คุยกับทูต ตีแยรี มาตู นักการทูตอาชีพ และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากฝรั่งเศส (ตอน 1)

 

คุยกับทูต ตีแยรี มาตู

นักการทูตอาชีพ

และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียจากฝรั่งเศส (ตอน 1)

 

ไทยกับฝรั่งเศสเริ่มมีความสัมพันธ์ระหว่างกันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพัฒนาอย่างต่อเนื่องถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมีการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือ (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1856 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoleon III, the Emperor)

ปัจจุบัน นายตีแยรี มาตู (H.E. Mr. Thierry Mathou) ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย โดยเข้ารับหน้าที่เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2020

นายตีแยรี มาตู เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย

“ถึงแม้ว่าผมจะเข้ารับหน้าที่ในประเทศไทยได้ไม่นาน แต่ก็ไม่ได้เป็นคนแปลกหน้าในภูมิภาคนี้ เพราะเคยมาเยือนเมืองไทยเมื่อหลายปีก่อนขณะที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศเมียนมาตั้งแต่ ค.ศ.2010 จนถึง ค.ศ.2015 และขณะที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเอเชีย-โอเชียเนีย กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส”

“อันที่จริงผมเคยมาเมืองไทยครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1983 ในฐานะแบ็กแพ็กเกอร์ และไม่ว่าใครก็ตามที่ได้มาเยือนประเทศนี้ก็จะได้เห็นแต่ใบหน้าอันยิ้มแย้ม ทั้งการให้ความเคารพและการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้คนมากมาย ดังนั้น ประเทศไทยสำหรับผมจึงมีแต่ความประทับใจและอบอุ่นใจ”

“มาอยู่ที่นี่เพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่ผมได้มีโอกาสค้นพบความหลากหลายมากมายในประเทศนี้ ซึ่งมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในแง่สังคม วัฒนธรรม และภูมิศาสตร์ ระหว่างเกาะสวรรค์ทางภาคใต้ และเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทางภาคเหนือ ตลอดจนความคึกคักมีชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ เมืองหลวง ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความเป็นโลกในตัวเองและเป็นประเทศที่มีความสำคัญในเอเชีย”

นายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

ไทยและฝรั่งเศสมีความคล้ายคลึงกันในบางอย่าง

“ทั้งสองประเทศมีขนาดใกล้เคียงกัน อีกทั้งมีประวัติศาสตร์อันเก่าแก่และวัฒนธรรมอันยาวนาน ต่างยึดมั่นในความเป็นเอกราชและอธิปไตยของชาติเช่นเดียวกัน รวมทั้งการยอมรับกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงทำให้เรามีความเจริญรุ่งเรือง”

นอกจากนี้ สีบนธงชาติของทั้งไทยและฝรั่งเศสยังมี 3 สี และเรียกว่า “ธงไตรรงค์” (Tricolour) เหมือนกัน คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน แต่ความหมายของสีแตกต่างกัน

สำหรับธงชาติไทย สีแดง หมายถึง ชาติ สีขาว หมายถึง ศาสนา สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์

ส่วนสีบนธงชาติฝรั่งเศส เป็นการรวมกันระหว่างสีของกษัตริย์ (roi) คือสีขาว และสีของเมืองปารีส (ville de Paris) คือสีน้ำเงินและสีแดง ธงชาติฝรั่งเศสเกิดขึ้นในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส (Révolution française) และเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 (Cinquième République) (อ้างอิงจากเว็บไซต์ของทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศส)

“ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ด้วยอัธยาศัยไมตรีของคนไทย ภูมิประเทศ และอาหารไทย คือสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เมื่อได้มาถึงเมืองไทยแล้วก็ไม่ค่อยอยากจะจากไป”

แรงจูงใจที่เข้ามาเป็นนักการทูต

“ผมมีความปรารถนาที่จะเป็นนักการทูตมาโดยตลอด เพราะมีความสนใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นระหว่างประเทศ มีความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมเอเชีย ตลอดจนมีความกระตือรือร้นที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน”

