ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ปริศนาโบราณคดี |
เผยแพร่ |
‘พ่ออุ๊ยเมือง จินาจันทร์’
ลูกศิษย์วัย 102 ปีของ ‘ครูบาเจ้าศรีวิชัย’ (1)
คือบุคคลคนเดียวในภาพที่ยังมีชีวิต?
ได้รับการติดต่อจากชาวเมืองลี้หลายคนนานแล้ว ว่าให้ดิฉันรีบลงพื้นที่เก็บข้อมูลของ “นายเมือง จินาจันทร์” หรือที่ชาวบ้านเรียก “พ่ออุ๊ยเมือง” (ป้ออุ้ยเมิง ในภาษาล้านนา) ที่บ้านแม่ป้อก หมู่ 10 ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยด่วน
เนื่องจากสามเณรในภาพประวัติศาสตร์ วันทดลองปล่อยรถคันแรกหลังจากครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพเสร็จ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2478 นั้น คนที่ผอมสูงเก้งก้างนั่งพิงรถบนกราบ ท่าทางเอาเรื่อง วางมือข้างขวาจับเข่าผู้นี้ “ยังมีชีวิตอยู่ แถมอายุราว 100 ปีแล้ว” หลายคนคะยั้นคะยอให้ดิฉันรีบไปสัมภาษณ์ด่วนที่สุด
ระหว่างปี 2557-2560 ช่วงเก็บข้อมูลงานวิจัยหนังสือ “สิริชีวประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย” ให้กับสมาคมชาวลำพูน ดิฉันพยายามตามหา “พ่ออุ๊ยเมือง” ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกไปถึงตอนห้าโมงเย็น ลูกๆ หลานๆ บอกว่า ท่านกำลังนั่งกัมมัฏฐาน
ครั้งที่สองลองไปถึงบ่ายสามโมง ท่านกำลังนั่งสวดปารมีสามสิบทัศ
อีกครั้งหนึ่งลองไปให้ถึงช่วงเช้า ราวแปด-เก้าโมง ปรากฏว่าวันนั้นท่านไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่ง มีคนขับรถมารับไปนอกสถานที่ กว่าจะกลับมาคงต้นๆ บ่าย เป็นอันว่าชะตาเราแคล้วคลาดกันหลายครั้ง
กระทั่งเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 ต้นปีนี้เอง ฤกษ์งามยามดี แม้หนังสือ “สิริชีวประวัติครูบาเจ้าศรีวิชัย” ของสมาคมชาวลำพูนจักพิมพ์เสร็จไปนาน 2-3 ปีแล้ว แต่ดิฉันตัดสินใจนัดสมัครพรรคพวกไปหาพ่ออุ๊ยที่บ้านแม่ป้อกให้จนได้
ขอเถอะน่า! ขอสัมภาษณ์พูดคุยสักครั้งในชีวิต อยากเห็น “สามเณรเมือง” ตัวเป็นๆ ที่นั่งเด่นหราอยู่ข้างกราบรถ ใกล้กับ “เถ้าแก่โหง” ผู้เป็นคนขับ โดยมี “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” นั่งอยู่ด้านหลัง และมี “หลวงศรีประกาศ” ยืนโดดเด่นอยู่กลางภาพอีกคน
ขอขอบพระคุณอาจารย์เสน่ห์ จินาจันทร์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอลี้ ผู้เป็นหลานของพ่ออุ๊ยเมือง (บิดาของคุณเสน่ห์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพ่ออุ๊ยเมือง) ช่วยเดินทางไปแจ้งกับพ่ออุ๊ยเมืองล่วงหน้าว่าดิฉันและคณะมีความประสงค์จะขอเก็บข้อมูล จักได้ไม่คลาดกันอีกเหมือนสามครั้งก่อนๆ
บุคคลอีกท่านที่น่ารักมาก คุณจำลอง พรหมเทศ ผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาแม่ตืน (ปัจจุบันย้ายไปอยู่สาขาฝาง-ไชยปราการ) ช่วยประสานพ่อหลวงบ้าน กำนัน เทศบาล ขอยืมเก้าอี้นั่งสำหรับรับรองแขกคือคณะของเรา 7-8 คน พร้อมช่วยเคลียร์พื้นที่ เตรียมน้ำดื่ม
