สงครามพันทางยามสันติของจีนในสายตาสหรัฐ : วิกฤติศตวรรษที่21

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น (23)

สงครามพันทางยามสันติของจีนในสายตาสหรัฐ

ในกรณีการสงครามพันทางยามสันติของจีนนั้น มีนายพันเอกเกษียณอายุราชการ อาร์เธอร์ เอ็น. ทูลัก แห่งกองทัพบกสหรัฐ ได้เขียนบทความลงใน “นิตยสารสมัชชาอินโดเอเชียแปซิฟิก” ของกองบัญชาการแปซิฟิกสหรัฐ (เป็นกองบัญชาการใหญ่ที่สุด พื้นที่ดูแลตั้งแต่ฝั่งตะวันตกของสหรัฐถึงฝั่งตะวันตกของอินเดีย และจากทวีปแอนตาร์กติกา ถึงขั้วโลกเหนือ)

ผู้เขียนบทความได้ประมวลทัศนะและท่าทีของฝ่ายทหาร-ความมั่นคงสหรัฐในเรื่องนี้กว้างขวางพอสมควร

เขาชี้ว่า การสงครามพันทางสามารถใช้วิธีการทางทหารร่วมกับวิธีการทางพลเรือนในยามสงบ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางทหารแบบดั้งเดิมได้

เช่น การควบคุมหรือการยึดครองดินแดน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลง “ข้อเท็จจริงบนภาคพื้นดิน” โดยไม่ต้องแสดงความขัดแย้งกันซึ่งๆ หน้า

และสามารถปฏิบัติการได้ใน “พื้นที่แห่งความไม่ชัดเจน” (อยู่ระหว่างการปฏิบัติการทางการทูตแบบดั้งเดิมและความขัดแย้งทางทหารอย่างเปิดเผย)

การยึดพื้นที่ด้วยการทำสงครามพันทางยามสงบ เหมือนเป็นการจัดเตรียม “ยุทธบริเวณ” สำหรับปฏิบัติการทางทหารในอนาคต

จีนได้มีปฏิบัติการในยุทธบริเวณอินโดเอเชียแปซิฟิกเป็นสองด้านด้วยกัน คือ

1) การใช้การทหารผสมการพลเรือนและการทูตเข้ายึดพื้นที่ในทะเลจีนใต้ เช่น

ก) การใช้เรือประมงของจีนจำนวนมากทำหน้าที่ “กองกำลังทางทะเล” เพื่อคุมเชิงที่บริเวณเกาะปะการังสการ์โบโรห์ โซล ที่พิพาทกับฟิลิปปินส์ และบริเวณใกล้หมู่เกาะเซนกากุ ที่พิพาทกับญี่ปุ่น ทำให้หน่วยยามฝั่งหรือกองทัพเรือของคู่ปรับไม่สามารถเข้าสู่พื้นที่พิพาทนั้น โดยจีนไม่ต้องใช้กำลังทหารอย่างโจ่งแจ้ง

ข) การใช้เรือขุดลอกของจีน (ที่น่าจะเป็นกองเรือเดินทะเลใหญ่ที่สุดในโลก) สร้างแนวหมู่เกาะเทียมบนสันดอนและแนวปะการังที่จมอยู่ใต้น้ำในทะเลจีนใต้และทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกเพื่อใช้ในสงครามพันทาง

ค) จีนส่งกองกำลังทางทะเลของตนที่ปฏิบัติการบนเรือพาณิชย์และเรือพลเรือน ไปก่อกวนเรือของกองทัพเรือสหรัฐที่ล่องผ่านทะเลจีนใต้ และมีรายงานในต้นปี 2017 ว่าจีนได้ส่งกำลังพลทางน้ำที่ปลอมตัวเป็นชาวประมงไปขึ้นบกที่หมู่เกาะเซนกากุของญี่ปุ่น กองกำลังเหล่านี้เรียกกันว่า “ชายชุดน้ำเงิน” ทำนองเดียวกับ “ชายชุดเขียว” ของรัสเซีย

