แด่ ‘เหม อีวง’ และชีวิตหลังกล้อง ของ ‘อาเลียว’/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

แด่ ‘เหม อีวง’

และชีวิตหลังกล้อง

ของ ‘อาเลียว’

 

มิตรเพียะบองปะโอนเจียตีสรอลัญ

ในที่สุด ดวงเกือบสุดท้ายของวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์กัมพูชาก็ลาลับ สำหรับเหม อีวง (Hem, Ivon) ที่ตามพี่สาวเหม นารี (Hem, Neary) ในเดือนนี้ ส่วนนางเอก “ปักษาสวรรค์” (L’Oiseau de Paradis) ตำนานภาพยนตร์โปรดักชั่นต่างประเทศเรื่องแรกของกัมพูชาก็เพิ่งมรณกรรมไปไม่นาน

กัมพูชาสูญเสียนักบุกเบิกวงการภาพยนตร์ผู้ร่วมตำนานไปคนแล้วคนเล่า และคนนี้ เหม อีวง ซึ่งใช้ชื่อในวงการว่า Ivon Hem โดยเฉพาะภาพยนตร์ส่วนใหญ่ขององค์นโรดม สีหนุ ยุคหลังและเป็นภาพยนตร์เพลงรักที่เหม อีวง เป็น “ตากล้อง” คู่พระทัย

ตระกูลเหมมีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์กัมพูชา เริ่มจากบิดาอดีตรัฐมนตรีกระทรวงกสิกร-เหม จำเริญ ที่เคยถ่ายหนัง 16 ม.ม.ด้วยกล้อง Payard Bolex เรื่อง “อาเลียว” (1958) ซึ่งเป็นวรรณกรรมเขมรเรื่องหนึ่งที่โด่งดัง อ้างกันว่าถ้าไม่นับหนังโฆษณาชวนเชื่อก่อนหน้าที่ผลิตโดยราชสำนัก นี่คือหนังสั้นเรื่องแรกกัมพูชาเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่โปรดักชั่นส์ฝรั่งเศสมาถ่ายทำที่กัมพูชา (กามูส์/1962) ที่ทำให้เหม อีวง ได้ทำงานเบื้องหลังกองถ่าย ส่วนเหม นารี กลายเป็นนักแสดงแถวหน้า

พี่สาวเหม อีวง คือเหม ตนนี อีกคนก็สมรสกับพระองค์เจ้าสีโสวัตถิ์ โกสาระ

ตระกูลของเขาจึงใกล้ชิดมากกับเชื้อพระวงศ์ แม้เมื่อก่อตั้งบริษัทนั้น พวกเขาก็ยังถวายงานให้ประมุขแห่งรัฐนโรดม สีหนุ มิขาด จนเหม จำเริญ เป็นนายกสมาคมภาพยนตร์คนแรกของเขมร (1968) ส่วนเหม อีวง ก็อบรมทางไกลเพิ่มเติมกับอะคาเดมีอีเด็ก (IDEC)

การเรียนรู้ by pass วิทยาการภาพยนตร์ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ในเขมรยุคนั้น รวมทั้งลี บุนยึม ผู้ชุบตัวเองจากแรงบันดาลใจในภาพยนตร์ไทยเรื่อง “จ้าวนักเลง” ของมิตร ชัยบัญชา ก็อาศัยศึกษาด้วยตนเองเช่นกัน

เหม อีวง รอดตัวพอรู้ภาษาเขมร ต่างจากพ่อและพี่สาวที่ไม่สามารถอ่านเขียนได้ในภาษาเขมรเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเล่าเรียนลิเซ่ เดการ์ตส์ (Descartes) นั้น เขากลับสอบตกบักตุ๊บ (Bac-1) ซึ่งเป็นข้อสอบมัธยมปลายทั่วประเทศของฝรั่งเศส

