เผยผลวิจัยพบเห็ดเผาะ เหมาะต้านมะเร็งตับ ?

รํ่าๆ เข้าเดือนหกต้นฝน พ้นแล้งแล้ว บรรดาพรานเห็ดต่างรอคอยเข้าป่าหาเห็ดเผาะ

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อต้นฝนปีที่แล้ว หลังล็อกดาวน์โควิดปิดเมือง ก็มีข่าวชาวบ้านมากมายหลายพื้นที่ทั้งอีสานและเหนือแห่หาเห็ดเผาะ ตามข่าวพาดหัวว่า “ชาวบ้านเฮโลเข้าป่า แห่หาเห็ดเผาะ”

บางฉบับก็จั่วหัวแรงว่า “ป่าแทบแตก! ฝนแรกชาวบ้านแห่เก็บเห็ดเผาะ อาหารหายาก หนึ่งปีมีครั้ง”

ชาวบ้านในพื้นที่ยากจนเขาเห็นป่าเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตและออฟฟิศทำงานหารายได้ จึงเกิดกรณีที่กองทัพชาวบ้านบุกป่าหาเห็ดเผาะในอุทยานแห่งชาติซึ่งเป็นเสมือนห้างใหญ่ของพวกเขา กลายเป็นข่าวดราม่าว่า “ฤดูเห็ดเผาะ ทำป่าแตก ชาวบ้านแห่หาตั้งแต่ตี 4 อุทยานฯ ยันเข้าไม่ได้”

ผลก็คือ แทนที่ชาวบ้านหาเห็ดขายรายได้วันละครึ่งหมื่น กลับถูกจับปรับหัวละ 500 บาท จึงโวยรัฐว่ากฎหมายอุทยานฯ ฉบับใหม่ปี 2562 เปิดไฟเขียวให้ชาวบ้านเข้าอุทยานฯ หาของป่าได้แล้วไง

แต่ ผอ.อุทยานฯ ยืนกระต่ายขาเดียวว่ายังใช้ไม่ได้เพราะยังไม่มีกฎหมายลูก

นี่ปรานีปรับแค่ 500 บาท ไม่ปรับเต็มแม็ก 50,000 บาท แถมติดคุกอีก 2 ปี

ภัยโควิดทำพิษจนชาวบ้านอดอยากปากแห้ง หลงผิดคิดว่ารัฐบาลแก้กฎหมายเปิดป่าอนุรักษ์ให้หากินได้เป็นนิวนอร์มอลของชาวบ้านยามโควิด ซึ่งดีกว่ารับเงินแจกที่รัฐบาลกู้เขามาเป็นไหนๆ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ผ่านมา 2 ปีแล้ว แต่ป่าอนุรักษ์ยังปิดอยู่

“ฤดูเห็ดเผาะ” ปีนี้ก็ใกล้เข้ามาแล้ว คงไม่แคล้วดราม่าป่าแตกอีก

แต่ถ้าเหตุเกิดที่เมืองเหนือ หัวข่าวก็จะเปลี่ยนชื่อจาก “เห็ดเผาะ” เป็น “เห็ดถอบ” บวกดราม่าสยองขวัญนิดๆ ชวนติดตาม เช่น “ขนลุก! หลงป่าอาถรรพ์ หาเห็ดถอบ” ย้ำ “เห็ดถอบ” นะ ไม่ใช่ “เห็ดปอบ” (ฮา)

จึงกล่าวได้ว่า ในบรรดาเห็ดทั้งหลาย “เห็ดเผาะ” หรือ “เห็ดถอบ” เป็นเห็ดยอดฮิตติดเทรนด์เป็นข่าวทุกปี ในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน ซึ่งได้ชื่อว่า “ฤดูเห็ดเผาะ”

และเป็นช่วงเวลาทองของชาวบ้าน

 

