อนุสาวรีย์ ‘สามัญชน’ | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

อนุสาวรีย์ ‘สามัญชน’

 

ปลายเดือนมิถุนายนอย่างนี้ สำหรับคนรักภาษาไทยอย่างผมย่อมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงมหากวีเอก สุนทรภู่ ผู้เป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจให้ผมรักที่จะเขียนโคลงฉันท์กาพย์กลอนมากกว่ามาตรฐานปกติของคนไทยทั่วไปธรรมดา ถึงแม้ผลงานของผมจะไม่ได้ถึงกระผีกริ้นของท่านก็ตาม

เพราะใครก็ไม่รู้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสุนทรภู่ กวีเอกของเมืองไทย

เมื่อหลายสิบปีก่อน พ่อของผมรับราชการอยู่ที่สัตหีบ เวลาปิดภาคเรียนฤดูร้อน พ่อและแม่อพยพลูกทั้งสองคนไปใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่นั่น วันเสาร์-อาทิตย์ถ้าไม่มีธุระจำเป็นต้องกลับมาพระนครเราก็ใช้เวลาตระเวนท่องเที่ยวอยู่จังหวัดชายแดนภาคตะวันออกนั้นเอง

แน่นอนว่าอำเภอแกลง จังหวัดระยอง ย่อมเป็นเป้าหมายหนึ่งที่พลาดไม่ได้

เวลานั้นอนุสาวรีย์สุนทรภู่เพิ่งเปิดเป็นเรื่องเป็นราว โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อพุทธศักราช 2513

ผมจึงพออวดอ้างได้ว่าได้เห็นอนุสาวรีย์แห่งนั้นมาตั้งแต่ปีแรกที่สร้างเสร็จเลยทีเดียว

องค์ประกอบของอนุสาวรีย์แห่งนั้นทำให้เด็กอายุสิบห้าปีตื่นเต้นได้ไม่ใช่น้อย เพราะนอกจากมีรูปปั้นท่านสุนทรภู่นั่งอยู่บนเนินดินแล้ว เบื้องหน้าของท่านยังมีรูปปั้นพระอภัยมณีเป่าปี่และนางผีเสื้อสมุทรทำท่าร้องไห้คร่ำครวญเหมือนจะขาดใจอยู่ด้วย

ช่างเหมาะเจาะกับเรื่องราวที่เป็นผลงานชิ้นเอกของท่าน คือเรื่องพระอภัยมณีที่มีฉากสำคัญเกิดขึ้นที่เกาะแก้วพิสดารและผูกเชื่อมโยงกับประวัติของบ้านกร่ำ เมืองแกลงซึ่งเป็นตำบลสถานที่แห่งหนึ่งที่สุนทรภู่ได้เคยมาเยี่ยมผู้เป็นบิดาเมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่เสียนี่กระไร

มานึกทบทวนดูแล้ว อนุสาวรีย์สุนทรภู่เป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนจำนวนน้อยถึงน้อยที่สุดที่มีอยู่ในเมืองไทยของเรา

ลองตรึกตรองดูเถิดครับ อนุสาวรีย์ส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นกันสม่ำเสมอทั้งในพระนคร ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ พระราชานุสาวรีย์ หรือพระอนุสาวรีย์ ของพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายเสียทั้งนั้น ข้อนี้ย่อมเป็นที่เข้าใจได้โดยไม่ต้องมีการศึกษาค้นคว้าอะไรเพิ่มเติม

ถัดจากนั้นลงไป ถ้าเป็นส่วนของสามัญชน ที่นึกออกเป็นเบื้องต้นก็มักจะเป็นอนุสาวรีย์ของวีรบุรุษวีรสตรีที่สู้รบปรบมือกับข้าศึกศัตรูทั้งหลายมาแต่กาลก่อน เช่น ท้าวเทพกษัตรีย์ท้าวศรีสุนทรที่จังหวัดภูเก็ต ท้าวสุรนารีที่จังหวัดนครราชสีมา หรืออนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจันที่จังหวัดสิงห์บุรี

ถ้าไม่ใช่นักรบมีฝีมือ ก็ต้องเป็นข้าราชการผู้ใหญ่คนสำคัญผู้มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันหรือเป็นผู้มีคุณูปการที่ได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานต่างๆ ขึ้น แบบนี้ถึงจะเป็นสามัญชนก็มีอนุสาวรีย์ได้เหมือนกัน