คณะของดิฉันประกอบด้วย นักคิด-นักเขียน นักเรียน นักขับเคลื่อนวัฒนธรรม และผู้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันอีก 5-6 คน โดยเราไปถึงเวลา 10.10 น. พูดคุยกับพ่ออุ๊ยไปเรื่อยๆ จนถึงเวลา 12.30 น. จึงลากลับ
พ่ออุ๊ยเมืองยืนยันว่าสามเณรในภาพประวัติศาสตร์งานสมโภชเบิกทาง ทดลองการใช้ถนนขึ้นสู่ดอยสุเทพเมื่อเดือนเมษายน 2478 นั้นคือตัวท่านจริงๆ
เพียงแต่ว่าท่านจำคลาดเคลื่อนว่าปี 2477 ช่วงเริ่มสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ลงจอบแรก 9 พฤศจิกายนนั้น ท่านมีอายุ 11-12 ขวบเท่านั้น ซึ่งมันขัดแย้งกับการที่เราถามว่า ปัจจุบันท่านอายุเท่าไหร่ ท่านกลับบอกว่า อายุ 104 ปี
อาจารย์เสน่ห์ผู้เป็นหลานจึงบอกพวกเราว่า เป็นไปไม่ได้ ท่านเกิดปี 2462 ดังนั้น ช่วงสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ พ่ออุ๊ยมีอายุ 15-16 แล้ว และปัจจุบันจะอายุครบ 102 ปีในเดือนสิงหาคม ยังไม่ถึง 104 ปี
ดิฉันจำเป็นต้องขออนุญาตบันทึกความถูกต้องไว้ ณ ที่นี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน เนื่องจากเห็นข้อมูลในเว็บออนไลน์ต่างๆ ลงว่าปีนี้ท่านอายุ 103 ปีบ้าง 104 ปีบ้าง และตอนเป็นสามเณรที่ถ่ายรูปคู่กับรถท่านอายุ 11-12 ขวบเท่านั้น ตามที่พ่ออุ๊ยให้ข้อมูลที่ไม่ตรงตามความจริงแก่คนเหล่านั้นไป
ปุเลงๆ ไปกับตุ๊น้าพุทธิมา
เมื่อเราถามว่า มีใครในหมู่บ้านแม่ป้อกอีกบ้างไหม ที่ไปช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพด้วยกัน พ่ออุ๊ย (ซึ่งท่านมักเรียกตัวเองว่า “พ่อหลวง” อยู่เนืองนิตย์มากกว่า) ตอบว่า มีตัวท่านคนเดียวที่ติดตาม “ตุ๊น้าพรหมา” ส่วนเด็กหนุ่มในหมู่บ้านคนอื่นๆ ไม่มีใครไปด้วย เพราะการเดินทางลำบากมาก
คำว่า “ตุ๊น้าพรหมา” ที่พ่ออุ๊ยเมืองกล่าวถึงนี้ หาใช่ “ครูบาพรหมา วัดพระพุทธบาทตากผ้า” เกจิอาจารย์ผู้โด่งดังแห่งอำเภอป่าซางไม่
หากพ่ออุ๊ยเมืองต้องการสื่อถึง “ครูบาพุทธิมาแห่งวัดป่าหก” บุคคลอีกท่านที่สำคัญยิ่ง เพราะต่อมาได้ช่วยทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ให้แก่ครูบาอภิชัยขาวปีอีกในการบวชครั้งที่สาม หลังจากสร้างทางขึ้นดอยสุเทพเสร็จ จนทั้งครูบาพุทธิมาและครูบาขาวปีต้องถูกคณะสงฆ์จับสึก
ระยะทางจากอำเภอลี้ไปดอยสุเทพเมื่อ 87 ปีก่อน (นับเมื่อ พ.ศ.2477) ต้อง “เตียว” หรือเดินเท้าออกจากหมู่บ้านแม่ป้อกอันทุรกันดาร กว่าจะถึง “ท่าลี่” หรือท่าน้ำริมแม่ปิง ก็ใช้เวลาเดินเท้าถึง 2 วัน 2 คืน
จากท่าลี่ (ปัจจุบันอยู่อำเภอเวียงหนองล่อง) เมื่อข้ามไปฝั่งเชียงใหม่แล้ว ตุ๊น้าพุทธิมาพานายเมือง (หากอายุ 15 ก็ถือว่าเป็นนายแล้ว ไม่ใช่เด็กชาย) ขึ้นรถโดยสารที่ชาวบ้านเรียกว่า “รถคอกหมู” ค่ารถคนละ 35 สตางค์ ยุคนั้นพ่ออุ๊ยเล่าว่า เงิน 2 สตางค์ สามารถซื้อข้าวนึ่งและลาบที่กาดกินกันสองคน ตุ๊-ขโยมจนอิ่ม
