ระบอบคนเท่ากัน กับการปฎิวัติ 24 มิถุนายน 2475/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ระบอบคนเท่ากัน

กับการปฎิวัติ 24 มิถุนายน 2475

 

นักเรียนมัธยมวัดราชบพิธคนหนึ่ง เล่าเหตุการณ์ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 ว่า

เขา “มาถึงโรงเรียน 08.30 น. ตาเสาภารโรงก็ยังไม่ตีระฆัง จนเวลา 09.00 น. นักเรียนยืนคุยกันเฮฮาไม่เข้าแถว พอเวลา 09.30 น. ครูใหญ่ตีระฆังรัวไปหมด นักเรียนก็มาเข้าแถวรวมตัวกันที่สนามแล้ว ครูใหญ่ขุนรหัสบรรทัดฐาน ก็พูดว่า ขณะนี้มีการปฎิวัติ ทหารยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ใครอยากรู้ว่าการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างไรให้ไปที่พระบรมรูปทรงม้า…”

(สวัสดิ์ คำประกอบ, 2557)

ระบอบการปกครองใหม่

ระบอบที่คนเท่ากัน

การปฏิวัติ 2475 ถือเป็นการเปิดประตูให้สังคมไทยก้าวสู่การเมืองสมัยใหม่แบบประชาธิปไตย เป็นการเปลี่ยนแปลงอำนาจสูงสุดในการปกครองจากเดิมที่เคยดำรงอยู่ที่บุคคล ผู้เปรียบดุจเทพยดาเบื้องบนให้มาสถิตยังประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ณ รากฐานของสังคม

ดังความในมาตราที่ 1 ของธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ระบอบประชาธิปไตยเปิดกว้างให้กับปัจเจกชนทุกคน มีสิทธิในการส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเสมอภาค มิใช่กำหนดสิทธิไปตามฐานันดร ด้วยเหตุเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมกัน

และเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนมีเหตุมีผลในการตัดสินใจ

ราษฎรรับเสด็จพระปกเกล้าฯ ครั้งระบอบเก่า กับประกาศคณะราษฎร

ทรงราชย์ ไม่ทรงรัฐ

การปฏิวัติครั้งนี้ เป็นการปิดฉากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงทั้งราชย์และรัฐลง โดยคณะราษฎรประกาศว่า “คณะราษฎรไม่ประสงค์ชิงราชสมบัติ ฉะนี้จึ่งขอเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป แต่ต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”

อันสะท้อนให้เห็นว่า คณะราษฎรปิดฉากระบอบเก่าและยินยอมให้มีพระมหากษัตริย์ต่อไป แต่ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเฉกเช่นประชาชนทั่วๆ ไป

ระบอบใหม่ที่กำเนิดขึ้นจึงจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ให้เป็นประมุขอย่างเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองอีกต่อไป

สวัสดิ์ คำประกอบ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ 12 สมัย เล่าสิ่งที่เขาเห็นที่ลานพระบรมรูปฯ ว่า

“มีข้อความในใบปลิว 2 แผ่นใหญ่ อธิบายเรื่องการเปลี่ยนแปลง และพูดถึงผู้ริเริ่ม คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมด้วย พอเวลาประมาณ 10.00 น.โมงเช้า คนที่พูดเหมือนในรูปใบปลิว จึงยืนฟังอยู่ ท่านพูดว่า พวกเราคณะทหารและพลเรือน ทำการปฏิวัติยึดอำนาจจากในหลวง เพื่อเอาอำนาจในการปกครองประเทศมาให้ประชาชน ตามอย่างอารยประเทศ ที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย…ผมอยู่ที่พระบรมรูปทรงม้าถึงเที่ยงวัน ฟังชาวบ้านที่มาชุมนุมนับหมื่นคน พูดวิจารณ์รัฐบาลของในหลวง”

ผู้ปกครองและประชาชนมีความเสมอภาคใกล้ชิดกัน ไม่มีคติว่า ผู้ปกครองสูงส่งมาจากสวรรค์

รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

ระบอบประชาธิปไตยถูกก่อตั้งขึ้น จากมาตรา 1 ของธรรมนูญที่ยืนยันอำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน และกำหนดให้ก่อตั้งสถาบันการเมืองขึ้น 4 องค์กร กำหนดให้กษัตริย์มีสถานะเท่าๆ กับองค์กรอื่นอีก 3 องค์กร คือ กษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎรและศาล โดยให้สถาบันเหล่านี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชน

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกตั้งมา ดังนั้น ผู้นำจึงสำนึกเสมอว่า ตนเองมาจากประชาชน มีหน้าที่สร้างและหยิบยื่นชีวิตและอนาคตที่ดีให้กับประชาชน โดยรัฐบาลถูกตรวจสอบจากสภาผู้แทนฯ และสื่อมวลชนได้เสมอ

ตลอดจนรัฐบาลวาระจำกัดในการบริหารประเทศ มิใช่มีอำนาจตลอดกาล และมีหน้าที่ตอบข้อข้องใจและอาจถูกลงมติไม่ไว้วางใจจากสภาผู้แทนฯ ให้พ้นจากตำแหน่งได้

การปฏิวัติ 2475 ทำให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

เชิดชูสามัญชน ทุกเพศเสมอภาค

ด้วยเหตุที่รากฐานของระบอบประชาธิปไตยคือสามัญชนคนธรรมดาและคติคนเราเท่ากัน การกระทำของสามัญชนที่สนับสนุนระบอบใหม่จึงได้รับการยกย่อง อันเห็นได้จากรัฐบาลมอบเข็มและเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้กับประชาชนทั้งชาย-หญิง ข้าราชการ พลเรือนและทหารที่ช่วยปราบกบฏบวรเดชหลายหมื่นเหรียญ

รวมทั้งการส่งเสริมสิทธิสตรีให้เท่าเทียมกับบุรุษ อันมีส่วนทำให้บรรยาการทางสังคมเปิดกว้างและยอมรับสิทธิสตรีมากยิ่งขึ้น

ตลอดจนรัฐบาลจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยลักษณะครอบครัว และกฎหมายลักษณะมรดก เสร็จสิ้นในปี 2477 นี่เป็นความพยายามจัดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชน ครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว ให้ได้มาตรฐานสากลสำเร็จ

ทั้งนี้ กฎหมายลักษณะครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวนั้นเป็นที่ถกเถียงอย่างมากในระบอบเก่า

คณะรัฐมนตรีที่รับผิดชอบต่อประชาชนผ่านสภาผู้แทนราษฎร

ส่งเสริมการปกครองตนเอง

และจัดตั้งเทศบาล

รัฐบาลได้ผลักดันการกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนปกครองตนเอง ด้วยการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในปี 2476 เพื่อเป็นสนามให้ประชาชนเรียนรู้การปกครองตนเองและเป็นเวทีการเรียนรู้ประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ เทศบาลต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นในช่วงนั้นจึงนิยมนำพานรัฐธรรมนูญมาเป็นสัญลักษณ์ของเทศบาลตน

โปสเตอร์หาเสียงเลือกตั้ง และรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก

ส่งเสริมการศึกษา

เปิดประตูให้ประชาชนเลื่อนชั้นทางสังคม

การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพื่อตอบสนองหลัก 6 ประการของคณะราษฎร เช่น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (2477) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2486) มหาวิทยาลัยศิลปากร (2486) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหิดล) (2486) โรงเรียนการเรือน (มหาวิทยาลัยสวนดุสิต) (2477) โรงเรียนฝึกหัดครูสวนสุนันทา (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) (2480) ตลอดจนการส่งเสริมส่งเสริมการศึกษาผู้ใหญ่และโรงเรียนประชาบาลในท้องถิ่น เนื่องจากคณะราษฎรประกาศหลักทั้งหกในวันปฏิวัติ โดยเฉพาะหลักการส่งเสริมการศึกษาให้ราษฎรมีความรู้และสามารถเลื่อนชั้นทางสังคมและลืมตาอ้าปากต่อไปได้ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ การปฏิวัติ 2475 จึงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยอย่างสำคัญ ก่อให้เกิดระบอบประชาธิปไตย การเทิดพระมหากษัตริย์ตามหลักทรงราชย์ ไม่ทรงรัฐ ทำให้ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบต่อประชาชน สามัญชนมีพื้นที่และได้รับการยกย่อง ทุกคนเท่าเทียมกัน มีส่งเสริมการปกครองตนเอง

และส่งเสริมการศึกษา เปิดประตูให้ประชาชนเลื่อนชั้นทางสังคม สมเป็นปฐมบทของระบอบที่คนเท่ากันขึ้นในสังคมไทย

ราษฎรสามัญ ประดับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (2476) และเข็มผู้แทนตำบล (2476) กับการเปิดกว้างทางสังคมต่อสิทธิสตรี
กลุ่มสตรีชาวแก่งคอยช่วยปราบกบฏบวรเดชที่กองเสบียง ได้รับเข็มรัฐธรรมนูญ
ความเรียบง่ายของผู้นำในระบอบประชาธิปไตย รถตรวจราชการของพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี สัญลักษณ์ของเทศบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังการปฏิวัติ 2475