2503 สงครามลับ สงครามลาว (34)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (34)

 

เริ่มทิ้งระเบิด

พ.ศ.2507 ประธานาธิบดีจอห์นสัน ตัดสินใจยกระดับการโจมตีเป้าหมายในดินแดนเวียดนามเหนือด้วยการทิ้งระเบิดเพื่อลดการแทรกซึมของทหารเวียดนามเหนือและพวกเวียดกงที่อาศัยเส้นทางโฮจิมินห์ทางชายแดนตะวันออกเฉียงใต้ของลาวและภูเขาอันสลับซับซ้อนขนอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าไปโจมตีทหารรัฐบาลเวียดนามใต้

ตลอดเวลาที่ผ่านมา เมื่อฝ่ายรัฐบาลเวียดนามใต้ส่งกำลังเข้าไปปราบปราม พวกเวียดกงและทหารเวียดนามเหนือก็มักจะหนีเข้าไปหลบอยู่ในดินแดนลาวและกัมพูชาทำให้ยากต่อการปราบปราม เพราะทหารเวียดนามใต้ไม่กล้ารุกล้ำเข้าไปในดินแดนต่างประเทศ

นอกจากนั้น พวกเวียดกงยังขุดอุโมงค์ความยาวสลับซับซ้อนเชื่อมโยงกันภายใต้ผืนป่าอันกว้างใหญ่ไพศาล ทำให้ยากแก่การค้นหา

สหรัฐจึงคิดปราบปรามสงครามกองโจรครั้งนี้ด้วยการระดมทิ้งระเบิดอย่างหนัก

ใน พ.ศ.2507 นี้ไม่เพียงแต่เป้าหมายในเวียดนามเท่านั้น แต่สหรัฐอเมริกายังได้ทิ้งระเบิดต่อเป้าหมายที่ตั้งทางทหารเวียดนามเหนือในดินแดนลาวด้วย โดยเฉพาะเส้นทางโฮจิมินห์

สงครามลับของซีไอเอในลาวจึงยังคงดำเนินควบคู่กันไปกับสงครามเปิดเผยในเวียดนาม

 

มติอ่าวตังเกี๋ย

7 สิงหาคม พ.ศ.2507 จอห์นสันอ้างว่าเรือพิฆาตสหรัฐถูกโจมตีจากเรือลาดตระเวนชายฝั่งของเวียดนามเหนือ จึงได้ขอร้องให้สภาลงมติให้อำนาจประธานาธิบดีปฏิบัติการในเวียดนาม “ตามขั้นตอนที่จำเป็น” รวมทั้ง “การใช้กำลังทหาร”เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

มตินี้เรียกกันว่า “มติอ่าวตังเกี๋ย” ซึ่งวุฒิสภาได้อนุมัติตามคำขอของประธานาธิบดีจอห์นสันด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นทันที

ด้วยอาศัยอำนาจที่ได้รับจากรัฐสภา เดือนมีนาคม พ.ศ.2508 จอห์นสันก็จัดส่งนาวิกโยธิน 3,500 คนขึ้นบกที่ฐานทัพอากาศสหรัฐ เมืองดานัง ตามคำขอของ พล.อ.เวสต์มอร์แลนด์ ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐในเวียดนามใต้ เพื่อทำการรบภาคพื้นดิน

เป็นการตัดสินใจที่ตรงข้ามกับเคนเนดี้ ที่ให้ทหารสหรัฐมีบทบาทเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น

ตำนานสงครามเวียดนามของสหรัฐอเมริกาเต็มรูปแบบจึงเปิดฉากขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

 

ยกฐานะชาวม้ง

จากผลสำเร็จในการต่อต้านทหารเวียดนามเหนือของนักรบชาวม้งตามแผนโมเมนตัม เจ้ามหาชีวิตลาวจึงได้พระราชทานอนุญาตให้ชาวม้งในแขวงเชียงของมีอำนาจปกครองตนเอง โดยตั้งผู้นำชาวม้งขึ้นเป็น “เจ้าแขวง” และมีผู้นำระดับรองลดหลั่นเป็นลำดับไป

ส่วนในเมืองเหลวงก็มี “เจ้าตู้บี้” ผู้ได้รับการนับถืออย่างยิ่งจากวังเปามาตั้งแต่เยาว์วัย ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้

การได้มีโอกาสปกครองตนเองแม้จะมีข้อจำกัด แต่ก็ทำให้ชาวม้งในเชียงของมีความสันทัดจัดเจนในทางการเมืองมากกว่าชาวม้งในส่วนอื่นๆ ของลาว

และเป็นกลุ่มกำลังที่ถูกจับตามองมากกว่าชาวเขาเผ่าอื่น

ชาวม้งรู้จักเลี้ยงปศุสัตว์ ทำเครื่องเงิน และค้าฝิ่น ซึ่งอย่างหลังนี้ทำกำไรให้พวกเขาเป็นอย่างมาก เด็กชาวม้งบางคนได้รับการศึกษาในโรงเรียนของรัฐบาลกลาง และมองตนเองเป็นพลเมืองของลาวแล้ว แม้ว่าลึกๆ แล้วพวกเขาจะไม่ชอบพวกลาวลุ่มนักก็ตาม

สายสัมพันธ์กับราชวงศ์ลาวในหลวงพระบางมีความสำคัญอย่างยิ่งในความพยายามรวมประเทศลาวให้เป็นหนึ่งเดียว

เจ้ามหาชีวิตทรงเป็นศูนย์รวมน้ำใจของทั้งประเทศ พระฉายาลักษณ์ของพระองค์ถูกพิมพ์ในธนบัตรและติดตั้งไว้ตามสถานที่ราชการในประเทศ