เห็ดเผาะเป็นเห็ดป่ายุคดึกดำบรรพ์ที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศของโลกมานับล้านปี มีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนมาก จนไม่มีเทคโนโลยีเกษตรสุดล้ำใดๆ สามารถเพาะเลี้ยงเชื้อราชั้นต่ำของเห็ดเม็ดกลมๆ ตัวนี้ได้ ในขณะที่เราสามารถโคลนนิ่งเซลล์สัตว์ชั้นสูงอย่างมนุษย์ไดโนเสาร์เต่าล้านปีได้

เห็ดเผาะมี 2 ชนิด แม้ชื่อเรียกเดียวกันในภาษาไทยโดยจำแนกกันตามสีสัน คือเห็ดเผาะหนังสีน้ำตาลกับเห็ดเผาะฝ้ายสีขาว แต่ชื่อ-นามสกุลในภาษาพฤกษศาสตร์เรียกต่างกันเลย คือ “เห็ดเผาะหนัง” ชื่อ Astraeus hygrometricus เห็ดชนิดนี้แหละที่มีฉายาว่า “เห็ดดาว” มาจากคำละตินว่า “Astra” ซึ่งแปลว่า “ดาว” (Star) นั่นเอง

ส่วน “เห็ดเผาะฝ้าย” ชื่อ Geastrum saccatum

ในที่นี้ตัวท็อปที่เป็นดาวยอดนิยมถล่มทลายจนป่าแตก ก็คือ เห็ดเผาะหนัง เพราะมีรสชาติความกรุบกรอบ หอมอร่อยเฉพาะตัว สนนราคาตอนต้นฤดูฝนอาจพุ่งทะลุกว่า 500 บาท/ก.ก.

ชาวบ้านคนหนึ่งอาจมีรายได้ในฤดูเห็ดเผาะเหนาะๆ ร่วมหมื่นเลยทีเดียว

พ่อค้า-แม่ขายหัวใสกว้านซื้อเห็ดเผาะกักตุนแช่ฟรีซไว้ขายทางออนไลน์ทั่วไทยทั้งปีมีรายได้งามๆ ยามเศรษฐกิจตกสะเก็ดอย่างนี้

 

เมนูเห็ดเผาะมีคุณค่าอาหารสูงมาก อุดมด้วยโปรตีน ไขมันตัวดี มีฟอสเฟต แคลเซียม ธาตุเหล็ก ไนอะซีนและวิตามินซี เฉพาะคาร์โบไฮเดรตในเห็ดเผาะสด หนักแค่ 1 ขีด (100 กรัม) ก็ให้พลังงานถึง 45 กิโลแคลอรี จึงเป็นอาหารบำรุงร่างกาย ชูกำลังไม่แพ้เห็ดถั่งเช่าราคาแพง

มีการโฆษณาแอบแฝงสรรพคุณบำรุงกำหนัดของเห็ดเผาะในกลอนเก่าเพิ่นว่า “แนวใส่แลง แกงเห็ดเผาะ ใส่น้ำเอาะเจาะ เอาะเจาะ กินแล้วเฮามา (…เซ็นเซอร์…) กันเนาะ”

แปลแบบถอดความว่า เคล็ดการแกงเห็ดเผาะนั้น ต้องใส่น้ำน้อยๆ (เอาะเจาะ) กินเสร็จแล้วเรามา…อย่างว่ากันนะ (ฮา)

อย่าว่าแต่ผู้บ่าวเลย ผู้สาวถ้ากินเห็ดเผาะก็อาจหน้ามืดอยากจะ เอาะเจาะๆๆ กับชายใกล้ตัว

ดังเพลงสอยอีกเวอร์ชั่นว่า “สอย…สอย…กินแกงเห็ดเผาะใส่น้ำเอาะเจาะ เอาพี่อ้ายนี่เถาะ ขี้คร้านหาผัว”

ไม่ต้องแปลก็พอเดาความได้ว่าสาวๆ พอกินแกงเห็ดเผาะน้ำน้อยแล้วก็ขี้เกียจหาผัวไกลตัว ขอกับคนใกล้ๆ นี่แหละ

