หนุ่มเมืองจันท์ : ศิลปิน “รามานุจัน”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ศิลปิน “รามานุจัน”

แวบไปดูหนัง “รามานุจัน อัจฉริยะโลกไม่รัก” มาครับ

ดูรอบบ่ายๆ วันธรรมดา

เหมือนเดิมครับ ทั้งโรงมีคนดูแค่ 4 คน

โล่งโปร่งสบาย

ตอนนี้ติดนิสัยแล้วครับ ไปดูหนังเรื่องไหนแล้วคนดูเยอะๆ

ชักเริ่มอึดอัด 555

หนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของ “ศรีนิวาสะ รามานุจัน” นักคณิตศาสตร์ชื่อดังชาวอินเดีย

เป็นหนังดี แต่ค่อนข้างเรื่อยๆ หน่อย

ถ้าดูเอาสนุก ไม่แนะนำ

แต่ถ้าดูเอาเนื้อหา น่าสนใจมากครับ

ดูแล้วอยากกลับไปอ่านหนังสือประวัติของเขาอีกครั้ง

“รามานุจัน อัจฉริยะไม่รู้จบ”

ทั้งหนังและหนังสือ ใช้คำเหมือนกันคือคำว่า “อัจฉริยะ”

เพราะ “รามานุจัน” เก่งระดับ “อัจฉริยะ”

สูตรคณิตศาสตร์ต่างๆ ราวกับลอยมาจากฟากฟ้า

และที่ทำให้ผมยอมรับว่า “รามานุจัน” เป็น “อัจฉริยะ” อย่างแท้จริงก็คือ เขาเก่งทุกอย่างที่คนธรรมดาทำไม่ได้

แต่เรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้

เขาทำไม่ได้

“รามานุจัน” ผูกเชือกไม่เป็นครับ

ไปอังกฤษคืนแรกเกือบหนาวตาย เพราะดึงผ้าห่มที่ขึงตึงกับที่นอนออกมาห่มไม่เป็น

คล้ายๆ กับ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ที่จำเบอร์โทรศัพท์ที่บ้านไม่ได้

“สมอง” ของ “อัจฉริยะ” จะไปโฟกัสกับเรื่องที่เขาสนใจเท่านั้น

ในหนังให้ความสำคัญกับเรื่องความมหัศจรรย์ของ “รามานุจัน” เรื่องการคิดสูตรคณิตศาสตร์ต่างๆ แบบไร้กระบวนท่า

ส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่ได้เรียนจบปริญญาตรี

เขาเรียนมหาวิทยาลัยแล้วโดนรีไทร์ เพราะวิชาอื่นสอบตกหมด

มีแต่คณิตศาสตร์วิชาเดียวที่ได้คะแนนเต็ม

เรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็เลยขาดหลักการแบบสากล

ขนาดสูตรคณิตศาสตร์ของเขายังใช้สัญลักษณ์บางตัวที่ไม่ตรงกับที่คนอื่นใช้

เพราะเขาคิดขึ้นมาเอง

“รามานุจัน” ต้องต่อสู้ทางความคิดกับ ศาสตราจารย์ จี.เอช. ฮาร์ดี้ ที่เป็นคนเปิดโอกาสให้เขามาร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

เพราะ “ฮาร์ดี้” ต้องการให้ “รามานุจัน” เข้าระบบ

จะคิดสูตรอะไรก็ได้ แต่ต้องบอกที่มา และพิสูจน์ได้

ต้องมี “เหตุผล”

ไม่ใช่มี “ผล” อย่างเดียว ไม่สนใจ “เหตุ”

“รามานุจัน” ก็สงสัยว่าทำไมต้องมีที่มาและมีบทพิสูจน์

ก็เมื่อสูตรที่เขาคิดมาเป็น “เรื่องจริง”

ยิ่งดูไปนานๆ ผมก็รู้สึกว่า “รามานุจัน” ไม่ใช่นักคณิตศาสตร์

แต่เขาเป็น “ศิลปิน”

“ศิลปิน” ที่รู้เรื่อง “คณิตศาสตร์” เป็นอย่างดี

ผมนึกถึงฝ่ายคอสตูมที่เลือกเสื้อผ้าให้พิธีกรหรือนักแสดง

คอสตูมเก่งๆ บางคนไม่เคยเรียนด้านศิลปะหรือแฟชั่นมาก่อน

แต่หยิบเสื้อแบบนี้ สีนี้ มาจับคู่กับกระโปรงสีนี้

แล้วสวย

หรือนักร้องลูกทุ่งที่ไม่เคยเข้าโรงเรียนสอนร้องเพลง

แต่พอขึ้นเวที โลกตะลึงไปเลย

พวกที่ไม่ได้เรียนทฤษฎี แต่ “ตาเป็นอาร์ต” หรือ “เสียงเป็นติสต์” พวกนี้ จะให้อธิบายเหตุผลว่าทำไมเสื้อตัวนี้จึงเข้ากับกระโปรงตัวนี้