ถ้าเป็นข้าราชการรุ่นเก่าหน่อย ผมนึกถึงอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) อนุสาวรีย์ปู่ของผมที่จังหวัดร้อยเอ็ด อนุสาวรีย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ซึ่งมีอยู่ทั้งที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ และที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร อนุสาวรีย์ของผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านปรีดี พนมยงค์ อนุสาวอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ หรืออนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

ส่วนอนุสาวรีย์ของคนที่อยู่นอกกฎเกณฑ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นและเป็นสามัญชนที่ผมนึกได้อีกแห่งหนึ่งก็มีแต่เพียงอนุสรณ์สถานของคุณสืบ นาคะเสถียร ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เท่านั้น

ถ้าตกหล่นอนุสาวรีย์ของสามัญชนคนธรรมดาท่านใดไปก็ขอพระอภัยมณีไว้ ณ ที่นี้นะครับ

 

ที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อเป็นข้อสังเกตว่า กว่าจะมีอนุสาวรีย์ของใครขึ้นมาในบ้านเมืองของเรานั้นไม่ใช่ของง่ายเลย อาจเป็นเพราะว่าเรามองเห็นอนุสาวรีย์เป็นเรื่องยิ่งใหญ่เสียเหลือเกินจนกระทั่งไม่กล้าที่จะคิดไปไกลถึงขนาดนั้น ถ้าใครก็ตามมิได้มีผลงานมหึมามหาศาลจนพอเทียบได้กับท่านที่มีอนุสาวรีย์มาแล้วในเมืองไทย

คำว่าอนุสาวรีย์นั้นเองก็เป็นกำแพงกีดกั้นอะไรอยู่ไม่ใช่น้อย

ถ้าเรียกว่ารูปปั้นเสีย บางทีจะหายใจหายคอคล่องขึ้นบ้างกระมัง

เมื่อครั้งที่ผมเรียนหนังสืออยู่ในระดับปริญญาโทที่อเมริกา ตามสวนสาธารณะทั้งหลายในเมืองนิวยอร์ก มักมีรูปปั้นขนาดไม่ใหญ่โตนักของบุคคลต่างๆ ตั้งประดับไว้ตามมุมต่างๆ

เวลานั้นผมเป็นเด็กเต็มที ได้เดินไปอ่านป้ายหรือจารึกที่อยู่ตรงฐานของรูปปั้นเหล่านั้นทุกแห่งไป แต่มาถึงเวลานี้ก็นึกไม่ออกเสียแล้วว่าเป็นใครบ้าง ฮา!

เอาแต่ที่พอยังจำได้ก็แล้วกันครับ ในราวยี่สิบปีก่อน เมื่อผมรับราชการอยู่ที่กระทรวงยุติธรรม มีเหตุให้ต้องไปประชุมระหว่างประเทศที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย อยู่เนืองๆ สวนสาธารณะกลางเมืองเวียนนานั้นมีดอกไม้สวยงาม และมีอนุสาวรีย์ของโยฮัน ชเตราส์ คีตกวีชาวออสเตรียผู้มีผลงานเลื่องชื่อระดับโลก ทำท่ายืนสีไวโอลินอยู่กลางแมกไม้ จัดองค์ประกอบสิ่งแวดล้อมสวยงามมากน่าถ่ายรูปเป็นที่สุด

ผมไปประชุมที่เมืองนั้นทีไรก็ต้องแวะไปสวัสดีกันทุกที

เสียดายแต่พูดกันไม่รู้เรื่องเท่านั้น

 

สังเกตไหมครับว่า ผู้ที่มีรูปปั้นเป็นอนุสรณ์หรือจะขยับฐานะไปเรียกว่าอนุสาวรีย์หรือไม่ก็ตามที ในต่างประเทศนั้นมีได้หลากหลายประเภทมากกว่าบ้านเรา แม้ไม่ได้เป็นเจ้าบ้านผ่านเมือง ไม่ได้เป็นนักรบมีฝีมือเก่งกาจ ไม่ได้เป็นคนตั้งมหาวิทยาลัย หากแต่เป็นนักประพันธ์มีชื่อเสียง นักดนตรีมีชื่อเสียง สถาปนิกมีชื่อเสียง หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ที่ชีวิตของเขามีเรื่องราวน่าสนใจ มีผลงานน่าศึกษา เป็นมรดกทางภูมิปัญญา ก็สามารถมีรูปปั้นตั้งอยู่ตรงโน้นตรงนี้ให้คนได้ระลึกนึกถึง

