ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 มิถุนายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
เผยแพร่ |
นิธิ เอียวศรีวงศ์
แรงงานพม่า
เพราะโควิดระบาด จึงทำให้ผมได้เห็น “ค่ายพักแรงงาน” พม่าเป็นครั้งแรก
เมื่อตอนที่ระบาดในเมืองสมุทรสาคร ได้เห็นแต่ห่างๆ ว่าคือตึกหอพักซึ่งอยู่ใกล้ตลาด และรายงานถึงความแออัดของสถานที่แห่งนั้น อันเป็นที่ซึ่งหลายชีวิตต้องถูกกักตัวอยู่ระหว่างโรคระบาด
แต่เมื่อระบาดรอบใหม่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาพของ “แคมป์ก่อสร้าง”, “ค่ายพัก”, “หอพัก” ฯลฯ อันเป็นที่อยู่อาศัยของแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพม่า ปรากฏทางทีวีอย่างชัดเจน และหลายแง่หลายมุม ตัวตึกอาจต่างกันไป บ้างเล็ก บ้างใหญ่ แต่ก็เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ แออัดไม่แพ้กันเลยสักแห่ง
ที่พักแรงงานมีลักษณะแทบไม่ต่างจากกันมากนัก เพราะที่ดินราคาแพงจึงต้องสร้างขึ้นเป็นตึกหลายชั้น แต่ละชั้นมีทางเดินหรือระเบียงเพื่อให้เข้าถึงห้องทุกห้อง และเมื่อดูจากประตูห้องซึ่งไม่ห่างจากกันมากนัก ก็อาจคาดได้ว่า ห้องน่าจะคับแคบมาก และด้วยเหตุดังนั้น ระเบียงจึงถูกใช้เพื่อกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ที่เห็นได้ทันทีคือตากผ้า
แสดงให้เห็นว่าแต่ละห้องไม่ได้มีระเบียงส่วนตัวยื่นออกไปสำหรับกิจกรรมอะไรอื่นเลย
“พื้นที่ส่วนตัว” ที่แรงงานแต่ละคนได้รับคือห้องของตน แต่ความเป็นส่วนตัวในห้องนั้นมีอยู่ได้เฉพาะในความคิดและจิตใจของแต่ละคนเท่านั้น เพราะแต่ละห้องไม่ได้อยู่คนเดียว อาจมีครอบครัว หรือบางครั้งหลายครอบครัวอยู่ร่วมกัน อาจมีเพื่อนซึ่งแบ่งค่าหอพักอีกหนึ่งหรือเกินนั้น และอาจมีญาติแวะมาพักร่วมด้วย
ไม่มีที่พักแห่งใดสักแห่งเดียว ที่มีพื้นที่ว่างส่วนกลางสำหรับกิจกรรมอื่นๆ เช่น สนาม หรือห้องอาหาร หรือห้องพบปะ ดังนั้น ห้องพักจึงเป็นพื้นที่แห่งเดียวสำหรับชีวิตในเมืองไทยของเขาทั้งชีวิต
พวกเขาสัมพันธ์กับชุมชนไทยในละแวกที่พักอยู่ด้านเดียว คือเป็นลูกค้าอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ ส่วนใหญ่รู้ภาษาไทยไม่พอจะสื่อสารกันฉันมิตรได้ เมื่อเจ้าหน้าที่และกล้องทีวีเข้าไปเก็บข้อมูลในที่พัก จำเป็นต้องมีล่ามซึ่งคือชาวพม่าที่พูดไทยได้
ถึงแม้คนอื่นๆ ซึ่งอยู่ร่วมที่พักเดียวกันเป็นพม่า อาจพูดจาวิสาสะกันได้ด้วยภาษาพม่า แต่ต่างคนต่างมา ไม่ได้รู้จักหรือสัมพันธ์กันมาก่อน สภาพทางกายภาพของที่พักและการทำงานบังคับให้ต่างคนต่างอยู่ และคงจะตัวใครตัวมันด้วย