ร้องแบบไหน

ใช้ลมจากท้อง หรือลำไส้

เขาอธิบายไม่ได้

รู้อย่างเดียวว่าเอามาคู่กันเมื่อไร

…สวย

ร้องด้วยลำไส้ใหญ่แบบนี้

…เพราะ

“นามานุจัน” ก็แบบเดียวกัน ในหัวของเขาคำนวณอะไรก็ไม่รู้

แล้วก็เขียนสูตรคณิตศาสตร์ขึ้นมา

แต่จะให้อธิบายว่ามีที่มาอย่างไร

เขาทำไม่ได้

ดังนั้น เมื่อภรรยาของเขาให้ “รามานุจัน” ช่วยอธิบายเรื่องการคิดสูตรคณิตศาสตร์ของเขาว่าคืออะไร

คำตอบของเขา “ติสต์” มากเลยครับ

“มันเหมือนกับการระบายสีด้วยสีที่มองไม่เห็น”

ครับ คนอื่นมองไม่เห็น

มีคนเดียวที่เห็น คือ “รามานุจัน”

แต่ในช่วงหลัง เขาเริ่มยอมรับ “ระบบ” มากขึ้น

ยอมคิดคำอธิบายที่มาและบทพิสูจน์

งานของเขาจึงได้รับการตีพิมพ์และการยอมรับมากขึ้น

คงคล้ายๆ ศิลปินอย่าง “ถวัลย์ ดัชนี” หรือ “เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์”

ฝีมือสุดยอดอยู่แล้ว

พอเล่าเรื่องเก่งอีก

งานของเขาก็เพิ่มมูลค่าขึ้นทันที

มุมหนึ่งที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้ คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน

เริ่มตั้งแต่ตอนที่ “รามานุจัน” เดินเข้ามารั้วมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

เขามองอาคาร สนามหญ้า ด้วยความตื่นตาตื่นใจ

อาจารย์ลิตเติ้ลวู้ด เพื่อนสนิทของ “ฮาร์ดี้” แนะนำความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรความรู้แห่งนี้ด้วยประโยคสั้นๆ

“ความรู้ที่ยิ่งใหญ่มาจากรากฐานที่ถ่อมตน”

คงเหมือนกับ “มหาสมุทร”

“น้ำ” ก็เหมือน “ความรู้”

ที่ “มหาสมุทร” ยิ่งใหญ่ก็เพราะต้อยต่ำและถ่อมตน

จึงสามารถรองรับ “น้ำ” จำนวนมหาศาลได้

หรือที่ “วาร์ดี้” พูดถึงความยิ่งใหญ่ของ “รามานุจัน” ในมุมของ “มนุษย์” ธรรมดาคนหนึ่ง

แม้ “รามานุจัน” จะเป็น “อัจฉริยะ”

เป็น “มนุษย์มหัศจรรย์” ที่สามารถคิดสูตรคณิตศาสตร์ได้มากมายและล้ำลึก

แต่ในมุมของ “วาร์ดี้”

“รามานุจัน” ไม่ได้เป็น “คนคิด”

ทุกอย่างมีอยู่ในโลกนี้อยู่แล้ว

“รอเพียงแต่คนค้นพบเท่านั้นเอง”

เหมือนแผ่นดิน “สหรัฐอเมริกา” ที่มีอยู่แล้วในโลก

“โคลัมบัส” เป็นแค่ผู้ค้นพบเท่านั้นเอง

โลกและธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่า

“วาร์ดี้” กับ “รามานุจัน” เหมือนคนที่ยืนอยู่กันละฝั่งมาตลอด

“รามานุจัน” สนใจ “เป้าหมาย”

ส่วน “วาร์ดี้” ยืนอยู่บนฝั่งของ “ที่มา” และ “บทพิสูจน์”

แต่เมื่อ “รามานุจัน” จะกลับไปหาภรรยาที่อินเดีย

ด้วยเหตุผลของ “หัวใจ”

“วาร์ดี้” กลับละทิ้ง “จุดยืน” ของตัวเอง

เขาบอก “รามานุจัน” สั้นๆ

“ไม่มีบทพิสูจน์อะไรมาพิสูจน์เรื่องของหัวใจ”

เพราะ “ความรัก” ไม่ใช่ “คณิตศาสตร์”

1+1 ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ 2

“หัวใจ” ไม่ต้องการ “เหตุผล”

ขอเพียง “เข้าใจ”

และ “ลงมือทำ”