คุณประยุทธ์/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

คุณประยุทธ์

 

เรื่องของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา กวนใจผมมานานมากกว่า 8 ปีแล้ว

ไม่ใช่เขาอยู่นานเกินไป แต่ที่กวนใจผมมากเพราะผมอธิบายคุณประยุทธ์ผิดมานาน

ผมเป็นคนหนึ่งที่อธิบายคุณประยุทธ์ว่าเป็น ระบอบประยุทธ์

แต่จริงๆ ไม่ใช่

 

ระบอบการเมืองในการเมืองไทย

อาจผิดซ้ำอีกครั้ง ผมเห็นว่า ระบอบการเมือง (Political Regime) ในการเมืองไทยร่วมสมัยนับตั้งแต่ทศวรรษ พ.ศ.2520-2560 น่าจะเป็น ระบอบเปรมาธิปไตย (พ.ศ.2523-2531) ระบอบทักษิณ (ทศวรรษ 2540-2549) ระบอบประยุทธ์ (ทศวรรษ 2560-) ทั้งนี้ กำเนิด หน้าที่ ความคลี่คลาย หรือจุดสิ้นสุด ล้วนแตกต่างกัน

แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านกลับเห็นว่า ระบอบประยุทธ์หาใช่ระบอบการเมือง

แต่เป็นเพียงคุณประยุทธ์เท่านั้น

 

ส่องระบอบเปรมาธิปไตยและระบอบทักษิณ

ระบอบเปรมาธิปไตย ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา หากจะมีอะไรใกล้เคียงกับระบอบการเมือง อันแรกคือ เปรมาธิปไตย ซึ่งเป็น เครือข่ายอุปถัมภ์พิเศษ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (พ.ศ.2522-2524) และรัฐมนตรีกลาโหม (พ.ศ.2523-2524) ก่อนจะเป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 8 ปี (พ.ศ.2523-2531)

เครือข่ายอุปถัมภ์พิเศษนี้ถูกร้อยรัดด้วยระบบการเมือง ประชาธิปไตยครึ่งใบ (Semi-Democracy) ที่ยังคงให้อำนาจแก่ข้าราชการประจำมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

เปรมาธิปไตย อยู่ได้ด้วยอะไร?

น่าจะอยู่ได้ด้วยช่องว่างทางอำนาจจากความอ่อนแอของ 2 พลังหลักทางการเมืองยุคนั้นคือ ทหารและพรรคการเมือง ช่วงนั้น ทหารขาดผู้นำที่เข้มแข็ง ทั้งที่จะนำพาประเทศให้ผ่านพ้นความยุ่งยากทางการเมืองภายในจาก ความแตกแยกและขัดแย้งภายในกองทัพระหว่างผู้นำทหาร จปร.รุ่นต่างๆ การรุกคืบของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่สอดรับกับภัยคุกคามทั้งทางทหารและลัทธิในสงครามอินโดจีน

ส่วนพรรคการเมืองก็อ่อนแอ นักการเมืองพลเรือนสยบยอมให้ พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็นหัวหน้าพรรคของตัวเอง

ครั้นเมื่อเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น พล.อ.เปรมช่างโชคดีที่ไทยขุดพบแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผู้คนต่างดีใจกับเศรษฐกิจไทยโชติช่วงชัชวาล ซึ่งมิได้โชติช่วงทั่วไทย

แล้วนักธุรกิจจำนวนหนึ่งยังพอใจทำงานร่วมกับรัฐบาลและเหล่าเทคโนแครต ในขณะที่นักธุรกิจต่างจังหวัดต่างพอใจเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจผ่านสมาคมอุตสาหกรรมและหอการค้าจังหวัด

ด้วยสถานะอดีตผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรี มีทั้งส่วนช่วยให้ พล.อ.เปรมเป็นส่วนสำคัญของ ระบอบเปรมาธิปไตย แต่ในเวลาเดียวกันได้บั่นเสาะความแข็งแกร่ง และความชอบธรรมทางการเมืองของตัวเองไปในตัว เพราะตัวเขาปิดโอกาสของผู้นำทหารและนักการเมืองคนอื่นๆ ดังนั้น ความพยายามรัฐประหาร การปลดผู้บัญชาการทหารบกและความรุนแรงทางการเมืองจึงเกิดขึ้น

