วรเจตน์ย้ำ ‘รธน.’ มัดตราสังสังคมไทย แก้ได้-แค่บ่งมาตรา แลไม่เห็น ‘พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

วรเจตน์ย้ำ ‘รธน.’

มัดตราสังสังคมไทย

แก้ได้-แค่บ่งมาตรา

แลไม่เห็น ‘พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน’

 

ต้นเดือนมิถุนายน 2564 รายการ “เอ็กซ์อ๊อกทอล์คทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี ได้สนทนา (ผ่านทางระบบวิดีโอคอลล์) กับ “ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในประเด็นที่หลากหลาย ตั้งแต่การต่อสู้เรื่อง คสช.ออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัวโดยมิชอบ, สถานะปัจจุบันของ “คณะนิติราษฎร์”, การสอนกฎหมายในชั้นเรียนของศิษย์รุ่นใหม่

รวมถึงเรื่องการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ 2560” ซึ่งกลายเป็น “ประเด็นร้อน” อีกครั้งในปลายเดือนมิถุนายน

 

เมื่อสอบถามว่า โดยส่วนตัวแล้ว ยังมีความหวังอยู่หรือเปล่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น?

อาจารย์วรเจตน์ตอบทันทีว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น น่าจะมีข้อจำกัดอยู่มาก ภายใต้บริบททางการเมืองปัจจุบัน

“ผมเคยพูดเอาไว้แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันเสมือนเป็นการมัดตราสังสังคมไทยเอาไว้ ถ้าผ่าน (ประชามติ) ไป มันจะแก้ยากมาก มันไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนแก้ได้ยากเท่ากับฉบับนี้ แล้วก็มันเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดการสูญเสียขึ้นอีก เหมือนกับในอดีต ถ้าต้องแก้ ผมก็ยังยืนยันทัศนะแบบนั้นอยู่

“แต่ถามว่าโดยบริบท-พลวัตของการเมือง มันถึงขนาดแก้ไม่ได้เลยไหม? ก็คงไม่ถึงเช่นนั้น ไม่ถึงขนาดนั้น ผมยังคิดว่าบางมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกแก้ มาตราแรกๆ ที่อาจจะมีการแก้คือเรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะไม่ได้ช่วยส่งเสริมตัวประชาธิปไตยมากขึ้นเท่าไหร่นัก แต่มันเป็นการตอบสนองตัวประโยชน์ของฝ่ายการเมือง”

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนวิเคราะห์ว่า โอกาสในการเปลี่ยนแก้โครงสร้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกลับไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายนัก ทว่าคงต้องใช้การรณรงค์และต่อสู้ทางความคิดกันอีกยาวนาน เพราะแม้เราอาจพอมองเห็นเค้าลางของความเปลี่ยนแปลง จากแนวทางความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ แต่สัญญาณที่มีอยู่นั้นยัง “ไม่มากพอ”

“แล้วเราต้องไม่ลืมว่ากลุ่มอำนาจที่อาจเรียกว่าเป็น status quo ก็คือคนที่ครองอำนาจอยู่ ณ ขณะนี้ เขายังกุมสภาพได้อยู่ ถึงแม้ว่ามันจะมีคลื่นใต้น้ำ ความง่อนแง่น ความไม่พอใจอยู่ในระดับที่กว้าง แต่ยังไม่เพียงพอในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระนาบใหญ่ จนถึงขนาดเปลี่ยนตัวโครงสร้างรัฐธรรมนูญทั้งหมดได้”

 

อาจารย์วรเจตน์ชี้ว่า ในระยะใกล้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองขนาดใหญ่จึงเป็นเรื่องยากมาก และเราอาจทำได้เพียงแค่พูดคุยกัน เพื่อชี้ให้เห็นข้อบกพร่องจำนวนมากมายของ “รัฐธรรมนูญ 2560” ทั้งในเชิงเทคนิคการเขียนและเชิงโครงสร้าง

นอกจากนั้น การพยายามยึดครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ก็อาจยังเป็น “เครื่องมือการต่อสู้สำคัญ” ของฝ่ายประชาธิปไตย

“มันจะเป็นไปได้คือว่ามันมีโอกาสเปลี่ยนรัฐบาลในการเลือกตั้ง หมายความว่าเขาเขียนไว้ 5 ปีแรก จะมี ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ ถ้ารัฐบาลนี้อยู่ได้ 4 ปี เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งถัดไป ส.ว.ก็จะโหวตนายกฯ ได้อีก ถ้าคุณประยุทธ์ต้องการจะเป็นนายกฯ อีก ก็อาจจะมีโอกาสเป็นอีก พอครบปีที่ 5 จะหมด (อำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว.) ใช่ไหมครับ?