แรงงานพม่าเหล่านี้คือคนไร้ชุมชนอย่างสมบูรณ์ และหากจะนิยามความเป็นคนของเขาก็เหลืออยู่อย่างเดียว นั่นคือ “แรงงาน”
จําได้ว่า เคยเห็นข่าวในโทรทัศน์ช่องที่ถนัดอาชญากรรม แรงงานพม่าหนุ่มสามคนล้อมวงกินเหล้ากันในวันเงินออก แล้วจู่ๆ ด้วยเหตุใดไม่มีใครทราบ คนหนึ่งควักมีดออกมาจ้วงแทงอีกคนหนึ่งถึงแก่ชีวิต แล้ววิ่งหนีไป ผู้ดำเนินรายการชายรำพึงหลังจากเล่าข่าวประกอบการ์ตูนแล้วว่า “เฮ้อ ก็เพื่อนกันแท้ๆ ฆ่ากันได้ยังไง”
แต่ “เพื่อน” ในแคมป์คนงานแปลว่าอะไร มันคงต่างจาก “เพื่อน” ในชีวิตแบบไทยอย่างมาก คนสามคนที่มาจากจังหวัดอันห่างไกลกัน ซ้ำยังอาจมีภาษาน้ำนมกันคนละภาษา ถูกชะตาชีวิตที่นายจ้างเป็นผู้กำหนด บังคับให้ต้องคบหากันสนิทกว่าคนอื่น เพราะต้องพักอยู่ห้องเดียวกันหรือเพราะต้องทำงานใกล้กัน ต่างเป็น “เพื่อน” กันโดยไม่มีใครเลือกใคร ถ้าวันหนึ่งได้กลับบ้าน ก็คงไม่ได้พบเจอกันอีกเลย
โลกของเขาไม่เปิดให้กำหนดอะไรในชีวิตได้สักเรื่องเดียว แม้แต่เรื่องส่วนตัว ดังนั้น เขาอาจไม่ได้ร่วมวงเหล้าเป็นครั้งสุดท้ายเท่านั้น อาจเป็นการร่วมวงครั้งแรกก็ได้ นี่คือ “เพื่อน” ในชีวิตจริงของแรงงานข้ามชาติ
ฆาตกรผู้นั้นจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิต ที่แน่นอนตามข่าวก็คือเขาไม่ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจ ด้วยเหตุดังนั้น จึงค่อนข้างแน่นอนอีกเหมือนกันว่า เขาคงไม่กลับเข้าทำงานในที่เดิมอีกต่อไป สิทธิของแรงงานข้ามชาติตามกฎหมายที่เขามีอยู่จึงหมดไปด้วย เพราะกฎหมายกำหนดว่าแรงงานข้ามชาติต้องมีนายจ้างรับรอง (สิทธิดังกล่าวมีความหมายเบาบางมาก เพราะประกันว่าเขาจะไม่ถูกเจ้าหน้าที่รีดไถด้วยกฎหมายแรงงานเท่านั้น) เมื่อเขาหลบหนี เขาจึงไม่มีนายจ้างรับรอง และกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายไป
และเช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติที่ผิดกฎหมายจำนวนเป็นล้านในประเทศไทย ช่องทางทำมาหากินก็ยังพอมีอยู่ เพียงแต่ต้องเสียเบี้ยบ้ายรายทางแยะมาก เช่น ผมเพิ่งทราบว่าแรงงานรับจ้างเข็นของในตลาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ต้องสวม “เสื้อวิน” ไม่ต่างจากมอ’ไซค์รับจ้าง และต้องจ่ายราคาเสื้อถึงเดือนละ 5,000 บาท ในยามที่โควิดระบาดอย่างหนัก รายได้ของเขาเหลือแค่วันละประมาณ 400 บาท ค่าเสื้อจึงเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ต่อเดือน หากรวมค่าเช่าที่พักและค่าน้ำค่าไฟ ก็แทบไม่เหลืออะไรไว้ให้กินอีกมากนัก