คนโบราณท่านฉลาด จึงมีเมนูเห็ดเด็ดๆ ที่กินเป็นทั้งอาหารและยา

ถ้าเป็นเมนูเห็ดเผาะอีสาน ก็แกงกับหน่อไม้ใส่ย่านาง น้ำเอาะเจาะให้รสเข้มข้น

หรือถ้าเป็นเมนูเห็ดถอบของเมืองเหนือ ยิ่งง่าย แค่เห็ดเผาะต้มเกลือ จะใส่ใบเตยเพิ่มความหอมลงไปก็ได้ ใช้น้ำน้อยๆ เห็ดเผาะต้มจิ้มน้ำพริกข่า หรือแนมน้ำพริกหนุ่ม ขบดังเผาะ กรอบนอกนุ่มในไอดินกลิ่นหอมของป่าเบญจพรรณอบอวลอยู่ในปากขึ้นจมูก

เป็นประสบการณ์เอร็ดอร่อยไม่รู้ลืม

 

เห็ดเผาะมีรสเย็นหวาน อาหารปรุงง่ายๆ แบบนี้จึงได้ทั้งรสและสรรพคุณยาไทยเต็มๆ คือ ชูกำลัง บำรุงร่างกาย แก้ช้ำใน

ด้วยฤทธิ์สมานแผลแก้อักเสบช้ำภายในร่างกายของเห็ดเผาะนี่เอง จึงมีนักชีวเคมีทั้งจีนและอเมริกาศึกษาสารออกฤทธิ์ต้านมะเร็งของเห็ดเผาะหรือเห็ดถอบ ฉายาดาวดิน ที่มีชื่อว่า สารแอสตร้าเคอคูโรน (Astrakurkurone) จึงขอโหนกระแสแอสตร้าเซนเนก้าวัคซีนชื่อดังในเวลานี้ ที่สงสัยว่าจะฉีดดีหรือเปล่า (ฮา)

เมื่อปี 2562 นี้เองมีการตีพิมพ์เรื่อง “ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งตับจากเห็ดเผาะ” ในวารสารทางวิชาการชื่อดังของสมาพันธ์ชีวเคมีและชีวโมเลกุลนานาชาติ พบว่าสารแอสตร้าเคอคูโรนในเห็ดเผาะ ฆ่าเซลล์มะเร็งในตับโดยไม่ทำลายเซลล์ตับแต่อย่างใด

ศึกษาเปรียบเทียบกับยาเคมีต้านมะเร็งตับชื่อ ด็อกโซรูบิซิน (Doxorubicin) ซึ่งแม้ใช้ในขนาดยาที่น้อยมากก็ยังมีพิษต่อเซลล์ตับ และไม่ปลอดภัยหากใช้ยาตัวนี้ในระยะยาว

ผลสรุปคือ สารสำคัญของเห็ดเผาะมีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งตับอย่างชัดเจน และกำลังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรอคอยความหวังจากดวงดาวประดับดิน

แต่สำหรับคนไทย เราต้องช่วยกันอนุรักษ์เห็ดดีที่อยู่ในป่าไทย ด้วยการรักษาป่า ปีนี้นักอนุรักษ์ป่าจะใช้เห็ดเผาะเป็นดาราแคมเปญหยุดเผาป่าเหนือ 9 จังหวัด เพราะว่าราเห็ดเผาะจะมอดไหม้จากไฟป่าจนสูญสิ้นได้

ดังนั้น ชาวบ้านต้องร่วมใจป้องกันไฟป่าเพื่อจะได้หาเห็ดเป็นรายได้งามกันทุกปี

ตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านบอกว่า ไข้เกิดฤดูไหนให้กินสมุนไพรที่เกิดในฤดูนั้น

ฤทธิ์เย็นหวานของเห็ดเผาะจึงเหมาะถอนพิษไข้ในฤดูฝนที่กำลังมาเยือน