“ทีนี้ ประเด็นคือว่าถึงแม้จะเป็นแบบนี้ก็ตาม แต่ว่าโอกาสอันใกล้ที่สุด ที่ริบหรี่ที่พอจะมีได้ ก็คือว่าฝ่ายที่ไม่เอารัฐบาลนี้ ไม่เอารัฐบาล คสช. เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้ง แล้วสามารถฟอร์มรัฐบาลขึ้นมาได้ ถูกไหมครับ?

“หรือถ้าฟอร์มรัฐบาลไม่ได้ เพราะว่า ส.ว. ยังเลือกฝ่ายคุณประยุทธ์อยู่ คุณประยุทธ์ก็จะบริหารลำบากในสภา และมีโอกาสที่รัฐบาลจะล้มได้โดยง่าย

“เพราะฉะนั้น การยึดสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้เพื่อที่จะพอมีโอกาสในการต่อรอง เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เป็นอะไรบางอย่างซึ่งเป็นระยะใกล้ที่สุดที่พอจะเป็นไปได้ ถ้าดูจากสถานการณ์แบบนี้

“เพราะว่าเราหวังสถานการณ์แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ชนิดที่เรียกว่ามีการชุมนุมขนาดใหญ่เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเนี่ย ผมยังไม่เห็นเท่าไหร่

“คือความเปลี่ยนแปลงมันจะมา ผมไม่ได้บอกว่าจะไม่มีความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงมันมาแล้วในความรู้สึกนึกคิดของคนจำนวนมากอยู่ แต่มันยังไม่มากพอ มันยังต้องสั่งสมเหตุปัจจัยต่อไปอีก ซึ่งขณะนี้มันยังสั่งสมอยู่ แต่มันยังไม่พอ”

 

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.ยอมรับว่าหากมองโลกอย่างสมจริง การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับแก้ไข) ในสถานการณ์ปัจจุบัน คงจะต้องผ่านกระบวนการต่อรองกันอย่างสูง

หมายความว่าแต่ละฝ่ายอาจจะได้บางอย่างสมใจปรารถนา และไม่ได้อะไรอีกหลายอย่างดังที่เคยตั้งความหวังเอาไว้ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะกินระยะเวลายาวนานพอสมควร

ยกเว้นจะมี “ปัจจัยที่คาดไม่ถึง” บางประการ บังเกิดแทรกซ้อนเข้ามา!

“ไม่ได้พูดว่าเราไม่ควรมีความหวัง คือความหวังมันต้องมีอยู่ เราต้องคิดว่าเราต้องเปลี่ยนได้ แต่ว่าแน่นอนในการเปลี่ยนมันไม่ได้เร็ว เพราะฉะนั้น เวลาที่คนรุ่นใหม่มาต่อสู้ จะให้ทันใจวัยรุ่น วัยรุ่นใจร้อน มันไม่ได้ มันไม่เป็นแบบนั้น เพราะว่าคนรุ่นก่อนสู้กันมา ก่อนผมก็สู้กันมา แล้วเราต้องยอมรับว่าฝ่ายประชาชนเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำมาตลอด พื้นที่มันเรียวแคบลง”

มื่อถามตรงๆ ว่า ถ้าได้รับการติดต่อให้ไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะตอบรับหรือไม่?

อาจารย์วรเจตน์ตอบว่า เราทุกคนต่างสามารถร่างรัฐธรรมนูญในความใฝ่ฝันของตนเองได้ทั้งนั้น แต่หากจะให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว “เกิดผลจริง” ในทางพฤตินัย (de facto) รัฐธรรมนูญที่เราเขียนขึ้นก็จำเป็นจะต้องมี “อำนาจในทางความเป็นจริง” รองรับอยู่

“ผมไม่เคยมีอำนาจแบบนั้น ไม่เคยเข้าสู่อำนาจแบบนั้น ไม่เคยแม้แต่จะเฉียดกรายเข้าไปใกล้อำนาจในลักษณะแบบนั้นเลย ไม่เคยมีเลย มีแต่กำลังความคิดอย่างเดียว ที่บอกกับสังคม ให้คนเห็น”

แต่หากได้รับข้อเสนอให้เข้าไปร่วมเป็น ส.ส.ร.จริงๆ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนเบอร์ต้นๆ ของประเทศ ก็ตั้งข้อแม้เอาไว้ว่า ต้องขอดูบริบทก่อน ว่าตนเองจะเข้าไปแบบไหนและอย่างไร?

“ถ้าไม่มีความชอบธรรม ผมไม่ทำแน่นอน” นี่คือคำยืนยันจาก “วรเจตน์ ภาคีรัตน์” ซึ่ง “ความชอบธรรม” ที่ว่า ก็หมายถึงการต้องมีจุดยึดโยงกับประชาชนและการไม่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารนั่นเอง