เวลา 8 ปีนานพอและได้ก่อรูประบอบการเมืองชนิดหนึ่ง แต่ก็ยุติลงด้วยเหตุผลความชอบธรรมทางการเมืองและพลังของประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งที่กดดันให้ พล.อ.เปรมยุติบทบาทางการเมือง แต่ไม่ได้เป็นต้นแบบการเมืองอะไร

ระบอบทักษิณ มีที่มา รูปแบบและเชื่อมโยงกับสังคมไทยต่างจากระบอบเปรมาธิปไตย ทักษิณ ชินวัตร มีประสบการณ์ทางการเมืองสั้นมาก เขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเพียง 100 วันในสมัยรัฐบาลชวน 1

เมื่อปลายปี พ.ศ.2538 เขาเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมสั้นๆ ก่อนก่อตั้งพรรคไทยรักไทย กรกฎาคม 2541

ครั้นเป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2544 ทักษิณพัฒนาเครือข่ายอำนาจของเขาเอง ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หลายกลุ่มที่ได้รับความเสียหายจากพิษเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 พรรคการเมือง บางส่วนของกองทัพและตำรวจ เครือข่ายอำนาจนี้ร้อยรัดเข้าด้วยกันและเชื่อมโยงทักษิณและครอบครัว

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายอำนาจทักษิณเปลี่ยนโฉมเมื่อเกิดรัฐประหารกันยายน 2549 และทักษิณต้องลี้ภัยการเมืองอยู่ต่างประเทศ

หลังรัฐประหาร 2549 เครือข่ายทักษิณรูปแบบใหม่ มีความหลากหลายมากขึ้น องค์ประกอบยังมีนักธุรกิจและนักการเมือง แต่ก็เป็นเพื่อนสนิทและคนไว้ใจ มากกว่านักธุรกิจที่ล้มละลายจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540

ทหารและตำรวจบางคนยังคงเป็นเพื่อนและลูกน้อง แต่ส่วนมากเป็นพวกนอกราชการ หน้าที่ของคนพวกนี้เปลี่ยนมาเป็นสนับสนุนการเมืองมวลขน (mass politics) อันเป็นกลยุทธ์การเมืองหลักของทักษิณหลังรัฐประหาร 2549

ดังนั้น ทหารและตำรวจจึงเข้ามาช่วยงานมวลชนจัดตั้งมากกว่าเข้าไปคุมอำนาจในกองทัพดังแต่ก่อน

คนรากหญ้ากลายเป็นแกนกลางของเครือข่ายทักษิณ โดยมีนักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำชุมชน นักธุรกิจระดับกลางในต่างจังหวัดเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

ทักษิณเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจนี้ แต่ก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญทั้งในแง่ แรงบันดาลใจทางการเมือง แหล่งสนับสนุนทางการเงินและทรัพยากรต่างๆ

เครือข่ายอำนาจทักษิณถูกรัฐประหารครั้งที่ 2 นั่นคือ รัฐบาลน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูก พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหารพฤษภาคม 2557 แต่แล้วเครือข่ายอำนาจนี้กลับประกอบสร้างขึ้นมาเป็นระบอบทักษิณ ด้วยระบอบนี้ยังสำแดงพลังทางการเมืองต่อไปแม้ถูกรัฐประหารถึง 2 ครั้ง แม้ผู้ก่อตั้งและจักรกลสำคัญจะอยู่นอกอธิปไตยไทย ชีวิต ภาพ เสียง ความคิดและเงินของทักษิณยังเป็นองค์ประกอบหลักของระบอบทักษิณ

จาก พ.ศ.2544 ถึง พ.ศ.2564 ตั้ง 20 ปีที่ยึดอำนาจ ยึดทรัพย์สินและเงินทองทั้งพี่และน้อง สลายเครือข่ายเพื่อนและลูกน้องหมดแล้ว แต่ระบอบนี้ก็ยังอยู่

อย่างไรก็ตาม ปรัชญาเบื้องหลังคือ ประชาธิปไตยไม่เสรีนิยม หรือคณาธิปไตยของระบอบนี้ ไม่ได้เป็นต้นแบบของการปกครองที่ไทยควรนำมาใช้

 

มองคุณประยุทธ์

แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหาร 2557 บริหารประเทศในนามประธาน คสช. และนายกรัฐมนตรีรวมเกือบ 8 ปี รวมทั้งวางแผนมาก่อนตั้ง 3 ปี รวมทั้งสิ่งที่เขาอ้างตลอดมาว่าทำไว้มากมายนับได้จาก ก ถึง ฮ ก่อนหน้านั้นไม่เห็นรัฐบาลไหนทำ ไม่มีส่วนก่อร่างสร้าง ระบอบประยุทธ์ ขึ้นมาบ้างเลยหรือ?

