ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : บ่าปิน

ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า บ่าปิน

หมายถึง มะตูมของภาคกลาง ต้นบักตูมของภาคอีสาน และกะทันตาเถรหรือตุ่มตังของภาคใต้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Quince หรือ Bael หรือ wood apple มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aeglemarmelos(L.) Corrêa ex Roxb. คำว่า mamelos ยืมมาจากชื่อมะตูมในภาษาโปรตุเกส เป็นสมาชิกในวงศ์ส้ม RUTACEAE

ลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก ผลัดใบก่อนออกดอก มีหนามแข็งยาว ใบประกอบมีใบย่อย 3 ใบ มีต่อมน้ำมันในเนื้อใบส่องกับแสงจะเห็นเป็นจุดน้ำมันโปร่งแสง ขยี้ดมจะได้กลิ่นหอมของน้ำมันระเหยง่าย

ดอกออกเป็นช่อสั้น สีเขียวแกมเหลืองอ่อน ขนาด 1.5-2 ซ.ม. มีกลิ่นหอมอ่อนๆ มี 5 กลีบ เกสรเพศผู้จำนวนมาก ดูละม้ายคล้ายคลึงกับดอกส้มโอ มะกรูด มะนาว

ผลมีลักษณะรี กลมรี หรือยาว ขนาดกว้าง 8-10 ซ.ม. ยาว 12-18 ซ.ม. เปลือกแข็งหนาเป็นเนื้อไม้เมื่อแก่ เปลือกนอกสุดมีต่อมน้ำมัน ภายในแบ่งเป็น 8-15 ช่องคล้ายส้ม แต่ไม่มีถุงส้ม แต่ละช่องมีเมล็ดรูปรีแบนสีน้ำตาลอ่อน มียางใสหุ้มเมล็ด มีเส้นขนสีขาวคลุมหนาแน่น

พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณและป่าแล้งทั่วไป ที่ระดับความสูง 50-700 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และติดผลช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์

ผลสุกสามารถรับประทานเป็นผลไม้ได้ มีรสหวานหอม ยอดอ่อนและใบอ่อนนำมารับประทานสดเป็นผักหรือใส่แกง โดยเฉพาะแกงเนื้อช่วยดับคาว และช่วยย่อยได้ ให้รสขมกลมกล่อม

ประโยชน์อย่างอื่นสามารถใช้ยางจากผลติดกระดาษแทนกาวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ติดกระดาษว่าวกับโครงไม้ไผ่ เนื่องจากผลมะตูมจะออกในช่วงเกี่ยวข้าวที่มีลมว่าวพอดิบพอดี

 

การใช้ประโยชน์ตามตำรายาไทยใช้ส่วนผล มีรสฝาด หวาน เป็นยาเย็น แก้ท้องเดิน ท้องเสีย บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้เจ็บคอ ร้อนใน ปากเปื่อย ขับเสมหะ ขับลม มะตูมทั้งห้า (ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล) รสฝาดปร่า ซ่า ขื่น ใช้แก้ปวดศีรษะ ตาลาย เจริญอาหาร ลดความดันโลหิตสูง

ผลมะตูมเป็นส่วนประกอบในยาไทยหลายขนาน เช่น ใช้ในพิกัดตรีผลสมุฏฐาน คือ ผลไม้ 3 อย่างได้แก่ มะตูม ยอ และผักชีลา สรรพคุณแก้สมุฏฐานแห่งตรีโทษ ขับลมต่างๆ แก้ไตพิการ

และ “ยาตรีเกสรมาศ” ใช้เป็นมะตูมอ่อนกับเกสรบัวหลวง และเปลือกฝิ่นต้น สรรพคุณแก้อ่อนเพลีย ปรับธาตุในผู้ป่วยเพิ่งฟื้นไข้ ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ คุมธาตุ บำรุงกำลัง แก้ท้องเดิน

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผลมะตูมพบฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ฤทธิ์ลดการอักเสบบวม และฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูขาว

องค์ประกอบทางเคมีของผลแก่มะตูมมีสารเมือกและเพ็กติน น้ำมันระเหยง่าย แทนนิน และสารที่มีรสขม

 

สรรพคุณพิเศษของผลมะตูมอีกอย่างหนึ่งคือมีฤทธิ์ลดความกำหนัด คลายกังวล ช่วยให้สมาธิดีขึ้น

ชาวพุทธจึงนิยมทำเป็นน้ำปานะถวายพระสงฆ์

ส่วนใบมะตูมคือเป็นใบไม้ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากลักษณะใบที่เป็น 3 แฉกคล้ายพระแสงตรีศูรซึ่งเป็นอาวุธของพระนารายณ์

ตามตำนานเทวปางของพราหมณ์มีอยู่ว่า พรหมองค์หนึ่งจุติมาเป็นช้างชื่อเอกทันต์ มีฤทธิ์และกำลังมหาศาล ไม่เชื่อโองการใดๆ ของพระนารายณ์

พระองค์จึงทรงนำไม้เถา 7 ชนิด มาร่ายมนต์ฟาดลงที่รอยเท้าช้างเอกทันต์ ยังผลให้ช้างเอกทันต์ปวดหัวแทบแตก ต่อสู้พระองค์ไม่ได้

จากนั้นพระนารายณ์ทรงขัดเชือกบาศผูกเท้าขวาช้างเอกทันต์และทรงนำพระแสงตรีศูรปักลงบนดินอธิษฐานให้เป็นต้นมะตูม แล้วเอาเชือกบาศผูกกับต้นมะตูม

ช้างเอกทันต์จึงพ่ายแพ้แก่องค์พระนารายณ์ไป

 

ในศาสนาพราหมณ์จึงถือว่าใบมะตูมเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและเป็นมงคล

นำถวายพระมหากษัตริย์สำหรับทรงใช้ในการพระราชทานน้ำสังข์

และพราหมณ์ใช้เมื่อถวายน้ำมหาสังข์แด่พระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีอื่นๆ

อาทิ ใช้ทัดหูพระยาแรกนาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นต้น

บางตำราก็ว่าใบมะตูมสามแฉกเปรียบได้กับ พระพรหม พระวิษณุ และพระอิศวร เทพสูงสุดของพราหมณ์-ฮินดู

เมื่อความเชื่อเหล่านี้เข้ามาในบ้านเราจึงมีการนำมาประยุกต์เข้ากับคติทางพระพุทธศาสนาว่าใบมะตูมมีสามแฉกเปรียบได้กับ

พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

 

น้ำบ่าปิน กิ๋นแล้วนอนดี

แปลว่า น้ำมะตูม ดื่มแล้วหลับดี