รัฐบาลใหม่อิสราเอล ความเปราะบางและการเปลี่ยนแปลง/บทความต่างประเทศ

Israel's new prime minister Naftali Bennett holds a first cabinet meeting in Jerusalem Sunday, June 13, 2021. Israel's parliament has voted in favor of a new coalition government, formally ending Prime Minister Benjamin Netanyahu's historic 12-year rule. Naftali Bennett, a former ally of Netanyahu became the new prime minister (AP Photo/Ariel Schalit)

บทความต่างประเทศ

 

รัฐบาลใหม่อิสราเอล

ความเปราะบางและการเปลี่ยนแปลง

 

ในที่สุดบรรดาพรรคการเมืองในประเทศอิสราเอล ก็สามารถตั้งรัฐบาลผสมขึ้นได้สำเร็จ และยังนับเป็นการโค่นเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ลงจากตำแหน่งได้เป็นครั้งแรก หลังจากดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนาน 12 ปี

ความสำเร็จในการตั้งรัฐบาลผสมของกลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้านครั้งนี้ นับเป็นการสิ้นสุดความวุ่นวายทางการเมืองยาวนานเกือบ 1 เดือน หลังจากเนทันยาฮูในวัย 71 ปี ผู้นำพรรคลิคุด คว้าชัยในการเลือกตั้งตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ยาอีร์ ลาปิด ผู้นำพรรคเยซอาทิด พรรคการเมืองสายกลางได้รับโอกาสจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น

โดยลาปิด อดีตพิธีกรโทรทัศน์และรัฐมนตรีคลัง ประกาศความสำเร็จในการรวบรวมพรรคเล็กอีก 7 พรรค หนึ่งในนั้นคือ “พรรคยูไนเต็ดอาหรับลิสต์” พรรคอาหรับขนาดเล็กที่สร้างประวัติศาสตร์เข้าร่วมรัฐบาลอิสราเอลเป็นครั้งแรกด้วย

ลาปิดซึ่งสามารถรวบรวมเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรที่มีทั้งหมด 120 ที่นั่ง เอาไว้ได้อย่างฉิวเฉียด ที่ 61 ที่นั่ง (พรรคฝ่ายค้านมีอยู่ 59 ที่นั่ง) ตกลงให้พันธมิตรสำคัญอย่าง “นัฟตาลี เบนเนตต์” จากพรรคยามินา พรรคสายชาตินิยมขวาจัดที่มี ส.ส.เพียง 7 ที่นั่งในสภา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วง 2 ปีแรก และลาปิดจะนั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อในอีก 2 ปีหลัง

คำถามสำคัญก็คือรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาลผสมจากพรรคเล็กเหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดขึ้นกับประเทศอิสราเอลได้บ้าง

 

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ รัฐบาลผสมอิสราเอลชุดนี้เปราะบางมากๆ โดยเป็นการรวมกันของพรรคที่มีแนวทางทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง ทั้งพรรคปีกขวา ปีกซ้าย พรรคสายกลาง รวมไปถึงพรรคอาหรับ สิ่งเดียวที่พรรคร่วมรัฐบาลเห็นพ้องกันก็คือ การโค่น “เนทันยาฮู” ลงจากตำแหน่ง

การออกนโยบายต่างๆ จะเป็นนโยบายที่ประนีประนอมกับทุกกลุ่มการเมือง โดยคาดว่าสิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือการผ่านร่างกฎหมายงบประมาณครั้งแรกนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 การประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

สำหรับนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเบนเนตต์ แม้จะเป็นนักการเมืองขวาจัดที่เรียกได้ว่า “คลั่งชาติ” มีแนวคิดสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวในพื้นที่ยึดครองที่ปาเลสไตน์อ้างสิทธิ และต่อต้านการตั้งรัฐปาเลสไตน์

อย่างไรก็ตาม เบนเนตต์อาจหลุดจากตำแหน่งได้ง่ายๆ หากสร้างความบาดหมางกับพรรคร่วมรัฐบาลพรรคใดพรรคหนึ่ง