2) การทำสงครามไซเบอร์ โดยพัฒนาหน่วยปฏิบัติการไซเบอร์และการสงครามอิเล็กทรอนิกส์ของกองทัพขึ้น พบข้อเขียนต่างๆ ของกองทัพจีนที่เน้นว่า “ความได้เปรียบทางคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าคือสิ่งจำเป็นต่อชัยชนะในสงครามสมัยใหม่”

พบว่าขีดความสามารถทางไซเบอร์และนักรบไซเบอร์ของจีนนั้นอยู่นอกวงการทหาร เช่น บรรดาแฮ็กเกอร์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีความรักชาติ จนสามารถสร้าง “สงครามประชาชน” ในโลกไซเบอร์ขึ้นยามสันติได้

ขณะเดียวกันก็มีการรวบรวมขีดความสามารถอันหลากหลายทางสงครามไซเบอร์และหน่วยงานต่างๆ ในประเทศเข้าด้วยกัน เพื่อตั้งเป็นหน่วยบัญชาการทหารขึ้นตรงต่อคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลาง

(ดูบทความของ พ.อ.อาร์เธอร์ เอ็น. ทูลัก ชื่อ “การสงครามพันทาง-ความท้าทายใหม่ในสภาพแวดล้อมทางสารสนเทศ” ในนิตยสารสมัชชาอินโดเอเชียแปซิฟิก ใน apdf-magazine.com 16.08.2016)

จากบทความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลอย่างสูงต่อพละกำลังของจีนและรัสเซีย ทั้งในการก่อสงครามตามแบบและสงครามพันทางที่ประสบความสำเร็จสูง และก็สะท้อนถึงความอ่อนพลังและความระส่ำระสายทางการเมืองและนโยบายของสหรัฐพร้อมกันไปด้วย

ความระส่ำระสายในสหรัฐ

ใกล้สงครามกลางเมือง?

ความระส่ำระสายทางการเมืองของสหรัฐที่ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ได้ก้าวสู่ระดับใหม่ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2017 เกิดกรณีมีผู้บุกเข้ากราดยิงกลุ่มสมาชิกสภาคองเกรส พรรครีพับลิกันและผู้ติดตาม รวมทั้งล็อบบี้ยิสต์หรือนักวิ่งเต้น ที่สนามกีฬาเมืองอเล็กซานเดรีย รัฐเวอร์จิเนีย มีผู้บาดเจ็บหลายคน

ที่สำคัญคือ นายสตีฟ สกาลิส วิปหรือผู้คุมเสียงส่วนใหญ่ของสภา มีความสำคัญเป็นอันดับสามในพรรครีพับลิกันบาดเจ็บสาหัส

พบว่า กรณีนี้ผู้บุกยิงเป็นชายสูงอายุ 66 ปี เกลียดชังทรัมป์และสนับสนุน บาร์นี แซนเดอร์ส ที่มีแนวคิดทางซ้าย บางข้อความที่เขาเขียนเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย สะท้อนความเกลียดชังของเขาต่อทรัมป์และพรรครีพับลิกันอย่างลึกซึ้ง

เช่น “ท่านประธานาธิบดี ผมอยากจะกล่าวว่าท่านคือคนงี่เง่า ท่านเป็นคนงี่เง่าที่สุดอย่างแท้จริงที่เข้ามาทำงานในห้องรูปไข่” (12.06.2017)

“นางหมารีพับลิกันคนนี้ต้องการให้ประชาชนทำงานได้รับค่าแรงเยี่ยงทาส ค่าแรงที่พออยู่ได้เท่านั้นคือหนทางที่ต้องไปลงคะแนนให้สีน้ำเงิน (พรรคเดโมแครต) มันเป็นสิทธิสำหรับพวกคุณ” (08.06.2017 เป็นการตอบโต้ผู้สมัครสตรีจากพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งซ่อมรัฐจอร์เจีย ที่กล่าวว่า “ฉันไม่สนับสนุนค่าแรงที่อยู่ได้”)

