จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : สียอดนิยม / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ภาพจาก leezees.com

 

สียอดนิยม

 

สมัยโบราณถือกันว่า ‘นิ้วงาม’ ต้องกลมเรียวดังลำเทียนและมีเล็บสีแดง ความนิยมนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์ วรรณคดีสมัยสุโขทัย เรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายถึงสตรีในอุตตรกุรุทวีปไว้ว่า

“นิ้วตีนนิ้วมือเขานั้นกลมงามนะแน่ง เล็บตีนเล็บมือเขานั้นแดงงามดั่งน้ำครั่ง อันท่านแต่งแล้วแลแต้มไว้”

“กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” วรรณคดีสมัยอยุธยา สะท้อนภาพนางในราชสำนักย้อมเล็บและนิ้วมือให้มีสีแดงดังนี้

“นิ้วนางพี่พิศเพี้ยน                                       เล็บย้อมเทียนแสงเฉิดฉัน

นิ้วแดงแสงมีพรรณ                                      กลมคือปั้นฟั่นเทียนกลึง”

จะเห็นได้ว่ากวีชมว่านิ้วนางกลมกลึงเรียวยาวราวเทียนขี้ผึ้งที่ฟั่นแล้ว แดงทั้งนิ้วและเล็บเนื่องจาก ‘ย้อมเทียนแสงเฉิดฉัน’ เทียนในที่นี้คือใบของต้นเทียนกิ่ง ซึ่งตรงกับข้อความใน “จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับสันต์ ท.โกมลบุตร แปล) ตอนหนึ่งว่า

“…อนึ่ง ชาวสยามรักที่จะให้เล็บมือน้อยๆ แดงด้วย เพื่อให้สมประสงค์ ฉะนี้ชาวสยามจึงได้ย้อมเล็บ ใช้น้ำยาย้อมอย่างนั้นๆ ซึ่งทำด้วยยางน้ำกับใบไม้อย่างหนึ่ง (ใบเทียน) คล้ายทับทิม (โปรเมเคเนต)…”

นอกจากนี้ นิโกลาส์ แชร์แวส ซึ่งเข้ามาอยู่ในเมืองไทยรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่นเดียวกับมองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ยังบันทึกไว้ด้วยว่า การไว้เล็บยาวและการย้อมเล็บนิ้วก้อยเป็นสีแดงบอกถึงฐานะทางสังคมโดยตรง

“…จะมีบุคคลที่เป็นผู้ลากมากดีเท่านั้นที่ไว้เล็บยาวและย้อมนิ้วก้อยให้เป็นสีแดง เพราะคนที่ทำงานนั้นต้องตัดเล็บสั้น อันเป็นเครื่องชี้ความแตกต่างระหว่างผู้ดีกับไพร่…”

(“ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” ฉบับสันต์ ท. โกมลบุตร แปล)

 

ชื่อ ‘เทียนกิ่ง’ ที่ใช้ใบย้อมนิ้วและเล็บให้เป็นสีแดง อาจไม่ใคร่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่า ‘henna’ คือเทียนกิ่ง คนที่ย้อมผมร้องอ๋อไปตามๆ กัน

“สารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 14” เล่าถึงที่มาของไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดย่อมชนิดนี้ไว้ว่า

“…เป็นพันธุ์ไม้ต่างประเทศแถบตะวันออกกลาง ได้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานมาแล้ว เพื่อใช้เมล็ดย้อมสีผ้าได้สีแดงแสด ที่เรียกกันทางการค้าว่า henna”

บทความเรื่อง “เทียนกิ่ง…สีย้อมผมจากธรรมชาติ” ของอรัญญา ศรีบุษราคัม สำนักข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้รายละเอียดว่า

