‘หิวแสง’ กันหน่อย/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

‘หิวแสง’ กันหน่อย

 

ก็คงเหมือนกับที่ “ซูเปอร์บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ถามในที่ประชุมวุฒิสภาว่า “มีใครไม่เชื่อมั่นผมไหม” แล้ว ส.ว.ทั้ง 250 คนนั่งเงียบกริบ ไม่มีใครยกมือ

โถ! ใครจะกล้า

ผลของ “ซูเปอร์โพล” ที่ดำเนินการสำรวจโดยนักทำโพลแบบ “นพดล กรรณิกา” ก็น่าจะเป็นอารมณ์เดียวกันนั้น

เมื่อตั้งคำถามว่า “ถ้าวันนี้เลือกได้จะเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี” แล้วคำตอบออกมา “พล.อ.ประยุทธ์” นำโด่งลอยลำ ร้อยละ 30.8 เลือก “ซูเปอร์บิ๊กตู่” ตามมาด้วยร้อยละ 14.9 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ร้อยละ 5.3 นายอนุทิน ชาญวีรกูล, ร้อยละ 4.8 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ร้อยละ 3.1 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ร้อยละ 2.1 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, ที่เลือกคนอื่นมีร้อยละ 13.4

และร้อยละ 25.6 ไม่บอก

 

แม้จะเอาแค่ผู้นำพรรคการเมืองมาเป็นตัวเลือก ผลที่ออกมาเช่นนั้นก็ยังดูแปลกๆ

เป็นความแปลกที่เข้าทางคนที่ชอบถามว่า “ถ้าผู้นำประเทศไม่ใช่บิ๊กตู่แล้วจะเป็นใคร”

เป็นการถามที่เริ่มต้นด้วยความเชื่อความคิดของคนถามเอง ที่ว่า “ไม่มีใครทีดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์อีกแล้ว” ซึ่งเหมือนเป็นสรุปที่ปฏิเสธยาก ด้วยเมื่อกวาดตาไปมองผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ในเวลานี้ หลายคนย่อมเกิดความรู้สึกว่า “ยังไม่ใช่” เสียเกือบทั้งหมด

แต่หากคิดอีกทางว่า “คนแบบ พล.อ.ประยุทธ์” ที่พิสูจน์ความสามารถในการนำประเทศมา 7 ปีแล้ว มีความเหมาะสมจริงหรือ

ถ้ายังตอบว่า “ไม่เอาลุงตู่” แล้วจะเอาใคร ก็น่าสงสัยในความสามารถในการวิเคราะห์การเมืองของคนผู้นั้นอยู่ไม่น้อย

เนื่องจากความเป็นมาของผู้นำประเทศ ไม่มีใครที่โผล่ขึ้นมาโดยเสียงไชโยโห่ร้องต้อนรับของประชาชนแม้สักคนเดียว

ต่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีที่ฝากชื่อไว้ให้จดจำว่าเป็นผู้นำที่สร้างศรัทธาให้กับประชาชนได้มากมาย อย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, นายอานันท์ ปันยารชุน, ทักษิณ ชินวัตร ก็ตาม

ในย่างก้าวแรกของการขึ้นมาเป็นผู้นำ ไม่ใช่ขึ้นมาด้วยเสียงไชโยโห่ร้องยอมรับฝีมือความสามมารถ แต่เป็นการสร้างศรัทธาจากผลงานที่ได้ทำขณะที่ทำหน้าที่ผู้นำประเทศ

ค่อยๆ สะสมความเชื่อถือ บารมี จนเกิดการยอมรับขึ้นมาทั้งนั้น

 

และหากหันกลับมามอง “บิ๊กตู่” คนที่ถามกันว่า “ถ้าไม่เอาแล้วจะเอาใคร”

7 ปีที่ผ่านมา ไม่ยอมรับกันจริงหรือว่า ยิ่งนับวันยิ่งเละเทะ เลอะเทอะ ยิ่งอยู่ยิ่งมองไม่เห็นอะไรสักอย่างที่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความสามารถ บุคลิกภาพ การแสดงออก

ดังนั้น แทนที่จะถามว่า “ไม่เอาลุงตู่แล้วจะเอาใคร”

คำถามที่ว่า “ลุงตู่เป็นได้แล้วจะมีใครที่เป็นไม่ได้มากกว่า”

หากมองอย่างหลุดออกจากการคิดถึงความเสี่ยงจากที่ตัวเองอาจจะต้องสูญเสียผลประโยชน์บางอย่างไป จากความเปลี่ยนแปลง นักการเมืองคนไหนบ้างที่มองไม่เห็นว่า “ไม่น่าจะมีอะไรที่แย่ไปกว่านี้อีกแล้ว”

หากลืมตาตื่นขึ้นมาตั้งสติได้ว่าควรจะเป็นโอกาสการพัฒนาของประเทศชาติ และผลประโยชน์ของประชาชนในภาพรวม หัวใจของคนที่ตั้งคำถามว่า “ไม่เอาลุงตู่แล้วจะเอาใคร” คงเปิดกว้างยอมรับคนอื่นให้แสดงผลงานได้บ้าง

ลองเปิดใจให้กว้าง แล้วจะรู้ว่า “โลกที่ไม่มืด” นั้นเป็นแบบไหน