คำ ผกา | ความโง่ที่ช่วยไม่ได้

คำ ผกา

ฉันควรเขียนอย่างยโสโอหังที่สุดได้ว่าคนอย่างฉันไม่ดูละครที่เรียกกันทั่วไปว่า “ละครหลังข่าว” และจะเขียนอย่างยโสน่าตบที่สุดต่อไปว่า เหตุที่ไม่ดูเพราะมันไม่ใช่อะไรที่คนซึ่งมีรสนิยมอันดีทางศิลปะ วรรณกรรม อย่างฉันจะทนดูได้

เขียนได้น่าตบไหม?

อันที่จริงละคร “น้ำเน่า” ของประเทศไหนก็มีไวยากรณ์ไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอก เพราะมันแลดูเป็นส่วนขยายของโอเปร่า/ลิเก ในภาคที่หยาบลงมา

ความบันเทิงของการเสพละครน้ำเน่าคือการนำเสนอความตระการของฉาก บ้านพระเอก คุณชาย คุณหญิง ท่านแม่ ท่านพ่อ ที่ต้องมีบ้านประดุจคฤหาสน์ อันเมื่อส่องดูรายละเอียดแล้วเหมือนสร้างมาจากชิ้นส่วนเศษปูนปั้นของบ้านชนบทของขุนนางปลายแถวของฝรั่งเศสมาประกอบรวมกับเครื่องปั้นกังไสพ่อค้าจีนที่ไปซื้อของเก่าตลาดนัดมาประดับบ้านให้ดูเป็นผู้ลากมากดีมาแต่เก่าก่อน

และที่ขาดเสียไม่ได้คือ บันไดโค้งวนอลังการ เอาไว้ให้ตัวละครคุณหญิงแม่ย่างกรายลงมาดุจนางพญา

ส่วนการแต่งตัวของตัวละครนั้นก็ต้องวิจิตรตระการตา ผมใหญ่สุด ขนตาปลอมหนาสุด ยาวสุด แก้มแดงปลั่ง คิ้วเป็นคิ้ว เสื้อผ้าหน้าผมต้องชัด จินตนาการว่ามันคืองิ้วที่ดร็อปสเต็ปลงมาให้ร่วมสมัยนั่นแหละ ถึงได้ล้อกันว่า นางเอกจะตกน้ำ จะนอน จะไปอยู่สลัม หน้าต้องแน่น ผมต้องปัง

และถ้าจะแต่งมอซอก็ต้องเป็นความมอซอที่ปลอมที่สุดเท่าที่จะปลอมได้ ปลอมชนิดที่อีกนิดเดียวก็เป็นละครโรงเรียนชั้นประถมปลายแล้ว

ในหลายประเทศความบันเทิงอย่างละครน้ำเน่านี้ได้คลี่คลายปรับตัวไปตามความซับซ้อนของสังคม เช่น ซีรีส์เกาหลีทั้งหลาย แต่ในหลายสังคม ละครน้ำเน่ากึ่งลิเก กึ่งโอเปร่ายังได้รับความนิยม และเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมส่งออก

เป็นรายได้เข้าประเทศเป็นกอบเป็นกำ เช่น ละครอินเดีย ที่บ้านเราก็ฮิตกันมาก

 

ส่วนละคร “น้ำเน่า” ไทยนั้นน่าจะมียุคทองอยู่ในยุค 80s-90s ปลายๆ ตั้งแต่ยุคจารุณี สุขสวัสดิ์ มนฤดี ยมาภัย ที่บ้านทรายทอง กับดาวพระศุกร์ ทรงอิทธิพลสุดๆ ยุคทองของละครน้ำเน่าคือยุคที่วันอวสานดาวพระศุกร์ เขาว่ากันว่า ถนนว่างโล่งราวกับเมืองร้าง เพราะคนอยู่บ้านรอดูละครตอนอวสาน

