แนวโน้มยุบสภา รัฐบาลลากยาว ต้นปี 2565 จะมีความแจ่มชัด/กรองกระแส

กรองกระแส

 

แนวโน้มยุบสภา

รัฐบาลลากยาว ต้นปี 2565

จะมีความแจ่มชัด

 

ไม่ว่าจะมีการกดดันต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะมีการกดดันต่อพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อนำไปสู่สถานการณ์อันเป็นทางเลือกในทางการเมือง

1 ลาออก หรือยุบสภา

แต่จากที่รัฐบาลสามารถผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 และผ่านพระราชกำหนดเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ด้วยคะแนนอันท่วมท้น

เด่นชัดยิ่ง พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ยังเลือกที่จะอยู่ร่วมรัฐบาล

แม้ว่าจะถูกเบียดขับหลากหลายกรรมวิธีอันแยบยล ไม่ว่าจะเป็นการลิดรอน แย่งชิงเอาอำนาจไปอยู่ในมือมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขยายบทบาทของพรรคพลังประชารัฐให้เหนือกว่า

แต่พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ก็ไม่ยอมแตกหัก

ตรงกันข้าม ด้านหนึ่ง พยายามประท้วงต่อสู้เพื่อให้บทบาทของตนได้กลับคืนมา ขณะที่ด้านหนึ่ง ก็ดำเนินการวิพากษ์และเปิดโปงรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมามากยิ่งขึ้น

ยืนยันว่า ยังดำรงกลยุทธ์ 1 ร่วมมือกัน 1 ต่อสู้แย่งชิงบทบาทระหว่างกันและกัน

 

กระแสเรียกร้องต้องการจึงเป็นกระแสอันเกิดขึ้นและดำเนินไปจากพลัง “ภายนอก” อย่างเป็นด้านหลัก แม้จะทวีความรุนแรง แหลมคม แต่ก็ยังไม่ส่งผลทำให้มีการตัดสินใจจาก “ภายใน”

เสียงตะโกน “ออกไป ออกไป” เกิดขึ้นอย่างอึกทึกครึกโครมมากว่า 1 ปีแล้ว

เริ่มจากสถานการณ์ของ “เยาวชนคนรุ่นใหม่” ในห้วงแรกภายหลังจากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

แม้จะชะงักไปเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

กระนั้น เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ก็มีการชุมนุมโดยเริ่มจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกระจายออกไปอย่างคึกคัก กว้างขวาง

ทั้งในกรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่

ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องที่สำคัญ 3 ประเด็นใหญ่ นั่นก็คือ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพต้องลาออก 1 ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

1 ดำเนินการปฏิรูปสถาบัน เพื่อให้สอดรับกับระบอบประชาธิปไตย

 

ต้องยอมรับว่า การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของ “เยาวชนคนรุ่นใหม่” เมื่อประสานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ก่อให้เกิดพันธมิตรในแนวร่วมอันคึกคักและแหลมคม

กลายเป็นวาระสำคัญที่พุ่งตรงไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทางหนึ่ง ภายในรัฐบาลเองในทางรูปแบบก็สะท้อนให้เห็นความมั่นคงและแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นจำนวน ส.ส.ที่มากกว่า 270 ที่มีความเป็นเอกภาพค่อนข้างสูง

ทางหนึ่ง รัฐมนตรีหลายคนก็รอดพ้นจากการตรวจสอบอย่างมากด้วยอภินิหาร

กระนั้น ภายในความแข็งแกร่งและมั่นคงในทางรูปแบบของรัฐบาล ในอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นจุดอ่อนและตกเป็นเป้าในการขุดคุ้ยโจมตีอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะปัญหาอันละเอียดอ่อนดังในกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

โดยเฉพาะสภาวะปั่นป่วนรวนเรเมื่อไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กลายเป็นปมและขยายประเด็นการโจมตีรัฐบาลหนักหนาสาหัส

 

แม้ว่าข้อเรียกร้องในเรื่องยุบสภาได้กลายเป็น “กระแส” ที่ติดลมบทกระทั่งกลายเป็นประเด็นทุกครั้งเมื่อมีสถานการณ์กระทบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาอีก 1 ปี

เมื่อรัฐบาลสามารถผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นประโยชน์ให้กับตนเอง

ประมาณต้นปี 2565 แนวโน้มการยุบสภาจึงจะมีความแจ่มชัดขึ้น