และ “ทรัมป์คือผู้ทรยศ ทรัมป์ได้ทำลายประชาธิปไตยของเรา ถึงเวลาที่จะต้องทำลายทรัมป์และพวก” (22.03.2017) (ดูการประมวลข่าวกรณีกราดยิงที่เวอร์จิเนียของ Tyler Durden ชื่อ Shooter Identified As Never – Trumper James Hodgkinson : “Mr. President You Are Biggest Asshole Ever” ใน zerohedge.com 14.06.2017)

ทรัมป์ได้ออกมาเรียกร้องสร้างความเป็นเอกภาพในชาติ แต่ว่ามันจะได้ผลเพียงไร

ก่อนหน้านั้นสองวัน นายแพทริก บูแคนัน นักการเมืองปีกขวารุ่นลายครามของสหรัฐที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เขียนบทความเตือนว่า สหรัฐกำลังเข้าใกล้สงครามกลางเมือง และถึงเวลาการปฏิวัติของปีกขวา ชี้ว่าขณะนี้เมืองหลวงกำลังโค่นล้มอำนาจอธิปัตย์คือทรัมป์ที่ได้รับการเลือกตั้งและต้องการบูรณะประเทศอเมริกาขึ้นมาใหม่ กลุ่มนครหลวงหรือรัฐลึกเร้นได้ใช้เครื่องมือและมาตรการหลายอย่างเพื่อ “สอย” ทรัมป์ให้ร่วงลงมา การเคลื่อนไหวนี้ยังอยู่ในขั้นไม่รุนแรง มีการเดินขบวนปะทะต่อยตีกันระหว่างผู้รักและเกลียดทรัมป์

แต่มีหลายเหตุการณ์ที่เขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ เช่นกรณี เจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการเอฟบีไอมาให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการวุฒิสภา โดยมีเป้าหมายที่จะให้มีการจัดตั้งคณะอัยการพิเศษ และก็เป็นผลสำเร็จ มีการจัดตั้งคณะอัยการพิเศษมีอำนาจสอบสวนอย่างกว้างขวาง นำโดย โรเบิร์ต มุลเลอร์ ผู้เป็นเพื่อนและเป็นผู้อำนวยการเอฟบีไอก่อนหน้านี้ (มีรายงานข่าวล่าสุดว่ามุลเลอร์จะสืบสวนทรัมป์ในเรื่องขัดขวางกระบวนการยุติธรรมที่ไล่โคมีย์ออกจากตำแหน่ง)

บูแคนันชี้แนะว่า เพื่อที่จะรักษาความเป็นต่อไว้ได้ ทรัมป์จะต้องเปิดการรณรงค์ทั่วประเทศ และเปิดสงครามจรยุทธ์ในนครหลวง ใช้อาวุธทั้งทางกฎหมายและทางการเมืองที่มีอยู่ กวาดล้างศัตรูที่อยู่ภายในรัฐบาลของเขาเอง การสู้รบนี้สำคัญและสามารถเอาชนะได้ จะต้องกวาดล้างพวกรัฐลึกเร้น และโบยสื่อที่สมรู้ร่วมคิด

และลงท้ายด้วยคำขวัญว่า “ถึงเวลาเผาคุกบาสติลให้ราบแล้ว” (ดูบทความของ Patrick J. Buchanan ชื่อ Are We Nearing Civil War? ใน Buchanan.org 12.06.2017)

อีกสองวันต่อมาหลังเหตุการณ์กราดยิง นางเคลลีแอน คอนเวย์ ที่ปรึกษาประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ออกรายการในสถานีโทรทัศน์ฟอกซ์นิวส์ที่สนับสนุนทรัมป์ กล่าวว่า การรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อฝ่ายบริหารของทรัมป์ เป็นสาเหตุชักนำให้เกิดการกราดยิงผู้แทนของพรรครีพับลิกัน