เหม จำเริญ จึงส่งลูกชายไปเรียนเกษตรกรรมที่แปร็กเลียบกำปงจาม (1959) ที่กัมพูชา

เริ่มอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครั้งแรก ก่อนจะส่งเขาไปทำสวนปาล์มที่เขตเรียมของกำโปด

แต่ชีวิตชนชั้นกลางในพนมเปญของเขาหมดเปลืองไปกับการชมภาพยนตร์ต่างประเทศ โรงหนังยุคแรกของประเทศคือโรงหนังบิจู (Bijou) ติดกับพระบรมมหาราชวัง และผุดตามมาย่านธุรกิจ เช่น อีเด็น, กาสิโน, ซิเนลุกซ์ (Cin?lux) จนโรงหนัง “พรหมบายน” เกิดขึ้นจึงเป็นชื่อเขมร

หลังจากเหม จำเริญ ซึ่งเกษียณราชการกระทรวงกสิกรตามระบอบอาณานิคมและก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์มีเหม นารี เป็นโปรดิวเซอร์ และเหม อีวง ดูแลกำกับภาพและตัดต่อ ทำให้เหม นารี ที่ชอบหนังแนวก้าวหน้า และดัดแปลงพล็อตเรื่องหนังตะวันตกเช่นทาร์ซานมาเป็นหนังผจญภัยในเขมรอย่าง “รสาด่ดามขจล” หรือทาร์ซานสาว เรื่องสาวรุ่นผู้ร่ำรวยตระกูลหนึ่งซึ่งหลงป่าต้องใช้ชีวิตเอาตัวรอดตามลำพังในป่าใหญ่ ตามมาด้วย “สักกาเรียะบุปผา” ก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน

แรงจูงใจในการลงทุนเวลานั้น มาจากการลดภาษีรายได้ครึ่งหนึ่งของรัฐบาลเพื่อเป็นต้นทุนผลิตภาพยนตร์เรื่องใหม่ นับเป็นไอเดียที่ก้าวหน้าเวลานั้น เว้นแต่หนังต่างประเทศที่เสียภาษีเต็มจำนวนร้อยละสี่สิบ

แต่เพียง 2-3 เรื่องไม่นาน เหม นารี ก็ย้ายนิวาสถานไปกรุงปารีส ถึงอย่างนั้นเหม จำเริญ ก็มีสตูดิโอและโปรดักชั่นเฮาส์ต่อมาถึง 3 บริษัท มีตนอีวงและเหม ยูวา น้องชายอีกคนร่วมกันดูแล

อย่างไรก็ตาม รสนิยมชาวเขมรชอบดูเรื่องแนวโบราณและเหนือจริง (exag?r?) ตัวเอกมีอภินิหาร มีฉากเหาะเหินเดินอากาศ แผ่นดินแยกอะไรแนวนั้น เหม อีวง เล่าว่า เขาต้องศึกษาเทคนิคต่างๆ พวกนั้น จนทำให้เขาหันไปผลิตภาพยนตร์นิทานพื้นบ้านอย่างอิเหนา, สุวรรณาหงส์, จะเด็จ และหนังแนวภารตะอย่าง “อาบูฮาเซ็ม” ที่ชนะรางวัลภาพยนตร์ปาล์มทอง (D’or) ซึ่งจัดประกวดครั้งแรก

และตัวเขาเองคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม (1969)

ขณะนั้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์กัมพูชาเป็นที่ต้องการของฮ่องกง ไต้หวันและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังของเหม อีวง ที่ฉายในเมืองไทยมี 2 เรื่องคือ “พระกมจัยตึ๊ก” และ “สุวรรณหงส์” ที่ยังพอมีเศษฟิล์มให้ได้ชม