โดยไม่ต้องไปขออนุญาตกรมศิลปากรและมีขั้นตอนสิบปีแปดเดือนแบบบ้านเรา

ข้อสำคัญคือ ชีวิตของเขา รูปปั้นของเขาอาจเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่เกิดมาข้างหลังนึกอยากจะทำอะไรก็แล้วแต่ที่ฝากฝีมือไว้บนโลกใบนี้บ้าง แบบเดียวกันกับที่เจ้าของรูปปั้นได้เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่

ถ้าคิดกันในแนวทางอย่างนี้ รูปปั้นก็ไม่ต้องมีขนาดใหญ่โต แท่นฐานก็ไม่ต้องสิ้นเปลืองอะไรมาก ตำแหน่งที่ตั้งจะอยู่ตามสวนสาธารณะหรืออยู่ตรงไหนก็คิดได้อีกมาก

และไม่ควรคิดจำกัดวงแค่คนที่มีวาสนาบารมีตามขนบของเราแต่เดิมเท่านั้น

 

ถ้าคิดอะไรไม่ออก นึกถึงชื่อของสุนทรภู่ และคุณสืบ นาคะเสถียร เป็นตัวอย่างก็ได้ครับ

ผมเชื่อว่ารูปปั้นของทั้งสองท่านย่อมเป็นแรงบันดาลใจให้เราผู้เป็นคนรุ่นหลังได้นึกถึงการสร้างผลงานที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นผลงานด้านภาษาไทยอย่างท่านสุนทรภู่ หรือเตือนใจให้เรานึกถึงเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างที่คุณสืบได้อุทิศตนทำมาแล้วตลอดชีวิต แล้วอยากจะฝากฝีมือหรือผลงานไว้อย่างที่ท่านทำให้ดูเป็นแบบอย่างบ้าง

ว่าไปทำไม่มี ผลงานที่ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นผลงานระดับชาติเสมอไป แม้เป็นระดับท้องถิ่นระดับจังหวัด ถ้าผลงานที่ทิ้งไว้เบื้องหลังมีความงดงาม ควรยกมือไหว้ด้วยความนับถือ

ผมก็ไม่รังเกียจเลยที่จะมีรูปปั้นของท่านเหล่านั้นไว้ให้คนระลึกถึง

 

พร่ำเพ้ออะไรมาถึงเพียงนี้แล้ว ผมเองก็ต้องเตือนใจตัวเองว่า เรื่องการสร้างรูปปั้นหรือสร้างอนุสาวรีย์นี้ต้นทางของความคิดมาจากโลกซีกตะวันตก เป็นเรื่องที่ฝรั่งเขาทำมาก่อน

เมืองไทยเราก่อนรัชกาลที่สี่ขึ้นไปไม่เคยมีการสร้างรูปเหมือนของมนุษย์มาก่อน จะมีข้อยกเว้นก็แต่เพียงรูปปั้นพระสงฆ์ที่เป็นที่เคารพนับถือเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น

เพราะฉะนั้น นับอายุของความคิดในเรื่องนี้ภายในเมืองไทยของเราแล้วก็ยังไม่ถึง 200 ปี ยังต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยและปรับตัวเข้าหากันอีกมาก

และไม่ได้จำเป็นต้องได้ข้อสรุปว่าเราต้องทำอย่างเมืองนอกเสมอไป เพียงแต่ผมอยากฝากไว้ในที่นี้ ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะคิดขยายวงกว้างออกไปจากสิ่งที่เราคุ้นเคยอยู่ในปัจจุบัน เพื่อที่เราจะได้ใช้เรื่องนี้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เขาคิดฝากฝีมือในมิติอื่นๆ บ้าง นอกจากการสู้รบกับพม่ารามัญ หรือตั้งมหาวิทยาลัย

ข้อคิดที่ฝากไว้ในที่นี้จะสำเร็จหรือไม่ก็ไม่เป็นไรครับ

แค่คิดต่อไปอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้ามีรูปปั้นทำนองนี้มากขึ้น แล้วจะมีคนเอาผ้าแพรเจ็ดสีไปผูก เอาม้าลาย ไก่ชนกับน้ำแดงไปตั้ง “ถวาย” เพิ่มขึ้น

ก็ถือว่าได้ประโยชน์ในทางส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นแล้วล่ะครับ

มองโลกในแง่ดี สบายใจไปแปดอย่างเนอะ