เธอกล่าวตอนหนึ่งว่า “ถ้าหากฉันถูกยิงและตายในวันพรุ่งนี้ ครึ่งหนึ่งของทวิตเตอร์จะฮือฮาด้วยยินดีและความตื่นเต้น – นี่คือโลกที่เราอยู่ในปัจจุบัน”

(ดูบทความของ Travis Gettys ชื่อ Kellyanne Conway : “If I was shot and killed tomorrow, half of Twitter would explode in applause” ใน rawstory.com 16.06.2017)

สหรัฐมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

สหรัฐได้ก้าวมาสู่จุดนี้จากทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวในการแก้ปัญหาที่สะสมมานานหลายสิบปี ปัญหาเกิดขึ้นในทศวรรษ 1970 ในช่วงทศวรรษดังกล่าว สหรัฐประสบวิกฤติรอบด้านได้แก่

ก) ทางการทหาร-ภูมิรัฐศาสตร์ แพ้ในสงครามเวียดนามเริ่มคุมพันธมิตรอาหรับและประเทศมุสลิมไม่อยู่ เกิดการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน สหภาพ โซเวียตเข้ารุกรานอัฟกานิสถาน

ข) ทางเศรษฐกิจ เกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อพร้อมกัน เนื่องจากการเลิก เทียบค่าเงินดอลลาร์กับทองคำและการงดส่งน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน การผลิตน้ำมันแบบธรรมดาของ สหรัฐก็ขึ้นสู่จุดสูงสุด อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูง

ค) ทางการเมือง-สังคม เกิดวิกฤติการนำ สถาบันการเมืองไม่ได้รับความเชื่อถือในหมู่ประชาชนที่เกรี้ยวกราดและสิ้นหวัง มีความแตกแยกและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมขึ้นทั่วไป

เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ชนชั้นนำสหรัฐได้สร้างทฤษฎี ยุทธศาสตร์และนโยบายขึ้นชุดหนึ่ง ประกอบด้วย

ลัทธิเสรีนิยมใหม่และลัทธิโลกาภิวัตน์ + ลัทธิทหาร เริ่มปฏิบัติจริงจังตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเรแกน และประสบ ความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง ทั้งนี้โดยอาศัยเหตุบังเอิญโชคดีจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนสู่ระบบตลาด และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตมาช่วยด้วย

จากความสำเร็จและเหตุบังเอิญโชคดีนี้ ทำให้ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ลัทธิโลกาภิวัตน์และลัทธิทหารก่อรูปเป็นสถาบันทางการเมืองของสหรัฐ

ความสำเร็จที่ก่อตัวแข็งมากเกินไปได้เริ่มแสดงด้านล้มเหลวของมันตั้งแต่ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 โดยวิกฤติรอบด้านแบบในทศวรรษที่ 70 กลับมาอีกครั้งในความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ทางการทหาร-ภูมิรัฐศาสตร์

สหรัฐติดหล่มสงครามในมหาตะวันออกกลางและสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

จีนและรัสเซียใช้สงครามพันทางรุกคืบทั่วยูเรเซียทางเศรษฐกิจ เกิดภาวะชะงักงัน เศรษฐกิจโตน้อยในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ฐานอุตสาหกรรมหดตัว เสียเปรียบดุลการค้าสูง ขาดดุลทางการคลัง ผู้อยู่ในตลาดแรงงานลดลง ชนชั้นกลางล้มละลาย มาตรฐานการครองชีพผู้คนลดต่ำ ทางการเมือง-สังคม เกิดความแตกแยกหนักหน่วงเทียบเคียงกับสมัยสงครามกลางเมืองสหรัฐ

จากวิกฤตินี้ก่อให้เกิดลัทธิทรัมป์หรือขวาประชานิยม+ลัทธิทหารขึ้นมาแข่ง ที่ว่า “ขวา” ได้แก่ การมีนโยบายชาตินิยมจัด ยึดลัทธิการครองความเป็นใหญ่ (ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง)