ในยุคนั้น ดาราหนัง ดาราละคร รวมทั้งคนในวงการจึงดูมีสถานะพิเศษอย่างยิ่ง เหมือนเทวดา นางฟ้า เป็นความงาม มลังเมลืองดังดวงดาว สมแล้วที่เขาว่าคือ “ดารา”

และในยุคที่สื่อมีจำกัดแค่โทรทัศน์ และวิทยุ ในยุคที่ประเทศไทยยังมีคนจนอยู่มากถึงร้อยละ 65.2 (ตัวเลขคนจนไทยลดลงเหลือร้อยละ 9.85 ในปี 2561)

การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในสเกล “มวลมหาประชาชน” ยังไม่เกิด (จินตนาการถึง ZARA, H&M ) เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างทีวีสี หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องซักผ้า กาต้มน้ำร้อนไฟฟ้า ถือเป็นของหรูหราราคาแพง คนที่มีเงินซื้อของเหล่านี้มาใช้มีเพียงน้อยนิดในสังคม

คนร้อยละ 70 ของประเทศที่มอมแมม มอซอ หุงข้าวเป่าไฟด้วยฟืนหรือถ่าน ทำงานในท้องนาตัวดำคล้ำ จึงเป็นภาพที่ตัดกันกับเหล่า “ดารา” ที่ผิวพรรณเปล่งปลั่งขาวสะอาดสวยงามห่อหุ้มร่างกายด้วยเครื่องแต่งกายงดงามดุจนางฟ้านางสวรรค์จุติลงมา

“ดารา” จึงมีสถานะอันทรงไว้ซึ่งออร่าพิเศษ

เป็นอีกเผ่าหนึ่งของมนุษย์ที่ไม่เหมือนคนธรรมดาทั่วไป เหมือนจะเป็น “คน” เหมือนกับเรา แต่ก็ดูคล้ายกึ่งเทพกึ่งมนุษย์ที่เอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่รู้สึกว่าพวกเขาเหมือนเป็นรูปเคารพหรือมีความเป็นไอดอลอย่างตรงตามตัวอักษร

ดาราสมัยนั้นจึงต้องแบกความคาดหวังของแฟนๆ และสังคมให้ดำรงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง

ยิ่งดาราหญิงต้องห้ามมีแฟน ห้ามมีข่าวฉาวๆ เรื่องชู้สาว ต้องแต่งตัว แต่งหน้า ทำผม อย่างที่สาธารณชนคาดหวัง

ยิ่งกว่านั้น “นางเอก” ทั้งหลายจะนุ่งสั้น โชว์นม แต่งตัวโป๊ไม่ได้เลย เพราะเธอคือ “นางเอก”

ไม่ต้องพูดถึงว่า “นางเอก” เหล่านั้นจะสามารถเปิดเผยกับสังคมว่าเป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน เพราะในการเป็น “ไอดอล” อะไรแบบนี้เป็นเรื่องที่รับไม่ได้

ฉันเกริ่นมายาวมาก เพื่อจะบอกว่า “ยุคทอง” ของดาราแบบที่เล่ามามันจบลงไปแล้ว แม้คนไทยจะยากจนลงอย่างมามในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

แต่สังคมไทยผ่านยุคการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรมาเป็นสังคม “ทุนนิยมประชาธิปไตย” เต็มรูปแบบนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา บวกกับยุคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและการบริโภคที่เข้มข้น เกิด fast fashion อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ เสื้อผ้า รองเท้า ถูกผลิตออกมาเป็นปริมาณมหาศาล จนสินค้าเหล่านี้มีราคาที่ถูกลงจนกลายเป็นของใช้ในบ้านอันธรรมดาสามัญ

เราไม่จำเป็นต้องหาความบันเทิงให้ตัวเองด้วยการเสพความมลังเมลืองของดารา เพราะสมัยนี้ ทุกคนสามารถสวยอย่างดาราได้หมด ทั้งเสื้อผ้าราคาถูกลง ราคาการทำศัลยกรรมที่ถูกลง ความขาว ความสวย ความหอม ความตระการของดารา เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็มีได้

ยิ่งในยุคที่มีสารพัดแอพพลิเคชั่นแต่งรูปในสมาร์ตโฟน ทำให้ทุกคนสามารถมีหน้าตาเหมือน “ดารา” ได้หมด

สินทรัพย์ว่าด้วยความงามทางร่างกายก็ไม่ใช่สิ่ง exclusive ที่มีแต่ดาราเท่านั้นที่มี

อินเตอร์เน็ตทำให้เราได้เสพความบันเทิงอย่างหลากหลาย มีความ “น้ำเน่า” จากทั่วโลกรอให้เราเสพ แถมยังเป็นความน้ำเน่าที่มีโปรดักชั่นประณีตกว่าหรือไม่กว่า อลังกว่า ลิเกกว่า ตระการตามากกว่าไปเลย

 

สําหรับ ณ วันนี้รายการประกวดร้องเพลง หรือละคร “น้ำเน่า” ทางโทรทัศน์ไทย ไม่ได้ถึงกับ “ไม่มีคนดู” แต่คนดูมันในท่ามกลางความบันเทิงที่หลากหลายขึ้น ไม่ได้เป็นเสาหลักแห่งความบันเทิงเดียวในชีวิตเหมือนในยุค 80s-90s

ในสมัยนี้ดาราต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางดาวติ๊กต็อก อินฟลูเอนเซอร์ คนแคสต์เกมที่มีผู้ติดตามเป็นล้าน หรือแม้แต่ยูทูบเบอร์เด็กที่แค่วิ่งไปวิ่งมาเล่นซ่อนหากันคนก็ดูเป็นล้านๆ ครั้งแล้ว

และนั่นทำให้ดาราหลายคนก็ต้องผันตัวมาทำอะไรบ้าๆ บอๆ ในติ๊กต็อกแทน

หรือนักร้องหลายคนก็ต้องมาจับคู่กับยูทูบเบอร์โนแนมแต่มียอดวิวสูงลิบที่โคฟเวอร์เพลงตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจินตนาการไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นในยุคทองของแกรมมี่ อาร์เอส

เหมือนที่ฉันเคยพูดไปหลายครั้งว่า ผู้จัดละครทั้งหลาย “ดาราดัง” ทั้งหลาย อย่าสำคัญตัวเองผิดว่าตนยังเป็นเหมือนเทวดา นางฟ้า เหมือนในยุค 90s

นี่คือภาวะอัสดงของคนวงการบันเทิง

คิดดูสมัยนี้ใครแคร์จะดูงานสุพรรณหงส์ หรือนาฏราช หรือตุ๊กตาทอง หรือโทรทัศน์ทองคำ เหล่านี้นับวันก็ยิ่งจะเหมือนงานที่จัดกันเอง ดูกันเอง ให้รางวัลกันเองไป-มา

จัดกันไปพอให้ประโลมใจว่า อุ๊ย อาชีพของฉันมันยัง extravagant หรูหราอลังการ ระยิบระบับ เป็นนางฟ้านางสวรรค์ อยู่ในดาวอีกดวงหนึ่งที่มนุษย์โลกต้องแหงนหน้าขึ้นมามองดูด้วยอย่างตื่นตะลึงชื่นชม

เขียนมาทั้งหมดนี้ก็แค่นึกสมเพชเวทนาละครเรื่องหนึ่งที่พยายามสร้างฉากลิเกแสนจะไม่สมจริง ทั้งฉาก เสื้อผ้า หน้าผม “ดารา” ให้มานั่งพูดเรื่องการพอใจในสิ่งที่ตนเองมี ความสุขกับวิถีชีวิตเรียบง่าย มันน่าเวทนา

เวทนาหนึ่งเพราะใครๆ ก็รู้ว่าวาทกรรม “พอใจในความจน” เป็นเรื่องชวนหัว เศรษฐีจำนวนหนึ่งใช้เงินเนรมิตบ้านน้อยกลางทุ่ง ขุดสระ ทำปุ๋ยหมัก ปลูกผักกินเอง เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำสวน จ้างคนสวนหลายสิบคนดูแล

จากนั้นตัวเองก็ใส่เสื้อผ้าฝ้าย ลินิน สวมหมวกปานามา หรือนุ่งผ้าถุงฝ้ายทอมือย้อมครามธรรมชาติ เดินเก็บผักในสวน ถ่ายรูปแล้วพร่ำพูดเรื่องธรรมะ ธรรมชาติ และความพอเพียง หลอกให้ชนชั้นกลางเพ้อเจ้อทั้งหลายหลงเชื่อ ชื่นชมโสมนัสกันไป

เวทนาอีกหนึ่ง เพราะใครๆ ก็รู้ว่าละครแบบนี้ หากชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนาดูเขาก็หัวเราะเยาะใส่ และเขาก็ดูมันในฐานะที่เป็น “ลิเก” ดูแล้วก็ผ่านไป ไม่ถือสาหาความ แถมยังให้อภัยว่า “นี่คือความเพ้อฝันกลวงๆ ของคนกรุงเทพฯ โง่ๆ” – มันน่าเวทนาซ้ำซ้อนเพราะแม้แต่ชาวบ้านที่คนเขียนบทละครคิดเองเออเองว่าจะล้างสมองเขา

แต่เขาก็นั่งดูไปขำไปเหมือนดูลิเกที่พระเอกแต่งตัวเต็มยศไปเดินป่า แล้วทำอะไรโง่ๆ น่าสมเพชไปตลอดทางและจนจบเรื่อง

เวทนาอีกขั้นคือ ในขณะที่สากลโลกยึดถือในคุณค่าของเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตย การกระจายความมั่งคั่ง สิทธิที่จะได้ และมีสาธารณูปโภคที่ดีที่สุดจากรัฐ

แต่ดาราไทย และคนทำละครไทยยังปวารณาตัวเองเป็นศิษย์เกาหลีเหนือสร้างโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐโดยไม่ต้องมีใครจ้างหรือขู่ว่าถ้าไม่ทำจะจับไปอยู่ค่ายกักกัน

ทอดตัวรับใช้ระบบที่ไม่เห็นคนเป็นคนอย่างเต็มอกเต็มใจ และไม่รู้ว่าสิ่งนี้มันน่าขันแค่ไหนในสายตาชาวโลก

 

เวทนาสุดท้ายคือ ในยุคอัสดงของอาชีพดาราและวงการ “ละคร” โทรทัศน์ บุคลากรในอุตสาหกรรมนี้ ยังฟรีซตัวเองไว้ในฟองสบู่ของโลกยุค 80s และ 90s โดยไม่เคยลืมตาดูเลยว่าโลกแห่งความเป็นจริงเขาไปถึงไหนกันแล้ว เขาคุยกันเรื่องอะไร เขาดูหนังเรื่องอะไร เขาใฝ่ฝันถึงสังคมแบบไหน

เหตุที่ไม่ยอมออกมาก็คงเป็นเพราะกลัวจะรับความจริงไม่ได้ว่า โลกข้างนอกนั้นเขาไม่รู้จักพวกคุณ ไม่ได้แคร์พวกคุณ และไม่ได้เห็นพวกคุณ “พิเศษ” อะไรขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว

ทางออกของดาราและผู้จัดละครเหล่านี้คือคุยกันเอง อวยกันเอง รู้จักกันเอง ดื่มด่ำออร่าแห่งการเป็นดารากันเอง และมุ่งมั่นทำละครอันอุดมไปด้วยความคับแคบ ตื้นเขิน ชนิดที่เรานั่งดูแล้วเรายังอายแทน

เราช่วยคนโง่ให้หายโง่ไม่ได้ เราก็คงต้องปล่อยละครเหล่านี้ประจานความโง่ของทุกคนที่มีส่วนในการผลิตมันออกมา และนั่งดูความโง่ประจานตัวมันเองอย่างช่วยไม่ได้จริงๆ