ใช้เวลาเดินทางจากเที่ยงจนห้าโมงเย็นถึงคิวรถที่ประตูวัดพระสิงห์ นอนในอุโบสถวัดพระสิงห์คืนแรก วันรุ่งขึ้นตุ๊น้าพุทธิมาพานายเมืองไป “ขูดหัว” หรือ “ปลงผม/โกนหัว” บนวัดพระธาตุดอยสุเทพก่อน โดยปีนขึ้นตอนเช้า ลงจากเขาตอนบ่าย มาทำพิธีบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดพระสิงห์หลวง ร่วมกับเณรน้อยรูปอื่นๆ ที่มาไกลจากทั่วทุกสารทิศ เช่น เมืองฝาง เมืองพาน เมืองแพร่ เมืองปาย สันทราย แม่แตง พะเยา ฯลฯ
โดยมี “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” เป็นพระอุปัชฌาย์ให้ สามเณรทุกรูปได้รับใบที่พูดเป็นภาษาบ้านๆ ว่า “ใบกาเสือ” หรือใบสุทธิที่มีรูปประทับตราเสือ สัญลักษณ์ปีเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย
พ่ออุ๊ยเมืองบ่นเสียดายว่าตอนนี้หาไม่เจอแล้ว เดิมแขวนอยู่บนฝาบ้าน แต่มีคนมาขอสัมภาษณ์บ่อยมาก บางคนยืมภาพถ่ายไปแล้วไม่คืน
เมื่อบวชเป็นสามเณรแล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะให้ “พระที่เป็นพี่เลี้ยง” คอยดูแลสามเณรแต่ละรูป แน่นอนว่าสามเณรเมืองอยู่ในความดูแลของตุ๊น้าพุทธิมา กิจวัตรประจำวันของเณรเมืองคือ เดินบิณฑบาตตามตุ๊น้า
ตกค่ำเรียนรู้การเขียนอักขระธัมม์ล้านนา สวดมนต์ภาวนา การเขียนยันต์ปารมีสามสิบทัศตามอย่างที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยสอน ตอนดึกนอนในอุโบสถข้างตุ๊น้า และหลังจากฉันมื้อเช้าเสร็จ ตุ๊น้าก็จะพาเณรเมืองมาช่วยครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอย
พ่ออุ๊ยสารภาพว่า ช่วงนั้นเป็นคนค่อนข้างนักเลง “ขี้สวก” (ดุดัน) อยู่พอสมควร เพราะถือตัวว่าเป็นคนเมืองลี้ มาจากแม่ตืนใกล้วัดบ้านปางของครูบาเจ้าศรีวิชัยมากกว่าคนบ้านอื่น จึงมักเกเรไล่ตีหัวชกต่อยทะเลาะเบาะแว้งกับเณรรูปอื่นๆ
“บ่าต้องมาถามพ่อหลวงเล้ย (พ่อหลวงหมายถึงอุ๊ยเมือง) ว่าตอนนั้น ‘สวก’ และทำตัว ‘ฮ้าย’ ขนาดไหน ดูจากภาพถ่ายเอาเอง พระเณรรูปอื่นเขาสำรวมยืนเรียบร้อยหลบด้านหลัง มีแต่พ่อหลวงตนเดียวที่นั่งอ้าขา ห่มผ้าจีวรหลุดลุ่ย ทันทีรู้ว่าเขากำลังจะถ่ายภาพหมู่ อยู่ๆ ก็วิ่งมานั่งประกบผู้ใหญ่ด้านหน้า”
พวกเราถามว่า แล้วสามเณรอีกรูปนั้นคือใคร ซ้ายมือจากภาพ ตัวเล็กกว่า จำชื่อได้ไหม ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ พ่ออุ๊ยเมืองบอกว่าจำไม่ได้แล้ว
ต่อมาเมื่อสร้างวัดศรีโสดา (เดิมชื่อวัดโสดาบัน) เสร็จ สามเณรทั้งหลายไม่จำเป็นต้องไปจำวัดที่ในอุโบสถวัดพระสิงห์เบียดเสียดกับพระภิกษุผู้ใหญ่อีกต่อไป ให้แยกสามเณรมานอนที่วัดโสดาบัน
พ่ออุ๊ยเมืองยังเล่าว่า ประทับใจพระภิกษุรูปหนึ่งมาก เป็นชาวลี้เหมือนกัน ฉายาที่คนเรียกขานคือ “ตุ๊ยาง” นั่นคือครูบาชัยยะวงศาพัฒนา แห่งวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ที่ถูกเรียกว่า “ยาง” เพราะมีเชื้อสายกะเหรี่ยง ขณะนั้นครูบาวงศ์อายุ 22 ปี ชอบมาพูดอะไรแปลกๆ กับพ่ออุ๊ยเมือง คล้ายเห็นอนาคต