หลังรัฐประหาร 2557 มานาน นักวิชาการจำนวนหนึ่งและผมเสนอว่า ระบอบประยุทธ์เกิดแล้ว เกิดจากรัฐประหารเพื่อครองอำนาจยาวนาน ไม่ยุติง่ายแบบรัฐประหารก่อนหน้า และระบอบนี้ไม่ย้อนกลับสู่ เปรมาธิปไตยและอำมาตยาธิปไตย ที่ระบบราชการทรงพลัง มีนโยบายสวยหรูคือ ประชารัฐ แต่ไม่ใช่ ประชานิยม แบบทักษิณเพราะ SME และเศรษฐกิจรากหญ้า ป้อนผลผลิตเพื่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ทำหน้าที่เหมือน Big Brother เป็นพี่เลี้ยงและเลี้ยงดูธุรกิจขนาดกลางผลิตสินค้าและบริการสนองกลุ่มทุนขนาดใหญ่

รูปแบบของระบอบประยุทธ์ คือ ฝังลึกทหารกับทุนนิยมมีลำดับชั้น (Embedded Military-Hierachical Capitalism) ทำหน้าที่สรรค์สร้างโครงสร้างเศรษฐกิจไทยระดับมหภาคในระยะยาว ใช้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผลักดันและกำกับระบบเศรษฐกิจไทยสู่โฉมใหม่ภายใต้ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ โดยดำเนินการ

1. สร้างนวัตกรรมและ Digitalization

2. ส่งเสริม SME และผลิตภาพ

3. ส่งเสริมท่องเที่ยว MICE

4. หนุนการลงทุนของต่างประเทศ

5. พัฒนาอุตสาหกรรม New S-Curve

6. ส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ คณะกรรมการสานพลังประชารัฐยังทำการ ลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ปรับปรุงกฎหมายและมาตรการรัฐ ปรับปรุงการศึกษาพื้นฐานและผู้นำ

ทั้งหมดนี้ย่อมทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยปรับเปลี่ยนทั้งระบบ แต่ทั้งหมดนี้กลับเป็นทั้งแรงผลักดัน เสริมสร้างความสามารถการแข่งขัน และปรับตัวสู่ เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform Economy) ซึ่งการผลิต การจ้างงาน การจ่ายเงิน และ delivery ทั้งหมด ไม่เป็นทางการ (informal) อันเป็นรูปแบบเศรษฐกิจในทิศทางใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

แต่แท้จริงคือ ระบบทุนนิยมไทย ที่กำลังเผชิญทั้งโลกาภิวัตน์และ Digitalization กลุ่มทุนขนาดใหญ่นิยามว่าเป็นความปั่นป่วน (Disruption)

แต่ผมมองว่าคือ โครงสร้างทุนนิยมไทยโฉมใหม่ หาใช่ระบอบประยุทธ์

คุณประยุทธ์ยังเป็นแค่การรวมศูนย์ที่บุคคล เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องเกือบ 12 ปีผ่าน สถานะ ผบ.ทบ. หัวหน้าคณะรัฐประหาร ประธาน คสช. ที่ใช้อำนาจรัฐประหาร เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็ยังใช้ ระบบที่คล้ายอำนาจฐประหารคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อเกิดโควิด-19 ตั้ง ศบค. ที่จริงคือ เลขาฯ สมช. อันเป็นความมั่นคงมากกว่าการแพทย์ สั่งการคล้ายหัวหน้าคณะรัฐประหาร

นโยบายและแผนเศรษฐกิจทั้งมวลจึงเป็น กิจกรรม ก ถึง ฮ ส่วนคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เป็นของ โดยและเพื่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่

ระบบการเมืองก็เป็นคุณประยุทธ์ เป็นของ โดยและเพื่อบุคคล ไม่ใช่ระบอบประยุทธ์

สิ่งที่ทิ้งไว้มีแต่มรดก แต่เป็นมรดกเลือด