จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2560

จดหมาย

คิดถึง “หมอหงวน”

ไปเจอรายการค่ารักษา ที่ขึ้นป้ายไว้ในคลินิกทันตกรรมธรรมดาๆ แห่งหนึ่ง

แจ้งให้กับลูกค้าได้ทราบดังนี้

ถอนฟัน 500 บาท ขูดหินปูน 500 บาท อุดฟัน 500-1,000 บาท

ผ่าฟันคุด 1,000-4,000 บาท

รักษารากฟัน 4,000-8,000 บาท

ฟันปลอมฐานโลหะ เริ่มต้น 5,000 บาท ฟันปลอมติดแน่น 6,000-20,000 บาท

ฟันปลอมพลาสติก ซี่ละ 800-1,200 บาท

ก็ดีเหมือนกัน เขียนราคาให้ได้ทราบกันเลย

ไม่ต้องสอบถามกันให้เสียเวลา

อ่านรายการค่ารักษาแล้วสะดุ้ง

ขนาดอีตาปิยพงศ์เองพอมีอันจะกิน อ่านแล้วรู้สึก แล้วคนหาเช้ากินค่ำ หรือแรงงานวันละ 300 บาท มาเห็นคงได้ชักตาตั้ง

แต่ไม่เป็นไร 30 บาทรักษาทุกโรค ที่โรงพยาบาลรัฐยังมี

แต่เสี่ยงเอาแล้วกันนะ

ฟันผุเรอะ–ถอน ไม่มีเวลามาอุดรักษาหรอก คนไข้ล้นโรงพยาบาล

ยิ่งรักษารากฟัน ฝันไปเถอะ

เผลอๆ ยังเจอบริการหน้าบูดหน้าเบี้ยว แถมพูดแบบมะนาวไม่มีน้ำเข้าไปอีก

ชีวิตช่างโหดร้ายเหลือเกิน

อยากจะเจอบริการดีๆ พูดจาอ่อนหวาน ก็ต้องไปคลินิกตอนเย็นๆ สิ แต่อย่าลืมพกเงินตุงกระเป๋าไปด้วยนะ

เป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน ระหว่างบริการการรักษาของรัฐกับเอกชน และกับแพทย์ทุกสาขา ไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะทันตแพทย์เท่านั้น

ดังนั้น สำหรับคนจนแล้ว ก็ต้องปวดใจเป็นธรรมดา

บางทีรอคิวที่โรงพยาบาลไม่ไหว เพราะหมอนัดล่วงหน้าหลายวัน แต่ความเจ็บทางกาย ที่โรคร้ายเร้ารุม มันไม่หยุดเจ็บปวดตามวันนัดไปด้วย

ทำให้ต้องซมซานไปคลินิกช่วงเย็นๆ แบบหมดทางเลือก

เห็นแล้วชื่นใจแทนหมอนะ ต้องรับบัตรคิวเหมือนกัน คนไข้ล้นคลินิก ไม่ว่าหมอสาขาไหน ยังกับมีรายการ ลด แลก แจก แถม ยังไงยังงั้น

อีตาปิยพงศ์เองก็อาศัยไปรักษาที่คลินิกยามเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนกัน

เพราะเผลอไปโรงพยาบาลเอกชนเข้าหนเดียว เข็ด

และก็ด้วยเป็นคนช่างสังเกตสังกา เลยเห็นความแตกต่างระหว่างยารักษาโรค กับค่าวินิจฉัย หรือที่เรียกกันว่าค่าวิชานั่นแหละ มันช่างแตกต่างกันเยอะเหลือเกิน

ยกมาให้ดูสัก 2 ตัวอย่าง

ตัวอย่างแรก ไปพบแพทย์โรคหนึ่งพูดคุยไม่ถึงสิบนาที แพทย์จ่ายยามาให้ 3 อย่าง รวมค่ารักษา 520 บาท

เอายาเม็ด 3 อย่างไปถามราคา (ยายี่ห้อเดียวกัน) ที่ร้านขายยา ค่ายา 200 บาท ค่าวินิจฉัยโรคซัดไป 320 บาท

ตัวอย่างที่สอง ไปพบแพทย์อีกโรคหนึ่ง ราว 5 นาที แพทย์จ่ายยามาให้ 1 หลอด ค่ายา ค่ารักษา 300 บาท

เอายาไปสอบถามที่ร้าน (ยายี่ห้อเดียวกัน) ราคา 80 บาท ค่าวินิจฉัยโรคซัดไปที่ 220 บาท

ราคานี้ร้านยาบวกกำไรเข้าไปแล้วนะ หากหมอสั่งยาจากบริษัทโดยตรง ราคาก็คงย่อมเยากว่านี้อีก

เขียนมาถึงตรงนี้ คิดถึง “หมอหงวน” (สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ขึ้นมาจับใจ

ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน)

 

เราคงได้คิดถึง “หมอหงวน” กันบ่อยครั้งในช่วงนี้

เพราะยังไม่รู้ว่า “เหล่าคนดี”

จะได้ข้อสรุปการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ กันอย่างไร

ติดตามข่าวแล้ว

วังเวงใจ มากกว่า มีความหวัง

30 บาทรักษาทุกโรค จะถอยกลับเป็นระบบ “สังคมสงเคราะห์” หรือไม่

หมอหงวนคงไม่เป็นสุขนักบนสวรรค์

 

สีทนได้

“คนดีสีไม่ถลอก”

คนดีโว้ย! ทำอะไรก็ไม่ผิด

เพราะเป็นสิทธิ์ของคนดีที่เพรียกหา

“สมัชชาคุณนะทำ” จำไว้นา

จะสรรหา คัดสรร ซึ่งตัวแทน

คนดีกลั่นกรองวุฒิฯ ทั้ง ส.ส.

อย่ามาส่อเสียด “ลากตั้ง” ฟังแสบแสน

“เลือกตั้งทางอ้อม” หนาอย่าหมิ่นแคน

สิทธิ์คนดีหวงแหนไว้ไทยเจริญ (ไชโยๆๆ)

นายสีทนได้

 

ถึงทนไม่ได้ เขาก็ให้ทน–คุณ “นายสีทนได้”

อย่างน้อยๆ ก็ 20 ปี อย่างที่ “คนดี” วางโรดแม็ปไว้

เขายึดหลัก–หวงแหนไว้ไทยเจริญ (ไชโยๆๆ) โดยเคร่งครัด

 

ฝัน

ได้แค่ฝัน

ประชาธิปไตยที่ใฝ่ฝัน

ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ในวิถี

หากประชาไร้ธรรมนำชีวี

ไม่อาจมีประชาธิปไตย

ถ้าสังคมยังบ้าค่าวัตถุ

มิอาจลุคืนวันอันยิ่งใหญ่

มิอาจมีสันติภาพอาบพรชัย

ถ้าหัวใจบูชาเงินเกินเยียวยา

พุทธิ์นันทะ ผลชัยอรุณ

 

เป็นข้อเตือนใจสำหรับ “เรา”

ที่คงไม่มีอะไรเห็นแย้ง

แต่สำหรับ “เขา”

มิอาจมีสันติภาพอาบพรชัย

ถ้าหัวใจบูชา “อำนาจ” เกินเยียวยา–เช่นกันเน้อ