แม้พระองค์จะไม่ได้เกี่ยวโดยตรงในการบริหารประเทศ ทว่าพสกนิกรต่างมอบความจงรักภักดีแด่พระองค์แม้จะไม่เทียบเท่ากับกษัตริย์ของเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม เจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนาของลาวก็ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติภูมิของชาติอย่างไม่ต้องสงสัย

 

วังเปาเป็นนายพล

ปลายปี พ.ศ.2506 ภายใต้แรงสนับสนุนอย่างเต็มที่จากซีไอเอ วังเปาก็ได้รับแต่งตั้งเป็น “นายพลจัตวา” แห่งกองทัพบกรับผิดชอบพื้นที่ทุ่งไหหินเต็มอำนาจ

และหลังได้รับแต่งตั้งไม่นาน วังเปาก็ทูลเชิญเจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนาให้เสด็จมาที่ล่องแจ้ง สถานที่ซึ่งไม่เคยมีแม้แต่นายทหารลาวลุ่มหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจากเวียงจันทน์คนใดเดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการมาก่อนเลย

10 ธันวาคม พ.ศ.2506 ตลอดความยาวรันเวย์ของสนามบินล่องแจ้ง เด็กๆ ชาวม้งยืนเรียงแถวยาว ในมือมีธงชาติลาวโบกสะบัด เมื่อเครื่องบินพระที่นั่งลงจอดสนิทแล้ว เจ้ามหาชีวิตสูงอายุร่างสูงโปร่งภูมิฐานในเครื่องแบบขาวทั้งชุดก็ก้าวเดินออกจากประตูเครื่องบิน มีบรรดาผู้นำเผ่ายืนเรียงรายให้การต้อนรับอยู่พร้อม

ด้านล่างมีกองเกียรติยศขนาดเล็ก มีพิธีบายศรีสู่ขวัญและงานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน เมื่อเสร็จสิ้นพิธี เจ้ามหาชีวิตก็เดินทางกลับเวียงจันทน์

งานนี้นับเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริงของวังเปา และจะส่งผลอย่างสำคัญต่อสถานะของเขาและชนเผ่าม้ง

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนล่องแจ้งถิ่นของชาวม้งครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวังเปา

เพราะเป็นเสมือนตราประทับว่าเขาและคนของเขาได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการของเจ้ามหาชีวิต

เพราะก่อนการมาเยือนของเจ้ามหาชีวิตนั้น วังเปาถูกคนลาวลุ่มคอยจ้องหาทางเล่นงานตลอดเวลา

มาบัดนี้ การเสด็จเยือนครั้งประวัติศาสตร์และผลงานความสำเร็จหลายประการของวังเปา ทำให้เขาเปลี่ยนสถานะจากตัวปัญหาเป็นบุคคลที่ใครๆ ต่างต้องอาศัยพึ่งพา

เจ้ามหาชีวิตลาวทรงกล่าวขอบใจวังเปาที่ช่วยขยายพื้นที่ยึดครองแก่ฝ่ายนิยมกษัตริย์และที่วังเปานำชาวเขามาเข้ากับฝ่ายรัฐบาล ทรงบอกกับวังเปาให้สานต่องานที่ได้ทำมาเป็นอย่างดีแล้วนั้นต่อไปให้ดีที่สุด

นอกจากนั้น พระองค์ทรงประหลาดใจและชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง เมื่อรู้ว่าทหารของวังเปานั้นสื่อสารทางวิทยุเป็นภาษาลาว

ซึ่งถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า พวกม้งถือว่าตนเองเป็นชาวลาวคนหนึ่ง อาจจะยิ่งไปกว่าคนลาวในกองทัพที่มักใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสารวิทยุเสียด้วยซ้ำ

 

ม้งผงาด

สําหรับซีไอเอโดยเฉพาะบิลล์ แลร์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้นั้น การเสด็จเยือนล่องแจ้งนับเป็นชัยชนะทางด้านการเมืองของเขา

เป็นดอกผลของการทำงานหนักเป็นเวลาหลายปี จากการปฏิบัติการที่เขาเป็นผู้ริเริ่มและจากบุคคลที่เขาเลือกสรรมากับมือจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามดอยสูง

ม้งได้กลายสภาพเป็นกองกำลังในพื้นที่หลักสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศควบคุมดินแดนขุนเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาว

และจากการเสด็จเยือนของกษัตริย์ลาวในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังประสบความสำเร็จในการหล่อหลอมความเป็นชนชาติลาวแล้วในระดับหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ แลร์กังวลอยู่เสมอว่า ด้วยการทุ่มเทสนับสนุนจากซีไอเอ พวกม้งอาจเข้มแข็งเกินไปจนทำให้พวกลาวลุ่มพยายามทำลายและอาจลงเอยด้วยการหักล้างกันเองของทั้งสองฝ่าย

แต่การเสด็จเยือนในครั้งนี้ ทำให้ทุกอย่างเข้าที่ลงตัวทันที เหมือนพรประทานจากเจ้ามหาชีวิตที่ส่งสัญญาณให้คนลาวทั่วไปได้รู้ว่า พวกม้งก็เป็นส่วนหนึ่งของชาติลาวด้วย

คนลาวลุ่มแม้หากจะยังรังเกียจในตัววังเปา แต่ต่อไปนี้ด้วยพระบารมีแห่งเจ้ามหาชีวิต พวกเขาจะไม่กล้าหาเรื่องกับวังเปาอีก

(ขอบคุณ “ผลาญชาติ” โรเจอร์ วอร์นเนอร์ แปลโดยไผท สิทธิสุนทร)