รัฐบาลอิสราเอลทุกรัฐบาลที่ผ่านมามักดำเนินนโยบายสนับสนุนการขยายถิ่นฐานของชาวยิวทั้งในเวสต์แบงก์และเยรูซาเลมตะวันออก พื้นที่ซึ่งอิสราเอลยึดครองได้ตั้งแต่สงครามในปี ค.ศ.1967

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่ารัฐบาลอิสราเอลจะยังคงไว้ซึ่งจุดยืนแข็งกร้าวเช่นเดียวกับรัฐบาลเนทันยาฮู แต่จะมีท่าทีที่อ่อนลงไปเพื่อเอาใจโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เรียกร้องให้ฟื้นคืนการเจรจาสันติภาพ

อย่างไรก็ตาม ท่าทีกับอิหร่าน ชาติปฏิปักษ์รัฐบาลใหม่อิสราเอล จะยังคงมีท่าทีแข็งกร้าวต่อไปและยังคงจุดยืนคัดค้านความพยายามของไบเดนในการฟื้นคืนข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านให้กลับมาอีกครั้งเช่นเดิม

 

นักวิเคราะห์การเมืองอิสราเอลมองว่า สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงมากที่สุด อาจเกิดขึ้นกับความขัดแย้งรุนแรงในสังคมทั้งความขัดแย้งทางศาสนา และความขัดแย้งระหว่างชาวอิสราเอลเชื้อสายยิว และชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ

เบนเนตต์ระบุเอาไว้หลังตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จว่า “รัฐบาลจะทำงานเพื่อชาวอิสราเอลทุกคน ทั้งผู้นับถือศาสนาต่างๆ ฆราวาส กลุ่มชาวยิวออร์โธดอกซ์ รวมถึงชาวอาหรับ โดยไม่มียกเว้น อย่างเป็นหนึ่งเดียว”

และว่า “เราจะร่วมกันทำงานด้วยความร่วมมือและความรับผิดชอบต่อชาติ และผมเชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จ”

สำหรับพรรคยูไนเต็ดอาหรับลิสต์ พรรคสายอาหรับมีรากฐานมาจากชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม นำโดยมันซูร์ อับบาส เป็นพรรคอาหรับพรรคแรกที่ได้เข้าร่วมรัฐบาลอิสราเอล คาดว่าเข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้แลกกับการของบประมาณสำหรับที่พักอาศัย โครงสร้างพื้นฐาน และงบประมาณด้านการบังคับใช้กฎหมายในชุมชนชาวอาหรับ

ชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรชาวอิสราเอล ปัจจุบันต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในสังคม

ประชากรกลุ่มนี้มีเชื้อสายใกล้ชิดกับชาวปาเลสไตน์ และนั่นส่งผลให้ชาวอิสราเอลเชื้อสายยิว มักจะมองประชากรกลุ่มนี้เป็นพลเมืองชั้น 2 จนความขัดแย้งพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด ในการปะทะกันระหว่างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา กับกองทัพอิสราเอล ที่มีต้นตอมาจากเหตุกระทบกระทั่งระหว่างชาวยิวและชาวมุสลิมปาเลสไตน์ ที่มัสยิดในเยรูซาเลมตะวันออก

 

สําหรับเบนจามิน เนทันยาฮู อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผู้สนับสนุนให้ฉายาว่า “ราชาแห่งอิสราเอล” ไม่มีใครเชื่อว่าจะเกษียณอายุการทำงานไปง่ายๆ

แกนนำฝ่ายค้าน ผู้นำพรรคที่มีเก้าอี้มากที่สุดในสภาอย่างเนทันยาฮู ได้รับการคาดหมายว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเวลานี้เนทันยาฮูกำลังเผชิญกับคดีทุจริต นั่นเพราะการได้กลับเป็นนายกรัฐมนตรีจะมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง และมีอำนาจสามารถสู้คดีได้มีประสิทธิภาพกว่าในสถานะปัจจุบัน

นับจากนี้ไปคงต้องจับตามมองว่ารัฐบาลใหม่อิสราเอล ภายใต้การนำของเบนเนตต์ จะนำประเทศไปในทิศทางใด และจะสามารถประคองรัฐบาลผสมอันเปราะบางไปได้อีกนานเท่าใด ต้องติดตาม