“คอยดูเน่อ เณรเมือง ต่อไปอีกไม่นาน คนจะลุกจากเมืองหละกอนไปกินข้าวตอนเมืองเจียงใหม่ โดยไม่ต้องแวะเมืองหละปูน เราสองคนจะได้เห็น”
พ่ออุ๊ยเมืองนึกเถียงในใจว่า “เป็นไปไม่ได้ ขนาดกว่าจะออกจากลี้ไปถึงวัดพระสิงห์ ยังใช้เวลาเดินทางถึง 3 วันเลย แล้วลำปางต้องข้ามขุนตานไกลโขกว่าจะถึงเชียงใหม่ พระตนนี้พูดอะไรแปลกๆ”
เมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย
ไม่พอใจกู่หลวงวัดสวนดอก
พวกเราถามพ่ออุ๊ยเมืองว่า มีเหตุการณ์อะไรที่ยังจดจำได้ดีอีกบ้างไหม ในช่วง 6 เดือนระหว่างสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ นอกจากความซนแก่นของตัวเองจนโดนตุ๊น้าพุทธิมาและครูบาเจ้าศรีวิชัยดุว่าเอาบ่อยๆ กับคำทำนายอนาคตของครูบาวงศ์ ซึ่งอีกไม่นานเลยต่อมาก็กลายเป็นความจริงแล้ว
พ่ออุ๊ยตอบว่า มีเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งคงไม่มีใครกล้าบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ นั่นคือ ครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่ค่อยพอใจกับการที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี รวบรวมกู่อัฐิของเจ้านายฝ่ายเหนือมาไว้รวมกันในวัดสวนดอก โดยทำตามคติของทางภาคกลาง ที่อนุโลมให้สร้างสุสานฆราวาสชนชั้นปกครองได้ภายในวัด เรียก “สุสานหลวง” ดังเช่นที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
แต่ในมุมมองของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้นเห็นว่าไม่ถูกต้อง แม้ครูบาเจ้าศรีวิชัยจะรับนิมนต์จากเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย และพระราชชายา เจ้าดารารัศมี มาเป็นแม่งานใหญ่ในการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะทั้งหมดในวัดสวนดอกตั้งแต่ปี 2474-2475 ก่อนที่จะมีการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพราว 2-3 ปีแล้วก็ตาม
ทว่าความไม่พอใจที่มีการนำกู่สุสานของฆราวาส แม้จะเป็นเจ้านายระดับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่มาไว้เคียงข้างกับพระธาตุสวนดอก ครูบาเจ้าศรีวิชัยยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ พ่ออุ๊ยเมืองบอกว่า ทุกครั้งที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเดินทางไปวัดสวนดอก ท่านมักจะบ่นเรื่องนี้ให้ฟังเสมอ จนกระทั่ง
วันหนึ่ง พ่ออุ๊ยเมืองนึกเดือดดาลแทน เลยเอาค้อนไปทุบกู่หลังหนึ่ง นำไปสู่การที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยจำเป็นต้องเจรจาขอร้องให้กลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือช่วยเขยิบสุสานหลวงซึ่งเดิมเคยประชิดองค์พระธาตุเจดีย์มากกว่านี้ ให้ถอยร่นไปชิดกำแพง
เรื่องราวของพ่ออุ๊ยเมืองตอนหน้า จะว่าด้วยชีวิตในเพศฆราวาส โปรดติดตามฉบับหน้า