วิกฤตท่องเที่ยวหลังฉีดวัคซีน/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

ภัณธิภร วงษ์จันทร์เพ็ญ

ผู้อำนวยการสถาบันโหราศาสตร์สากลและยูเรเนียนแห่งประเทศไทย

email : [email protected]

Facebook : Classical and Uranian Astrology Thailand

วรเชษฐ์ ตียเกษม ที่ปรึกษา

 

วิกฤตท่องเที่ยวหลังฉีดวัคซีน

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อ “การเดินทางท่องเที่ยว” นับตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2563 เป็นต้นมา เกือบทุกๆ ประเทศทั่วโลกประกาศห้ามเที่ยวบินจากจีนเข้าประเทศหลังจากการเกิดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

ผลของการแพร่ระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก ธุรกิจการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักลง ผ่านไปแล้วกว่า 2 ปี สถานการณ์ก็ไม่ได้คลี่คลาย ยิ่งระยะนี้การแพร่ระบาดโควิด-19 หนักมากขึ้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ทุกวันยังมีรายงานจำนวนยอดผู้ติดเชื้อ คลัสเตอร์ และไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ตัวเลขการติดเชื้อก็เพิ่มๆ ลดๆ ตามวิถีการใช้ชีวิตของประชาชน

ส่งผลให้รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ พร้อมมาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดการแพร่ระบาด มีการตรวจเชิงรุกและพยายามควบคุมการระบาดด้วยการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ รวมถึงการที่รัฐบาลใช้การประกาศหยุด ปิดน่านฟ้า สายการบินทยอยปิดตัว กระทบโดยตรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ความวิกฤตลุกลามถึงธุรกิจต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวด้วย เช่น ธุรกิจโรงแรม บริการรถรับส่ง แหล่งท่องเที่ยว บริษัททัวร์ทั้งในและต่างประเทศด้วยเช่นกัน

ดังนั้น “การฉีดวัคซีน” จะเป็นความหวังที่ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการท่องเที่ยวที่ถือว่าเป็นรายได้หลักสำคัญของประเทศ

รายงานพิเศษฉบับนี้จะพยากรณ์ดวงชะตาบ้านเมืองในด้านภาคการท่องเที่ยวหลังจากการฉีดวัคซีน วิกฤตการท่องเที่ยวจะเป็นอย่างไร?

ซึ่งในบทความเรื่อง “จันทรุปราคา” ได้พยากรณ์เกี่ยวกับวัคซีนไว้แล้ว สนใจติดตามอ่านได้จากนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ตีพิมพ์เมื่อฉบับวันที่ 21-27 พฤษภาคม 2564 ปีที่ 41 ฉบับที่ 2127

ภาพดวงดาวบนท้องฟ้าที่น่าสนใจ ดาวเสาร์โคจรพักร์ (13 องศา 30 ลิปดา ราศีกุมภ์) วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 เวลา 16:19 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย (105E) ล่วงหน้า 2 วันก่อนเกิด “จันทรุปราคาเต็มดวง” (Full Moon Total Lunar Eclipse) ในวันปูรณมี (Full Moon) 26 พฤษภาคม 2564 เวลา 18:13 น. ตามเวลามาตรฐานประเทศไทย (105E) พยากรณ์ด้วยโหราศาสตร์สากลและโหราศาสตร์ยูเรเนียนระบบจาน 2 ชั้น (จานจรัญ) ด้วยโปรแกรม Solar Fire จากภาพดวงชะตาพบว่า

ในโหราศาสตร์สากลพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องการเดินทางระยะสั้นๆ เดินทางใกล้ๆ (เรือนชะตาที่ 3) ส่วนการท่องเที่ยวไกลๆ เดินทางต่างประเทศ (เรือนชะตาที่ 9) นอกจากนี้ ยังพิจารณาจากดาวพุธ และดาวเสาร์ ร่วมด้วย

ในโหราศาสตร์ยูเรเนียน มีจุดอิทธิพลที่เกี่ยวกับการเดินทาง และการท่องเที่ยว โดยนำคำแปลมาจากหนังสือคัมภีร์พระเคราะห์สนธิ (อ.พลตรี ประยูร พลอารีย์) การเดินทาง (พุธ/เสาร์) และจุดอิทธิพลเกี่ยวกับท่องเที่ยวไปเดินทางรอบโลก (พุธ+เสาร์-เมษ) พบว่าสัมพันธ์กัน

