บทวิเคราะห์ : เชียร์บอลยูโร ‘สามมิตร’ ทำ CPR ปั๊ม ‘อนุชา’ ฟื้นสู้ แต่ที่สุด ‘ธรรมนัส’ผงาด

แม้นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ยืนยันว่า การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแม้แต่นิดเดียวก็ตาม

แต่กระนั้น ดูเหมือนปฏิบัติการ CPR (กระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า) ของกลุ่มสามมิตรในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นอกจากกระตุ้นชีพให้ฟุตบอลยูโร 2020 ซึ่งแทบจะสิ้นลมหายใจไปแล้ว เพราะไม่มีเอกชนรายใดซื้อลิขสิทธิ์ กลับฟื้นขึ้นมาภายในไม่กี่ชั่วโมงก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นไม่ถึงวัน อย่างได้ใจชาวบ้านแล้ว

ปฏิบัติการ CPR ยังถูกมองว่าได้ช่วยกระตุ้นชีพให้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่ชื่อนายอนุชา นาคาศัย ที่ลมหายใจกำลังรวยริน

ให้ฟื้นชีพกลับขึ้นมา “ลุ้น” ทางการเมือง ได้อยู่ในตำแหน่งเลขาฯ พรรคอีกเฮือกหรือไม่

ต้องไม่ปฏิเสธว่า ก่อนประชุมใหญ่สามัญประจำปี พรรค พปชร. วันที่ 18 มิถุนายน ที่ จ.ขอนแก่น

กระแสการเปลี่ยนแปลง “กรรมการบริหาร” โดยเฉพาะเลขาธิการพรรค จากนายอนุชา เป็น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โหมแรง

ดูเหมือนทุกอย่างถูกวางเกมเอาไว้อย่างเป็นขั้นตอนแล้ว

ตั้งแต่การเลือกสถานที่จัดคือศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น จ.ขอนแก่น

นอกจากเหตุผลว่าเป็นพื้นที่ “สีเขียว” ปลอดโรคระบาดโควิด-19 แล้ว

ต้องไม่ลืมว่าจังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่ ร.อ.ธรรมนัสนำทีมปักธงเพิ่ม ส.ส.จากการเลือกตั้งซ่อมเมื่อหลายเดือนก่อน โดยการเอาชนะผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย

ทำให้พื้นที่ขอนแก่นเป็นเหมือนถิ่นคุ้นเคยของ ร.อ.ธรรมนัสไปด้วย

ทั้งนี้ ตามการเปิดเผยของนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และเป็นคนขอนแก่น บอกว่า เพราะมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มีการจำกัดผู้เข้าร่วมประชุม 350 คน

สมาชิกพรรคคนใดที่ไม่ได้หนังสือเชิญประชุมจากหัวหน้าพรรคจะไม่มีสิทธิเข้าห้องประชุม ไม่มีสิทธินับองค์ประชุมหรือลงมติใดๆ

อันเท่ากับมีการกลั่นกรองผู้เข้าร่วมประชุมตั้งแต่แรก

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า สมาชิกที่จะเข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นสมาชิกภาคอีสาน โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น ของนายเอกราช และ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นฐานสำคัญของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ที่ลูกชายคือ 1 ใน 4 ช. หรือ 4 รัฐมนตรีช่วย ที่ประกอบด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ,นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม

จึงร่ำลือว่า มีการอำนวยความสะดวกให้สมาชิกพรรคจากนครราชสีมาเข้าร่วมประชุมมากเป็นพิเศษ

เป็นภาพต่างจากยุคของนายอนุชา ที่การประชุมใหญ่เคยอบอุ่นด้วยสมาชิกพรรคจาก จ.ชัยนาท และ จ.ภาคกลาง

จึงทำให้มีการมองว่า เสียงสมาชิกพรรคจากนครราชสีมาและอีสานน่าจะเป็น “บวก” ให้ฝ่าย ร.อ.ธรรมนัสโดยปริยาย

 

ส่วนที่ว่าเกมเปลี่ยนโครงสร้างพรรค ถูกวางเป็นขั้นตอนแล้วนั้น

มีการระบุว่า เมื่อเปิดประชุมจะมีสมาชิกพรรคเสนอว่า เมื่อนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ และอดีตรองหัวหน้าพรรค ต้องคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถูกตัดสิทธิทางการเมือง และลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ จำเป็นต้องมีการตั้งกรรมการบริหารพรรคใหม่