ส่วนภาพยนตร์ที่เขากำกับฯ เองเรื่องแรกและเป็นงานมาสเตอร์พีซคือเรื่อง “พระราม-สีดา” หรือ Reamker ที่เป็นแนวย้อนยุค เหม อีวง เคยกำกับภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากนวนิยายสะท้อนสังคมคือ “โสภาต” นอกนั้น 6-7 เรื่องทั้งหมดเป็นนิทานพื้นบ้าน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีตลาดต่างประเทศรอคอยหนังเขมรไปจำหน่าย แต่การทำหนังในยามสงครามกลางเมืองยุค ’70 ประสบปัญหาการถ่ายทำ แม้เหม อีวง จะมีโรงถ่ายขนาดพื้นที่ 5,000 ตารางเมตร แต่ในที่สุดเขาก็ประกาศยุติการสร้างภาพยนตร์ (1974) และหันไปทำงานเป็นช่างภาพให้สำนักข่าวต่างประเทศ

จนเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญ เหม อีวง ซึ่งไม่ยอมทิ้งบ้านไปต่างแดนเช่นพี่น้องคนอื่นๆ เขาถูกกวาดต้อนไปทำงานหนักในคอมมูนแห่งหนึ่งของจังหวัดกระแจะ

ด้วยประสบการณ์วัยหนุ่มที่ทำงานหนักในสวนปาล์มทำให้เขาเอาชีวิตรอดกลับมาอย่างน่าทึ่ง เหม อีวง กลายเป็นอีกคนหนึ่ง

กลางทศวรรษ ’80 เขาถูกเรียกตัวมาร่วมก่อตั้งกระทรวงวัฒนธรรมและข่าวสารให้รัฐบาลเฮง สัมริน และต่อมายังสร้างภาพยนตร์สารคดีอีก 2 เรื่องคือ เงาโศก (The Shadow of Darkness) และปีศาจปรารถนา (The Passionate Ghost) ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อของระบอบพนมเปญ และร่วมอบรมคนรุ่นหลังในการผลิตภาพยนตร์

ดูเหมือนเวลาอันงดงามของ “ยุคทอง” หนังกัมพูชาได้ผ่านเลยไปแล้ว รวมทั้งความยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์กัมพูชาที่เขามีส่วนร่วมนั่น

ต่างจากสมัยอภิสิทธิ์ชนของตนและครอบครัว เหม อีวง ในชีวิตครึ่งหลังจึงเรียบง่ายไม่ต่างจากชีวิตของ “อาเลียว” ภาพยนตร์ 16 ม.ม.คนนั้นที่มีฉากตอนหนึ่งเขากำลังวิ่งเล่นในดงเป็ดไล่ทุ่ง

ไม่แปลกเลยที่ภาพกำกับของ “photographe de cin?ma : Yvon Hem” ในหนังเรื่อง “สุขกันเถอะเรา” (นโรดม สีหนุ) จะส่งความทรงจำที่งดงามมาสู่ฉัน ในทันทีที่รู้ว่า “อาเลียว” เขาได้จากไปแล้ว และเหม อีวง ผู้กำกับภาพยนตร์เขมรยุค ’60 และ ’70 ได้จากไปแล้ว

แม้จะไม่เคยเห็นหนังเงียบ “อาเลียว” มาก่อน

แต่ความรื่นรมย์ของฉันในภาพยนตร์เงียบเรื่องนั้น กลับแจ่มใสราวกับเห็นการเคลื่อนไหวของหนุ่มน้อยที่กำลังวิ่งไล่เป็ดในทุ่งนา และตอนหนึ่งที่เขาหันหน้ามามองกล้อง ภาพเสียงตะโกน หัวเราะและเขินอายกล้องของเหม อีวง ที่ไม่มีใครรับรู้นั่น คงไม่ต่างกับชีวิตครึ่งหลังของเขาที่อยู่ในความประทับใจของฉัน

แต่ในทันทีที่หนังทุกเรื่องของเหม อีวง ในตอนท้ายของภาพยนตร์ พอไตเติลคำว่า “Fin” ปรากฏขึ้นเท่านั้น

เราก็รู้ทันทีว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ “จบสมบูรณ์” แล้ว