จากภาพสรุปมีสิ่งสำคัญดังนี้ ดาวเสาร์ (เรือนที่ 3) จันทร์กุมลัคน์ และจันทร์เป็นดาวเจ้าเรือนที่ 9 การเดินทางต่างประเทศ ภาพดาวส่งผลต่อการท่องเที่ยวทั้งระยะใกล้ และไกล ทั้งนี้ รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยวจะหยุดชะงัก ล่าช้า มีอุปสรรค เมื่อดาวเสาร์เริ่มโคจรพักร์ ยิ่งจะส่งผลให้กว่าจะดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับธุรกิจยิ่งส่งผลล่าช้าเพิ่มเข้าไปอีก

จุดการเดินทาง (พุธ/เสาร์) ส่งผลต่อการเกิดวิกฤตการ (มฤตยู/เนปจูน) ความสุขหรือความชอบพอที่ผ่านพ้นไปแล้ว (ศุกร์/เสาร์)

 

ในสถานการณ์ภาคส่งออกก็ยังไม่ฟื้นตัว ภาคการท่องเที่ยวจึงกลายเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ แต่จากภาพดาวข้างต้น สภาพการท่องเที่ยวยังคงหยุดชะงัก จากการระบาดโควิด-19 คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณเดือนตุลาคม ทุกอย่างจะค่อยๆ เริ่มคลี่คลายเมื่อดาวเสาร์โคจรเดินหน้าปกติ แต่ถ้าจะคาดหวังว่าจะมีลูกค้ามากเท่าระดับปกติต้องใช้เวลา 2 ปีเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ ต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือกับรัฐบาลด้วย

จากการพิจารณาจุด “วัคฉีดซีน” (เสาร์+เนปจูน-ลัคนา) สัมพันธ์กับการก่อให้เกิดกิจกรรมที่มีโชคลาภและความสุข (อังคาร/พฤหัสฯ) ส่งผลต่อการเกิดความคิดปฏิวัติ ความคิดที่ปฏิบัติได้จริง (พุธ/มฤตยู) ภาพดาวชุดนี้น่าสนใจอย่างยิ่งต่อแนวทางการพลิกฟื้นวิกฤตการท่องเที่ยว

เมื่อมีการฉีดวัคซีนที่ทำให้เกิดความมั่นใจต่อการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพียงพอแล้ว ธุรกิจการท่องเที่ยวหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ลูกค้าจะคาดหวังบริการที่ยืดหยุ่นและน่าไว้วางใจมากขึ้น มีสินค้าหรือบริการใหม่ๆ และหลากหลายให้ผู้บริโภคเลือก มีรูปแบบใหม่ๆ

เช่น การท่องเที่ยวระยะยาว การท่องเที่ยวเพื่อรับวัคซีนในประเทศต่างๆ หรือการท่องเที่ยวในเชิงสุขภาพจิต หรือท่องเที่ยวพิเศษเฉพาะอย่าง เป็นต้น

 

ในอนาคตการเดินทางต่างประเทศต้องมีหนังสือเดินทางสุขภาพที่แสดงรายการรับวัคซีนของผู้เดินทาง เป็นความปกติใหม่ (New Normal) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะผ่านพ้นวิกฤตกลับมาสู่ปกติได้ ต้องคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย รวมทั้งสุขอนามัยในการเดินทางท่องเที่ยวที่จะยกระดับสูงขึ้น การติดตามสอบสวนโรคที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน

นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปต่างประเทศจะตัดสินใจในการเดินทางมากขึ้น ต้นทุนสำหรับผู้ให้บริการการท่องเที่ยวก็จะสูงขึ้นด้วย การที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวในระดับก่อนการแพร่ระบาดจึงยิ่งยากและอาจจะใช้เวลานานอย่างที่ได้พยากรณ์ไว้ข้างต้น

ธุรกิจการท่องเที่ยวจะสร้างรายได้ ฟันฝ่ามรสุมเศรษฐกิจไปได้ไกล ต้องเอาใจช่วยกัน จะเปิดการท่องเที่ยวต้องสร้างมาตรฐานความปลอดภัย และการบริการที่มีเอกลักษณ์เพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวเมืองไทยอีกครั้ง