ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ |
ผู้เขียน | หนุ่มเมืองจันท์ |
เผยแพร่ |
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
หนุ่มเมืองจันท์ / www.facebook.com/boycitychanFC
‘รางวัล’ ที่แตกต่าง
วันก่อน “นก” น้องที่เคยทำงานที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ด้วยกัน เชิญกึ่งบังคับให้ไปเสวนาออนไลน์ผ่าน ZOOM
ตามปกติผมจะไม่รับงานแบบนี้
เพราะไม่คุ้นกับการไม่ได้เห็นหน้าคนฟังตัวเป็นๆ
ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรก
เป็นไงหรือครับ
ก็ไม่แย่อย่างที่คิด ถือว่าสอบผ่าน
ผมโชคดีที่มีน้องคนฟังคนหนึ่งที่มีปฏิกิริยาตอบรับการบรรยายดีมาก
หน้าตาตั้งใจฟังสุดๆ
ระดับทะลุจอออกมาเลย
ยิงมุขอะไรไป เธอขำได้ทุกช็อต
ผมใช้วิธีการเพ่งดูหน้าน้องคนนี้คนเดียวเลย
เหมือนพูดให้เธอฟัง
รอดครับรอด
ช่วงท้ายมีการเปิดให้คนฟังถาม
มีคำถามหนึ่งที่ผมชอบ
เป็นคำถามเรื่องการทำงานเป็นทีม ประมาณว่าจะทำอย่างไรให้คนในทีมไม่อิจฉากัน
ในการบรรยาย ผมพูดถึงเรื่อง “ตำแหน่งที่เหมาะสม”
เราต้องค้นหา “ตำแหน่งที่เหมาะสม” ของตัวเองให้เจอ
บางคนเหมาะกับการเป็นกองหลัง
บางคนต้องเล่นกองหน้า
แต่กองหน้าที่เก่งๆ ค่าตัวจะสูงกว่ากองหลังที่เก่ง
และดังกว่า
เหมือนกับพระเอก-นางเอก ในละครโทรทัศน์ที่ค่าตัวสูงกว่าและดังกว่า “ผู้กำกับการแสดง”
ทั้งที่ในกองถ่าย “ผู้กำกับฯ” ใหญ่กว่า
ในทีมเดียวกัน มีหลายตำแหน่ง แต่สปอตไลต์จะจับที่คนบางคนที่ยืนอยู่ข้างหน้า
แต่ถ้าไม่มีคนอยู่เบื้องหลัง
งานก็ไม่สำเร็จ
ทำอย่างไรให้คนทุกคนในทีมรู้สึกภูมิใจในความสำเร็จของงาน
ด้านหนึ่ง คนที่สปอตไลต์จับจะต้องให้เกียรติคนที่อยู่เบื้องหลัง
เมื่อเราได้เสียงปรบมือจากคนอื่น
เราต้องรู้จักหันไปปรบมือให้กับคนในทีมด้วย
เคารพในความเก่งที่แตกต่าง
อีกด้านหนึ่ง คนที่อยู่เบื้องหลังต้องมี KPI ของ “ความสำเร็จ” คนละชุดกับคนที่อยู่เบื้องหน้า
ถ้าคิดอยากได้รางวัลแบบเดียวกัน
เขาจะผิดหวัง
เพราะคนที่อยู่เบื้องหลังไม่มีทางที่จะมีสปอตไลต์จับเหมือนกับคนที่อยู่เบื้องหน้า
ถ้าหวังรางวัลเป็นแสงจากสปอตไลต์
เขาจะไม่มีความสุข
ตัวอย่างที่ดี คือ “พี่ตา” ปัญญา นิรันดร์กุล กับ “พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์
ทั้งคู่ถือหุ้นเวิร์คพอยท์เท่ากัน
คนหนึ่ง อยู่เบื้องหน้า
คนหนึ่ง อยู่เบื้องหลัง
“พี่จิก” เป็นคนให้กำเนิดวงเฉลียง
เขาเป็น “เฉลียง” คนหนึ่ง เพียงแต่ไม่ได้อยู่บนเวทีเท่านั้นเอง