 

นายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่

 

สําหรับบทบาทของนักการทูตในปัจจุบัน

“กิจกรรมของนักการทูตถูกจำกัดเช่นเดียวกับกลุ่มคนอื่นๆ จากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เราไม่สามารถเดินทางไปพบปะผู้คนซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของเรา เพราะไม่มีสิ่งใดสามารถมาแทนที่การติดต่อโดยตรงได้”

“อย่างไรก็ตาม เรายังคงทำงานของเราต่อไป สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสก็ทำหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุภารกิจสำคัญของเราเพื่อชาวฝรั่งเศสและชาวไทย”

“ระหว่างนี้ผมใช้เวลาว่างที่ปกติหาได้ยาก ศึกษาความเป็นไปของสถานการณ์โลกและการเรียนภาษาไทย”

ท่านทูตเล่าถึงการปรับตัวภายใต้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม

“ผมอยู่ในเอเชียมาหลายปี โดยอยู่ประเทศจีนประมาณ 15 ปี ประเทศเมียนมา 5 ปี และประเทศฟิลิปปินส์ 3 ปี ผมได้เรียนรู้ ได้ใช้ชีวิต และได้ทำงานในเอเชียมาเกือบตลอดชีวิต แม้ว่าทุกวันนี้ผมจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากการได้สัมผัสกับสังคมไทย แต่นั่นไม่ใช่วัฒนธรรมใหม่หรือวิถีชีวิตใหม่สำหรับผมและภรรยา ซึ่งส่วนใหญ่ติดตามผมไปทั่วเอเชียเกือบตลอดช่วงชีวิตที่เป็นผู้ใหญ่ของเรา”

“ดังนั้น ผมจึงต้องขออภัย ที่เราคิดว่าตัวของเราเองไม่ได้เป็น ‘ฝรั่ง’ จริงๆ เพราะในความนึกคิด จิตใจ และวิสัยทัศน์ในการมองโลก เราเกือบจะเป็นคนเอเชีย หรือบางทีอาจจะเคยเป็นในชาติก่อน”

 

นายตีแยรี มาตู เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

 

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ต้องเผชิญนับตั้งแต่เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

“เช่นเดียวกับทุกคนในประเทศไทยและในโลก ไม่ว่าจะเป็นนักการทูต นักเรียน คนขับรถโดยสาร หรือครู ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็มาจากโลกสมัยใหม่ที่เราอยู่นี้ ซึ่งมีเรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย”

“ตอนนี้อยู่ที่ว่าเราจะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โรคระบาดที่กำลังทำลายชีวิตและเศรษฐกิจได้อย่างไร อีกทั้งจะจัดการเรื่องการทำงาน หรือการดูแลคนที่คุณรักอย่างสุดความสามารถอย่างไร ซึ่งก็เป็นเรื่องยากอย่างหนึ่ง”

ท่านทูตตีแยรี มาตู ให้ความเห็นว่า

“แต่ในฐานะเอกอัครราชทูตซึ่งได้รับสิทธิพิเศษ ผมจึงไม่มีอะไรให้ต้องเดือดเนื้อร้อนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผมได้เห็นคนไทยมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อพยายามดำเนินชีวิตตามปกติในช่วงสถานการณ์โรคระบาดนี้ ในขณะเดียวกันก็เข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี”

“เรื่องที่เป็นความท้าทายหลักของผมในตอนนี้ คือการแสวงหาวิธีที่ดีที่สุดแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ โดยไม่เพียงแต่จะต้องรักษาความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและไทยให้ดำเนินไปตามปกติเท่านั้น แต่ยังต้องยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกที่อยู่ในวาระของรัฐบาลทั้งสองประเทศและได้มีการเน้นย้ำถึงเรื่องดังกล่าวในระหว่างการหารือผ่านระบบการประชุมทางไกลระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยและฝรั่งเศสเมื่อไม่นานมานี้”