จึงควรถือโอกาสปรับโครงสร้างใหม่เลย

โดยขอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค ลาออก เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคพ้นสภาพไปทั้งคณะ แล้วเลือกชุดใหม่เข้ามาแทน

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรกลับมารั้งตำแหน่งเดิม และปรับลด กก.บห.ให้น้อยลงเพื่อให้คล่องตัวมากขึ้น

รวมถึงต้องการลดอำนาจกลุ่มก๊วนต่างๆ ในพรรค

โดยรองหัวหน้าพรรคเดิมมี 10 คน เบื้องต้นจะลดเหลือ 4 คน

ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการพรรค จะเสนอชื่อ ร.อ.ธรรมนัสแทนนายอนุชา

ทั้งนี้ ก่อนจะรับตำแหน่งเลขาธิการพรรค ร.อ.ธรรมนัสเองได้เตรียม “ปูทาง” ทั้งในและนอกพรรคมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งการดูแล ส.ส.ในพรรค ส.ส.พรรคเล็ก รวมถึง ส.ส.ฝากเลี้ยงในพรรคฝ่ายค้าน ที่พร้อมจะ “ดูด” เข้ามาร่วมพรรค พปชร.ในอนาคต

ส่วนในภาคสังคม นอกจากงานในกระทรวงแล้ว ยังทำกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากโควิด-19 และงานเฉพาะกิจอื่นทั้งผลิตผลการเกษตรตกต่ำ ปัญหามวลชนในหลายพื้นที่

นอกจากนี้ การที่ ร.อ.ธรรมนัสเป็นนักการเมืองสายเลือดทหาร ก็พยายามสร้างคอนเน็กชั่นกับเพื่อนทหาร ตำรวจ

โดยเฉพาะเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 25 ที่ ร.อ.ธรรมนัสตัดสินใจรับตำแหน่งประธานรุ่น ตท.25 เมื่อปีที่ผ่านมา

ด้วยการชูม็อตโต้ที่ว่า “ชีวิตที่เหลือ เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์”

ทั้งนี้ สิ่งที่ทำทั้งหลายทั้งปวง เพื่อพิสูจน์ตนเอง และลบภาพ “สีเทา” ในอดีต ทั้งภาพผู้กว้างขวาง ภาพการมีคดียาเสพติดที่ออสเตรเลีย ลงให้มากที่สุด

ขณะเดียวกันในทางการเมือง ร.อ.ธรรมนัสแสดงบทบาทร่วมกับกลุ่ม 4 ช. ว่าสนิทแนบแน่นกับ พล.อ.ประวิตร

และแสดงบทบาทว่า ทำหน้าที่เสมือนเลขาฯ พรรคมายาวนาน

ดังนั้น เมื่อมีแนวโน้มจะยุบสภาและเลือกตั้งใน 1-2 ปีข้างหน้า จำเป็นที่ พล.อ.ประวิตรจะต้องมีคนครบเครื่องเช่น ร.อ.ธรรมนัสมาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรคให้

ในห้วงที่ผ่านมาจึงมีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเลขาธิการพรรคมาโดยตลอด

 

กระนั้น การจะเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรค พปชร. และเลขาธิการพรรคไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกลุ่มสามมิตร

อันหมายถึง 3 รัฐมนตรีว่าการ ประกอบด้วย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม, นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และในระยะหลัง รวมถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ไม่สุกงอมด้วย

เพราะยังต้องการให้นายอนุชาอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการพรรคต่อไป

เพื่อเป็นการ “ดุล” อำนาจเอาไว้ในพรรค ด้วยหากรักษาตำแหน่งนี้ไม่ได้ มีโอกาสที่จะถูกรุกต่อโดยเฉพาะเก้าอี้รัฐมนตรี

กลุ่มสามมิตรจึงเกาะเกี่ยว ส.ส.เอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

แม้ว่าพลังต่อรองในพรรคในระยะหลังจะไม่โดดเด่นเท่าฝ่าย ร.อ.ธรรมนัส

แต่ก็ไม่ถึงกับถอยร่น ยังคงดำรงสภาพ “มุ้งใหญ่” ในพรรคอยู่

นี่เองทำให้ พล.อ.ประวิตรยังไม่อยากแตกหัก

โดยเมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามถึงการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคใหม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวเลี่ยงๆ ว่า เป็นเรื่องของพรรคที่จะดำเนินการเอง ไม่ใช่เรื่องของตนเพียงคนเดียว

การที่ยังไม่ฟันธงเด็ดขาดนี้เอง ทำให้ระเบียบวาระการประชุมใหญ่ไม่มีเรื่องการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคใหม่

ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะไปเคลื่อนกันหน้างาน เพื่อไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม และแรงต้าน

แต่ภาวะอันไม่เด็ดขาดดังกล่าว ทำให้นายอนุชาถือโอกาสไหลไปตามน้ำ

โดยระบุว่า วาระการประชุมใหญ่ พปชร. เป็นเพียงวาระธรรมดาทั่วไป

คือรับรองรายงานการประชุม รายงานผลการดำเนินการของพรรคในช่วงสิ้นปี และเรื่องของงบดุล

ส่วนวาระการปรับโครงสร้างพรรคนั้น นายอนุชายืนยันว่า “ยังไม่ได้ยิน”

ถือเป็นการใช้กลยุทธ์ “นิ่ง” สยบความเคลื่อนไหว

พร้อมๆ กับแสวงหาประโยชน์จากปัจจัย “แวดล้อม” อย่างผู้มีประสบการณ์ “เชี่ยวกราก” ทางการเมือง

ซึ่งก็คือกรณีไม่มีผู้ซื้อ “ลิขสิทธิ์” การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020

ซึ่งเป็นสิ่งที่แทบไม่เกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 30 ปี ที่ประเทศไทยจะพลาดการได้ชมเทศกาลฟุตบอลระดับโลก

แน่นอนส่วนหนึ่งคงชี้นิ้วไปยังรัฐบาล ว่ามีส่วนทำให้เศรษฐกิจประเทศตกต่ำจนหาผู้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลไม่ได้

ย่อมเพิ่มแรงหงุดหงิดต่อรัฐบาลที่แก้ปัญหาโควิด-19 ไม่เข้าตามากยิ่งขึ้นไปอีก

อย่างฉับไว และเข้าใจความต้องการของประชาชน

นายอนุชาซึ่งดูแลกรมประชาสัมพันธ์ ได้ผนึกกับกลุ่มสามมิตรผุดโครงการ “คืนความสุขให้คนไทยดูยูโร” 2 วันก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น

โดยนายสุริยะประสานไปยังพี่ชาย คือนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการ บริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด เจ้าของแบรนด์รองเท้า ‘Aerosoft’ ให้มาเป็นผู้สนับสนุนหลักการถ่ายทอดสดฟุตบอลยุโรป 2020

ทำให้เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนเตะนัดแรก (11 มิถุนายน 2564) นายโกมลได้เปิดแถลงข่าวร่วมกับนายอนุชา ประกาศถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 โดยระบุทุ่มซื้อลิขสิทธิ์กว่า 10 ล้านดอลลาร์ หรือราว 310 ล้านบาท

ท่ามกลางการลุ้นของคอบอลชาวไทยจนวินาทีสุดท้าย แล้วที่สุดดีลมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นจริง

ชื่อของ ‘โกมล’ ถูกกล่าวขานถึงในแทบจะทันที พร้อมกับเชื่อมโยงไปยัง ‘โฟม-พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ’ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรค พปชร.ด้วย

ทำให้ดีลนี้ แม้นายอนุชาจะปฏิเสธว่า ไม่ใช่ฟุตบอลการเมือง

แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธกรุ่นกลิ่นการเมือง

และยิ่งชัดเจนเมื่อมีการเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลของนายสมศักดิ์ พร้อมกับนายอนุชา นาคาศัย เพื่อพบ พล.อ.ประยุทธ์และรายงานถึงการที่ช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ จะเป็นแม่ข่ายถ่ายทอดสด “ยูโร”