ทุกครั้งที่มีคอนเสิร์ต “เฉลียง”
“พี่จิก” บอกว่า “ตำแหน่ง” ที่เขามีความสุขที่สุด
ไม่ใช่ตอนที่วงเฉลียงเชิญ “พี่จิก” ขึ้นเวที
ไม่ใช่ตอนที่นั่งดูการแสดงของวงเฉลียงในตำแหน่งของคนดู
แต่เป็น “ตำแหน่ง” หลังเวที
มองออกมาแล้วเห็นการแสดงของศิลปินที่เขาปลุกปั้นขึ้นมา
และปฏิกิริยาของคนดู
นี่คือ “ความสุข” ของคนที่อยู่เบื้องหลัง
ไม่ใช่แสงจาก “สปอตไลต์”
การกำหนด “รางวัล” ในใจของคนแต่ละตำแหน่งจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ผมนึกถึงเรื่องของ “นิสสึ ฮารุโกะ” พนักงานทำความสะอาดที่สนามบินฮาเนดะ
คนนี้ได้รับรางวัลคนทำความสะอาดสนามบินยอดเยี่ยมของญี่ปุ่นหลายปีติดต่อกัน
ก่อนที่เธอจะได้รางวัล และโด่งดัง
ตำแหน่งของเธอเป็น “จุดเล็กๆ” ในสนามบิน
เคล็ดลับความสำเร็จของ “ฮารุโกะ” คือการสร้างกำลังใจให้กับตัวเองด้วยการสร้าง “เกมส่วนตัว”
เธอทำความสะอาดห้องน้ำทุกซอกมุม ขัดจนเปล่งประกายความสะอาดออกมา
“ฮารุโกะ” จะสังเกตอาการบนใบหน้านักเดินทางที่เปิดประตูห้องน้ำเข้าไป
ถ้าใครมีสีหน้าที่แสดงความแปลกใจว่าทำไมห้องน้ำถึงสะอาดขนาดนี้
หรือบางคนร้อง “ว้าว”
เธอชนะ
นั่นคือ “รางวัล” ของ “นิสสึ ฮารุโกะ” ครับ
“นาธาเนียล ฟิลลิปส์” หรือ “แน็ต ฟิลลิปส์” ก็เช่นกัน
เขาเป็นกองหลังรุ่นใหม่ที่กำลังมาแรงของทีมลิเวอร์พูล
นัดที่แข่งกับ “เบิร์นลีย์” ทีมหงส์แดงชนะ 3:0
“แน็ต ฟิลลิปส์” ทำได้ 1 ประตูจากการโขกลูกเตะมุม
และยังสกัดบอลจากเส้นประตูทำให้ “หงส์แดง” รอดจากการเสียประตู
เก็บ “คลีนชีต” ได้สำเร็จ
นักข่าวถามว่า ระหว่างการยิงประตูได้กับการสกัดบอลออกจากเส้นได้
เขาดีใจกับอะไรมากกว่ากัน
คนส่วนใหญ่คิดว่า “ฟิลลิปส์” จะตอบว่าการยิงประตู
เพราะคนจะจดจำได้มากกว่า
แม้แต่การรายงานข่าว นักข่าวจะเริ่มต้นว่าผลการแข่งขันเป็นอย่างไร และใครทำประตูได้
ถ้าพื้นที่ข่าวมีน้อย รายงานข่าวจะจบแค่นี้
ไม่มีพูดถึงการสกัดบอลจากเส้นประตูของกองหลังคนไหนเลย
“สปอตไลต์” จะส่องไปยังนักเตะที่ทำประตูได้เพียงอย่างเดียว
แต่คำตอบของ “ฟิลลิปส์” น่าสนใจมาก
เขาบอกว่า การได้มีชื่อบนสกอร์บอร์ดทำให้เขามีความสุข
แต่ตำแหน่งของเขาคือ “กองหลัง”
“หน้าที่ของผมคือพยายามช่วยไม่ให้ทีมเสียประตู”
“ฟิลลิปส์” บอกว่า ด้วยความสัตย์จริง เขามีความสุขกับการช่วยทีมให้เก็บคลีนชีตมากกว่า
ครับ เขารู้ว่า “หน้าที่” ของเขาคืออะไร
และกำหนด “รางวัล” ที่เหมาะสมกับตำแหน่งของตัวเอง
…แค่นั้นเอง