ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อประโยชน์ใคร/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา

เพื่อประโยชน์ใคร

 

การเปิดเกมเร็วของพรรคพลังประชารัฐในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในสัปดาห์ที่ผ่านมาน่าจะเป็นสัญญาณบ่งบอกทางการเมืองอะไรบางอย่าง

วิรัช รัตนเศรษฐ ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลให้ข้อมูลว่า ในวันที่ 22 และ 23 มิถุนายน พ.ศ.2564 นี้ จะเสนอให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรคพลังประชารัฐได้เสนอค้างไว้ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2564 คาดว่าน่าจะผ่านวาระที่หนึ่ง ไปสู่การพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการในวาระที่สอง ไปถึงการลงมติในวาระที่สามได้เสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคม 2564

ดีไม่ดีอาจจะเสร็จก่อนการลงมติวาระที่สามของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ.2565 ด้วยซ้ำ

ความรีบเร่งดังกล่าว ส่งผลให้ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องเร่งมีท่าทีสองประการ คือหนึ่ง จะมีส่วนร่วมอย่างไรกับการแก้ในประเด็นรายมาตราว่าจะเห็นพ้องหรือเห็นต่างเพิ่มเติมในประเด็นใด

และสอง การเปิดข่าวความพร้อมในการลงสนามเลือกตั้งของแต่ละพรรคอย่างมีนัยยะสำคัญ

หรือการเลือกตั้งรอบใหม่กำลังใกล้เข้ามาถึงแล้ว

ญัตติแก้ไขลับ ลวง พราง

 

เมื่อพิจารณาจากข้อเสนอการแก้ไขรายมาตราที่พรรคพลังประชารัฐเสนอที่ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ คือ

1) การแก้ระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นสองใบ แก้สัดส่วน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 350 : 150 เป็น 400 : 100

2) แก้ในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

3) แก้มาตรา 144 ให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดทำงบประมาณที่ ส.ส.สามารถเสนอโครงการที่เป็นประโยชน์ได้

4) แก้มาตรา 185 ให้ ส.ส.เข้าไปมีส่วนในการติดตามราชการและช่วยเหลือประชาชน

และ 5) แก้มาตรา 270 ให้ ส.ส.มีส่วนในการกำกับติดตามการปฏิรูปประเทศและการทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้ง 5 ประเด็น ประกอบด้วยมาตราที่ต้องแก้ไขรวม 15 มาตรา เสนอเป็นร่างเดียว ซึ่งหมายความถึงการกำหนดทางเลือกให้รัฐสภาแค่สองทาง คือ รับหรือไม่รับทั้งชุด ซึ่งคิดคำนวณแล้วว่า จากเสียงของ ส.ว.ที่มีอยู่ในมือ การผ่านวาระที่หนึ่งคงไม่ใช่เรื่องยาก

วาระที่สองการพิจารณาคำแปรญัตติก็ทำเพียงแค่พิธีกรรม ไปลุ้นเอาในวาระที่สามว่าจะสามารถโน้มน้าวเชิญชวนฝ่ายค้านมาร่วมลงมติให้ได้เสียงสนับสนุนตามเงื่อนไข มาตรา 256(6) ที่ต้องมีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคการเมืองที่ไม่ได้มีตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภา อีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

ถึงเวลาดังกล่าว อาจเห็นงูเห่าเลื้อยเพ่นพ่านอีกครั้ง

 

ลับ : กลับไปใช้ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2540

บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวกับระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่เป็นนวัตกรรมใหม่ในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น มีจุดมุ่งหมายประการเดียวเพียงเพื่อทำลายพรรคการเมืองขนาดใหญ่ฝ่ายตรงข้ามไม่ให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

ซึ่งก็ก่อให้เกิดผลสำเร็จตามคาด คือพรรคเพื่อไทยแม้จะได้ ส.ส.เขตมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งถึง 136 ที่ แต่กลับไม่ได้การจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว ด้วยกลไกที่ถูกออกแบบมาดังกล่าว

แต่เมื่อถึงปัจจุบัน พรรคพลังประชารัฐมีแนวโน้มที่เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่จะชนะในเขตเลือกตั้งต่างๆ ได้ ด้วยการไหลมารวมของ ส.ส. หรือผู้สมัครที่มีฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ค่อนข้างดี ความหวาดหวั่นต่อปรากฏการณ์บัญชีรายชื่อเป็นศูนย์จึงเกิดขึ้นต่อพรรคนี้ นำไปสู่ข้อเสนอในการขอแก้รัฐธรรมนูญกลับไปใช้ระบบบัตรสองใบดังเดิม