การเน้นเชื้อชาตินิยม ความยิ่งใหญ่ของคนขาว การยึดมั่นในค่านิยมเดิม ที่ว่า “ประชานิยม” ได้แก่ การต่อต้านโลกาภิวัตน์แบบเดิม ให้รื้อทิ้งและทำข้อตกลงใหม่ สร้างการปกป้องทางการค้า “อเมริกันทำ อเมริกันซื้อ” สร้างโครงการสร้างงานอย่างกว้างขวาง ไม่ให้ถูกผูกมัดโดยข้อเรียกร้องจากด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ทรัมป์กล่าวว่า “ผมจะเป็นประธานาธิบดีที่สร้างงานมากที่สุดเท่าที่พระเจ้าสร้างมา” และการประกาศต่อต้านระบบอำนาจเดิม คืนอำนาจให้แก่ประชาชน ในด้านลัทธิทหาร มีปฏิบัติการทางทหารอย่างโจ่งแจ้งขึ้น ตามนโยบายโจมตีก่อน

ปัจจุบันสหรัฐจะไปโจมตีหรือส่งกำลังทหารเข้าไปในประเทศใดก็ได้ในโลก ถ้าเห็นว่าจำเป็นและทำได้

ความขัดแย้งทางยุทธศาสตร์และนโยบายดังกล่าว ยิ่งก่อความระส่ำระสายแตกแยกในอเมริกาหนักขึ้นอีก เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่ยอมละลดแก่กัน

นั่นคือทางฝ่ายลัทธิทรัมป์ดูหมิ่นกลุ่มอำนาจเดิมว่าเป็นพวกขี้แพ้และโง่เง่า ทำลายความยิ่งใหญ่ของอเมริกาลงจนหมดสิ้น สมควรที่จะถ่ายโอนอำนาจทั้งหมดมาอยู่ในมือของกลุ่มเขา

ทางด้านกลุ่มอำนาจเดิมเห็นว่าลัทธิทรัมป์นั้นหยาบกร้าน ไม่เป็นแบบอารยชนละเอียดอ่อน ละทิ้งอุดมการณ์ยุคแสงสว่างทางปัญญาที่ให้ความสำคัญแก่เสรีภาพ (รวมตลาดเสรี) ความก้าวหน้า ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ที่แสดงความเป็นตะวันตก

การปฏิบัติตามลัทธิทรัมป์รังแต่จะเป็นการทำลายมิตร สร้างศัตรู ทำให้อเมริกาอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว

จากการสำรวจประชามติของสหรัฐหลายสำนัก เกือบทั้งหมดพบว่าคะแนนนิยมของทรัมป์ลดต่ำไม่ถึงร้อยละ 50 เช่น ตามสำนักแกลลัป (สำรวจระหว่าง 14-16 มิถุนายน 2017) มีประชาชนเห็นชอบกับการทำงานด้านต่างๆ ของทรัมป์เพียงร้อยละ 39 ที่ไม่เห็นชอบร้อยละ 55 มีสำนักสำรวจประชามติสำนักเดียวคือ “ราสมุสเซน รีพอร์ตส์” ที่มีแนวคิดเอียงขวาให้คะแนนเห็นชอบร้อยละ 50 ไม่เห็นชอบร้อยละ 50 เท่ากัน (ดูหัวข้อ President Trump Job Approval ใน realclearpolitics.com)

รวมความแล้วประชาชนอเมริกันจำนวนมากเห็นว่าทรัมป์กำลังนำพาประเทศผิดทางอีกเช่นเดียวกับที่ผ่านมา มีแนวโน้มที่ลัทธิทรัมป์จะเข้าไปรวมกับทฤษฎีและนโยบายของกลุ่มอำนาจเดิม นโยบายต่างประเทศทั่วไปจะมีความแข็งกร้าวยิ่งกว่าสมัยโอบามา

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงความระส่ำระสายของสหรัฐกับสถานการณ์โลก 2017 และมหาสงคราม