอไอ (Artificial Intelligence) ที่จะช่วยอ่านและแปลผลโครงสร้างสุดซับซ้อนของสมองแมลงหวี่ ซึ่งมีอยู่ราวๆ แสนกว่าเซลล์เท่านั้น

 

ทีม FlyEM หนึ่งในทีมวิจัยของจานีเลียโฟกัสไปที่สมองส่วนกลางของแมลงหวี่ที่เรียกว่า Hemibrain ซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทราวๆ 25,000 เซลล์ พวกเขาฝังสมองแมลงหวี่ที่ผ่านการรักษาสภาพแล้วลงไปในวัสดุเรซิ่นหั่นจนเป็นชิ้นเล็กจิ๋ว ก่อนจะเอาไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ที่มีความละเอียดในระดับ 8 x 8 x 8 นาโนเมตร ซึ่งที่ความละเอียดระดับนี้ นักวิจัยจะสามารถเห็นออร์แกเนลล์ที่เป็นองค์ประกอบภายในเซลล์ทุกอย่าง รวมถึงถุงใส่สารสื่อประสาท (Synaptic Vesicle) จักรกลอณูที่เซลล์ใช้ในการสร้างโปรตีน ไรโบโซม (Ribosome) ไปจนถึงโครงสร้างค้ำจุนของเซลล์ที่เรียกว่า ไมโครทิวบูล (Microtubule) อีกด้วย

นั่นหมายความว่า นักวิจัยจะสามารถบอกได้ทั้งหมดว่า เซลล์ประสาทแต่ละเซลล์กำลังทำอะไรอยู่ เซลล์ไหนกำลังส่งสัญญาณหาเซลล์ไหนและแต่ละเซลล์เชื่อมต่อกันอย่างไรบ้าง

ดร.สตีเฟน พลาซ่า (Stephen Plaza) หัวหน้าทีม FlyEM รายงานในบทความที่เผยแพร่ในวารสาร Elife ในปี 2020 ว่า ด้วยความละเอียดของโครงสร้างสามมิติของพวกเขา ทำให้สามารถวิเคราะห์และค้นหาจุดที่เซลล์ประสาทมาเชื่อมต่อกันได้มากถึง 20 ล้านจุด

และนี่คือจุดเริ่มต้นของความสนุกในเฟสต่อไป…

 

เพราะจากนี้ คือการตีความผลที่มีอย่างละเอียด ซึ่งยากยิ่งกว่าการหาโครงสร้างสามมิติหลายเท่านัก…

และเพื่อช่วยให้นักวิจัยประสาทวิทยา วิศวกรพัฒนาระบบโครงข่ายประสาทเทียม (Neural Network) หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปที่สนใจประสาทวิทยาแบบสุดๆ สามารถเข้าไปศึกษาการเชื่อมต่อในสมองเฮมิเบรนของแมลงหวี่ได้ดังใจปรารถนา

ในช่วงปลายปี 2020 ทีม FlyEM ของจานีเลีย และกูเกิลก็ได้เผยแพร่แผนที่คอนเน็กโตมของสมองส่วนกลาง (Central Region หรือ Hemibrain) ของแมลงหวี่ ในฐานข้อมูล neuPrint ในเว็บไซต์ของจานิเลีย ใครที่สนใจสามารถลองเข้าไปลองเล่นดูได้

“แผนที่คอนเน็กโตมสมองส่วนเฮมิเบรนของแมลงหวี่นี้ คือแผนที่โครงข่ายสมองของสัตว์ที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมามีความละเอียดสูงจนสามารถมองลึกเข้าไปในเซลล์เห็นถุงสารสื่อประสาทได้” มิชาล จานาสซิวสกี้ (Michal Januszewski) และวิเรน เจน (Viren Jain) จากทีมวิจัยคอนเน็กโตมิกของกูเกิลเผยในกูเกิลเอไอบล็อก (Google AI Blog)

พวกเขาตั้งเป้าที่จะเปิดกว้างให้ใครก็ได้สามารถมาใช้ข้อมูลนี้เพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อไป ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นทรัพยากรสาธารณะแบบนี้ น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะช่วยให้วงการวิจัยสมองก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดได้ไม่ต่างไปจากฐานข้อมูลจีโนมในอดีต

ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปแล้วล่ะครับว่า “เทคโนโลยีสมองจะมาไว และเปลี่ยนธุรกิจการแพทย์ ยา นวัตกรรมและเทคโนโลยีไปได้ขนาดไหน…”

 

ฐานข้อมูลสมองแมลงหวี่ neuPrint