โดยโยนบาปกรรม การออกแบบที่เป็นปัญหาไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ส่วนการแก้ไขสัดส่วนให้มี ส.ส.เขตมากขึ้น เป็น 400 เขต คงเล็งเห็นแล้วว่า การเลือกตั้งภายใต้การจัดการของ กกต.ชุดปัจจุบัน ไม่สามารถจัดการกับคนทุจริตซื้อเสียง หรือการใช้อำนาจอิทธิพลของรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบ การใช้เงินยังเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งระดับเขต และการมีสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อมาก ทำให้พรรคการเมืองที่เกิดใหม่และได้รับความนิยมในระดับกว้าง สามารถได้ ส.ส.ในสัดส่วนดังกล่าวมาก สร้างความหนักใจในการทำงานของรัฐบาล จึงปรารถนาที่จะลดสัดส่วนดังกล่าวให้น้อยลง

เรื่องลับแบบนี้ คอการเมืองมองออกโดยไม่ยาก

 

ลวง ชูประเด็นสิทธิเสรีภาพ

การชูประเด็นการแก้ในหมวดสิทธิเสรีภาพ แก้ไขในมาตรา 29 เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในคดีอาญา

และมาตรา 41 ที่ให้สิทธิแก่ชุมชนในการฟ้องหน่วยงานของรัฐ โดยรัฐต้องช่วยในการจัดหาทนาย

ทั้งสองเรื่องนี้อาจดูดี

แต่ต้องยอมรับว่า แม้สิ่งต่างๆ ที่เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพจะมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้นยังมีกระบวนการในทางปฏิบัติที่แตกต่าง

เช่น ผู้ต้องหาในคดีการเมืองกลับถูกคุมขังเป็นเวลานับเดือน นับปี

แต่คดีร้ายแรงกลับได้รับการประกันตัว

หรือการเสนอกฎหมายที่กำหนดต้องให้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก็กระทำพอเป็นพิธีกรรม

ข้อเสนอในเรื่องสิทธิเสรีภาพ จึงดูเหมือนเป็นภาพลวงที่ประกอบเข้ามาเพื่อให้ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญดูดีขึ้นเท่านั้น

 

พราง ในเรื่องเพิ่มอำนาจ ส.ส.

ประเด็นการแก้ไขในมาตรา 144, 185 และ 270 ที่เพิ่มอำนาจในการกำกับ ติดตาม และเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงานของฝ่ายราชการประจำ กลับกลายเป็นเรื่องพรางที่น่ากลัวยิ่ง

ในมาตรา 144 หลักการที่กำหนดให้ในขั้นตอนการแปรญัตติ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ส.ส.ไม่สามารถแปรญัตติเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมรายการงบประมาณที่นำไปสู่การมีส่วนได้ส่วนเสียของฝ่ายการเมืองได้ ซึ่งเป็นหลักการที่เขียนขึ้นเพื่อป้องกันพฤติกรรมการแปรญัตติงบประมาณ ตัดงบฯ ของกระทรวง กรมต่าง ๆ แล้วนำไปใส่ไว้ในกองกลางเพื่อจัดสรรกลับไปยังพื้นที่ของ ส.ส. ที่เรียกกันในอดีตว่า งบฯ ส.ส. จำนวนคนละ 25 ล้านบาทบ้าง 50 ล้านบาทบ้าง

การกลับไปใช้มาตรา 168 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ในกรณีนี้ จึงเหมือนการถอยหลังเข้าคลอง ซึ่งหากมีการแก้ไขจากนี้เราจะเห็นกรรมาธิการงบประมาณกลับมาแผ่อำนาจ ตัดงบประมาณของหน่วยราชการมาเป็นงบฯ ส.ส. เพื่อใช้สร้างคะแนนเสียงในพื้นที่กันอย่างสนุกสนาน

เช่นเดียวกับมาตรา 185 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่กำหนดไม่ให้ ส.ส. หรือ ส.ว. ใช้สถานะหรือตำแหน่ง กระทำการใดๆ อันมีลักษณะก้าวก่ายหรือแทรกแซงการทำงานของราชการประจำ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ซึ่งฝ่ายการเมืองมองว่าเป็นการทำให้ไม่สามารถเข้าไปติดตาม เร่งรัดการปฏิบัติงานของฝ่ายราชการได้ถนัดมือ

รวมทั้งมาตรา 270 ที่กำหนดให้หน้าที่ในการกำกับ ติดตามเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศและการทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาโดยให้ฝ่าย ส.ส.เข้ามามีส่วนในเรื่องราวดังกล่าวด้วย

การแก้ไขในประเด็นดังกล่าวล้วนเป็นหลุมพรางในการดึงอำนาจของฝ่าย ส.ส.ในการแทรกแซงการทำงานของราชการประจำกลับคืนมา แม้ว่าอาจมีเหตุผลในการทำหน้าที่ของฝ่ายการเมืองที่ต้องกำกับการทำงานฝ่ายราชการประจำ แต่ในอดีตล้วนพิสูจน์แล้วว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาของการเมืองไทยในระบอบอุปถัมภ์ทั้งสิ้น

ประเด็นการแก้รายมาตราที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ จึงมิได้อยู่บนพื้นฐานประโยชน์ที่แท้ของประชาชน แต่เป็นอีกความพยายามในการทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปเพื่อ “พวกเขา” มากยิ่งขึ้นอีก