ถือเป็นผลงานรัฐบาล

อันเป็นอานิสงส์จากความใจดีของนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ

โยงใยสัมพันธ์ไปถึง “กลุ่มสามมิตร”

และเป็นก้าวสำคัญทางการเมืองแบบ “เหนือเมฆ” อันมาจากนายสุริยะ-นายสมศักดิ์-นายอนุชา

ส่งผลให้ “มูลค่า” ทางการเมืองของ “กลุ่มสามมิตร” ซึ่งตกเป็นฝ่ายถูกรุกอย่างต่อเนื่อง

แปรเปลี่ยนมาเป็นฝ่าย “รุก”

แน่นอนส่งผลถึงตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” ของนายอนุชาโดยอัตโนมัติ

ทำให้นายอนุชาสามารถพูดอย่างชัดเจนว่าการประชุมวันที่ 18 มิถุนายน ไม่มีวาระเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคใหม่

ยิ่งกว่านั้น ยังทำให้ ส.ส.พปชร.มองศักยภาพกลุ่มสามมิตรด้วยสายตาอันอบอุ่นขึ้น

เงิน 300 ล้านที่ได้ใจชาวบ้าน เป็นเพียงเสมือน “น้ำจิ้ม”

มีการคาดหวังว่า เมื่อถึงเวลา “ศึกสงครามการเมือง” จริงๆ “ทุน-เสบียง” น่าจะเพียบพร้อมกว่านี้

ทำให้ปีก “สามมิตร” เหนียวแน่นขึ้น และพร้อมจะให้เลื่อนการเปลี่ยนเลขาธิการพรรคออกไป

แต่กลุ่ม 4 ช.จะยินยอมหรือไม่ นั่นคือคำถาม เพราะได้เตรียมการมานาน

และคาดหวังจะใช้การประชุมใหญ่พรรคครั้งนี้เผด็จศึก

ซึ่งก็ไปตามคาด “ร.อ.ธรรมนัส” ผงาด นั่งเลขาฯในที่สุด

โดยที่ประชุมมีมติปรับลดจำนวนกรรมการบริหารพรรค จาก 27 คน เหลือ 26 คน พร้อมมีมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่งดังนี้

1.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ แบบไร้คู่แข่ง โดยมีการเสนอเพียงรายชื่อเดียว

2.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเลขาธิการพรรค

3.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นเหรัญญิกพรรค

4.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ เป็นนายทะเบียนพรรค

ส่วนกรรมการบริหารพรรค จำนวน 22 คน คือ

1.นายสันติ พร้อมพัฒน์

2.นายวิรัช รัตนเศรษฐ

3.นายไพบูลย์ นิติตะวัน

4.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

5.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน

6.อนุชา นาคาศัย

7.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์

8.นายสุพล ฟองงาม

9.นายนิโรธ สุนทรเลขา

10.นายไผ่ ลิกค์

11.นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ

12.นางประภาพร อัศวเหม

13.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

14.นายอิทธิพล คุณปลื้ม

15.นายสุชาติ ชมกลิ่น

16.นายยงยุทธ สุวรรณบุตร

17.นายสุชาติ อุสาหะ

18.นายรงค์ บุญสวยขวัญ

19.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร

20.นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์

21.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร

22.นายสมเกียรติ วอนเพียร

ส่งผลให้ ร.อ.ธรรมนัส ผงาดและกลายเป็นขั้วใหม่ ซึ่งต้องติดตามว่า จะสยบปัญหาในพรรคได้หรือไม่

โดยก็มีการรอมชอมให้เห็นบ้าง โดยกลุ่ม 4 ส. คือ นายสมศักดิ์ นายสุริยะ นายอนุชา และนายสุชาติ ยังอยู่ในกรรมการบริหารพรรค

และคงต้องติดตามว่าหากมีการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งร.อ.ธรรมนัสอาจขึ้นว่าการ กลุ่ม4 ส. จะมีใครหลุดหรือไม่

ถ้าหลุดก็หรือมีการลดอำนาจ ก็คงมีแรงกระเพื่อม

และเราอาจเริ่มได้กระแสข่าวการแตกตัวไปตั้งพรรคใหม่ของกลุ่มสามมิตรมากขึ้น

ต้องติดตาม