“ระเบียบ” มีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ รัฐไทยพอใจหรือมีสมรรถนะจะจัด “ระเบียบ” ได้ไม่มากนัก “ระเบียบ” ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของ “ขาใหญ่” ต่างๆ เป็นผู้จัดขาย ซึ่งทุกคนต้องจ่ายหมด คนเล็กคนน้อยจ่ายโดยตรง คนชั้นกลางจ่ายในราคาค่าบริการและสินค้าที่ตนหาซื้อ
อย่าลืมด้วยว่า แรงงานพม่าคือผู้มีอำนาจต่อรองน้อยที่สุด ดังนั้น เขาคือคนที่ถูกผลักภาระให้มาช่วยคนอื่นจ่ายมากที่สุด
อีกทางเดียวที่ฆาตกรจะทำได้ คือหนีกลับบ้านซึ่งเริ่มมีอนาคตขึ้นลางๆ ภายใต้ระบอบที่อย่างน้อยก็มีการเลือกตั้ง แต่เมื่ออนาคตลางๆ นั้นพังทลายลงด้วยรัฐประหารของกองทัพพม่า จะกลับไปสู่ดินแดนที่เขาหลบออกมาทำไม โอกาสที่เขาจะถูกจับกุมในเมืองไทยมีน้อยมาก เพราะคนที่ถูกเขาฆ่าไม่มีญาติในเมืองไทยที่จะไปกดดันกลไกรัฐให้ควานหาฆาตกรมารับโทษอย่างแน่นอน
ชะตากรรมของแรงงานข้ามชาติในเมืองไทยเป็นดังนี้ หลายปีมาแล้วเมื่ออ่อง ซาน ซูจี เข้ามา “หาเสียง” ที่สมุทรสาคร ด้วยคำสัญญาว่า จะทำให้พวกเขาได้กลับไปทำงานในพม่า จึงได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากแรงงาน ไม่ใช่เพียงเพราะโอกาสกลับสู่อ้อมกอดของวงศาคณาญาติใกล้ชิดเท่านั้น แต่หมายถึงการได้กลับไปทำงานในรัฐที่เขามีโอกาสจะต่อรองได้บ้าง และอาจทำให้หลุดออกจากบ่วงชีวิตที่ไม่มีทางเลือกเลยเช่นเมืองไทย
อันที่จริงการอพยพเคลื่อนย้ายด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ จะชั่วคราวหรือถาวรก็ตาม เป็นส่วนสำคัญของการดำรงชีวิตของมนุษย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่หนทางตามธรรมชาติเช่นนี้กลับถูกปิดลงในโลกสมัยใหม่ เพราะพรมแดน อันเป็นผลผลิตของหน่วยทางการเมืองชนิดใหม่ที่เรียกว่า “ชาติ” ในเอเชียเส้นพรมแดนเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคอาณานิคม
แม้มีอำนาจของชาติมาเสริมให้พรมแดนเหล่านี้เป็นปราการ แต่พรมแดนทั้งโลกนี้พรุนเสมอ คือมีรอยรั่วที่อะไรต่อมิอะไรอาจหลุดรอดเข้ามา โดยชาติไม่อาจขวางกั้นได้ และด้วยเหตุดังนั้น พลังดึงดูดทางเศรษฐกิจจึงยังเป็นปัจจัยสำคัญสุดในการเคลื่อนย้ายของผู้คน
ชาวพม่าไม่เคลื่อนย้ายเข้าสู่จีน, อินเดีย หรือบังกลาเทศ เพราะทั้งสามประเทศต่างมีแรงงานไร้ฝีมือล้นเหลืออยู่แล้ว ไม่ไปอินโดนีเซียเพราะเหตุผลเดียวกัน ซ้ำค่าเดินทางยังแพงอีกด้วย หัตถอุตสาหกรรมของมาเลเซียกำลังขยับหนีไทยขึ้นไปสู่การผลิตที่ต้องอาศัยฐานความรู้มากขึ้น แรงงานไร้ฝีมือของพม่าจึงไม่มีประโยชน์ ไทยจึงเป็นแหล่ง “ดินดำน้ำชุ่ม” เพียงแห่งเดียวที่เหมาะแก่การเคลื่อนย้ายของแรงงานพม่า
ในยุคอาณานิคม การอพยพเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนเกิดขึ้นทั่วโลก นโยบายของเจ้าอาณานิคมเองเปิดให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาผลิตสินค้าส่งออก หรือเป็นแรงงานที่ไม่อาจหาจากคนท้องถิ่นได้ ชาวอินเดียและจีนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาเป็นแรงงานในอาณานิคมของอังกฤษ เช่น พม่าและรัฐมลายู-สิงคโปร์ ชาวเวียดนามอีกมากในอินโดจีนของฝรั่งเศส ยังไม่นับ “การอพยพภายใน” ของชาวจีนอีกมากเข้าสู่ฮ่องกงและเขตปกครองพิเศษของจักรวรรดิยุโรปในเมืองท่าของจีนเอง
แต่แรงงานข้ามชาติผู้อพยพด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ และถูกปล่อยให้ใช้ชีวิตอย่างเปราะบางในแหล่งเสื่อมโทรมซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปในเมืองท่า, สวนยางขนาดใหญ่ และเหมืองพลอย ในอาณานิคมเหล่านี้ ไม่ก่อปัญหาให้แก่เจ้าอาณานิคมนัก ผิดจากผู้อพยพด้วยเหตุผลทางการเมือง คือต่อต้านจักรวรรดินิยม กระจายไปทั่วโลก กลับก่อปัญหาให้แก่เจ้าอาณานิคมอย่างมาก
ยิ่งในต้นศตวรรษที่ 20 กระแสของลัทธิอนาธิปไตยสาขาที่ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือ ได้รับความนิยมในหมู่นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ เจ้าอาณานิคมสะดุ้งผวาเป็นอย่างยิ่ง เพราะระเบิดสังหารเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทั้งในเอเชียและยุโรปเต็มไปหมด ขนาดอุปราชอินเดียคนแรกสุด ขณะอยู่บนหลังช้าง นำขบวนแห่เข้าทำเนียบที่เดลลีใหม่เป็นปฐมฤกษ์ยังถูกขว้างระเบิดจนสลบไป ต้องนำตัวลงจากหลังช้างอย่างทุลักทุเล เพราะช้างตกใจเสียงระเบิด จึงไม่ยอมย่อตัวลงตามคำสั่งของควาญ
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เจ้าอาณานิคมต่างเก็บบัญชีอัตลักษณ์บุคคลกันขนานใหญ่ ทั้งการสำรวจสำมะโนประชากร การออกบัตรประชาชน การแจ้งการเคลื่อนย้ายที่อยู่ ประชาชนนั่นแหละคือศัตรูของรัฐที่ต้องคอยจับตา ยิ่งเป็นประชาชนที่ข้ามพรมแดนเข้ามาโดยไม่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจ ยิ่งอาจเป็นศัตรูได้ร้ายแรงกว่า
ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นมรดกจากยุคอาณานิคม และด้วยความคิดแบบเดียวกัน นโยบายของไทยต่อแรงงานข้ามชาติจนถึงทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในมือของฝ่ายความมั่นคง
ความพยายามทำให้แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายด้วยการขึ้นทะเบียน (ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก) ก็ตาม หรือการหยุดการเคลื่อนที่ของแรงงานด้วยการบังคับให้ “สังกัด” กับนายจ้างก็ตาม ฯลฯ ล้วนเป็นแนวคิดที่มาจากฐานด้านความมั่นคงเป็นหลัก