“…เทียนกิ่ง หรือเฮนน่า (henna) เป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้ประโยชน์ทั้งในด้านยาและเครื่องสำอางมาตั้งแต่สมัยโบราณมากกว่าพันปีมาแล้ว จัดเป็นเครื่องสำอางเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก มีการใช้ในหลายประเทศทั้งตะวันออกกลาง เอเชีย ยุโรป และแอฟริกา โดยใช้สารสีจากใบทาและตกแต่งสีเล็บ ฝ่ามือ และฝ่าเท้า ใช้ทำสีย้อมผมซึ่งจะทำให้ได้สีผมไปทางสีแดงหรือแดงปนส้ม”

“สารสำคัญซึ่งเป็นสารสีในเทียนกิ่งคือ Lawsone พบมากที่สุดในส่วนของใบ ส่วนของดอก กิ่ง เปลือกต้น และเมล็ด สาร Lawsone จะให้สีส้มแดง…”

 

ความนิยมย้อมนิ้วย้อมเล็บให้เป็นสีแดงด้วยใบเทียนกิ่ง ใช่จะมีแค่สมัยสุโขทัยและอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ก็มี นิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” บรรยายถึงนางยุพาผกา ธิดาบุญธรรมของนางละเวง ขณะเตรียมการทำเสน่ห์สินสมุทรตามแผนของนางละเวง โดยเริ่มจาก

“อาบน้ำในแม่ขันอันบรรจง

แล้วนุ่งห่มสมเป็นที่บุตรีเอก                    จุดเทียนเสกมนต์ตามความประสงค์

แป้งน้ำมันจันทน์ลูบทั้งรูปทรง                 สุคนธ์ผงผัดผ่องละอองนวล

น้ำมันแก้วแววตาเจิมหน้าผาก                 แล้วสีปากจิ้มแก้มแล้วแย้มสรวล

กระจกส่องลองเยื้อนเบือนกระบวน           ให้ยั่วยวนแย้มยิ้มทำพริ้มพราย”

เมื่อจัดแต่งทรงผมและสวมใส่เครื่องประดับต่างๆ แล้ว นางก็ “ใส่แหวนเนื่องเรืองอร่ามแวววามวาว เล็บมือยาวย้อมเทียนเจียนประจง” แสดงว่านอกจากไว้เล็บยาว ยังย้อมเล็บเป็นสีแดงด้วยใบเทียนกิ่งอีกด้วย

ซึ่งไม่ต่างจากตอนที่พระลักษณวงศ์เกี้ยวนางกินรีรัตนาในนิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์”

“พระตรัสพลางกุมกรนรพลัน                   แล้วรำพันนิ้วกลมช่างสมเล็บ

แม่เล็บแดงแสงชาดประหลาดสี               เล็บเช่นนี้ถึงจะหยิกไม่อยากเจ็บ”

นางรัตนามีเล็บสีแดงเช่นเดียวกับนางยุพาผกา กวีบรรยายว่าเล็บนางรัตนาแดงดุจแสงชาด (ชาดคือวัตถุสีแดงมีทั้งผงและก้อน ใช้ผสมน้ำมันสำหรับประทับตราหรือทาสิ่งของ)

 

สมัยผู้เขียนเป็นนิสิต มีโคลงนิราศบางเรื่องเคยผ่านตา จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าพูดถึงใบเทียนกิ่งไว้ด้วย สองสามวันมานี้ลองค้นหนังสือเก่าๆ ดูก็ไม่ผิดหวัง

โคลงที่กล่าวถึง ‘ใบเทียนกิ่ง’ มาจาก “นิราศแม่น้ำน้อย” หรือ “โคลงนิราศไปแม่น้ำน้อย” (แต่งเมื่อ พ.ศ.2334 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 1 – พ.ณ ประมวญมารค)

“ถึงขุนเทียนเทียบเข้า                              เรียมถาม

เทียนแม่พอกมืองาม                              เล็บไล้

ขุนเอยช่วยบอกความ                              ขวังสั่ง

ขอบดใบเทียนให้                                   พอกช้ำทรวงเรียม”

เมื่อกวีนั่งเรือเดินทางถึงบางขุนเทียน ชื่อสถานที่ ‘บางขุนเทียน’ ทำให้นึกถึง ‘เทียน’ หรือ ‘ใบเทียนกิ่ง’ ที่สาวคนรักใช้พอกมือและเล็บ ดังที่บรรยายว่า ‘เทียนแม่พอกมืองาม เล็บไล้’ ทั้งยังระบุชัดเจนว่าใช้ส่วนที่เป็นใบเท่านั้น ‘ขอบดใบเทียนให้ พอกช้ำทรวงเรียม’

อีกเรื่องหนึ่งคือ “โคลงนิราศสรวมครวญ” เล่นคำว่า ‘เทียน’ ที่มีความหมายต่างกันระหว่าง ‘ใบเทียนกิ่ง’ ที่ย้อมมือเป็นสีแดง กับ ‘เทียน’ ที่ให้แสงสว่างยามค่ำคืน ดังนี้

“เทียนแดงเทียนด่วนย้อม                        มือมี

เทียนว่าเทียนแสงศรี                               สว่างเหย้า

เย็นยามสุริยลี                                       ลาโลก ลงเอย

เทียนแม่จุดจักเข้า                                  สู่ห้องหาใคร ฯ”

ตัวอย่างข้างต้นนี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นการย้อมมือให้แดงด้วยใบเทียนกิ่ง มิได้แดงเฉพาะเล็บ แต่แดงทั่วถึงทั้งนิ้วและเล็บ ดังที่บรรยายว่า ‘เทียนแดงเทียนด่วนย้อม มือมี’

 

ความนิยมย้อมนิ้วและเล็บให้แดง นอกจากกวีไทยจะเล่าไว้ในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ สังฆราชปาลเลกัวซ์ชาวฝรั่งเศสยังบันทึกไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ฉบับสันต์ ท.โกมลบุตร แปล) ว่า

“พวกมั่งมีนิยมไว้เล็บยาว หญิงสาวและชายหนุ่มย้อมเล็บให้แดงด้วยยางไม้ชนิดหนึ่ง”

แม้จะไม่มีรายละเอียดของวิธีการย้อม แต่เข้าใจได้ว่าน่าจะใกล้เคียงกับที่ “จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” บันทึกไว้ในสมัยอยุธยาว่า

“…ชาวสยามนิยมย้อมเล็บมือนิ้วก้อยให้เป็นสีแดงอีกด้วย ในการนี้ต้องขูดผิวเล็บออกแล้วใช้น้ำยางชนิดหนึ่งทา ทำจากข้าวบดในน้ำมะนาวผสมกับใบไม้ชนิดหนึ่งคล้ายๆ กับใบทับทิม…”

ใบไม้ที่ว่านี้คือ ‘เทียนกิ่ง’ หรือ ‘henna’ นั่นเอง

จะเห็นได้ว่าทั้งนิโกลาส์ แชร์แวส (ที่เข้ามาในสมัยอยุธยา) และสังฆราชปาลเลกัวซ์ (ที่เข้ามาสมัยรัตนโกสินทร์) ต่างตั้งข้อสังเกตไว้ตรงว่าคนไทยที่ไว้เล็บยาวย้อมนิ้วและเล็บเป็นสีแดง ล้วนเป็นผู้ดีมีสกุลหรือร่ำรวย ลักษณะและสีเล็บแสดงถึงฐานะทางสังคมของผู้นั้นได้เป็นอย่างดี

สมัยก่อนอยากสวยพร้อม ต้องย้อมมือให้แดงทั้งนิ้วและเล็บ สมัยนี้ขอสวยแค่เล็บ นิ้วไม่ต้อง ถึงจะมียาทาเล็บสารพัดสีให้เลือกใช้ ทาสิบสี สิบนิ้วก็เคยเห็น ‘สีแดง’ จึงยังคงเป็นสียอดนิยมสำหรับเล็บมือเล็บเท้าเสมอมา…ขอบอก